Google Lighthouse เครื่องมือตรวจสอบเว็บฯ SEO ฟรีจาก Google!

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ธุรกิจออนไลน์ปัจจุบันไม่ได้แข่งขันกันเพียงว่าใครมีกลยุทธ์ที่ดีกว่า แต่ยังแข่งขันไปถึงการเจาะกลุ่มเป้าหมาย และการทำ SEO (Search Engine Optimisation) ด้วยเช่นกัน เพราะในสนามออนไลน์ การที่เว็บไซต์ SEO ติดอันดับต้น ๆ ในหน้าแรกของ Google คือการเพิ่มโอกาสให้ลูกค้าเจอร้านค้าของเรา และที่สำคัญยังเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับธุรกิจได้อีกทางหนึ่ง!

ทว่า ประสิทธิภาพการทำ SEO จะดีมากน้อยแค่ไหน ไม่ใช่แค่เรื่องคุณภาพของคอนเทนต์เท่านั้น แต่ “คุณภาพเว็บไซต์” ก็สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน ดังนั้นทาง Google จึงได้ออกเครื่องมือที่ชื่อว่า Google Lighthouse เพื่อใช้ตรวจวัดคุณภาพของเว็บไซต์โดยเฉพาะ เพื่อให้นักทำ SEO นำไปประเมินและพัฒนาเว็บฯ ให้มีคุณภาพทั้งในมุมมองของผู้ใช้และ Search Engine อย่าง Google

Google Lighthouse คืออะไร? และเราจะใช้พัฒนาเว็บไซต์ SEO ของเราให้ดีขึ้นได้อย่างไรบ้าง มาหาคำตอบพร้อมกันข้างล่างนี้เลย!

 

Google Lighthouse คืออะไร?

Google Lighthouse คือเครื่องมือฟรีจาก Google ที่ใช้วิเคราะห์และปรับปรุงคุณภาพเว็บเพจในเว็บไซต์ หรืออาจเรียกง่าย ๆ ว่าเป็นเครื่องมือวิเคราะห์ SEO เชิงเทคนิคตัวหนึ่งก็ได้ โดยจะวิเคราะห์ตั้งแต่ประสิทธิภาพเว็บไซต์ (Performance), การเข้าถึง (Accessibility), SEO และอีกมากมาย โดยจะแสดงผลออกมาเป็นคะแนน 0-100 พร้อมแสดงข้อบกพร่องและเสนอวิธีแก้ไขเพื่อให้เว็บไซต์มีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น

Google Lighthouse คืออะไร

 

เกณฑ์คะแนนของ Google Lighthouse

Google Lighthouse จะประเมินคุณภาพเว็บไซต์โดยแสดงผลเป็นคะแนนต่อไปนี้

  • คะแนน 0 – 49  : สีแดง หมายถึง เว็บไซต์ควรได้รับการปรับปรุงอย่างเร็วที่สุด
  • คะแนน 50 – 89 : สีเหลือง หมายถึง แนะนำให้ปรับปรุงเว็บไซต์
  • คะแนน 90 – 100 : สีเขียว หมายถึง เว็บไซต์มีคุณภาพ ไม่จำเป็นต้องปรับปรุง

 

5 ปัจจัยที่ Google Lighthouse ใช้ตรวจสอบคุณภาพเว็บฯ มีอะไรบ้าง?

เนื่องจาก Google ให้ความสำคัญกับประสบการณ์ของผู้ใช้งาน (User Experience) และเว็บไซต์ที่มีประสิทธิภาพสำหรับหน้า Search Engine ของตัวเอง Google Lighthouse จึงได้ออกฟังก์ชันตรวจสอบคุณภาพเว็บไซต์ที่ครอบคลุมถึง 5 ปัจจัยด้วยกัน

1.   Performance

Performance Google lighhouse

ปัจจัยแรกที่ Google Lighthouse ใช้ตรวจวัดคุณภาพเว็บไซต์ก็คือ Performance โดยจะวัดออกมาในรูปแบบของความเร็วจากการแสดงผล ซึ่งหากเว็บไซต์ออกแบบได้อย่างมีคุณภาพก็จะใช้เวลาในการดาวน์โหลดน้อย จนสร้างประสบการณ์ที่ดีให้ผู้ใช้งานได้ อย่างไรก็ดี หากเว็บไซต์ดาวน์โหลดช้าเกินไปก็อาจทำให้ผู้ใช้งานกดปิดและไม่เปิดเว็บไซต์เข้ามาอีกครั้ง ซึ่งจะส่งผลให้เกิดอัตรา Bounce Rate ที่สูงขึ้น จนเป็นเหตุให้ประสิทธิภาพ SEO ไม่ดีพออย่างที่ควรจะเป็นได้

