อยากวัดผลลูกค้าง่ายนิดเดียว ! เผย 5 วิธีคำนวณ Retention Rate

ในการทำธุรกิจที่ดี เราจะต้องกำหนดตัวชี้วัดการเติบโต (Growth Metric) เอาไว้อย่างน้อยหนึ่งค่า เพื่อวางเป้าหมายที่ชัดเจนให้แก่ธุรกิจ เพื่อมุ่งไปทางนั้นอย่างถูกต้อง โดยหลายคนอาจมองว่า การจะทำให้ธุรกิจเติบโตได้ต้องมีการหาลูกค้าใหม่ ๆ เข้ามาอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า จริงอยู่ แต่ไม่ทั้งหมด เพราะในการหาลูกค้าใหม่ เราก็จะต้องทำแผนการตลาดใหม่เพื่อไปเสนอลูกค้ากลุ่มนั้น นอกจากนี้ รายงานของ Kolsky ยังระบุว่า การหาลูกค้าใหม่นั้นต้องลงทุนเพิ่มขึ้นในจำนวนที่อาจมากกว่าการรักษาลูกค้าเก่าราว 6-7 เท่าเลยทีเดียว

ดังนั้น การจะทำให้ธุรกิจสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน ไม่ใช่แค่การหาลูกค้าใหม่เท่านั้น แต่ยังต้องรักษาลูกค้าเก่าเอาไว้ด้วย เพราะหากเรามุ่งทำการตลาดแต่กับลูกค้าใหม่ ๆ เพียงอย่างเดียว แล้วสุดท้ายก็ไม่สามารถทำให้พวกเขากลับมาซื้อสินค้าหรือบริการของเราซ้ำอีกครั้งได้ กลุ่มคนเหล่านั้นก็ต้องหายจากธุรกิจของเราไปในที่สุด ซึ่งอาจทำให้เราต้องเหนื่อยหาลูกค้าใหม่ ๆ อยู่เสมอ

เพราะแบบนั้นเอง อัตราการกลับมาซื้อซ้ำ หรือ “Retention Rate” จึงมีความสำคัญกับธุรกิจมาก แต่น่าเสียดายที่ผู้ประกอบการหลายคนยังไม่ได้ให้ความใส่ใจในส่วนนี้มากนัก ทำให้บางครั้งก็เลือกเดินผิดทาง และอาจพลาดโอกาสทองในการทำธุรกิจไป

บทความนี้จึงจะมาบอกว่า Retention Rate คืออะไร วิธีคำนวณ Retention Rate ทำอย่างไร ตลอดจนวิธีแก้ปัญหาเมื่อพบว่า Retention Rate ต่ำ

สูตรคำนวณ Retention Rate

Retention Rate คืออะไร

Retention Rate คือ อัตราการกลับมาซื้อซ้ำ อันเป็นหัวใจสำคัญของการเติบโตของธุรกิจ และเป็นกุญแจนำไปสู่ผลลัพธ์เชิงบวก เช่น การสร้างรายได้อย่างต่อเนื่องให้แก่ธุรกิจ เป็นต้น เพราะหากเราสามารถปรับปรุงธุรกิจให้มีอัตราการกลับมาซื้อซ้ำเพิ่มขึ้นได้ เราก็จะสามารถปรับปรุงส่วนที่เหลือของ Marketing Funnel ได้อย่างง่ายดายและมีประสิทธิภาพด้วย

การกระตุ้นให้ลูกค้ากลับมาซื้อสินค้าหรือบริการสามารถทำได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการจัดโปรโมชัน การจัดแคมเปญสิทธิพิเศษสำหรับลูกค้าที่เป็นสมาชิกหรือที่เคยซื้อสินค้าไปแล้วเท่านั้น เป็นต้น เช่นเดียวกับธุรกิจสตาร์ตอัปหลายแห่งที่มีการเติบโตมาก ๆ จนกลายเป็นยักษ์ใหญ่ของโลก หรือที่เรียกว่า ยูนิคอร์น (Unicorn) ที่มีมูลค่าบริษัทมากกว่าพันล้านเหรียญ USD เช่น Facebook, Airbnb, Netflix, Spotify ฯลฯ ก็มักจะโฟกัสที่ Retention Rate เป็นหลัก เพื่อทำให้ผู้คนกลับมาซื้อสินค้าหรือใช้บริการซ้ำ จนธุรกิจสามารถเติบโตได้อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน 

