Google Search Console คืออะไร? ทำไมต้องใช้ทำ SEO

สำหรับธุรกิจออนไลน์ที่ใช้เว็บไซต์เป็นหน้าหลักในการจำหน่ายสินค้า นอกจากจะต้องปรับปรุงประสิทธิภาพ SEO (Search Engine Optimisation) ในเว็บไซต์ให้มีคุณภาพในสายตาผู้ใช้งานและในสายตาของ Search Engine อย่าง Google แล้ว การวัดผลลัพธ์และวิเคราะห์ข้อมูลหลังบ้านด้วยเครื่องมือจาก Google ก็เป็นอีกหนึ่งขั้นตอนสำคัญ ที่ช่วยดันให้เว็บไซต์ติดอันดับสูงขึ้นได้เช่นกัน!

ทั้งนี้ เครื่องมือวัดผลลัพธ์ SEO คุณภาพดีก็ไม่ได้มีแค่ Google Analytics เท่านั้น แต่ยังมีเครื่องมือพื้นฐานอีกหนึ่งตัว ที่สามารถช่วยตรวจสอบการทำงานและวางแผนปรับปรุงเว็บไซต์ให้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น ซึ่งเครื่องมือที่ว่านั้นก็คือ Google Search Console

Google Search Console คืออะไร? และจะช่วยคุณปรับปรุงเว็บไซต์ในเรื่องใดได้บ้าง มาหาคำตอบพร้อมกันที่บทความนี้ได้เลย!

 

Table of Contents

Google Search Console คืออะไร? เครื่องมือวัดผลลัพธ์ SEO คุณภาพ ส่งตรงจาก Google

Google Search Console คือเครื่องมือแสดงข้อมูลเชิงลึกทั้งหมดเกี่ยวกับประสิทธิภาพของเว็บไซต์ที่มีบนหน้าค้นหากูเกิล (Google Search) แสดงผลทั้งยอดเข้าชมเว็บไซต์แบบ Organic จำนวนคลิก (Click) ข้อมูลการค้นหา ไปจนถึงจำนวนครั้งที่เว็บไซต์แสดงผลในหน้าค้นหา โดยความสามารถของ Google Search Console ยังครอบคลุมไปถึงการเช็กสถานะการเก็บข้อมูลในหน้าเพจ สามารถบอกข้อมูลอย่างละเอียดว่า Google เข้ามาเก็บข้อมูลเว็บไซต์ล่าสุดวันที่เท่าไร พร้อมกันนั้นยังมีฟังก์ชันส่งแผนผังเว็บไซต์เพื่อให้ GoogleBot เข้ามาเก็บข้อมูลได้ง่ายขึ้น จนนำไปสู่การดันเว็บไซต์ให้ขึ้นอันดับสูงขึ้นได้ด้วย!

มากไปกว่านั้น! Google Search Console ยังตรวจสอบคุณภาพและแสดงข้อผิดพลาดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นบนเว็บไซต์อย่างละเอียด ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเว็บไซต์แสดงหน้า 404 Page Not Found ขึ้นมา Google Search Console ก็จะช่วยแก้ปัญหาทันที ช่วยเพิ่มทั้งประสบการณ์ที่ดีให้ผู้ใช้งานและเป็นประโยชน์ต่อการนำมาวิเคราะห์และวางแผนวิธีทำ SEO ให้ดีขึ้นได้

 

Google Search Console ใช้ทำอะไรได้บ้าง?

อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่า Google Search Console สามารถแสดงผลลัพธ์ทางพฤติกรรมของผู้ใช้งานและประสิทธิภาพเว็บไซต์เชิงลึกได้อย่างละเอียด ในที่นี้เราจะมาแจกแจงให้ลึกกันไปอีกว่าเครื่องมือวิเคราะห์เว็บไซต์ตัวนี้ สามารถนำมาใช้ทำอะไรได้บ้าง?

1.   Performance : แสดงผลลัพธ์การเข้าชมเว็บไซต์แบบ Organic

ฟังก์ชัน Performance ของ Google Search Console จะรายงานประสิทธิภาพการทำงานและปริมาณการเข้าถึงเว็บไซต์ของผู้ใช้งาน โดยสามารถแสดงผลย้อนหลังได้นานถึง 16 เดือน และจะแสดงเฉพาะ Organic Traffic ที่เกิดจากการเข้าเว็บไซต์จาก Google เท่านั้น โดยข้อมูลที่แสดงก็จะมีตั้งแต่

