พาไปรู้จักอาชีพ “Content Creator” ต้องทำอะไร ใช้ทักษะใดบ้าง

ในโลกที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างปัจจุบัน ผู้คนต่างใช้อินเทอร์เน็ตราวกับเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่ขาดไม่ได้ ทำให้ “Content Creator” เป็นหนึ่งในสายอาชีพที่มาแรงที่สุด เพราะโลกออนไลน์ดำรงอยู่ได้ด้วยการทำคอนเทนต์ ไม่ว่าจะธุรกิจไหน ๆ ก็ต้องมีตำแหน่ง Content Creator เป็นของตัวเองทั้งนั้น จากที่เมื่อก่อนคนอาจจะงง ๆ ว่า Content Creator ทำอะไรบ้าง มาตอนนี้ อาชีพดังกล่าวได้กลายเป็นอาชีพในฝันของใครหลายคน แต่บางคนก็ยังเข้าใจแบบผิวเผินอยู่ว่าตำแหน่งนี้สามารถเริ่มต้นได้ง่ายที่สุดแล้วในงานสายการตลาดทั้งหมด แม้การคิดเช่นน้้นจะไม่ได้ผิด แต่ก็ไม่ได้ถูกเสียทีเดียว เพราะการจะเป็น Content Creator ได้ ก็จำเป็นต้องอาศัยทักษะเฉพาะทางที่ต้องการการฝึกฝนเช่นเดียวกันกับอาชีพอื่น ๆ

วันนี้ เราจะพาทุกคนไปรู้จักอาชีพ Content Creator ว่าคืออะไร มีหน้าที่อะไร และหากอยากเป็น Content Creator ต้องมีทักษะอะไรบ้าง !

เป็น Content Creator ต้องจบอะไร

อาชีพ Content Creator คืออะไร

เวลาพูดถึงอาชีพ Content Creator หลายคนอาจจะนึกถึงคนที่ทำหน้าที่คิดคอนเทนต์ลงบนแพลตฟอร์มออนไลน์หรือโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Instagram, YouTube, TikTok ฯลฯ ในขณะที่บางคนก็อาจยังไม่รู้เลยว่า แท้จริงแล้ว Content Creator คืออะไร และต้องทำอะไรบ้างกันแน่

แต่ถ้าหากใครคิดแบบแรก ก็ต้องบอกว่ามาถูกทางแล้ว เพราะ Content Creator คือ นักสร้างคอนเทนต์ มีหน้าที่สร้างสรรค์และผลิตเนื้อหาบนสื่อต่าง ๆ แต่ไม่ใช่แค่บนโลกออนไลน์เท่านั้น เพราะ Content Creator ยังครอบคลุมไปถึงการผลิตเนื้อหาบนสื่อออฟไลน์ด้วย เช่น บิลบอร์ด โปสเตอร์ ป้ายโฆษณาต่าง ๆ ฯลฯ โดยมีจุดประสงค์เพื่อสื่อสารเนื้อหาเหล่านั้นกับกลุ่มเป้าหมายของธุรกิจผ่านช่องทางของแบรนด์ หรือสถานที่ที่มีกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์อยู่มาก อาจกล่าวให้เข้าใจง่าย ๆ ได้ว่า Content Creator คือผู้ถ่ายทอดเนื้อหาผ่านตัวหนังสือ รูปภาพ วิดีโอ หรืออินโฟกราฟิกต่าง ๆ ในประเด็นที่แบรนด์ต้องการจะสื่อไปถึงลูกค้าเป้าหมาย ตลอดจนใช้เป็นเครื่องมือดึงดูดความสนใจจากลูกค้าใหม่ ๆ และสร้างการรับรู้แบรนด์ (Brand Awareness) แก่คนที่ผ่านมาเห็นคอนเทนต์ของเราโดยบังเอิญด้วยเช่นกัน โดยปัจจุบัน เรามักจะเห็น Content Creator ในรูปแบบของ อินฟลูเอนเซอร์ บล็อกเกอร์ หรือยูทูบเบอร์กันเสียมาก เนื่องจากโลกปัจจุบันเต็มไปด้วยคอนเทนต์บนโซเชียลมีเดีย และใคร ๆ ก็ผันตัวมาเป็น Content Creator ได้ทั้งนั้น เพียงแค่รู้จักสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่น่าสนใจ เข้าใจกลุ่มผู้ชมของตนเองเป็นอย่างดีว่าพวกเขาชอบดูคอนเทนต์แนวไหน แล้วทำเนื้อหาขึ้นมาตอบสนองความต้องการของกลุ่มคนเหล่านั้น ก็จะสามารถช่วยผลักดันให้คอนเทนต์ของเรากลายเป็นไวรัลได้ง่าย ๆ แล้วเราก็อาจกลายเป็น Content Creator ชื่อดังเพียงในชั่วข้ามคืน

