CPAS คืออะไร รูปแบบโฆษณาที่สร้างยอดขายให้ธุรกิจ E-commerce

ปัจจุบัน พ่อค้าแม่ค้าเริ่มหันมาขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ทำให้มีแคมเปญโฆษณาเพื่อดึงดูดกลุ่มลูกค้าออนไลน์มากขึ้นตามไปด้วย โดยมี CPAS (Collaborative Performance Advertising Solution) เป็นเครื่องมือชิ้นสำคัญ ซึ่งเป็นหนึ่งในรูปแบบการทำโฆษณาผ่านโซเชียลมีเดียที่นักการตลาดนิยมใช้ เพราะสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดย Facebook ได้ทำการพัฒนา CPAS ขึ้นมาเพื่อช่วยให้ลูกค้าสามารถซื้อสินค้าออนไลน์ได้ง่ายขึ้น จนทำให้เกิดยอดขายและทำให้แพลตฟอร์ม E-commerce เติบโตขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง  

สำหรับใครที่สงสัยว่า CPAS หรือกลยุทธ์ Collaboration คืออะไร? และมีหลักการทำงานอย่างไร รวมถึงจะมีประโยชน์และส่งผลดีต่อยอดขายกับการทำธุรกิจ E-commerce ได้อย่างไรบ้าง มาหาคำตอบไปพร้อมกันในบทความนี้!

 

CPAS คืออะไร? รูปแบบโฆษณาที่ตอบโจทย์ธุรกิจ E-Commerce

CPAS Ads ของ Facebook ย่อมาจาก ‘Collaborative Placement Advertising Solution’ หรือแปลตรงตัวได้ว่า รูปแบบการทำโฆษณาใน Facebook แบบถ้อยทีถ้อยอาศัยที่มีการอนุญาตให้แบรนด์จับมือร่วมกับแพลตฟอร์ม E-Commerce อย่าง Lazada, Shopee หรือแพลตฟอร์ม E-commerce อื่น ๆ เพื่อจำหน่ายสินค้า

โดยจุดมุ่งหมายของกลยุทธ์ Collaboration คือการทำงานร่วมกันเพื่อให้ตัวชี้วัดโฆษณามีผลลัพธ์ในเชิงบวกยิ่งขึ้น โดยก่อนที่จะมี Collaborative Ads แบรนด์ยังไม่สามารถสืบค้นได้ว่าแคมเปญโฆษณาตัวไหนของพวกเขาที่ประสบความสำเร็จหากพวกเขาไม่มีแพลตฟอร์ม E-Commerce เป็นของตัวเอง แต่สำหรับรูปแบบโฆษณา CPAS แบรนด์จะสามารถวิเคราะห์ความสำเร็จของแคมเปญได้ผ่านการเก็บข้อมูลเชิงลึกของตัวโฆษณาที่พวกเขาทำร่วมกับแพลตฟอร์ม E-Commerce ได้โดยตรง

cpas คืออะไร

จุดเด่นของโฆษณาแบบ CPAS 

ข้อดีของ Collaborative Ads ที่แตกต่างจากโฆษณารูปแบบอื่นก็คือนี่เป็นรูปแบบการทำโฆษณา Facebook ที่ช่วยลดความซับซ้อนในการซื้อสินค้าออนไลน์ โดยพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่มีเว็บไซต์ E-commerce เป็นของตนเองหรือได้นำสินค้าไปฝากจำหน่ายในแพลตฟอร์ม E-commerce อื่น ๆ สามารถตั้งค่าโฆษณาแบบไดนามิค (Dynamic Ads) และสร้างแค็ตตาล็อกสินค้าที่ลิงก์ไปยังหน้าจำหน่ายได้ จากนั้นก็สามารถใช้แค็ตตาล็อกสินค้าเหล่านั้นทำการโฆษณา ให้ไปถึงกลุ่มเป้าหมายที่มีความสนใจอยากซื้อสินค้าของพวกเขา

