รู้จักเทรนด์การตลาดยุคใหม่ Google Voice Search คืออะไร?

ปัจจุบันนี้ การชอปปิงออนไลน์เข้ามามีบทบาทในวงการธุรกิจเป็นอย่างมาก สะท้อนให้เห็นถึงภาพรวมของธุรกิจ E-commerce ในไทยที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เหล่าผู้ประกอบการต้องปรับตัวตามเทรนด์ที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วเพื่อพัฒนากลยุทธ์การตลาดของตนเองให้เหนือกว่าคู่แข่ง โดยหนึ่งในเทรนด์ที่น่าจับตามองว่าจะมาเปลี่ยนแปลงตลาด E-commerce ก็คือ “Voice Search” หรือการค้นหาด้วยเสียงนั่นเอง

เทคนิคการทำ Voice Search

Voice Search คืออะไร?

Voice Search เป็นการใช้คำสั่งเสียงในการค้นหาข้อมูลบน Search Engine เช่น Google Voice Search คือหนึ่งในการค้นหาด้วยเสียงที่ได้รับความนิยมมากในขณะนี้ โดยส่วนมากมักเป็นการค้นหาแบบใช้คำยาวมากขึ้นหรือเป็นรูปประโยคคำถาม อีกทั้งยังมีงานวิจัยหลายชิ้นระบุว่า การค้นหาด้วยเสียงจะมีความเป็นภาษาพูดมากกว่าภาษาเขียนแบบ Text Search ทั่วไปที่มักใช้คำที่เป็นทางการกว่า

ผลสำรวจของ Google พบว่า กลุ่มคนที่นิยมใช้วิธีการค้นหาแบบ Voice Search ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่ต้องการค้นหาร้านค้าที่อยู่ใกล้ ๆ หรือรายละเอียดของสินค้าที่ตนเองสนใจก่อนตัดสินใจซื้อ ต่างจาก Text Search ที่สามารถค้นหาอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะอยู่ใกล้หรือไกลก็ตาม และการใช้ Voice Search มักจะเกิดขึ้นระหว่างที่บุคคลนั้น ๆ ทำกิจกรรมอย่างอื่นไปด้วย เช่น ขับรถ อาบน้ำ ทำอาหาร หรือออกกำลังกาย เป็นต้น

นอกจากนี้ หลังจากที่เราใช้ Voice Search จะมีบริการที่เรียกว่า “Voice Commerce” เกิดขึ้น กล่าวคือ เป็นการต่อยอดด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง ได้แก่ เทคโนโลยีการจดจำเสียง (Recognized Voice) และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการประมวลผลคำสั่งเสียงเพื่อให้ค้นหาสินค้าหรือบริการได้อย่างถูกต้อง

 

วิธีการใช้เทคโนโลยี Voice Search

การใช้ Voice Search ในการค้นหาสิ่งที่ต้องการนั้นไม่ยากเลย เพราะเทคโนโลยีการออกคำสั่งด้วยเสียงนั้นถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อลดความซับซ้อนและความยุ่งยากในการใช้งาน ส่งผลให้การใช้ Voice Search มีเพียง 4 ขั้นตอนง่าย ๆ ดังนี้

  1. ต้องมีอุปกรณ์ที่สามารถใช้ฟังก์ชันคำสั่งเสียงได้ เช่น สมาร์ตโฟน เป็นต้น
  2. พูดคำสั่งเพื่อเปิดการใช้งานฟังก์ชันดังกล่าว เช่น Hey Siri, Hey Google หรือ Talk to Walmart บนอุปกรณ์ Google Home เป็นต้น
  3. จำเป็นต้องทิ้งท้ายประโยคด้วยคำสั่ง (Action) เช่น “สั่งซื้อ” กระบวนการซื้อหรือการใช้บริการจึงจะเสร็จสมบูรณ์
  4. ต้องใช้โทนเสียงที่เป็นเอกลักษณ์ของเราเอง เนื่องจาก Voice Commerce จะจดจำน้ำเสียงของเราเพื่อป้องกันไม่ให้อุปกรณ์อนุญาตผู้อื่นเข้าสู่ระบบได้

 

Voice Search มีผลต่อเว็บไซต์อย่างไร?

หากพูดในแง่มุมของการทำการตลาดแล้ว แบรนด์ที่ทำคอนเทนต์รองรับการค้นหาด้วยเสียงหรือ Voice Search นั้นถือเป็นการยกระดับการทำ Digital Marketing อย่างมีประสิทธิภาพในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อเว็บไซต์ ดังนี้

  • SEO ช่วยเพิ่มจำนวนคนเข้ามาดูเว็บไซต์ (Traffic) และเพิ่มโอกาสในการติดอันดับ SEO บนหน้าการค้นหา ซึ่งจะเห็นผลในระยะยาว
  • Content Marketing ช่วยให้คอนเทนต์ของเว็บไซต์ติดอันดับการค้นหา และสามารถสร้างการมีส่วนร่วม (Engagement) กับผู้ใช้งานได้
  • Paid Media – ช่วยให้ได้รับผลตอบแทนจากการลงทุน (ROI) ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้

 

Voice Search เกี่ยวข้องกับการทำ SEO อย่างไร?

