Twitter Checkmark จำเป็นไหม สีฟ้า สีทอง สีเทาต่างกันอย่างไร

หลังจากที่ อีลอน มัสก์ เข้าซื้อกิจการของ Twitter ทางแพลตฟอร์มก็มีนโยบายใหม่มากมาย หนึ่งในนั้น คือ การเรียกเก็บค่าบริการรายเดือนสำหรับผู้ที่ต้องการยืนยันตัวตน (Twitter Verification) ด้วยเครื่องหมายติ๊กถูกสีฟ้าที่ด้านหลังชื่อ ซึ่งก่อนหน้านี้เรามักพบในแอ็กเคานต์สาธารณะ หรือแอ็กเคานต์คนดัง เช่น ดารา นักร้อง นักการเมือง ซึ่งฟีเจอร์นี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อ Twitter Blue

Twitter Blue ได้รับคำวิจารณ์อย่างล้นหลามในช่วงแรก เพราะคนส่วนมากมองว่า อีลอน มัสก์ เอาเปรียบผู้บริโภค โดยการงดสิทธิ์บางอย่างที่เคยมีของแอ็กเคานต์ที่ใช้งานฟรี ไปสงวนไว้ให้แอ็กเคานต์ที่จ่ายเงินเท่านั้น อีกทั้งไม่กี่วันหลังเปิดตัว ก็มีผู้ใช้งานจำนวนมากสมัครบริการดังกล่าวเพื่อปลอมตัวเป็นแอ็กเคานต์ของบุคคลที่มีชื่อเสียง ส่งผลให้ Twitter Blue ไปไม่รอด ต้องระงับการให้บริการชั่วคราว

ทว่าเมื่อปลายปีที่แล้ว Twitter Blue ได้กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง พร้อมเพิ่มสีเครื่องหมาย Checkmark เป็น 3 สี ได้แก่ สีฟ้า สีทอง และสีเทา เพื่อแยกหมวดหมู่ของแอ็กเคานต์ให้ชัดเจน และมีค่าบริการแตกต่างกัน มาดูกันว่าการเล่น Twitter ในยุค 2023 นี้ Twitter Checkmark ยังจำเป็นไหม แล้วถ้าสนใจ จะเลือกแพ็กเกจสีฟ้า สีทอง หรือสีเทาดี

แต่ก่อนอื่น มาทำความเข้าใจ Twitter Blue ให้มากขึ้นกันก่อนดีกว่า

Verified Twitter คืออะไร

สมัคร Twitter Blue แล้วได้อะไร

อย่างที่ได้บอกไปว่า Twitter Blue เป็นบริการจ่ายเงินรายเดือนเพื่อให้ได้เครื่องหมาย Checkmark สีฟ้าในการยืนยันตัวตน แต่นอกจากนี้ ยังมีฟีเจอร์พิเศษที่เพิ่มมาจากบัญชีผู้ใช้ปกติด้วย ได้แก่

  • ทวีตได้ยาวขึ้น สูงสุด 4,000 ตัวอักษร (จากปกติเพียง 280 ตัวอักษร)
  • แก้ไขทวีตได้สูงสุด 5 ครั้ง ภายใน 30 นาที
  • โพสต์วิดีโอได้ยาวขึ้น และสามารถโพสต์ที่ความละเอียด 1080P ได้
  • มีโฟลเดอร์ Bookmark หรือ การนำฟีเจอร์เซฟข้อความทวีต (ที่เดิมทีคือปุ่ม Favorite) กลับคืนมา พร้อมแยกโฟลเดอร์จัดหมวดหมู่ได้ละเอียดขึ้น
  • สามารถยกเลิกทวีต (Undo) ได้ ภายใน 30 วินาทีหลังทวีตถูกเผยแพร่
  • มี Reader Mode ที่รวมข้อความทวีตในเทรด (Thread) มาต่อกันเป็นข้อความยาว ๆ และจัดรูปแบบข้อความให้อ่านง่ายขึ้น
  • ใช้รูป NFT เป็นรูปโพรไฟล์ได้
  • สามารถเปลี่ยนไอคอนและธีมสีของแอปฯ ได้
  • สามารถเข้าถึงฟีเจอร์ใหม่ ๆ ได้ก่อนผู้ใช้ทั่วไป

นอกจากฟีเจอร์หลักเหล่านี้ Twitter ยังมีแพลนที่จะปล่อยฟีเจอร์อื่น ๆ เพิ่มเติมด้วย เช่น

  • เพิ่มอันดับในการตอบกลับ (Mention) และการค้นหา หรือยอด Reach
  • มองเห็นโฆษณาน้อยลง 50%

โดย Twitter Blue หรือการจะให้ได้มาซึ่งเครื่องหมาย Checkmark สีฟ้านั้น มีค่าบริการเริ่มต้นเดือนละ 275 บาท หรือเหมาจ่าย ปีละ 2,900 บาท แต่สำหรับระบบ iOS ที่สามารถสมัครผ่านแอปพลิเคชันได้เลย จะต้องจ่ายในราคาแพงกว่า อยู่ที่ 380 บาทต่อเดือน และ 4,000 บาทต่อปี