นอกจากนี้ มีผลสำรวจออกมาว่า การรักษาลูกค้าเก่า ๆ ให้กลับมาซื้อซ้ำอยู่เสมอ จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายให้แก่ธุรกิจมากกว่าการหาลูกค้าใหม่ ๆ ราว 6-7 เท่าเลยทีเดียว เพราะเมื่อลูกค้ารู้สึกพึงพอใจในสินค้าหรือบริการของเรา ก็จะช่วยบอกต่อเกี่ยวกับแบรนด์ให้คนใกล้ตัวรับรู้ ทำให้เราได้ลูกค้าใหม่จากลูกค้าเก่าโดยที่ไม่ต้องลงทุนลงแรงเลย จึงเป็นเหตุผลที่เราควรสร้างประสบการณ์ที่ดีแก่ลูกค้า เพื่อทำให้พวกเขาเกิดความภักดีต่อแบรนด์ (Loyal Customer) ให้ได้ แล้วกลุ่มคนเหล่านั้นก็จะกลับมาซื้อซ้ำเรื่อย ๆ ส่งผลให้ธุรกิจมีกำไรอยู่ตลอด

 

วิธีคำนวณ Retention Rate

Customer Churn Rate

 

Customer Churn Rate = (จำนวนลูกค้าที่เสียไป/จำนวนลูกค้าทั้งหมด) x 100

 

Customer Churn Rate คือ อัตราที่ลูกค้าเก่าจะหยุดซื้อสินค้า หรือยกเลิกบริการ เช่น ในเดือนหนึ่ง บริษัทมีลูกค้าเก่าอยู่ 100 คน แต่พอถึงสิ้นเดือนพบว่าลูกค้าหายไป 10 คน ก็จะสามารถคำนวณได้ว่า (10/100) x 100 = 10% ที่ลูกค้าเก่าจะหยุดซื้อสินค้าหรือยกเลิกบริการนั่นเอง

ดังนั้น หากบริษัทมี Customer Churn Rate สูงเกินไป ก็จะส่งผลต่อการเติบโตได้ และอาจเป็นสัญญาณเตือนว่าบริษัทกำลังมีปัญหา หรือถึงเวลาที่ต้องปรับปรุงกลยุทธ์การรักษาลูกค้าเก่า

Customer Retention Rate (CRR)

 

Customer Retention Rate = [(จำนวนลูกค้าทั้งหมด – จำนวนลูกค้าใหม่ที่หาได้)/จำนวนลูกค้าเก่าตั้งแต่แรกเริ่ม] x 100

 

Customer Retention Rate คือ มาตรวัดที่สำคัญมากว่าบริษัทจะสามารถรักษาลูกค้าไว้ได้นานแค่ไหน เช่น เริ่มสัปดาห์มีลูกค้า 100 คน ระหว่างสัปดาห์หายไป 10 คน แต่หาลูกค้าใหม่ได้อีก 10 คน ทำให้ปลายสัปดาห์มีลูกค้า 100 คนเท่าเดิม อัตราการรักษาลูกค้าของสัปดาห์นี้จึงเป็น [(100-10)/100] x 100 = 90%

นอกจากนี้ งานวิจัยของ Bain & Company ยังพบว่า การเพิ่มขึ้นแม้เพียง 5% ของ Customer Retention Rate คือการได้กำไรขั้นต่ำ 25% เลยทีเดียว

Net Promoter Score (NPS)

โดยทั่วไป Net Promoter Score จะเป็นการประเมินความพึงพอใจของลูกค้าในรูปแบบการให้คะแนน 10 ระดับ โดยจะมีการตั้งคำถามที่แสดงถึงแนวโน้มที่ลูกค้าจะแนะนำแบรนด์ให้แก่ผู้อื่น เช่น “คุณอยากแนะนำเราให้แก่คนรู้จักของคุณมากน้อยแค่ไหน” จากนั้น ก็จะมีการนำช่วงคะแนนที่ได้มาแบ่งกลุ่มลูกค้า ดังนี้

  • ลูกค้าที่ให้ 9-10 คะแนน เรียกว่า กลุ่มแนะนำ ถือเป็น Loyal Customer ของบริษัท
  • ลูกค้าที่ให้ 7-8 คะแนน เรียกว่า กลุ่มเป็นกลาง ถือว่าพอใจกับสินค้าหรือบริการ แต่ยังไม่ถึงขั้น Loyal Customer
  • ลูกค้าที่ให้คะแนน 0-6 คะแนน เรียกว่า กลุ่มที่มีความรู้สึกลบ และอาจมีผลต่อผู้ที่มีโอกาสเป็นลูกค้าได้

