Remarketing การตลาดแบบตอกย้ำ ให้ลูกค้าเห็นซ้ำ ๆ และตัดสินใจซื้อ

Remarketing คือหนึ่งในคำศัพท์ทางการตลาดดิจิทัลที่เราน่าจะคุ้นหูกันเป็นอย่างดี เพราะเป็นหนึ่งในวิธีทำการตลาดที่ได้ผลและธุรกิจทั่วโลกนิยมใช้

Remarketing คืออะไร

Remarketing คือวิธีทำการตลาดรูปแบบหนึ่งที่ช่วยย้ำให้ลูกค้าเกิดการตัดสินใจซื้อ เพราะไม่ว่าจะเป็นการใช้โซเชียลมีเดียหรือท่องเว็บไซต์ สิ่งที่หลายคนอาจจะยังไม่รู้คือ เรากำลัง “ถูกติดตาม” การติดตามที่ว่านี้คือการติดตามพฤติกรรมการใช้งานอินเทอร์เน็ตของเรา เพื่อจุดประสงค์ทางการตลาดของธุรกิจต่าง ๆ ข้อมูลที่เขาได้ไป ทั้งเว็บไซต์ที่คุณเข้า สินค้าที่คุณเคยคลิกเข้าไปดูทางแบนเนอร์โฆษณา ทางเว็บไซต์ E-Commerce ต่าง ๆ หรือแม้แต่การเข้า Social Media ของแบรนด์ คอมเมนต์ พูดคุย กด Like, Share ภาพสินค้าที่สนใจ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ล่ะที่จะนำไปสู่การทำ Remarketing ทั้งโฆษณาออนไลน์ หรือการทำ EDM (Electronic Direct Mail) จากข้อมูลที่เราได้มา

Remarketing มีขั้นตอนการทำงานอย่างไร

จินตนาการง่าย ๆ ว่าสมมติวันหนึ่งคุณกำลังต้องการซื้อรองเท้า Penny Loafer สักคู่ เป็นคู่แรกในชีวิตเพราะคุณไม่เคยมีรองเท้าประเภทนี้มาก่อน แน่นอนว่าเมื่อคุณไม่มีความรู้เกี่ยวกับรองเท้าประเภทนี้เลย สิ่งแรก ๆ ที่คุณจะทำคือการ “หาข้อมูล” อาจจะเป็นดูรีวิวทางยูทูบ เข้าไป Facebook, Instagram หรือเว็บไซต์ของแบรนด์ที่น่าสนใจ เข้า Lazada, Shopee ไปดูว่ารองเท้ารุ่นที่อยากได้ราคาประมาณไหน ข้อมูลพวกนี้จะถูกเก็บเอาไว้ผ่านการติด Tag บนเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่คุณเข้าไป และสิ่งที่คุณจะพบเจอหลังจากนั้นไม่นานคือ

โฆษณารองเท้า Penny Loafer จากหลากหลายแบรนด์ ทั้งโปรโมชั่น ส่วนลด มากมายที่นำเสนอจนคุณแทบเลือกไม่ถูกว่าจะซื้อที่ไหนดี นี่ล่ะคือสิ่งที่เรียกว่า Remerketing 

ทำไมแบรนด์ถึงต้องทำ Remarketing

เพราะความสนใจ อาจจะยังไม่ใช่การตัดสินใจ “ซื้อ” ยิ่งเป็นสิ่งที่เราไม่เคยซื้อ หรือมีราคาสูงแน่นอนว่าเราก็ต้องการความมั่นใจที่จะจ่ายเพื่อได้สิ่งนั้นมา อย่างตัวอย่างรองเท้า Penny Loafer คุณอาจจะสนใจแบรนด์ A คลิกเข้าไปดูราคา ดูคุณสมบัติ กด Add to Cart เอาไว้แต่ยังไม่กดจ่ายตัง เพราะรู้สึกว่าน่าจะมีทางเลือกที่ดีกว่า ราคาถูกกว่า ดีไซน์สวยกว่า คุณก็เลยไปดูข้อมูลแบรนด์ B, C, D 

แบรนด์ A เขาก็ต้องการที่จะขายสินค้า แน่ล่ะเค้ามีข้อมูลของคุณอยู่แล้วว่าคุณเคยสนใจรองเท้ารุ่นนี้นี่ งั้นก็ต้องตอกย้ำกันสักหน่อย เขาจึงปล่อยโฆษณากลับมาหาคุณ อาจจะเป็นรองเท้าคู่เดิมนั้นหรือรุ่นอื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อให้คุณมีทางเลือก เมื่อคุณเห็นซ้ำ ๆ ก็มีโอกาสสูงที่คุณจะตัดสินใจซื้อกับแบรนด์ A ในท้ายที่สุด