 

Twitter Checkmark แต่ละสีต่างกันอย่างไร

ก่อนหน้านี้ เรามักจะคุ้นเคยกับเครื่องหมายติ๊กถูกหลังชื่อที่เป็นสีฟ้าเท่านั้น แต่หลังจากที่ Twitter อัปเกรดแล้ว ทางแพลตฟอร์มก็ได้เพิ่ม Checkmark มาอีก 2 สี ได้แก่ สีทอง และสีเทา ซึ่งมีวัตถุประสงค์และค่าบริการที่แตกต่างกัน ดังนี้

Blue Checkmark

Blue Checkmark หรือ เครื่องหมายติ๊กถูกสีฟ้า เป็นหนึ่งในฟีเจอร์พิเศษที่จะได้รับหลังจากสมัครบริการ Twitter Blue ที่ได้อธิบายไปข้างต้น เป็นสัญลักษณ์สำหรับบุคคลทั่วไป โดยระบบ iOS สามารถสมัครผ่านแอปฯ Twitter ส่วนระบบอื่น ๆ สมัครผ่านหน้าเว็บไซต์ สามารถคลิกตรงแถบเครื่องมือด้านซ้ายได้เลย ส่วนค่าใช้จ่ายก็คือค่าสมัคร Twitter Blue ตามที่ได้ระบุไว้ในหัวข้อก่อนหน้า

Twitter Blue Checkmark

 

Gold Checkmark

Gold Checkmark หรือ เครื่องหมายติ๊กถูกสีทอง เป็นเครื่องหมายยืนยันตัวตนสำหรับองค์กรเอกชน หรือแบรนด์ใหญ่ ๆ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ซึ่งนอกจากจะได้ติ๊กถูกสีทองข้างหลังชื่อแล้ว ยังมีความพิเศษกว่าแอ็กเคานต์อื่น ๆ คือ จะมีภาพโพรไฟล์เป็นรูปสี่เหลี่ยม และสามารถใส่ไอคอนโลโก้ของแบรนด์ให้อยู่ข้าง ๆ เครื่องหมายถูก แล้วยังสามารถเลือกยืนยันตัวตนให้บัญชี Twitter ของพนักงานในองค์กรให้ติด Blue Checkmark ได้ด้วย ส่วนฟีเจอร์ที่เพิ่มขึ้นกว่า Blue Checkmark คือการเข้าถึง Dashboard แบบใหม่ และแท็บรวบรวมรายชื่อบัญชีย่อยของธุรกิจที่ช่วยให้สามารถบริหารจัดการบัญชีของแบรนด์ได้ง่ายขึ้น 

สำหรับค่าใช้จ่ายของ Gold Checkmark จะอยู่ภายใต้นโยบายที่เรียกว่า Verified Organizations (องค์กรที่ได้รับการยืนยันตัวตน) มีราคาอยู่ที่ประมาณ 34,100 บาทต่อเดือน และหากต้องการยืนยันตัวตนให้พนักงานด้วย จะต้องจ่ายเพิ่มอีกประมาณ 1,710 บาทต่อคน โดยเครื่องหมายถูกสีทองนี้สามารถสมัครได้เฉพาะองค์กรหรือแบรนด์เท่านั้น

Twitter Gold Checkmark

Grey Checkmark

Grey Checkmark หรือ เครื่องหมายติ๊กถูกสีเทา เป็นเครื่องหมายยืนยันตัวตนสำหรับหน่วยงานของรัฐ เช่น กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการคลัง เป็นต้น มีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 34,100 บาทต่อเดือนเช่นเดียวกับ Gold Checkmark แต่จะต้องได้รับการรับรองจาก Twitter ก่อนว่ามีคุณสมบัติครบถ้วนแก่การได้รับเครื่องหมายสีเทาหรือไม่

Twitter Grey Checkmark

Twitter Checkmark จำเป็นไหม

ขณะนี้ ผู้ใช้งานที่ยอมเสียเงินรายเดือนเพื่อแลกกับ Twitter Checkmark ยังมีไม่ถึง 5% ของผู้ใช้ทั้งหมด นั่นอาจหมายความว่าการมี Checkmark ไม่ได้ส่งผลอะไรมากนักสำหรับผู้ที่ใช้ทวิตเตอร์เพื่อความบันเทิงทั่ว ๆ ไป เพราะต่อให้ไม่ต้องสมัคร Twitter Blue ก็ยังสามารถใช้งานได้ตามปกติ ไม่ได้ทำให้รู้สึกขาดเหลืออะไร แต่หากมองในมุมกลับกัน สำหรับผู้ที่ทำธุรกิจ นี่ก็อาจถือเป็นการลดคู่แข่งลงไปได้ เพราะยิ่งคนจ่ายเงินแลกกับ Twitter Checkmark น้อยเท่าไร โอกาสที่เราจะโดดเด่นอยู่บนแพลตฟอร์มก็มีมากเท่านั้น เนื่องจากอัลกอริทึมของ Twitter จะพยายามหาคอนเทนต์จากแอ็กเคานต์ที่ยืนยันตัวตนแล้วมาขึ้นหน้าฟีด For You ให้มากขึ้นเสมอ และการที่เรายอมจ่ายเงินเพื่ออัปเกรดแอ็กเคานต์ของตัวเอง ก็จะช่วยให้แบรนด์ของเราถูกมองเห็นมากขึ้น 