เมื่อแบ่งกลุ่มลูกค้าได้แล้ว ก็สามารถนำมาคำนวณได้ ดังนี้

 

Net Promoter Score = เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มแนะนำ – เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มที่มีความรู้สึกลบ

 

เช่น จากการให้คะแนน พบว่ามี 15% อยู่ในกลุ่มที่มีความรู้สึกลบ 25% อยู่ในกลุ่มที่เป็นกลาง และ 60% อยู่ในกลุ่มแนะนำ คะแนนความพึงพอใจของลูกค้าจะเท่ากับ 60-15 = 45

Customer Lifetime Value (CLTV)

Customer Lifetime Value คือ การวัดผลมูลค่าตลอดชีพของลูกค้า ส่วนมากขึ้นอยู่กับตัวแปรตามแต่ละบริษัท จึงไม่มีรูปแบบการคำนวณที่ตายตัว แต่โดยทั่วไป สูตรคำนวณที่ใช้กัน คือ

 

Customer Lifetime Value = (รายได้ต่อปีของบริษัท x มูลค่าเฉลี่ยตลอดชีพของลูกค้า) – ต้นทุนการได้ลูกค้า

 

เช่น บริษัทมีรายได้ต่อปี 500,000 บาท มีมูลค่าเฉลี่ยตลอดชีพของลูกค้าที่ 10 ปี ต้นทุนการได้ลูกค้า 25,000 บาท มูลค่าตลอดชีพของลูกค้าจึงเท่ากับ (500,000 x 10) – 25,000 = 4,975,000 บาท

Revenue Churn Rate

Revenue Churn Rate คือ เปอร์เซ็นต์รายได้ที่เสียไปจากการที่ลูกค้ายกเลิกบริการ ช่วยให้เห็นภาพเรื่องสถานะทางการเงินของบริษัท ถือเป็นอีกค่าที่สำคัญมาก โดยเฉพาะหากบริษัทใดมีสินค้าที่ราคาต่างกัน การคำนวณ Revenue Churn Rate ควบคู่กับ Customer Churn Rate จะช่วยให้เห็นภาพรวมของการรักษาลูกค้าเก่าได้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยทั่วไปมักจะวัดผลเป็นรายเดือน ดังนี้

 

Revenue Churn Rate = (จำนวนรายได้ที่เสียไป/จำนวนรายได้ทั้งหมด) x 100

 

เช่น บริษัทมีรายได้ที่เสียไปต่อเดือน 30,000 บาท ในขณะที่จำนวนรายได้ทั้งหมดในเดือนนั้นมี 120,000 บาท หมายความว่า อัตรารายได้ที่เสียไปจากการที่ลูกค้ายกเลิกบริการ จะเท่ากับ (30,000/120,000) x 100 = 25%

สูตรคำนวณ Retention Rate

Retention Rate ต่ำ แก้ยังไง

การที่แบรนด์มี Retention Rate ต่ำ หมายถึงลูกค้าซื้อสินค้าแค่ครั้งเดียว ไม่มีการซื้อซ้ำ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของ Cross Sell หรือ Up Sell ทำให้แบรนด์ต้องเปลืองงบการตลาดในการหาลูกค้าใหม่เรื่อย ๆ ซึ่งมีต้นทุนแพงกว่าการรักษาลูกค้าเก่าหลายเท่า หากปล่อยไว้ก็จะไม่ดีต่อการทำธุรกิจในระยะยาว

ดังนั้น ธุรกิจจึงต้องมีการทำ Customer Relationship Management คือ การรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้า ตั้งแต่ตอนที่ลูกค้าเริ่มรู้จักเรา ซื้อสินค้า ตลอดจนบริการหลังการขาย เพื่อให้ Retention Rate สูงขึ้น และหากใครกำลังสงสัยว่า Retention Rate ต่ำ แก้ยังไง ไปดูกันเลย

มอบประสบการณ์ที่ดีแก่ลูกค้าในทุกกระบวนการขาย

อุปสรรคใหญ่ในการสร้างประสบการณ์ที่ดีแก่ลูกค้า คือการทำงานแบบแบ่งแยกตามทีมแล้วไม่มีการแชร์ข้อมูลกัน โดยก่อนอื่น แบรนด์ต้องเริ่มต้นแก้ไขด้วยการทำความเข้าใจ Customer Journey เพื่อให้เห็นภาพรวมของทุกกระบวนการการซื้อ-ขาย จากนั้น ก็สร้างประสบการณ์ที่ดีแก่ลูกค้าเป็นรายบุคคล ซึ่งจะทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าตนได้รับบริการที่ดี และเกิดความพึงพอใจในแบรนด์จนอยากกลับมาซื้อซ้ำ