ด้วยเหตุนี้เอง หลาย ๆ บริษัทจึงต้องมีการโปรโมตแบรนด์ หรือทำการตลาดด้วยการทำ “Content Marketing” กล่าวคือ เป็นการเขียนเนื้อหาเพื่อการโฆษณา ทำให้ลูกค้ารู้สึกสนใจในตัวแบรนด์ และเพื่อให้คอนเทนต์มีคุณภาพ บริษัทก็มักจะจ้าง Content Creator มาเป็นพนักงานประจำในองค์กรของตนเอง (In-house) เพราะการทำคอนเทนต์นั้นมีการแข่งขันสูงมากในวงการธุรกิจ ส่งผลให้แต่ละแบรนด์จำเป็นต้องผลิตคอนเทนต์ออกมาเรื่อย ๆ อย่างไม่มีวันหยุด ตราบใดที่โลกของเรายังมีอินเทอร์เน็ต จึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า สมัยนี้ Content Creator ถือเป็นตำแหน่งสำคัญสำหรับทุกแบรนด์ที่ต้องการสร้างการรับรู้ในหมู่ผู้บริโภคอย่างแท้จริง

 

ประเภทของอาชีพ Content Creator มีอะไรบ้าง

การเป็น Content Creator นั้น เราไม่จำเป็นต้องทำได้ทั้งเขียนเนื้อหา ตัดต่อวิดีโอ หรือทำกราฟิกในคนเดียวเสมอไป เพราะตำแหน่งนี้เป็นเหมือนสายอาชีพใหญ่ ๆ ที่สามารถแบ่งความเชี่ยวชาญออกได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้

Content Creator ด้านการเขียน

Content Creator ประเภทนี้จะมีความเชี่ยวชาญด้านการเรียบเรียงเนื้อหาผ่านการเขียนเป็นหลัก โดยจะต้องมีทักษะด้านการใช้ภาษาที่ดีในระดับหนึ่ง เพื่อที่จะได้สามารถถ่ายทอดงานเขียนที่มีคุณภาพออกมาได้ ซึ่งตำแหน่งที่ Content Creator สายเขียนที่เราเคยได้ยินกันบ่อย ๆ จะมีดังนี้

  • Content Writer มีหน้าที่เขียนบทความลงเว็บไซต์หรือบล็อก
  • Copywriter มีหน้าที่เขียนโพสต์สั้น ๆ หรือแค็ปชันลงบนโซเชียลมีเดีย มีจุดประสงค์เพื่อกระตุ้นยอดการมีส่วนร่วม (Engagement)
  • Freelance Writer นักเขียนฟรีแลนซ์ที่ทำคอนเทนต์ตามความชอบของตนเอง และทำให้ผู้อื่นเกิดความสนใจได้

Content Creator ด้านดีไซน์

Content Creator ประเภทนี้จะมีความเชี่ยวชาญด้านการออกแบบภาพและตัวอักษรที่ใช้ในการสื่อสาร เป็นตำแหน่งสำคัญที่จะช่วยควบคุมภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้อยู่ในทิศทางที่ควรจะเป็น ส่วนมากจะต้องมีทักษะการใช้โปรแกรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบ เช่น Photoshop, Illustrator, Premier Pro ฯลฯ ได้อย่างมืออาชีพ เพื่อให้ภาพที่ออกมามีความสวยงาม สามารถดึงดูดผู้ชมให้เข้ามาสนใจตัวแบรนด์ได้ โดยชื่อตำแหน่งของ Content Creator ประเภทนี้ที่หลายคนน่าจะรู้จัก ได้แก่