การทำโฆษณารูปแบบ CPAS เจ้าของธุรกิจและเว็บไซต์ E-commerce ต่างได้ผลประโยชน์ร่วมกันทั้งคู่ โดยเว็บไซต์ E-commerce ที่เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มก็จะได้รายได้จากการฝากจำหน่ายรวมถึงได้ยอด Traffic ในการเข้าชมเว็บไซต์ ส่วนเจ้าของแบรนด์ก็ขายสินค้าได้และได้รับการรับรู้แบรนด์ (Brand Awareness) เพิ่มด้วย อีกทั้งโฆษณาในแบบไดนามิคที่มีปลายทางเป็นหน้าเว็บไซต์ของสินค้าตัวนั้น ๆ โดยตรง ยังจะทำให้มีโอกาสสูงมากที่แบรนด์จะขายสินค้าได้ เพราะลูกค้าไม่จำเป็นต้องออกจาก Facebook แล้วเข้าไปซื้อในเว็บไซต์แยกเหมือนเมื่อก่อน

และแม้เจ้าของธุรกิจจะไม่มีหน้าเว็บ E-commerce เป็นของตนเอง ทำให้ปลายทางของ Collaborative Ads จะต้องถูกลิงก์ไปยังแค็ตตาล็อกที่อยู่ในแพลตฟอร์ม E-commerce อย่าง Shoppe หรือ Lazada แทนที่ แต่สิ่งนี้ไม่ได้สร้างความเสียหายต่อธุรกิจแต่อย่างใด เพราะในระยะยาวการทำ CPAS จะสามารถสร้างผลตอบแทนเชิงบวกในแง่ของยอดขายให้กับแบรนด์อยู่ดี เพราะถ้าลูกค้ากดเข้าไปซื้อสินค้าใน E-commerce แล้วประทับใจ ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสให้ลูกค้าต้องกลับมาซื้อสินค้าจากแบรนด์นั้นซ้ำอีกครั้ง

CPAS ทำงานอย่างไร?

Collaborative Ads หรือ CPAS คือการให้แพลตฟอร์ม E-Commerce ที่เป็นพาร์ตเนอร์กับ Facebook ซึ่งปัจจุบันในประเทศไทยมีอยู่ 7 ราย ได้แก่ Lazada, Shopee, JD Central, Power Buy, Top Market, Supersport และ Robinson Online ทำการสร้างแค็ตตาล็อกที่มีการจัดแยกหมวดหมู่สินค้าเอาไว้เรียบร้อย ก่อนจะทำการส่งต่อแค็ตตาล็อกให้กับผู้ประกอบการอื่น ๆ ได้นำไปตั้งค่ากลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่สนใจในสินค้าและมีแนวโน้มว่าจะซื้อสินค้านั้น ๆ จากนั้นทำการยิงโฆษณา โดยการทำ Collaborative Ads นั้น เจ้าของธุรกิจไม่จำเป็นต้องห่วงเรื่องการจัดการ Pixel Code หรือแค็ตตาล็อกใด ๆ อีกเลย เพราะว่าทางแพลตฟอร์ม E-Commerce ได้จัดการให้พร้อมใช้งานแล้ว

โดย CPAS มีขั้นตอนการแสดงผลโฆษณาดังนี้

1.   แบรนด์สร้างโฆษณา Collaborative Ads แบบไดนามิกโดยใส่ลิงก์แค็ตตาล็อกสินค้าลงไป เพื่อส่งโฆษณานี้ไปแสดงยังกลุ่มเป้าหมาย

2.   เมื่อกลุ่มเป้าหมายคลิกบนรูปภาพใน Collaborative Ads ระบบจะพาให้พวกเขาเข้าไปสู่หน้าที่มีปุ่ม “Shop Now”

3.   เมื่อคลิกที่ปุ่ม “Shop Now” ระบบจะทำการส่งไปยังเว็บไซต์ E-commerce ที่ได้เชื่อมต่อเอาไว้

4.   เมื่อเข้าสู่หน้าเว็บไซต์ E-commerce (จะเป็นเว็บฯ E-commerce ของแบรนด์เองหรือเว็บฯที่ฝากจำหน่ายก็ได้) ลูกค้าก็จะสามารถสั่งซื้อสินค้าที่ต้องการบนเว็บไซต์นั้นได้เลย และยังสามารถค้นหาสินค้าชิ้นอื่น ๆ ของแบรนด์เพิ่มเติมได้ด้วย