ดังที่กล่าวไปแล้วว่า การใช้งาน Voice Search นั้นมักจะใช้คำที่ไม่เป็นทางการ เพราะการค้นหาด้วยเสียงจะแตกต่างจากการค้นหาด้วยการพิมพ์คีย์เวิร์ด เช่น หากเราต้องการหาร้านสะดวกซื้อที่อยู่ใกล้ ๆ เรามักพิมพ์ว่า “ร้านสะดวกซื้อ ใกล้ฉัน” แต่หากค้นหาด้วยเสียงก็จะเป็นประโยคที่ยาวกว่า เช่น “บอกชื่อร้านสะดวกซื้อที่กำลังเปิดอยู่ตอนนี้ใกล้ ๆ บ้านให้หน่อย” เป็นต้น

ฉะนั้น การใช้คำสั่งเสียงเพื่อค้นหาจึงเป็นการใช้ Long-Tail Keyword และระบบการค้นหา (Search Engine) จะต้องสามารถวิเคราะห์และเข้าใจคีย์เวิร์ดที่มีความซับซ้อนได้ ซึ่งจะทำให้ประสบการณ์ของผู้ใช้งาน (User Experience: UX) เป็นไปในเชิงบวกมากขึ้น โดยถ้าหากเราสามารถทำ SEO ที่ตอบโจทย์ Voice Search ได้ด้วยนอกเหนือจากการทำ SEO ทั่วไป ก็จะส่งผลให้การจัดอันดับเว็บไซต์บนหน้าค้นหาดีขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน

เทคนิคการทำ SEO Voice Search

  • อัปเดตข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสถานที่ที่ทำธุรกิจ (Local Search)

ด้วยเพราะคนส่วนมากนิยมใช้ Voice Search ในการค้นหาสถานที่หรือวิธีการเดินทาง ดังนั้น เราจึงควรอัปเดตข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสถานที่ของเราเอาไว้เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถค้นหาเจอได้โดยง่าย โดยคำค้นหาที่คนมักใช้กัน เช่น ช่วงเวลาเปิด-ปิดร้าน แผนที่การเดินทาง หรือเบอร์โทรศัพท์ การใส่ข้อมูลพวกนี้ลงไปจะช่วยให้ผู้ใช้งานได้รับข่าวสารที่ต้องการค้นหา และสามารถสร้างการมีส่วมร่วมเพิ่มขึ้นได้อีกด้วย

  • ทำคอนเทนต์ให้เป็นภาษาพูด (Conversational Content)

การเขียนคอนเทนต์ด้วยภาษาที่ไม่เป็นทางการมากนักและคล้ายกับบทสนทนาทั่วไป จะทำให้ Google Bot จัดให้คอนเทนต์ของเราติดอันดับ SEO Voice Search แต่ถึงจะเป็นภาษาที่ไม่เป็นทางการ ก็ต้องอย่าลืมคำนึงถึงความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ และการตรวจสอบได้ด้วย

  • ใช้ข้อมูลที่มีโครงสร้างชัดเจน (Structured Data)

Structured Data คือ ข้อมูลที่มีเนื้อหาชัดเจนและเฉพาะตัว โดยส่วนมากจะประกอบไปด้วยตัวเลข ไม่ว่าจะเป็นขนาดพื้นที่ประเทศ เบอร์โทรศัพท์ หรือรหัสไปรษณีย์ก็ตาม ซึ่งหากผู้ใช้งานต้องการค้นหาข้อมูลที่มีโครงสร้างชัดเจนในลักษณะนี้ด้วยคำสั่งเสียง ก็มักจะถามอุปกรณ์ด้วยคำถามเหล่านี้ เช่น “นายกฯ คนปัจจุบันของไทยคือคนที่เท่าไร” “รหัสไปรษณีย์จังหวัดปราจีนบุรีมีเลขอะไรบ้าง” “จำนวนประชากรของประเทศไทยมีกี่คน” เป็นต้น

  • อัปเดตข้อมูลบน Google My Business

Google My Business คือฟังก์ชันที่ช่วยให้ผู้ใช้งานรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับแบรนด์ได้ดียิ่งขึ้น ดังนั้น เราจึงควรอัปเดตข้อมูลให้มีความทันสมัยอยู่เสมอ เพื่อให้ผู้ใช้งานได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง แล้วยังช่วยเพิ่มปริมาณการเข้าชมเว็บไซต์อีกด้วย

  • พัฒนาเว็บไซต์ให้รองรับอุปกรณ์เคลื่อนที่ (Mobile Friendly)