  • Graphic Designer มีหน้าที่ออกแบบและจัดวางองค์ประกอบของภาพและตัวอักษรให้เหมาะสม สามารถสื่อสารความเป็นแบรนด์ออกมาผ่านรูปภาพได้
  • Art Director หรือผู้กำกับศิลป์ มีหน้าที่ดูแลในส่วนของงานศิลป์ทั้งหมด คอยกำกับทิศทางของอาร์ตเวิร์กและดีไซน์ให้เหมาะสมกับภาพลักษณ์แบรนด์ ตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย
  • Creative Director ตำแหน่งนี้จะเป็นผู้ที่คอยดูแลภาพรวมของ Art Director อีกที และต้องทำงานร่วมกับ Copywriter ด้วย กล่าวคือ จะต้องมีความเข้าใจทั้งเรื่องของกราฟิกและการเขียน Copywriting บนอาร์ตเวิร์ก เพื่อให้งานดราฟต์สุดท้ายออกมาสมบูรณ์แบบมากที่สุด
  • Animation Designer หรือนักออกแบบแอนิเมชัน มีหน้าที่สร้างแอนิเมชันโดยการใช้ซอฟต์แวร์ ต้องมีทักษะการออกแบบกราฟิก มีความเข้าใจเรื่อง Motion Graphic และการเล่าเรื่อง (Storytelling) เป็นอย่างดี

Content Creator ด้านวิดีโอ

Content Creator ประเภทนี้จะมีความเชี่ยวชาญด้านการวางแนวทางตัดต่อวิดีโอให้เป็นไปตามแผนงานที่กำหนด สามารถใช้โปรแกรม Adobe Premiere, After Effects, Final Cut, Photoshop ฯลฯ ได้อย่างคล่องแคล่ว เป็นอีกหนึ่งสายอาชีพที่หลาย ๆ บริษัทต้องการเป็นอย่างมาก เพราะคอนเทนต์วิดีโอเป็นรูปแบบเนื้อหาที่ค่อนข้างกระตุ้นยอดการมีส่วนร่วมจากผู้ชมได้ดี โดยอาชีพของ Content Creator ด้านวิดีโอที่เราคุ้นเคย ได้แก่

  • Video Editor หรือนักตัดต่อวิดีโอ มีหน้าที่เล่าเรื่องผ่านการทำวิดีโอให้ดูน่าสนใจ มีลูกเล่นที่สร้างความดึงดูดแก่ผู้ชม
  • YouTuber หนึ่งในสายอาชีพที่กำลังมาแรงเป็นอย่างมาก เพราะ YouTube เป็นแพลตฟอร์มที่นอกจากจะเปิดโอกาสให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วไปได้สร้างช่อง (Channel) เป็นของตัวเองแล้ว ผู้ที่ทำคอนเทนต์แล้วได้รับความนิยมยังสามารถสร้างรายได้จากแพลตฟอร์มได้เป็นกอบเป็นกำอีกด้วย

มาถึงตรงนี้ เชื่อว่าหลายคนก็น่าจะเข้าใจมากขึ้นแล้วว่า Content Creator คืออะไร แบ่งประเภทความเชี่ยวชาญอย่างไร ซึ่งบริษัทใหญ่ ๆ หลายแห่งเวลาประกาศรับสมัคร Content Creator ก็จะแบ่งประเภทมาให้ชัดเจนว่าต้องการคนทำคอนเทนต์สายไหน แต่อย่างไรก็ตาม ต่อให้เราไม่ได้เชี่ยวชาญทุกสาย แต่ก็ควรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับคอนเทนต์ประเภทที่ตนเองไม่ได้ทำด้วย เพราะเมื่อเข้าไปทำงานจริงแล้ว Content Creator แต่ละสายจะต้องมีการทำงานร่วมกันตลอดเวลา เช่น Copywriter ต้องทำงานร่วมกับ Graphic Designer เพื่อให้งานที่ออกมาเป็นไปในมู้ดแอนด์โทนเดียวกัน และสามารถถ่ายทอดภาพลักษณ์ที่เหมาะสมของแบรนด์ออกไปยังกลุ่มเป้าหมายได้