ดังนั้น หากถามว่า Twitter Checkmark จำเป็นไหม ก็คงต้องหันมาพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ ของตัวเองอีกทีว่าบัญชีของเราเป็นบัญชีอะไร ต้องการยอดการมีส่วนร่วม (Engagement) มากน้อยแค่ไหน ต้องการให้ดูมีความน่าเชื่อถือในสายตาผู้อื่นหรือไม่ หากเป็นบัญชีบุคคลทั่วไปก็อาจตอบได้ว่า Twitter Checkmark ไม่จำเป็นขนาดนั้น เพราะฟีเจอร์ที่มีให้ใช้ฟรีก็ถือว่าครบครันแล้ว Checkmark จะเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการเพิ่มยอดการมองเห็นเป็นพิเศษ เช่น แบรนด์ องค์กร คนดัง หรืออินฟลูเอนเซอร์มากกว่า

กระนั้น ปัจจุบันก็ยังไม่อาจพูดว่า Checkmark มีความจำเป็นได้ จึงขอใช้คำว่า เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการยืนยันตัวตนเพื่อความน่าเชื่อถือ หรือมีความจำเป็นต้องใช้ฟีเจอร์พิเศษเพิ่มจะดีกว่า แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราทำธุรกิจอะไร และต้องใช้ Twitter บ่อยแค่ไหน หากเราใช้แพลตฟอร์มอื่นเป็นหลัก และแทบไม่มีกลุ่มเป้าหมายจาก Twitter เลย การจ่ายเงินซื้อ Checkmark ก็คงไม่ทำให้เกิดผลอะไร อีกทั้งตอนนี้ แบรนด์ใหญ่หลาย ๆ แบรนด์ก็ยังไม่เลือกลงทุนกับ Gold Checkmark เนื่องจากมีราคาสูงมาก และยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องของการรับประกันผลลัพธ์ที่จะได้ ยิ่งถ้าเป็น Blue Checkmark หลาย ๆ แบรนด์ยิ่งมองว่าไม่จำเป็น เพราะใคร ๆ ก็สมัคร Blue Checkmark ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นองค์กรที่น่าเชื่อถือ

อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า Twitter วางแผนที่จะมอบ Gold Checkmark ให้แก่บัญชีที่ลงโฆษณาสูงสุดจำนวน 500 บัญชี รวมไปถึงบัญชีที่มีผู้ติดตามมากที่สุดจำนวน 10,000 บัญชีแรกด้วย ซึ่งนั่นหมายความว่าเราจะมีคู่แข่งเพิ่มขึ้นอีกแน่นอนในอนาคต ในส่วนนี้ ก็ต้องมาพิจารณาดูกันต่อไปว่าการจ่ายเงินแลกกับ Checkmark จะคุ้มค่ากับสิ่งที่ได้หรือไม่

 

สรุป

ดังนั้น สำหรับใครที่เคยมีเครื่องหมาย Blue Checkmark ก่อนหน้านี้ ถ้าอยากได้คืน ก็ต้องเสียค่าบริการให้กับฟีเจอร์ Twitter Blue โดยสิ่งที่จะได้นอกเหนือจากเครื่องหมายติ๊กถูกแล้ว ยังมีฟีเจอร์พิเศษอื่น ๆ ที่แอ็กเคานต์ปกติไม่มี หากต้องการยอด Reach หรือ Engagement เพิ่ม การยืนยันตัวตนเช่นนี้ก็มีผลจริง เนื่องจากอัลกอริทึมของ Twitter จะผลักดันให้เราถูกมองเห็นมากขึ้น การจ่ายเงินเพื่อแลก Checkmark จึงเหมาะสำหรับแบรนด์หรือองค์กรที่ต้องการสร้างการรับรู้และความน่าเชื่อถือ แต่ต้องระมัดระวังเรื่องการปฏิบัติตามกฎระเบียบของแพลตฟอร์ม เพราะถ้าหากทำผิดเงื่อนไขแล้ว นอกจากจะถูกยึดเครื่องหมายคืน ยังมีโอกาสที่บัญชีจะถูกระงับด้วย

หากคุณกำลังมองหาความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญด้านการทำการตลาดบนโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะแพลตฟอร์มใดก็ตาม ติดต่อ Primal Digital Agency เพื่อพูดคุยและรับคำปรึกษาจากทีมงานของเราได้เลยวันนี้