ในปัจจุบันนี้ ผู้คนเริ่มหันมานิยมใช้ Voice Search บนอุปกรณ์เคลื่อนที่อย่างสมาร์ตโฟน จึงมีความสำคัญอย่างมากที่เราจะต้องคำนึงถึงลูกค้าที่ใช้อุปกรณ์ดังกล่าว ด้วยการออกแบบหน้าเว็บฯ ให้เหมาะสมกับการดูบนมือถือ ซึ่งจะทำให้ประสบการณ์ของผู้ใช้งานพัฒนาไปในเชิงบวก

  • สร้างคำตอบที่ผู้บริโภคมักตั้งคำถาม (Create Frequently Asked Questions)

Frequently Asked Questions คือฟีเจอร์ที่ Google สร้างขึ้นบนหน้าการค้นหา เพื่อที่ผู้บริโภคจะได้หาคำตอบได้รวดเร็วทันใจและสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น โดยไม่ต้องเข้าไปยังหน้าเว็บไซต์เพื่อไล่อ่านเนื้อหา และถ้าหากคอนเทนต์ของเรามีคำตอบที่ชัดเจน ตอบโจทย์สิ่งที่ผู้ใช้งานนิยมค้นหา Google Bot ก็จะช่วยให้เราติดอันดับในฟีเจอร์เหล่านี้ นำมาซึ่ง Traffic บนเว็บไซต์ที่เยอะขึ้น เพราะผู้ที่สนใจเนื้อหาจะกดลิงก์มายังเว็บไซต์ของเราเพื่ออ่านเนื้อหาเพิ่มเติมนั่นเอง

 

ข้อจำกัดของ Voice Search คืออะไรบ้าง?

  • ข้อจำกัดทางด้านภาษา เนื่องจากในขณะนี้ บริษัทที่ให้บริการ Voice Search ยังมีไม่มาก โดยที่มีอยู่ได้แก่ Google, Amazon, Paypal ที่พัฒนาระบบการชำระเงินด้วยเสียง และ Whirlpool เครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะที่สั่งการด้วยเสียง ส่งผลให้ภาษาที่ใช้ในฟังก์ชัน Voice Search ส่วนมากยังเป็นภาษาอังกฤษ ยกเว้น Amazon Alex ที่มีทั้งหมด 7 ภาษา และถูกจำหน่ายกว่า 80 ประเทศทั่วโลก
  • ข้อจำกัดด้านสำเนียง ในส่วนนี้ ระบบ AI ยังคงต้องพัฒนาอีกมาก เพราะสำเนียงการพูดของมนุษย์นั้นมีความหลากหลายเกินกว่าที่ปัญญาประดิษฐ์จะทำความเข้าใจได้ แม้แต่ภาษาเดียวกันแต่ไม่ใช่สำเนียงเดียวกันก็มี จึงเป็นเรื่องยากที่จะใช้การค้นหาด้วยเสียงให้มีประสิทธิภาพ
  • ข้อจำกัดด้านความสามารถในการโต้ตอบกับผู้ใช้งาน ด้วยเพราะความเป็น AI การใช้คำสั่งเสียงจึงยังไม่มีประสิทธิภาพด้านการโต้ตอบกับมนุษย์ที่เป็นธรรมชาติมากนัก
  • ข้อจำกัดเรื่องความเป็นส่วนตัว (Privacy) เนื่องจากกระแส Voice Search อาจจะยังไม่บูมมากในปัจจุบัน จึงทำให้ระบบการรักษาความเป็นส่วนตัวยังไม่ค่อยแน่นหนา

 

สรุป

ถึงแม้ว่าขณะนี้ฟังก์ชัน Voice Search อาจจะยังมีปริมาณการใช้งานไม่มากนัก แต่บอกได้เลยว่า ด้วยกระแสความมาแรงของตลาด E-commerce ที่เพิ่มขึ้นทุกวัน และด้วยซอฟต์แวร์กับอุปกรณ์ที่เอื้ออำนวยต่อการใช้งานของผู้บริโภคจะทำให้การค้นหาด้วยเสียงได้รับความนิยมอย่างมากในอนาคตอันใกล้นี้แน่นอน ผู้ประกอบการธุรกิจออนไลน์จึงต้องปรับตัวให้ทัน ด้วยการเลือกใช้คีย์เวิร์ดที่คนมักใช้ค้นหาด้วยเสียงให้มากขึ้น รวมไปถึงการทำบทความ SEO ซึ่งจะต้องวางแผนคอนเทนต์และจัดระเบียบออกมาให้ดี เลือกใช้คำที่มีการค้นหาจริง แต่ก็อย่าทุ่มเทให้กับ SEO Voice Search เกินไปจนลืมว่า SEO ของ Text Search ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน ดังนั้น เราจึงควรแบ่งความสำคัญให้เหมาะสม ด้วยการจัดสรรคอนเทนต์และคีย์เวิร์ดให้สมดุลกัน เพื่อการทำ SEO ให้มีคุณภาพมากที่สุด