อยากเป็น Content Creator

Content Creator ทำอะไรบ้าง

อีกหนึ่งคำถามยอดฮิตสำหรับคนที่สนใจงานด้านนี้ คือ ในหนึ่งวัน Content Creator ทำอะไรบ้าง ซึ่งต้องบอกก่อนว่าหน้าที่ในแต่ละวันอาจจะแตกต่างกันไปตามประเภทที่แบ่งไว้ในหัวข้อก่อนหน้า แต่หน้าที่ที่เราได้ยกมาเป็นความรับผิดชอบโดยรวมของอาชีพนี้ เพื่อให้ทุกคนเห็นภาพหนึ่งวันของการเป็น Content Creator ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยสิ่งที่ต้องทำหลัก ๆ มีดังนี้

วิเคราะห์และประเมินภาพรวมของแบรนด์

อาจดูเหมือนเป็นหน้าที่ของนักการตลาด แต่ความจริงแล้ว นักการตลาดจะวิเคราะห์ทั้งในส่วนของแบรนด์และลูกค้าของแบรนด์ ว่าจุดยืนของแบรนด์เราคืออะไร ลูกค้าของเราเป็นใคร ซึ่ง Content Creator ต้องรับข้อมูลดังกล่าวมาวิเคราะห์ต่อ เพื่อทำความเข้าใจเอกลักษณ์ และใจความสำคัญที่แบรนด์ต้องการนำเสนอไปยังกลุ่มเป้าหมายเหล่านั้นอย่างแท้จริง เพราะการเข้าใจว่าธุรกิจมีกลุ่มเป้าหมายเป็นใคร อายุเท่าไร จะทำให้สามารถวางแผนการสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ กล่าวคือ รู้ว่าควรทำคอนเทนต์อะไร รูปแบบไหน สื่อสารผ่านช่องทางใด และช่วงเวลาใด จึงจะทำให้เกิดการมีส่วนร่วมจากผู้ชมมากที่สุด

ผลิตคอนเทนต์ที่สร้างสรรค์ เหมาะสมกับแบรนด์

อย่างที่เรารู้กันดีอยู่แล้วว่า หน้าที่ที่สำคัญมาก ๆ ของ Content Creator ก็คือการผลิตคอนเทนต์ แต่เพราะอีกหลาย ๆ แบรนด์เองก็ทำเหมือนกัน จะให้มัวแต่มาทำอะไรเดิม ๆ ก็อาจจะน่าเบื่อเกินไป ดังนั้น คนเป็น Content Creator จึงจำเป็นต้องคิดค้นไอเดียใหม่ ๆ เป็นประจำ แล้วนำมาสร้างสรรค์เป็นเนื้อหาที่ดูน่าสนใจ ไม่จำเจ และที่สำคัญต้องตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาที่อิงกระแสสังคมแบบเรียลไทม์ (Real-time Marketing) ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการมีส่วนร่วมได้ดี หรือเนื้อหาที่คงอยู่ได้เรื่อย ๆ แบบ Evergreen Content ที่สามารถแสดงออกถึงความเชี่ยวชาญของเราในด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะ โดยถ้าหากเราสามารถทำออกมาได้แปลกใหม่ ไม่เหมือนใคร ก็จะยิ่งช่วยสร้างการรับรู้และการจดจำแบรนด์ได้มาก