โดยทาง Lighthouse ก็แบ่ง Performance ออกเป็น 5 ตัวชี้วัด ดังนี้

  1. First Contentful Paint (FCP) คือ ค่าที่ใช้วัดเวลาในการดาวน์โหลดเนื้อหาแรกที่ปรากฏให้ผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์เห็น โดยเนื้อหาดังกล่าวอาจเป็นได้ทั้งภาพหรือตัวอักษร ซึ่งโดยทั่วไประยะเวลาที่ดีที่สุดจะไม่เกิน 1,000 ms หรือประมาณ 1 วินาที
  2. Largest Contentful Paint (LCP) คือ ค่าที่ใช้วัดเวลาดาวน์โหลดตั้งแต่หน้าเนื้อหาหลักไปจนถึงเนื้อหาสุดท้าย เป็นการวัดเวลาขององค์ประกอบค่อนข้างใหญ่ ดังนั้น ระยะเวลาดาวน์โหลดที่เหมาะสมจะไม่เกิน 2,500 ms หรือประมาณ 2.5 วินาที
  3. Total Blocking Time (TBT) คือ ค่าที่ใช้วัดระยะเวลาที่หน้าเว็บฯ ตอบสนองต่อการคลิก โดยระยะเวลาที่เหมาะสมจะไม่เกิน 300 ms หรือ 0.3 วินาที
  4. Cumulative Layout Shift (CLS) คือ ค่าที่ใช้วัดความเสถียรของการเคลื่อนที่ของแต่ละองค์ประกอบต่าง ๆ ในเว็บไซต์
  5. Speed Index คือ ความเร็วดาวน์โหลดเนื้อหาในหน้าเว็บไซต์

2.   Accessibility

Accessibility Google lighthouse

นอกจาก Performance แล้ว Google Lighthouse ยังมีฟังก์ชัน Accessibility เพื่อประเมินคุณภาพการเข้าถึงหน้าต่าง ๆ ของเว็บฯ ด้วย โดยคะแนนการประเมินคุณภาพจะมีตั้งแต่ 0 – 100 และจะประเมินจากองค์ประกอบและฟังก์ชันต่าง ๆ ที่ได้ใส่ลงไปในหน้าเว็บไซต์ เช่น ปุ่ม Call-to-Action, ลิงก์, Alt Text, ฯลฯ เพื่อตรวจสอบว่าการแสดงผลและการใช้งานของอุปกรณ์ต่าง ๆ สามารถรองรับได้ดีหรือไม่ เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ใช้ได้อย่างสูงสุด

3.   Best Practices

 

Best Practise Google Lighthouse

สำหรับฟังก์ชัน Best Practices คือตัวชี้วัดที่สามารถใช้ประเมินได้ว่าเว็บฯ ที่เราตรวจสอบนั้นได้มาตรฐาน ปลอดภัยและน่าเชื่อถือหรือไม่ โดยหากเว็บไซต์ได้รับการเขียนขึ้นมาอย่างถูกต้องตามหลัก และปลอดภัยต่อผู้ใช้งาน Google Lighthouse จะให้คะแนนในส่วนนี้เป็นเกณฑ์ระดับสูง โดย Best Practices จะสามารถตรวจสอบได้ตั้งแต่

  • ความปลอดภัยของทรัพยากรที่นำมาจากเซิร์ฟเวอร์
  • สัดส่วนและความละเอียดที่เหมาะสมของรูปภาพภายในเว็บไซต์
  • ความปลอดภัยของคลังเก็บ JavaScript
  • เอกสารประเภท HTML ของหน้าเพจ
  • ข้อผิดพลาดของหน้าเพจบนเบราวเซอร์ทั้งหมด
  • Framework และ API ที่เลิกใช้แล้วของหน้าเพจ
  • แหล่งที่มาของหน้าเพจ
  • ข้อผิดพลาดต่าง ๆ ของหน้าเพจ เช่น ข้อเสนอเครือข่ายล้มเหลว (Network request failures) มาตรการรักษาความปลอดภัยที่ไม่เพียงพอ และปัญหาเบราว์เซอร์อื่น ๆ

ฯลฯ

4.   SEO

นอกจากตรวจสอบคุณภาพเว็บฯ ด้านอื่น ๆ Google Lighthouse ยังมีฟังก์ชัน SEO เพื่อประเมินประสิทธิภาพของ SEO โดยเฉพาะ โดยสามารถตรวจสอบได้ทั้ง On-Page SEO อย่าง Title, Meta Description, โครงสร้างเนื้อหา, Heading Tag, Alt Text รวมไปถึงการรองรับการใช้งานผ่านโทรศัพท์มือถือ โดยประเมินออกมาเป็นคะแนนตั้งแต่ 0 – 100 อย่างไรก็ดี ถึงแม้ฟังก์ชันนี้จะสามารถตรวจสอบประสิทธิภาพ SEO โดยรวม แต่ทางเราแนะนำให้ใช้เครื่องมืออื่น ๆ ร่วมด้วย ก็จะได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำและมีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยฟังก์ชัน SEO สามารถตรวจสอบได้ตั้งแต่