*เทคนิค: ในกรณีที่กลุ่มเป้าหมายไม่ได้ทำการซื้อสินค้าจนสำเร็จแต่มีการกดเพิ่มสินค้าลงตะกร้า เจ้าของธุรกิจก็ยังสามารถทำแคมเปญ Re-Targeting เพื่อให้โฆษณานั้นตามไปแสดงให้ลูกค้าเห็นซ้ำ ๆ หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า “โฆษณาหลอกหลอน” ได้

สำหรับการใช้ Collaborative Ads เจ้าของธุรกิจสามารถติดตามผลลัพธ์การดำเนินการโฆษณาผ่านตัวชี้วัดได้ทั้ง Reach, Impressions, Conversions, Click และ Return on Ad Spend

Collaborative Ads คืออะไร

CPAS มีประโยชน์กับเจ้าของธุรกิจและแพลตฟอร์ม e-commerce อย่างไร?

1.   เพิ่มยอดขายแบบก้าวกระโดด

ข้อดีของกลยุทธ์ Collaboration คือการเพิ่มยอดขายให้กับธุรกิจมากขึ้น เนื่องจากการทำโฆษณาแบบไดนามิกสามารถตั้งค่าให้ไปแสดงยังกลุ่มเป้าหมายที่สนใจสินค้าหรือมีแนวโน้มจะซื้อสินค้านั้นจริง ๆ ทำให้เพิ่มโอกาสในการขายสินค้า นอกจากนี้ ข้อดีของการทำโฆษณา CPAS ก็คือเมื่อลูกค้ากดเข้ามาชมสินค้าจากโฆษณาที่เราแสดงใน Facebook ระบบก็จะนำส่งลูกค้าไปสู่หน้าร้านในแพลตฟอร์ม E-commerce ทันที ช่วยให้เจ้าของธุรกิจปิดการขายได้อย่างรวดเร็ว และหากธุรกิจทำงานร่วมกับ Online Marketplace เช่น Shopee, Lazada แพลตฟอร์มเหล่านี้ก็จะได้ผลตอบแทนค่า Commission จากการที่สินค้าแบรนด์ขายได้ รวมถึงได้ยอด Traffic จากการที่ลูกค้ากดเข้าเว็บไซต์เพิ่ม ถือเป็นการเพิ่มยอดขายได้แบบก้าวกระโดดทั้งตัวเจ้าของธุรกิจเอง และเจ้าของแพลตฟอร์ม E-commerce ด้วย

2.   ทำให้การ Re-targeting มีประสิทธิภาพมากขึ้น

โดยปกติแล้วเจ้าของธุรกิจจะไม่สามารถติดตั้ง Pixel Code ลงบนแพลตฟอร์ม E-commerce ได้ ทำให้เมื่อลูกค้ากดเข้ามาซื้อสินค้าในเว็บฯ โดยตรงจะไม่สามารถเก็บข้อมูลส่วนตัวหรือความสนใจเพื่อนำมาวางแผนการตลาดต่อได้ แต่การทำ CPAS เป็นรูปแบบโฆษณาที่จะมาอุดรอยรั่วในเรื่องนี้ เพราะเมื่อลูกค้ากดเข้ามาซื้อสินค้าผ่านโฆษณา CPAS ระบบจะเก็บข้อมูลทั้งหมด ทั้งคนที่เคยเข้ามาดูสินค้า คนที่กดเพิ่มสินค้าไว้ในตะกร้าแต่ยังไม่กดชำระเงิน รวมถึงคนที่ตัดสินใจซื้อสินค้าไปแล้ว ทำให้เมื่อเจ้าของธุรกิจมีข้อมูลเหล่านี้อยู่ในมือ ก็สามารถนำมาสร้างแคมเปญ Re-targeting เพื่อให้โฆษณาแสดงผลซ้ำไปยังกลุ่มเป้าหมายที่อาจเคยสนใจสินค้าอยู่แต่เดิม ทำให้พวกเขาตัดสินใจซื้อสินค้าในที่สุด