เขียนคำโฆษณาที่น่าดึงดูด

สำหรับ Content Creator สายเขียน นอกจากจะต้องเขียนคอนเทนต์ยาว ๆ แล้ว ยังต้องสามารถเขียนคำโฆษณาสั้น ๆ แต่น่าดึงดูดได้อีกด้วย เพราะเมื่อเป็นเนื้อหาที่เกี่ยวกับโฆษณา คนส่วนมากจะไม่ค่อยชอบอ่านอะไรยาว ๆ เผลอ ๆ บางทีก็แค่กวาดสายตาผ่าน ๆ แล้วก็เลื่อนหนีไปเลย ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของ Content Creator ที่จะต้องสร้างสรรค์คำโฆษณาที่เรียกความสนใจจากผู้อ่านได้ตั้งแต่ประโยคแรก ไม่ว่าจะเป็นแค็ปชันบนโซเชียลมีเดีย คำบรรยายบนอินโฟกราฟิก หรือแม้แต่บนสื่อออฟไลน์ต่าง ๆ เช่น บิลบอร์ด โบรชัวร์ เป็นต้น

ออกแบบภาพให้มีความสวยงาม

ภาพประกอบ ถือเป็นสิ่งที่จะช่วยยกระดับเนื้อหาของเราให้น่าอ่านขึ้นได้ ทั้งยังเป็นตัวช่วยสำคัญที่จะนำเสนอภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้ลูกค้าเกิดภาพจำที่แม่นยำ แต่หน้าที่ในการออกแบบนั้นอาจไม่ใช่ของ Graphic Designer ตำแหน่งเดียวเสมอไป เพราะบางทีคนที่เขียนคอนเทนต์ หรือ Content Writer ก็ต้องคอยดูแลและกำกับสไตล์ของภาพให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันกับเนื้อหาที่เขียนด้วย

 

ทักษะ Content Creator มีอะไรบ้าง

สำหรับใครที่อ่านแล้วรู้สึกว่าอาชีพ Content Creator น่าสนใจ และอยากจะพัฒนาตัวเองให้สามารถเดินต่อไปทางนี้ได้อย่างมีคุณภาพ ก็ต้องรู้ก่อนว่าทักษะ Content Creator มีอะไรบ้าง ทั้งในส่วนของ Hard Skills และ Soft Skills

Hard Skills ของ Content Creator

  • Research Skill – ทักษะด้านการค้นคว้าข้อมูลที่สำคัญมาวิเคราะห์ แล้วนำมาปรับใช้กับคอนเทนต์เพื่อความน่าเชื่อถือ และความถูกต้องแม่นยำของเนื้อหา
  • Creation Skill – ทักษะในการผลิตคอนเทนต์ที่ได้รับมอบหมายอย่างสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นด้านงานเขียน การทำกราฟิก หรือการตัดต่อวิดีโอ
  • Storytelling Skill – ทักษะการเล่าเรื่อง โดยสามารถใช้เทคนิคการเล่าและลำดับเรื่องราวให้ดูสนุก น่าติดตาม
  • SEO Skill – ต้องมีความเข้าใจในการเพิ่มประสิทธิภาพการค้นหาให้แก่คอนเทนต์ หรือที่เรียกว่าการทำ SEO (Search Engine Optimization) เพื่อให้ผู้ใช้งานมีโอกาสเข้าถึงคอนเทนต์ของเรามากยิ่งขึ้น
  • Tech & Tool Skill – ทักษะการทำงานด้วยเทคโนโลยีหรือเครื่องมือที่ทันสมัย ซึ่งจะช่วยให้สามารถค้นหาปัจจัยที่เหมาะสมกับการสร้างคอนเทนต์ เพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
  • Marketer Skill – ทักษะการส่งเสริมการขายให้ถูกที่ ถูกเวลา และต้องมีความเข้าใจในการขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ ทั้งโซเชียลมีเดีย เว็บไซต์ หรืออีคอมเมิร์ซ

