SWOT Analysis คืออะไร ทำไมธุรกิจทุกประเภทต้องทำ

เชื่อว่าคุณผู้อ่านคงเคยได้ยินประโยคที่ว่า “รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง” กันมาไม่มากก็น้อย ซึ่งประโยคนี้ปรากฏอยู่ในตำราพิชัยสงครามของซุนวู หากมองบริบทในยุคสมัยนั้นแล้ว การรบก็หมายถึงการสู้รบหรือสงครามจริง ๆ แต่ในบริบทของปัจจุบัน ประโยคนี้สามารถมองได้ในหลายรูปแบบ

ในแง่ของการทำธุรกิจ แม้ว่าจะไม่มีการสู้รบฆ่าฟันกัน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า “การแข่งขัน” ที่เกิดขึ้นในตลาดนั้นสูงมาก แบรนด์ต่าง ๆ ต้องงัดกลยุทธ์และเทคนิคทางการตลาดออกมาใช้กันมากมายเพื่อให้ตัวเองยังคงอยู่รอดและครองใจลูกค้าได้ 

ในบทความนี้ ขอพาคุณผู้อ่านทุกท่านมารู้จักกับ “SWOT Analysis” หลักการวิเคราะห์ที่จะทำให้คุณไม่เพียงแค่ “รู้เขา” แต่ “รู้เรา” จนมีโอกาสชนะในการแข่งขันทางการตลาดที่ไม่ว่าจะรบร้อยครั้งหรือพันครั้งก็สู้ได้!

SWOT Analysis คืออะไร? 

SWOT Analysis คือการวิเคราะห์ธุรกิจด้วยหลักการ 4 อย่าง ซึ่งแบ่งเป็นการระบุและวิเคราะห์ปัจจัยภายในอย่าง จุดแข็ง จุดอ่อนของแบรนด์ว่ามีอะไรบ้างและปัจจัยภายนอกอย่างโอกาสและอุปสรรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นหรืออาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งหลักการวิเคราะห์แบบ SWOT Analysis จะทำให้คุณรู้จักธุรกิจของคุณ รวมถึงตลาด และคู่แข่งอย่างครบวงจร เพื่อนำไปสร้างแผนและกลยุทธ์ทางการตลาดต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น

Strength, Weakness, Opportunities และ Threats

SWOT Analysis มีอะไรบ้าง?

SWOT คือตัวย่อของ Strength, Weakness, Opportunities และ Threats

Strength

Strength หรือ “จุดแข็ง” ในที่นี้หมายถึงสิ่งต่าง ๆ ที่ธุรกิจของคุณทำออกมาได้อย่างดีเยี่ยม เต็มเปี่ยมไปด้วยคุณภาพและแตกต่างจากคู่แข่ง ตัวอย่างเช่น ภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่โดดเด่นชัดเจน ฐานลูกค้าที่ใหญ่และมั่นคง เทคโนโลยีเฉพาะตัวที่นำมาใช้ในการผลิตสินค้าของแบรนด์ ฯลฯ ซึ่งแต่ละธุรกิจย่อมมีจุดแข็งที่แตกต่างกันไป ดังนั้นในอันดับแรกของการทำ SWOT Analysis นี้ก็คือการที่คุณจะต้องหาจุดแข็งและความโดดเด่นของธุรกิจของคุณให้ได้เสียก่อน

Weakness

เมื่อคุณหาจุดแข็งได้แล้ว ลำดับต่อมาคุณก็จำเป็นต้องหา “จุดอ่อน” หรือ Weakness ด้วยเช่นกัน ซึ่งในจุดนี้ คุณจำเป็นต้องเปิดใจและมองภาพทั้งในมุมกว้างและมุมแคบ จุดอ่อนที่มักจะพบได้บ่อยมีทั้ง การมีภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่ไม่ชัดเจน ยอดขายของสินค้าที่ไม่สูง กำลังการผลิตที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ เงินทุน ข้อจำกัดทางด้านสถานที่ตั้งและการกระจายสินค้า และอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็น “อุปสรรค” ที่ทำให้แบรนด์ของคุณไม่ได้รับผลลัพธ์ตามที่ต้องการหรือแม้แต่การสู้คู่แข่งไม่ได้ ไม่ว่าคุณจะไม่อยากรู้ถึงจุดอ่อนมากขนาดไหน แต่เชื่อเถอะว่าจำเป็นอย่างมาก เพราะคุณจะได้แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ทันและพลิกเกมกลับมาได้เปรียบในการแข่งขันทางการตลาดนี้

Opportunities

Opportunities หรือ “โอกาส” เป็นสิ่งที่คุณจำเป็นต้องมองหาและต้องรู้ในลำดับต่อไปในการทำ SWOT Analysis โดยโอกาสอาจจะมีมากมายในหลายรูปแบบ ทั้งนโยบายของภาครัฐบาลที่ช่วยส่งเสริมธุรกิจต่าง ๆ การลดภาษีนำเข้า การส่งออก นอกจากนี้ยังรวมถึงสิ่งต่าง ๆ ที่จะทำให้ธุรกิจของคุณได้ผลประโยชน์และสามารถส่งเสริมภาพลักษณ์และยอดขายของคุณได้ 

Threats

สิ่งสุดท้ายในการวิเคราะห์หา SWOT Analysis ก็คือ Threats หรือ “อุปสรรค” หรือปัจจัยต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นแล้วส่งผลเสียกับธุรกิจของคุณ ไม่ว่าจะเป็นโรคระบาด สถานการณ์น้ำท่วม วัตถุดิบในการผลิตขาดแคลน ฯลฯ ซึ่งในส่วนนี้คุณอาจจะบอกว่า “แล้วใครจะทำนายอนาคตได้ล่ะ?” แต่การวิเคราะห์การตลาดที่มีคุณภาพโดยศึกษาปัจจัยต่าง ๆ อย่างถี่ถ้วนเพื่อให้เห็นแนวโน้มว่าจะมีปัจจัยภายนอกอะไรบ้างที่อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของเรา ทำให้คุณสามารถคิดแผนการตั้งรับเอาไว้ได้ แต่ถ้าหากปัจจัยเหล่านั้นไม่เกิดขึ้นก็นับว่าเป็นเรื่องดี แต่ถ้าเกิดขึ้น อย่างน้อย ๆ คุณก็ยังมีแผนสำรองที่สามารถนำมาปรับใช้ได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจของคุณมากนัก 

ทำไมต้องทำ SWOT Analysis? 

