Twitter (ทวิตเตอร์) คืออะไร? แอปพลิเคชันที่มาแรงที่สุดขณะนี้

สำหรับผู้ที่ติดตามข่าวสารในแวดวงออนไลน์อยู่เสมอ ก็คงจะรู้จักแอปพลิเคชันที่มีชื่อว่า “Twitter (ทวิตเตอร์)” กันเป็นอย่างดี โดยเฉพาะในหมู่วัยรุ่นที่นิยมเล่นกันมาก เพราะเป็นแพลตฟอร์มที่สามารถแลกเปลี่ยนประเด็นต่าง ๆ ในสังคมได้แบบเรียลไทม์ โดยเฉพาะเรื่องการเมือง อีกทั้งยังมีการแบ่งคอมมูนิตี (Community) ที่ชัดเจนและหลากหลาย เช่น คอมมูฯ แฟนคลับนักร้องเกาหลี คอมมูฯ แฟนคลับการ์ตูนญี่ปุ่น หรืออนิเมะ (Anime) คอมมูฯ คนชอบอ่านนิยาย เป็นต้น กล่าวคือ เป็นที่ที่คนมีความชอบแบบเดียวกันมารวมตัวเพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้อย่างอิสระ และที่สำคัญ Twitter คือแพลตฟอร์มที่ทำให้เราได้รับรู้ข่าวสารไวมาก และสามารถแพร่กระจายออกไปยังแพลตฟอร์มอื่น ๆ ได้อย่างรวดเร็ว เพราะมีสิ่งที่เรียกว่า “การติดเทรนด์” อยู่นั่นเอง ซึ่งหลายคนที่ไม่ได้เล่น Twitter ก็อาจจะสงสัยว่า Twitter หรือทวิตเตอร์คืออะไร เล่นยังไง ทำไมคนถึงนิยมใช้กัน? และนั่นคือสิ่งที่ทุกคนกำลังจะรู้ในบทความนี้!

ประโยชน์ของทวิตเตอร์คืออะไร

Twitter คืออะไร?

Twitter หรือ ทวิตเตอร์ คือ เครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ก่อตั้งโดยบริษัท Obvious Corp เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2006 โดยอนุญาตให้ผู้ใช้งานสามารถแชร์สถานะ (Status) ว่าตนเองกำลังทำอะไรอยู่ผ่านข้อความสั้น ๆ ไม่เกิน 280 ตัวอักษร (เพิ่มมาจากในอดีตที่ไม่เกิน 140 ตัวอักษร) หรือรีทวีต (Retweet) ข่าวสารที่น่าสนใจของผู้อื่น แล้วยังมีฟังก์ชันส่งข้อความหากัน ซึ่งเรียกกันว่า “Tweets” ที่คล้าย ๆ กับเสียงนกร้อง และข้อความส่วนตัว (Direct Message) เหมือนกับแอปพลิเคชันอื่น ๆ ทั่วไป

เราจะสังเกตได้ว่าสมัยนี้ ข่าวสารใดที่เป็นประเด็นดัง ๆ ก็มักมาจาก Twitter ทั้งนั้น โดยตัวแอปพลิเคชันจะมีฟังก์ชันแฮชแทก (Hashtag) หรือสัญลักษณ์เครื่องหมายสี่เหลี่ยม (#) เอาไว้เป็นช่องทางในการสื่อสารแลกเปลี่ยนเรื่องเกี่ยวกับประเด็นนั้น ๆ และเมื่อใดที่มีคนพูดถึงเรื่องเดียวกันเยอะ ๆ แฮชแทกนั้นก็จะ “ติดเทรนด์ Twitter” อันจะส่งผลให้เป็นประเด็นแพร่หลายไปทั่วทุกแพลตฟอร์มในเวลาต่อมานั่นเอง

 

Twitter เล่นยังไง?