เก็บฟีดแบ็กจากลูกค้าในทุกช่องทาง และเร่งแก้ไขปัญหาทันที

แบรนด์ต้องมีการรวบรวมฟีดแบ็กจากลูกค้าในทุกช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นโซเชียลมีเดีย อีเมล แชต ข้อความมือถือ การพูดคุยทางโทรศัพท์ แบบสอบถาม ฯลฯ แล้วนำมาไว้ในที่เดียวกัน ผ่านเครื่องมือการทำ CRM เพื่อให้สามารถเห็นฟีดแบ็กได้ครบทุกด้าน และสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที ซึ่งเมื่อเราแก้ไขสำเร็จ ลูกค้าก็จะประทับใจ เพราะรู้สึกว่าแบรนด์ให้ความสำคัญกับพวกเขา

นำเสนอสิทธิพิเศษแก่ลูกค้า Top Tier แบบรายบุคคล

ตามกฎ 20/80 ของ Pareto Marketing ได้อธิบายได้ว่า ลูกค้ากลุ่ม Top Tier เพียง 20% จากลูกค้าทั้งหมดของแบรนด์ สามารถสร้างรายได้ให้แบรนด์มากกว่า 80% ที่เหลือเลยทีเดียว ในขณะเดียวกัน ลูกค้าอีก 80% กลับสร้างรายได้ให้แบรนด์เพียง 20% ของรายได้ทั้งหมดเท่านั้น

ดังนั้น แบรนด์จึงควรทุ่มงบส่วนใหญ่ไปกับการรักษาลูกค้า Top Tier โดยก่อนอื่นต้องมีการเก็บข้อมูลลูกค้ารายบุคคล ได้แก่ ข้อมูลพฤติกรรม (Behavioral Data) และข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขาย (Transaction) ที่เกิดขึ้นทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อเข้าใจ Customer Journey ของลูกค้า แล้วนำมาวิเคราะห์ว่าลูกค้าคนไหนเป็น Top Tier จากนั้นก็เร่งทำการตลาดกับคนกลุ่มดังกล่าว เช่น ส่งส่วนลดสุดพิเศษของสินค้าที่ลูกค้ามีแนวโน้มว่าจะสนใจไปให้ หรือให้ทดลองสินค้าและบริการใหม่เป็นกลุ่มแรกจากลูกค้าทั้งหมด เพื่อรักษาลูกค้ากลุ่มนี้เอาไว้

 

สรุป

จะเห็นได้ว่า Retention Rate คือปัจจัยที่สำคัญมากอย่างหนึ่งสำหรับการเติบโตอย่างยั่งยืนของธุรกิจ เพราะหากเราไม่สนใจลูกค้าเก่า ๆ ด้วยการหาวิธีให้พวกเขากลับมาซื้อสินค้าหรือใช้บริการซ้ำ เราก็ต้องคอยหาแต่ลูกค้าใหม่ ๆ อยู่เสมอ ซึ่งจะมีต้นทุนเยอะกว่าการรักษาลูกค้าเก่า ๆ ราว 6-7 เท่า

ดังนั้น ถ้าหากให้ธุรกิจเติบโตเหมือนกับธุรกิจดัง ๆ ระดับโลก ก็ต้องหาทั้งลูกค้าใหม่และรักษาทั้งลูกค้าเก่าควบคู่กันไปจะดีที่สุด โดยการหมั่นตรวจสอบ Retention Rate อยู่เสมอเพื่ออัปเดตความเป็นไปของธุรกิจ ซึ่งหากทำได้อย่างสม่ำเสมอ เชื่อว่าจะสามารถเอาชนะคู่แข่งและเติบโตได้อย่างยั่งยืนแน่นอน

หากไม่มั่นใจในการทำการตลาดด้วยตนเอง หรืออยากได้ผู้ช่วยคิดแผนการตลาดใหม่ ๆ เพื่อดึงดูดลูกค้าให้มากขึ้น ติดต่อ Primal Digital Agency เพื่อปรึกษาและพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญของเรา และรับแผนการตลาดฟรีได้เลยวันนี้