  • การรองรับการใช้งานบนมือถือของหน้าเพจ
  • ความน่าเชื่อถือของโครงสร้างเนื้อหาในหน้าเพจ
  • คุณภาพของ Internal Link ที่มีผลต่อการเข้ามาเก็บข้อมูลของ Google Bot
  • การตั้งชื่อ Title และ Meta Description
  • การจัดทำดัชนีของหน้าเพจ
  • ความน่าเชื่อถือของไฟล์ Robots.txt
  • ข้อความ Alt Text ของรูปภาพในหน้าเพจ
  • ข้อความของลิงก์ในหน้าเพจ เป็นต้น

5.   Progressive Web App (PWA)

Progressive Web Google Lighthouse

สำหรับ Progressive Web App (PWA) คือการพัฒนาเว็บไซต์ให้สามารถใช้งานได้ง่ายและสร้างประโยชน์ได้คล้ายกับแอปพลิเคชัน โดยฟังก์ชัน Progressive Web App (PWA) ของ Google Lighthouse ก็จะช่วยประเมินเว็บไซต์ทั้งในส่วนของความสวยงาม ความเร็ว รูปแบบการใช้งาน และองค์ประกอบต่าง ๆ ที่มีผลต่อความเสถียร เพื่อให้เว็บไซต์สามารถแสดงผลได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

 

วิธีติดตั้ง Google Lighthouse

Google Lighthouse เป็น Extensions ของ Google Chrome ดังนั้นเริ่มแรกขอแนะนำให้ติดตั้ง Google Lighthouse ใน Chrome กันก่อน จากนั้นทำตามขั้นตอนต่อไปนี้

  1. ติดตั้ง Google Lighthouse บน Google Chrome ด้วยการคลิกติดตั้งที่นี่
  2. เมื่อติดตั้งเสร็จสิ้น คลิกไอคอน Lighthouse ด้านขวาบนของ Chrome ในแถบส่วนขยาย
  3. เมื่อหน้าต่าง Google Lighthouse แสดงขึ้นมา กรอกเว็บไซต์ที่ต้องการตรวจสอบลงไป
  4. คลิกคำว่า “Generate Report” จากนั้นรอให้ Google Lighthouse วิเคราะห์ข้อมูลและแสดงผลการตรวจสอบเว็บไซต์
  5. เมื่อได้ผลลัพธ์การตรวจสอบคุณภาพเว็บไซต์ ก็สามารถนำไปปรับปรุงหรือต่อยอดประสิทธิภาพ SEO ตามต้องการได้ทันที 

อยากให้เว็บไซต์ได้คะแนนสูงต้องทำอย่างไร?

หากนำเว็บไซต์มาตรวจสอบ Google Lighthouse จะประเมินให้ว่าเว็บฯ ของเรามีอะไรที่ไม่ผ่านเกณฑ์บ้าง (Failed Audits) พร้อมแจกแจงสาเหตุ นอกจากนี้ทาง Google Lighthouse จะมีการให้คะแนนในแต่ละหัวข้ออย่างชัดเจน นักทำ SEO ก็สามารถนำข้อบกพร่องตรงนี้มาปรับปรุงตามคำแนะนำของ Lighthouse เพียงเท่านี้คะแนนของเว็บไซต์ก็จะเพิ่มสูงขึ้นแล้ว

 

สรุป

สำหรับการทำ SEO ที่มีประสิทธิภาพ การใช้ Google Lighthouse ช่วยตรวจสอบคุณภาพถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม เพราะนอกจากจะทำให้คุณเห็นข้อผิดพลาดทางเทคนิคที่อาจมองไม่เห็นได้ด้วยตาเปล่าแล้ว เครื่องมืออย่าง Google Lighthouse ยังสามารถแจกแจงข้อผิดพลาดในเว็บไซต์ พร้อมระบุวิธีแก้ไข ที่ทำให้เว็บไซต์ของคุณเจอแนวทางการทำงานที่เหมาะสมเพิ่มเติมด้วย

อย่างไรก็ดี แม้จะมีเครื่องมือช่วย แต่การตรวจสอบและปรับปรุงเว็บไซต์ หากมีผู้เชี่ยวชาญที่มากประสบการณ์มาคอยให้คำแนะนำก็จะช่วยให้การไต่อันดับในหน้า Google มีประสิทธิภาพมากกว่า หากคุณกำลังมองหาทีมผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ในการปรับปรุงเว็บไซต์ SEO โดยตรง สามารถปรึกษา Primal Digital Agency ของเราได้ทันที เราคือเอเจนซีรับทำ SEO ชั้นนำที่มีทีมดูแลด้านเว็บไซต์ SEO ของคุณโดยเฉพาะ ถ้าพร้อมแล้วก็กรอกรายละเอียดเพื่อปรึกษาเราตอนนี้ได้เลย