ครั้งแรกที่ Twitter เปิดตัว ได้มีการอธิบายถึงการใช้งานแอปพลิเคชันเอาไว้ว่า มีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้ใช้งานตอบคำถาม “What are you doing?” หรือ “คุณกำลังทำอะไรอยู่” ที่ไหน และอย่างไร โดยคนที่เป็นผู้ติดตาม (Followers) ของเราก็จะสามารถมองเห็นทวีตของเราบนหน้าไทม์ไลน์ได้ตลอดเวลา เช่นเดียวกับที่เราสามารถมองเห็นทวีตของคนที่เรากำลังติดตาม (Following) ได้

ในต่างประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกามีการใช้ Twitter กันมาก และเป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยมสูง ทำให้วัฒนธรรมการเล่น Twitter ถูกส่งต่อมายังวัยรุ่นยุคใหม่ของไทยด้วย ซึ่งในขณะนี้ Twitter ถูกนำมาใช้งานในลักษณะที่แตกต่างกันตามความชอบส่วนตัวของผู้ใช้ บางคนใช้เพื่อตอบคำถามและอัปเดตเพื่อน ๆ ว่าตอนนี้ตนกำลังทำอะไรอยู่ อยู่ที่ไหน บางคนใช้แค่ติดตามข่าวสาร หรือคอมมูนิตีที่ตนเองสนใจเท่านั้น บางคนใช้เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนที่ไม่รู้จัก แต่มีความสนใจในประเด็นเดียวกัน เป็นต้น ซึ่งสามารถแบ่งตามการใช้งานได้คร่าว ๆ ดังนี้

  • บุคคลทั่วไป ใช้ Twitter เพื่อให้เพื่อน ๆ และคนสนิทติดตามซึ่งกันและกัน เป็นโซเชียลมีเดียอีกหนึ่งแพลตฟอร์มที่ใช้สนทนา และพูดคุยเพื่อสร้างสัมพันธ์กับผู้อื่นมากขึ้น
  • ผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ที่ชำนาญเฉพาะเรื่อง หรือเรียกง่าย ๆ ว่า “กูรู” นั่นเอง โดยคนเหล่านี้มักจะใช้ Twitter เป็นพื้นที่ให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องที่ตนมีความเชี่ยวชาญ เพื่อสร้างชื่อเสียงให้แก่ตนเอง
  • ผู้ประกอบการ มักใช้ Twitter เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการของแบรนด์ รวมไปถึงการใช้เป็นเครื่องมือติดต่อและสร้างสัมพันธ์กับลูกค้า (CRM) แทนการใช้คอลเซนเตอร์ (Call Center)
  • ดารา นักแสดง นักร้อง อินฟลูเอนเซอร์ นิยมใช้ Twitter ให้แฟนคลับมากดติดตาม และอัปเดตข่าวสารของตนเองในนั้น
  • เว็บไซต์ ใช้ Twitter ในการอัปเดตเรื่องราวบนเว็บไซต์ เพื่อดึงให้คนกลับมาที่เว็บไซต์ (Traffic)

 

ฟีเจอร์ที่น่าสนใจของ Twitter คืออะไรบ้าง?

แน่นอนว่า Twitter ไม่ได้ทำได้แค่เพียงพิมพ์ข้อความบนหน้าไทม์ไลน์กันอย่างเดียว แต่ยังมีอีกหลายฟีเจอร์ที่เราสามารถใช้ได้ ดังนี้