3.    สร้างให้ธุรกิจเป็นที่รู้จักมากขึ้น

Facebook ถือเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่มีผู้ใช้งานมากเป็นอันดับ 1 ในประเทศ ดังนั้นนอกจากการทำ Collaborative Ads จะช่วยดึงให้พวกเขาไปซื้อสินค้าในแพลตฟอร์ม E-commerce จนเพิ่มยอดขายให้สูงขึ้นได้แล้ว ยังช่วยสร้าง Brand Awareness เพิ่มโอกาสให้ผู้ที่เห็นโฆษณากลายมาเป็นลูกค้าของแบรนด์ในอนาคตได้ด้วย

4.   วัดผลลัพธ์เพื่อวางแผนการตลาดต่อได้

การทำโฆษณา Collaborative Ads สามารถวัดผลเชิงลึกเกี่ยวกับ Action ที่กลุ่มเป้าหมายทำกับโฆษณาได้ทั้งหมด ทั้งการกดเพิ่มสินค้าลงบนตะกร้า ยอดขายสินค้าแต่ละวัน พร้อมกันนั้นยังสามารถวัดผล ROAS (Return on Ad Spend) เพื่อให้เจ้าของธุรกิจสามารถประเมินได้ว่าค่าใช้จ่ายที่ใช้ไปคุ้มค่ากับผลตอบแทนที่ได้หรือเปล่า การนำข้อมูลเชิงลึก CPAS เหล่านี้มาประเมินกลุ่มเป้าหมายจะทำให้การวางแผนทำโฆษณาครั้งต่อไปมีประสิทธิภาพมากกว่า เมื่อเทียบกับโฆษณารูปแบบอื่น ๆ ที่อาจดูผลได้แค่ยอดคลิกหรือ CPC เท่านั้น

 

โฆษณา CPAS เหมาะกับธุรกิจแบบไหน?

แม้ CPAS จะเป็นรูปแบบโฆษณาที่มีประโยชน์ต่อการเพิ่มยอดขายให้กับธุรกิจ แต่โฆษณาประเภทนี้กลับไม่ได้เหมาะกับธุรกิจทุกประเภท เนื่องจาก CPAS ไม่สามารถทำแบบแคมเปญ Facebook ที่นักการตลาดดิจิทัลสามารถสร้างแคมเปญ ยิงโฆษณา และวัดผลทั้งหมดได้ด้วยตัวแบรนด์คนเดียว แต่การทำ CPAS ให้สำเร็จ ธุรกิจต้องทำงานร่วมกับ Online Marketplace ดังนั้น CPAS จึงเป็นรูปแบบการทำโฆษณาที่เหมาะกับธุรกิจที่มีหน้าเว็บฯ E-commerce รองรับ ทั้งจะสร้างเองก็ได้หรือทำร่วมกับ Partner จาก Marketplace ต่าง ๆ เช่น Shopee หรือ Lazada ก็ได้เช่นกัน

 

วิธีทำ CPAS ทำอย่างไร?

หากผู้ประกอบการหรือนักการตลาดท่านใดอ่านมาถึงตรงนี้และอยากลองทำโฆษณา CPAS เรามีขั้นตอนการเริ่มต้นง่าย ๆ มาแนะนำดังนี้

1. เปิดบัญชีธุรกิจ Business Manager

การทำ CPAS สิ่งสำคัญคือการมีบัญชีธุรกิจหรือที่เรียกว่า Business Manager เป็นของตนเองเสียก่อน จากนั้นก็ทำการตั้งค่าเริ่มต้นโดยการใส่ข้อมูลของบริษัทเข้าไป ไม่ว่าจะเป็น ที่อยู่ ลิงก์เว็บไซต์ อีเมล ชื่อบัญชี พร้อมทั้งสร้างบัญชีโฆษณาแคมเปญขึ้นมาใหมม่เพื่อใช้ในการทำ CPAS แยกโดยเฉพาะ