จุดเด่นของการทำ Remarketing

หากเป็นการทำโฆษณาออนไลน์รูปแบบอื่น ๆ การกำหนดกลุ่มเป้าหมายมักจะต้องเลือกจาก เพศ อายุ อาชีพ ความสนใจ พฤติกรรม ฯลฯ แต่สำหรับการทำโฆษณาแบบ Remarketing นั้นคุณแทบไม่ต้องกังวลเลยว่ากลุ่มเป้าหมายที่คุณทำโฆษณาส่งออกไปจะไม่ตรง เพราะคุณกำลังทำโฆษณาเพื่อส่งไปยังคนที่ “เคยสนใจ” สินค้าของคุณ แน่นอนว่าโอกาสที่พวกเขาจะตัดสินใจซื้อย่อมมีมากกว่า เรียกง่าย ๆ ว่าทำโฆษณาไปยังเป้าหมายได้ตรงจุด!

อยากทำ Remarketing เริ่มอย่างไร

ความจริงแล้วคำว่า Remarketing เป็นคำใหญ่ เสมือนเป็นชื่อเรียกวิธีทางการตลาดรูปแบบหนึ่ง ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้หลากหลายมาก แต่ข้อแรกเลยที่สำคัญที่สุดคือธุรกิจที่คุณทำจะต้องเป็น “ธุรกิจออนไลน์” และที่สำคัญคือจะต้องมีเว็บไซต์ จะเป็นเว็บไซต์ E-Commerce หรือเว็บไซต์ที่มีไว้สำหรับให้ข้อมูลบริการลูกค้า เป็นที่เก็บข้อมูลเพื่อนำไปทำ Remarketing ต่อไป

*การทำ Remarketing สำหรับธุรกิจใหม่ ๆ ที่เพิ่งเปิดเว็บไซต์จะต้องรอเวลาสักระยะเพื่อให้ระบบสามารถเก็บข้อมูลมากพอที่จะนำมาทำโฆษณาแบบ Remarketing ได้

โดยช่องทางการทำ Remarketing หลัก ๆ ที่คนนิยมใช้กันในปัจจุบันก็จะมีอยู่ 2 แพลตฟอร์ม

Facebook Re-marketing

สำหรับการทำ Facebook Remarketing นั้นคุณจะต้องติด Tag สำหรับเก็บข้อมูลบนเว็บไซต์ของตัวเองซะก่อน ซึ่งเครื่องมือนี้จะมีชื่อว่า Facebook Pixel เมื่อทำการติดตั้งแล้ว คุณก็สามารถไปสร้าง Custom Audience ใน Facebook Ads Manager แล้วสร้าง Campaign โฆษณาเพื่อยิงสู่กลุ่มเป้าหมายตามข้อมูลของเราได้เลย

Google Re-marketing

สำหรับการทำ Google Remarketing กระบวนการแทบไม่แตกต่างจาก Facebook เลยเพียงแต่เครื่องมือที่จะใช้สำหรับเก็บข้อมูลของ Google จะมีชื่อว่า Google Tag Manager หรือ GTM โดยคุณจะต้องทำการติด Tag เพื่อให้เว็บไซต์เก็บข้อมูล แล้วเมื่อได้ข้อมูลมาแล้วก็นำไปใช้เป็นกลุ่มเป้าหมายใน Google Ads ต่อไป

การทำ Remarketing ไม่ใช่เพียงแค่จุดประสงค์เพื่อให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อเพียงอย่างเดียว เพราะถ้าคุณขายสินค้าที่ต้องซื้อซ้ำ ๆ เช่นของใช้ในบ้าน ฯลฯ ก็สามารถทำ Remarketing ไปประยุกต์ใช้เพื่อสร้างอัตราการซื้อซ้ำของลูกค้าได้ แต่ท้ายที่สุดต้องวนกลับมาเรื่องที่ถือเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สุดนั่นก็คือ “คุณภาพสินค้า” ถ้าสินค้าคุณดีแน่นอนว่าลูกค้าย่อมอยากกลับมาซื้อซ้ำ ๆ เป็นธรรมดา