  • Reply คือ การตอบกลับ โดยเราสามารถตอบกลับทวีตของผู้อื่นได้อย่างอิสระ
  • Direct Message คือ การส่งข้อความส่วนตัวหาผู้อื่นโดยที่ไม่มีใครเห็น
  • Favorite คือ การกดหัวใจเพื่อเก็บทวีตที่เราชื่นชอบเอาไว้ในหมวด Favorite
  • Retweet คือ การกดรีทวีตของผู้อื่นซึ่งมีเนื้อหาแบบที่เราสนใจให้มาขึ้นบนหน้าฟีดของเราและผู้ที่ติดตามเราอยู่ คล้ายกับการ Forward ต่อ
  • Communities คือ แหล่งรวมคนที่สนใจเรื่องเดียวกัน เป็นชุมชนเล็ก ๆ บนแพลตฟอร์มที่มีการแลกเปลี่ยนความสนใจ เพียงแค่กดเข้าร่วมคอมมูฯ เราก็จะสามารถทวีตข้อความในสมาชิกกลุ่มนั้นได้เห็น โดยทุกคอมมูฯ จะมีผู้ดูแล เรียกว่าโมเดอเรเตอร์ (Moderator) ซึ่งฟีเจอร์นี้เป็นฟีเจอร์ใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่ปัจจุบันมีจำนวนหลายพันคอมมูฯ แล้ว
  • Twitter Blues คือ การเริ่มทดสอบระบบสมัครใช้บริการ Twitter แบบพิเศษ ชื่อว่า “Twitter Blues” ช่วยให้คนเข้าถึงฟีเจอร์และสิทธิพิเศษต่าง ๆ ได้มากขึ้น เช่น ข้อความที่ไม่มีโฆษณา ข้อความยอดนิยม โฟลเดอร์สำหรับบุ๊กมาร์ก การยกเลิกทวีต และโหมดผู้อ่าน แต่ ณ ปัจจุบัน Twitter Blues เป็นฟังก์ชันที่ใช้ได้แค่ในสหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์เท่านั้น
  • Spaces Twitter คือ ฟีเจอร์ใหม่ที่มีจุดประสงค์ให้ผู้ใช้งานมากหน้าหลายตาใกล้ชิดกันมากขึ้นด้วยเสียงและการสนทนา โดยจะมีโฮสต์ (Host) และผู้ฟังมาร่วมพูดคุย หรือแสดงความคิดเห็นซึ่งกันและกัน เพื่อสร้างการเชื่อมต่อได้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งฟีเจอร์นี้ยังสนับสนุนบทสนทนาที่เปิดกว้าง และปลดล็อกความเป็นจริงในสังคมด้วย
  • ตั๋วเข้าร่วม Spaces Twitter คือ วิธีในการสนับสนุนครีเอเตอร์บน Twitter และสามารถรับส่วนแบ่งรายได้จากการที่ผู้ฟังซื้อตั๋วเข้าร่วม Spaces แบบเอ็กซ์คลูซีฟด้วย โดยสามารถจัดได้ทั้งอิเวนต์ เวิร์กช็อป งานแฟนมีต หรือคอนเสิร์ตก็ได้เช่นกัน ซึ่งคาดว่าจะมีการขยายตลาดไปยังประเทศอื่น ๆ อีกในอนาคต
  • Super Follows ในส่วนนี้ Twitter เปิดโอกาสให้เหล่าครีเอเตอร์สร้างรายได้ต่อเดือนจากการทวีตข้อความส่งไปถึงเฉพาะผู้ที่จ่ายเงินสมัครใช้ฟีเจอร์นี้ โดยจะช่วยให้เจ้าของบัญชีสร้างบทสนทนาที่สามารถโต้ตอบกับผู้ติดตามที่มีส่วนร่วมด้วยได้พิเศษยิ่งขึ้น ผ่านการกดปุ่ม “Super Follows” แต่ขณะนี้สามารถใช้ได้แค่ในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น
  • Tips เป็นฟีเจอร์ที่ออกแบบมาเพื่อให้ผู้ใช้งานสนับสนุนบุคคลที่ตนเองชื่นชอบบน Twitter โดยสามารถชำระเงินผ่านบริการ PayPal, Patreon, Razorpay ได้เลย
  • โหมดความปลอดภัย โดย Twitter จะลดปริมาณการมองเห็นของข้อความที่อาจมีภาษากระทบกระเทือนจิตใจผู้ที่ไม่ได้รับความเท่าเทียมทางสังคม รวมถึงบล็อกบัญชีที่ส่งข้อความซ้ำ ๆ คล้ายสแปม การตอบกลับโดยที่ไม่ได้รับเชิญ หรือการเมนชันถึงโดยที่ไม่ได้ต้องการด้วย
  • สามารถเลือกผู้ติดตามได้ เพื่อควบคุมบัญชีของตนเองให้มีแค่เฉพาะบุคคลที่เรารู้สึกสบายใจจะให้ติดตามเท่านั้น หากไม่ต้องการให้ใครมาติดตาม ก็สามารถเข้าไปที่ลิสต์ผู้ติดตามแล้วกดลบบัญชีดังกล่าวออกไปได้เลย

 

ข้อดี-ข้อเสียของ Twitter คืออะไร?