2. ขอแค็ตตาล็อกสินค้าจาก E-Commerce

เมื่อ Business Manager ของเราพร้อมแล้ว สิ่งที่คุณต้องทำต่อไปก็คือการขอแค็ตตาล็อกสินค้าจาก Marketplace  โดยทำได้โดยการสร้าง Ads Account คลิกกำหนดพาร์ตเนอร์ จากนั้นกรอก ID ธุรกิจของพาร์ตเนอร์และส่งอีเมลเพื่อยืนยัน จากนั้นรอประมาณ 3-7 วันทำการ ทาง Marketplace ก็จะแชร์แค็ตตาล็อกสินค้ามาทาง Business Account ของเรา เพื่อให้ทำโฆษณา CPAS ต่อไป

3. สร้างโฆษณา CPAS

เมื่อได้รับแค็ตตาล็อกเรียบร้อย ก็ถึงเวลาสร้างรูปแบบโฆษณาแบบ CPAS โดยเริ่มจาก

  • คลิกที่ จัดการแค็ตตาล็อก
  • คลิก Product เพื่อเลือกสินค้าที่จะใช้ทำ CPAS
  • คลิก Create New Campaign เพื่อสร้างแคมเปญโฆษณาใหม่
  • เลือก Objective ของแคมเปญ โดยคลิกที่ Sales
  • ใส่รายละเอียดแคมเปญ CPAS ไม่ว่าจะเป็น สินค้าที่จะทำโฆษณา กลุ่มเป้าหมาย กำหนดงบประมาณการทำโฆษณา รวมไปถึงรูปแบบและแคปชันโฆษณา พร้อมกันนั้นหากต้องการเก็บข้อมูลผลลัพธ์เพื่อนำมาทำ Retargeting ต่อก็สามารถใช้ Pixel ในขั้นตอนนี้ได้ด้วยเช่นกัน
  • เมื่อกรอกรายละเอียดครบสมบูรณ์ ก็สามารถยิงโฆษณาได้ทันที

4. วัดผลลัพธ์โฆษณา CPAS

หลังเผยแพร่โฆษณาเสร็จสิ้น สิ่งต่อมาก็คือการนำผลลัพธ์ที่ได้มาปรับปรุงหรือต่อยอดในแคมเปญครั้งต่อ ๆ ไป โดยคุณสามารถวัดผลลัพธ์ได้จากการตั้งค่าให้ Facebook Business Account แสดงผลลัพธ์การทำโฆษณาด้วยการเข้าไปที่ Setting ในคอลัมน์การแสดงข้อมูลต่าง ๆ กดเปลี่ยนคอลัมน์เป็นกำหนดเอง จากนั้นก็คลิกเลือกหน่วยวัดผลลัพธ์ที่ต้องการไม่ว่าจะเป็น Reach, Impression, CPC, CPM หรือแม้แต่ ROAS เพียงเท่านี้ก็จะช่วยให้ทราบแล้วว่าแคมเปญ CPAS นั้นประสบความสำเร็จตามตัวชี้วัดที่กำหนดมากน้อยแค่ไหน

 

สรุป

ปัจจุบัน ธุรกิจ E-Commerce ในประเทศไทยมีอัตราการเติบโตสูงขึ้นอย่างมาก และมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต ดังนั้น การทำโฆษณาในรูปแบบ Collaborative Ads จึงเป็นช่องทางสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการสามารถปรับแผนธุรกิจของตนเองให้เติบโตไปพร้อมกับแพลตฟอร์ม E-commerce ได้

ผู้ประกอบการท่านใดที่สนใจทำโฆษณา CPAS เพิ่มยอดขายให้แบรนด์ แต่ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร ทาง Primal Digital Agency ของเราพร้อมให้ความช่วยเหลือ เราคือเอเจนซีการตลาด บริษัททำ SEO ที่น่าเชื่อถือ และบริษัทรับยิงแอดที่มีผู้เชี่ยวชาญกว่า 150 คน ที่พร้อมวางแผนการตลาดออนไลน์ให้คุณแบบครบวงจร พร้อมแล้วก็ติดต่อเราเพื่อปรึกษาแผนการตลาดฟรีได้เลย!