  • Total Click จำนวนการคลิกเข้าเว็บไซต์ผ่านการค้นหาแบบ Organic
  • Total Impression จำนวนครั้งที่เว็บไซต์แสดงผลในหน้า Google
  • Keyword จำนวนคลิกที่เกิดจากคีย์เวิร์ด
  • Average CTR (Click – Through Rate) เปอร์เซ็นต์เฉลี่ยการคลิกเข้ามายังเว็บไซต์ คิดจาก (Total Clicks/Total Impressions)*100
  • Average Position อันดับเฉลี่ยของเว็บไซต์ที่ติดอยู่บน Google โดยจะเป็นข้อมูลย้อนหลัง 2 วัน

นอกจากนี้ Google Search Console ยังแสดงในส่วนของข้อมูลของผู้ใช้ จำนวนการคลิกจากรูปภาพ ประเทศที่คนเข้ามาชม รวมไปถึงข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับเว็บไซต์ ซึ่งนักการตลาดสามารถนำมาวิเคราะห์และวางแผนทำ SEO ต่อได้ เช่น ส่วนของ Average CTR (Click – Through Rate) หากได้เปอร์เซ็นต์เฉลี่ยสูง ก็แปลว่าหน้าเว็บฯ ที่แสดงผ่าน Google ของเราได้รับความสนใจจนผู้ใช้งานกดคลิก หรือหากมี CTR มากกว่า 3% ก็ถือได้ว่าผลลัพธ์ SEO ของเว็บไซต์ค่อนข้างไปในทิศทางที่ดี เป็นต้น

2.   URL Inspection : ตรวจสอบสถานะการเก็บข้อมูล (Indexing) ของแต่ละหน้าเว็บไซต์

URL Inspection คือฟังก์ชันตรวจสอบสถานะการเก็บข้อมูล (Indexing) ของแต่ละหน้าเว็บไซต์ โดยเมื่อใส่ URL ในหน้าที่ต้องการตรวจสอบลงไป จากนั้นกด “Test Live URL” ก็จะแสดงสถานะการใช้งาน URL ในช่วงเวลานั้น รวมถึงสามารถแสดงช่วงเวลาที่ Google เข้ามาเก็บข้อมูล รายงานข้อผิดพลาดในเว็บไซต์ที่ทำให้ Google มองว่าเว็บฯ ด้อยคุณภาพ รวมถึงเสนอจุดที่ควรแก้ไขด้วย

3.   Coverage : ตรวจสอบปัญหาภายในเว็บไซต์

Coverage คือฟังก์ชันตรวจปัญหาในเว็บไซต์ โดยปัญหาในที่นี้อาจมีตั้งแต่ Server Error อันเป็นข้อผิดพลาดของผู้ให้บริการเซิร์ฟเวอร์เว็บไซต์ ไปจนถึง Page Not Found ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดจากหน้าเว็บฯ บางหน้าหายไป อันเกิดมาจากการลบหน้าเพจหรือการเปลี่ยน URL จนทำให้ GoogleBot ไม่สามารถ Crawl เข้ามาเก็บข้อมูลได้

4.   Sitemap : ส่งแผนผังเว็บไซต์ให้ Google

Sitemap คือฟังก์ชันช่วยส่งแผนผังเว็บไซต์ให้ Google เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ Bot ของ Search Engine ในการเข้ามาตรวจสอบโครงสร้างเว็บไซต์ ซึ่งฟังก์ชัน Sitemap นี้ยังเป็นประโยชน์สำหรับธุรกิจที่มีจำนวนหน้าเพจหลายหน้าจากการจำหน่ายสินค้าหรือบริการหลายอย่าง เพราะนอกจากจะช่วยให้ Bot เข้ามา Crawl และ Index ได้รวดเร็วขึ้นแล้ว ยังเพิ่มโอกาสให้เว็บไซต์ถูกนำไปจัดอันดับได้ดีขึ้นด้วย

5.   Removals : ยกเลิกการเก็บข้อมูลหน้าเว็บฯ

Removals คือฟังก์ชันช่วยลบ URL ที่ติดอันดับบน Google ออกได้ชั่วคราว โดยฟังก์ชันนี้เป็นประโยชน์กับเจ้าของเว็บไซต์ที่อาจต้องการนำหน้าเพจโปรโมชัน หรือสินค้าบริการบางอย่างออกชั่วคราว ช่วยปิดโอกาสไม่ให้ผู้ใช้คลิกแล้วไม่เจอเนื้อหาที่ต้องการ จนทำให้ได้รับประสบการณ์ที่ไม่ดีจากเว็บไซต์ได้ อย่างไรก็ดี หากเจ้าของเว็บไซต์ต้องการนำหน้าเพจกลับคืนมา ก็สามารถเข้ามากดยกเลิก เพื่อให้ Google นำหน้าดังกล่าวไปจัดอันดับได้อีกครั้ง