ข้อดีของ Twitter

  • รับรู้สิ่งต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับแพลตฟอร์มอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นข่าวสาร หรือความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ในสังคม
  • อัปเดตสถานการณ์ต่าง ๆ แบบนาทีต่อนาที กล่าวคือ ไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตามที่กำลังเป็นประเด็นเด่นของสังคมในเวลานั้น ๆ ผู้ใช้งานก็จะสามารถรับรู้ได้ทันทีผ่านการดูจากฟังก์ชัน Trending หรือแฮชแทกที่กำลังติดเทรนด์ว่าตอนนี้กำลังเกิดอะไรขึ้นอยู่บ้าง
  • สามารถแบ่งปันสิ่งที่มีประโยชน์ได้ เช่น ข้อความหรือรายละเอียดต่าง ๆ ที่เรารู้สึกว่าผู้อื่นควรรู้
  • สามารถระบายความอึดอัดของตนเองได้ เนื่องจาก Twitter คือแพลตฟอร์มที่ค่อนข้างมีความฟรีสไตล์ในการที่จะพูดเรื่องส่วนตัวของตนเองมากกว่าแพลตฟอร์มอื่น ๆ เพราะมีจุดประสงค์เพื่อการนั้นมาตั้งแต่เริ่มเปิดตัว
  • สามารถแสดงความเห็นของตนเองได้อย่างอิสระ แม้เป็นการพูดคุยกับคนที่เราไม่รู้จักมาก่อนเลยก็ตาม

ข้อเสียของ Twitter

  • บางครั้ง การที่ข่าวสารกระจายอย่างรวดเร็วเกินไปก็ทำให้ขาดความน่าเชื่อถือ เพราะการรีทวิตแค่อย่างเดียวก็สามารถทำให้ข่าวสารแพร่ไปไกลโดยที่บางคนอาจไม่ได้ตรวจสอบรายละเอียดให้ครบถ้วนว่า เนื้อหาในนั้นมีความจริงมากน้อยแค่ไหน
  • ทวีตข้อความได้น้อยเกินไป ส่งผลให้บางครั้งรายละเอียดที่ผู้พูดต้องการจะสื่อไม่ครบถ้วน
  • ข่าวสารที่ได้รับ บ่อยครั้งก็ไร้เแหล่งที่มา แม้จะเป็นประเด็นเด่น ๆ ของสังคมในขณะนั้น แต่หากบอกว่าเป็นข่าวสารที่มาจาก Twitter ก็อาจทำให้บางคนรู้สึกว่าเป็นข่าวโคมลอย ไร้น้ำหนัก เพราะใครก็สามารถพูดได้
  • ผู้ติดตามอาจเกิดความรำคาญได้ ในกรณีที่มีการรีทวีตบ่อย ๆ หรือมากเกินความพอดี แล้วยังเป็นเรื่องราวซ้ำ ๆ เดิม ๆ ไม่มีอะไรแปลกใหม่

 

สรุป

ดังนั้น Twitter หรือ ทวิตเตอร์ คือแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ค่อนข้างเฉพาะกลุ่ม แต่ก็เป็นที่นิยมมาก เนื่องจากทำให้ได้รับข่าวสารไวกว่าช่องทางอื่น ๆ โดยเฉพาะในหมู่วัยรุ่นที่ต้องการทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ ๆ ที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกันทางอินเทอร์เน็ต ยิ่งไปกว่านั้น Twitter ยังเป็นแพลตฟอร์มที่แบรนด์ต่าง ๆ เลือกใช้ในการทำการตลาดอีกด้วย เนื่องจากเป็นช่องทางที่มีกลุ่มเป้าหมายแตกต่างและมีความเฉพาะเจาะจงมากกว่าแพลตฟอร์มทั่วไป

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ควรระมัดระวังจากการใช้งาน Twitter คือ ต้องตรวจสอบข่าวสารที่ได้รับอย่างรอบคอบก่อนเผยแพร่ต่อเสมอ เพราะการที่เรื่องราวแพร่กระจายไวเกินไป อาจก่อให้เกิดเฟกนิวส์ (Fake News) หรือความเข้าใจผิดได้ โดยอาจเลือกติดตามข่าวสารเฉพาะจากบัญชีทางการของสำนักข่าวที่เชื่อถือได้มากกว่าบัญชีของผู้ใช้งานปกติทั่วไป เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นจริงมากที่สุด