การจะสร้างธุรกิจขึ้นมาสักหนึ่งอย่างนั้น จำเป็นต้องมีการวิเคราะห์ วางแผนและจัดการสิ่งต่าง ๆ อย่างถี่ถ้วนและมีแบบแผน ซึ่งการทำ SWOT Analysis จะสามารถช่วยให้คุณเห็นภาพรวมของธุรกิจทั้งภายในและภายนอก ทำให้เข้าใจทั้งตัวธุรกิจของคุณและตลาด นอกจากนี้การทำการวิเคราะห์ SWOT ยังมีข้อดี ดังนี้

ช่วยกำหนดแนวทางการทำงาน

อย่างที่กล่าวไปด้านบนแล้วว่า การทำ SWOT Analysis ช่วยให้คุณเข้าใจและเห็นภาพธุรกิจของคุณรวมถึงผู้บริโภค ตลาดและคู่แข่งมากยิ่งขึ้น ดังนั้นการทำการวิเคราะห์นี้จะช่วยให้คุณกำหนดแนวการทางการทำธุรกิจออกมาได้อย่างเป็นแบบแผน ไม่ว่าจะเป็นการจัดสรรบุคลากร การคิดสินค้า การสรรหาวัตถุดิบและอื่น ๆ อีกมากมาย ที่จะช่วยให้ธุรกิจของคุณเติบโตได้อย่างเป็นขั้นเป็นตอนและมั่นคง

ช่วยในการตัดสินใจสำหรับแผนการตลาดต่าง ๆ

ในโลกใบนี้มีทฤษฏีแผนการตลาดมากมายนับไม่ถ้วนและไม่ใช่ว่าทุกอันจะเหมาะสมหรือเป็นตัวการันตีความสำเร็จ ดังนั้นการทำ SWOT Analysis จะช่วยให้คุณเห็นว่าแผนการตลาดแบบไหนบ้างที่คุณควรจะนำมาปรับใช้กับธุรกิจของคุณ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ทางการตลาดที่ดีที่สุด โดยลดโอกาสการลองผิดลองถูกและเสียงบประมาณโดยใช่เหตุไปได้

ช่วยให้คุณหาทางแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที

การทำ SWOT Analysis ไม่เพียงแต่จะช่วยให้คุณคิดหาแผนการตลาดที่เหมาะสมและนำมาปรับใช้ได้เท่านั้น แต่ยังช่วยให้คุณเห็นถึงอุปสรรค ความเสี่ยงและแนวโน้มต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งการที่คุณวิเคราะห์ปัจจัยเหล่านี้มาแล้วตั้งแต่เนิ่น ๆ คุณก็จะสามารถเตรียมแผนสำรองหรือมีมาตราการเสริมเพื่อควบคุมสิ่งต่าง ๆ โดยไม่ส่งผลให้ธุรกิจของคุณต้องติดขัดระหว่างทางแต่ยังคงดำเนินงานต่อไปได้อย่างราบรื่น 

ช่วยให้คุณจัดสรรและควบคุมงบประมาณได้

ถึงแม้ว่าการทำ SWOT Analysis ไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายมากมาย แต่กลับช่วยให้คุณสามารถจัดสรรและควบคุมงบประมาณต่าง ๆ ได้อย่างเหลือเชื่อ เพราะหากคุณรู้จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาสและอุปสรรคต่าง ๆ ได้แล้ว คุณก็จะสามารถวางแผนธุรกิจที่ถูกต้อง เลือกใช้ช่องทางที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจของคุณ ไม่ว่าจะเป็นการนำนโยบายการส่งเสริมธุรกิจต่าง ๆ ของภาครัฐมาปรับใช้ นอกจากนี้ยังช่วยให้คุณไม่หลงทางไปกับการทำแผนการตลาดแบบผิด ๆ แล้วยังคงต้องเสียงบประมาณจำนวนมหาศาลไปกับการแก้ไขปัญหาที่ผิดจุดอีกด้วย

สรุป

การทำ SWOT Analysis นั้นเปรียบเสมือนการวางรากฐานธุรกิจให้มั่นคง โดยการทำการวิเคราะห์ SWOT ที่ดีไม่ควรทำเพียงตอนเริ่มต้นทำธุรกิจเท่านั้น แต่คุณควรที่จะมีการอัปเดตปัจจัย SWOT ต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการจัดประชุมเพื่อรายงานผลการตลาดหรือสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น รวมถึงการเปิดรับข้อมูลและความเห็นของพนักงานอย่างเปิดกว้าง เพราะสิ่งเหล่านี้คือตัวช่วยที่ดีที่สุดในการทำ SWOT Analysis โดยเราอยากให้คุณมองการทำ SWOT Analysis เสมือนเป็นการตรวจสุขภาพ เพราะคงจะดีกว่าถ้าหากคุณรู้และเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ตั้งแต่เนิ่น ๆ ไม่ใช่รอให้ปัญหาลุกลามจนยากที่จะแก้ไขแล้วจึงค่อยมาสร้างแผนการรับมือ