6.   Core Web Vitals : ตรวจสอบประสบการณ์ใช้งานเว็บไซต์

Core Web Vitals คือฟังก์ชันวัดประสบการณ์ใช้งานเว็บไซต์ ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของความเร็วในการดาวน์โหลดคอนเทนต์ การตอบสนองของเว็บไซต์ และความเสถียรของดีไซน์ในเว็บไซต์ โดยคุณสามารถนำข้อมูลจากฟังก์ชันนี้ไปปรับแต่งเว็บไซต์ เพื่อให้สามารถดาวน์โหลดได้เร็วขึ้น ใช้งานได้อย่างลื่นไหลไม่ช้าหรือหน่วง รวมถึงปรับตำแหน่งการวางปุ่มต่าง ๆ ให้ง่ายต่อการใช้งาน เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ใช้งานจะได้รับประสบการณ์ที่ดีมากที่สุด

7.   Mobile Usability : ตรวจสอบประสบการณ์ใช้งานเว็บฯ บนมือถือ

Mobile Usability คือฟังก์ชันตรวจสอบประสบการณ์ใช้งานเว็บฯ บนมือถือ เพื่อดูว่าเว็บไซต์ของเรานั้นเป็นมิตรต่อผู้ใช้มือถือมากน้อยแค่ไหน โดยปัจจุบัน Google ให้ความสำคัญกับการเข้าใช้งานเว็บฯ ในมือถืออย่างมาก ดังนั้น นักทำ SEO จึงควรนำการแสดงผลลัพธ์ตรงนี้ไปปรับปรุงเว็บไซต์ ก็จะช่วยตอบโจทย์ผู้ใช้ให้ดีมากขึ้นได้

8.   Security Issue : รายงานปัญหาด้านความปลอดภัย

Security Issue คือฟังก์ชันแจ้งข้อมูลความปลอดภัยของเว็บไซต์ รายงานการถูกโจมตี การแฝงตัวของมัลแวร์ รวมไปถึงปัญหาทางเทคนิคต่าง ๆ ที่มีผลต่อคุณภาพของเว็บไซต์ในสายตา Google

 

วิธีติดตั้ง Google Search Console

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจสงสัยว่าแล้ว Google Search Console ติดตั้งอย่างไร และวิธีเพิ่มเว็บไซต์ลงใน Google Search Console ต้องทำอย่างไรบ้าง เรามีขั้นตอนการติดตั้งและเข้าใช้งานมาฝาก ข้างล่างนี้!

1.   ลงชื่อเข้าใช้

กดเข้าสู่ Google Search Console ที่ลิงก์นี้ LINK จากนั้นลงชื่อเข้าใช้ และกดปุ่ม Start Now
วิธีติดตั้ง Google Search Console

2.   กรอกข้อมูลในหน้า Website Property

หลังจากกด Start Now เว็บไซต์จะนำมาสู่หน้า Select property type ซึ่งมีให้เลือกดำเนินการ 2 ส่วนคือ

  • Domain :เลือก Domain ครอบคลุมทั้งเว็บไซต์ โดยข้อมูลที่กรอกลงไปจะต้องไม่มี http:// รวมอยู่
  • URL Prefix : เลือกเฉพาะบางหน้าของเว็บไซต์ที่ต้องการตรวจสอบ

หลังจากกดเลือก Property type ที่ต้องการ จากนั้นให้กดปุ่ม Continue เพื่อดำเนินการต่อไป

วิธีติดตั้ง Google Search Console

3.   ยืนยันตัวตนการเป็นเจ้าของเว็บไซต์

Sign In ในเว็บฯ ของผู้ที่ให้บริการ Domain Name ที่ใช้อยู่ จากนั้นคัดลอกข้อความในกล่องข้อความ (Textbox) มาใส่ลงใน DNS Configuration เพื่อกดยืนยันตัวตนการเป็นเจ้าของเว็บไซต์ (Verify)

4.   เพิ่มผู้ดูแลเว็บไซต์

เพิ่ม Google Account ของผู้ดูแลเว็บฯ ให้เรียบร้อย ด้วยการเข้าไปที่ Setting จากนั้นกดที่ Users and Permissions

 

สรุป

Google Search Console คือเครื่องมือสำคัญที่ช่วยแสดงข้อมูลเชิงลึกของเว็บไซต์ พร้อมช่วยให้สามารถปรับปรุงการทำ SEO ได้ตรงจุดและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดี หากผู้ประกอบการท่านใดยังไม่แน่ใจว่าจะใช้เครื่องมือชนิดนี้วิเคราะห์และออกแบบกลยุทธ์ได้อย่างไร ที่จะสร้างผลลัพธ์ทางธุรกิจได้ดีที่สุด Primal Digital Agency ของเรายินดีให้ความช่วยเหลือ เราคือเอเจนซีรับทำ SEO ที่มีผู้เชี่ยวชาญมากประสบการณ์กว่า 150 คน กรอกแผนการตลาดเพื่อพิสูจน์ผลลัพธ์จากเราตอนนี้ได้เลย!