Soft Skills ของ Content Creator

  • Communication Skill – เป็น Content Creator ไม่ใช่แค่ต้องเขียน ออกแบบภาพ หรือตัดต่อวิดีโอเท่านั้น แต่ยังต้องมีทักษะด้านการสื่อสารเพื่อให้การเล่าเรื่องราวผ่านคอนเทนต์เป็นไปอย่างราบรื่น อีกทั้งยังเป็นประโยชน์ในการทำงานร่วมกับคนอื่น ๆ ด้วย
  • Creativity Skill – ทักษะด้านการริเริ่มความคิดสร้างสรรค์ เพราะการทำคอนเทนต์ต้องหมั่นผลิตสิ่งใหม่ ๆ ตลอดเวลาเพื่อไม่ให้ผู้อ่านรู้สึกเบื่อแล้วเลื่อนผ่านไปเฉย ๆ ได้ ยิ่งคอนเทนต์ของเราแปลกใหม่เท่าไร ก็จะยิ่งทำให้ผู้ชมมีโอกาสให้ความสนใจมากเท่านั้น
  • Detail-Oriented Skill – ทักษะในการใส่ใจรายละเอียดถือเป็นสิ่งที่คนเป็น Content Creator จะขาดไปไม่ได้เลย เนื่องจากคอนเทนต์คือสารที่เป็นตัวกลางระหว่างแบรนด์กับกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งนั่นหมายความว่าคอนเทนต์ที่ถูกเผยแพร่จะกลายเป็นหน้าตาของแบรนด์โดยอัตโนมัติ ดังนั้น คนสร้างคอนเทนต์จึงต้องมีความใส่ใจในรายละเอียดเล็ก ๆ ของสารที่จะสื่อ และป้องกันอย่างเต็มที่ไม่ให้เกิดความผิดพลาดที่อาจส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงของแบรนด์
  • Management Skill – อีกหนึ่งทักษะที่ Content Creator ต้องมี คือ การวางแผนและจัดการคอนเทนต์ สามารถทำได้โดยการทำตารางเวลาของตนเอง เช่น กำหนดช่วงเวลาการลงคอนเทนต์ ช่องทางการลง ความถี่ในการลง เป็นต้น

สรุป

จะเห็นได้ว่า อาชีพ Content Creator ไม่ได้มีหน้าที่แค่เขียน ดีไซน์ภาพ หรือตัดต่อวิดีโอเพียงเท่านั้น แต่ยังต้องมีส่วนร่วมในการวางแผนการตลาด ให้คอนเทนต์ออกมาตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายมากที่สุดอีกด้วย บางคนอาจจะมองว่า “ก็แค่สร้างคอนเทนต์ ใคร ๆ ก็ทำได้” แต่ความจริงแล้ว การจะทำออกมาให้ดูน่าสนใจ ดึงดูดผู้ชมได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย โดยคนที่เป็น Content Creator จะต้องอาศัยทักษะเฉพาะทางหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นทักษะทางวิชาชีพ (Hard Skills) หรือทักษะทางด้านสังคม (Soft Skills) และที่สำคัญ หูตาต้องไว ต้องรู้จักติดตามข่าวสาร เทรนด์ และหาข้อมูลเชิงลึกเก่ง ซึ่งหากใครเป็นคนที่เล่นโซเชียลมีเดียตลอดก็อาจจะได้เปรียบในสายงานนี้ เพราะเป็นช่องทางที่สามารถเข้าถึงทุกอย่างได้รวดเร็ว ยิ่งไปกว่านั้น ต้องรู้จักจับให้ถูกกระแสด้วยว่าอันไหนควรนำมาปรับใช้กับคอนเทนต์ของเราอย่างไร ตลอดจนระมัดระวังไม่นำประเด็นอ่อนไหวที่อาจสร้างความเสียหายต่อชื่อเสียงของบริษัทมาใช้ในการทำคอนเทนต์ด้วย

สำหรับใครที่ทำธุรกิจแล้วยังไม่มีคอนเทนต์ปัง ๆ สามารถติดต่อ Primal Digital Agency ได้เลยวันนี้ เพราะเรามีผู้เชี่ยวชาญด้านการทำคอนเทนต์ ที่จะช่วยทำให้แบรนด์ของคุณดูน่าสนใจและดึงดูดลูกค้าได้มากกว่าเดิม !