ตำราสรุป 5 วิธีทำให้เว็บโหลดเร็วขึ้นแบบติดเทอร์โบ

สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่คนทำเว็บไซต์จะมองข้ามไม่ได้เลยก็คือ “ความเร็วในการโหลดหน้าเว็บ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ Google Algorithm ประกาศออกมาอย่างเป็นทางการว่าความเร็วเว็บไซต์เป็นหนึ่งในปัจจัยที่นำมาใช้พิจารณาจัดอันดับ SEO (Search Engine Optimization) นอกจากนี้ ยังมีผลสำรวจออกมาอีกว่าผู้ใช้งานกว่า 53% จะปิดหน้าเว็บที่โหลดไม่เสร็จภายใน 3 วินาที ดังนั้น เว็บไซต์ใดที่โหลดช้าก็จะส่งผลให้มีอันดับต่ำกว่าเว็บไซต์คู่แข่ง ซึ่งจะทำให้เสียทั้งผู้ใช้งานและรายได้ไป บทความนี้จึงจะมาบอกวิธีทำให้เว็บโหลดเร็วขึ้นเพื่อให้เว็บไซต์ของเราน่าใช้งานกว่าเดิม ทั้งยังเป็นการเพิ่มโอกาสในการติดอันดับ SEO ที่สูง ๆ อีกด้วย 

แต่ก่อนอื่น เรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่า เหตุใดการเพิ่มความเร็วเว็บไซต์จึงสำคัญ!

วิธีแก้ปัญหาหน้าเว็บโหลดช้า

การเพิ่มความเร็วเว็บไซต์สำคัญอย่างไร?

ส่งผลต่อการจัดอันดับ SEO

เหตุผลประการแรกดังที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้แล้ว คือ เรื่องของการจัดอันดับเว็บไซต์ (Search Ranking) ที่ Google นำมาใช้เป็นหนึ่งในเกณฑ์เพื่อพิจารณานั่นเอง กล่าวคือ หากเว็บของเราโหลดช้า จะส่งผลให้อันดับ SEO ไม่ดีไปด้วย แต่ในทางกลับกัน หากเว็บไซต์ของเราโหลดเร็ว จำนวนผู้ใช้งาน (Traffic) ก็จะเยอะขึ้นแบบก้าวกระโดด อันจะนำมาซึ่งอันดับดี ๆ บนหน้าแรกของการค้นหา

ส่งผลต่อประสบการณ์ของผู้ใช้งาน (User Experience: UX)

ประสบการณ์ของผู้ใช้งาน หรือที่เรารู้จักกันในชื่อสั้น ๆ ว่า UX นั้นก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อการทำ SEO เช่นกัน โดยวัดจากระยะเวลาที่ผู้ใช้งานอยู่บนเว็บไซต์ของเรา หากพวกเขาเปิดเข้ามาแล้วปิดทันทีภายในระยะเวลาอันสั้น นั่นอาจหมายความว่าเว็บไซต์ของเราโหลดช้า ทำให้ผู้ที่เข้ามาแล้วรู้สึกไม่อยากใช้งาน ซึ่ง Google มีการทำวิจัยออกมาแล้วว่า หากเว็บของเราใช้เวลาโหลดเกิน 3 วินาที จะทำให้เสียจำนวนคนเข้าเว็บ 53% และถ้าใช้เวลาโหลดเกิน 5 วินาที จะทำให้เสียไปมากถึง 90% เลยทีเดียว เป็นเหตุผลว่าทำไมการเพิ่มความเร็วเว็บไซต์จึงสำคัญ

ทำให้รายได้ของธุรกิจเพิ่มขึ้น

ในส่วนนี้จะต่อเนื่องจากสองประการด้านบน กล่าวคือ ไม่ว่าเราจะหารายได้จากช่องทาง E-Commerce หรือการโฆษณาบนเว็บไซต์ก็ตาม แต่ถ้ามีจำนวนคนเข้าเว็บน้อยลง ก็จะส่งผลให้รายได้หดหายเป็นธรรมดา ดังนั้น หากเราสามารถเพิ่มความเร็วเว็บไซต์ได้ จำนวนคนเข้าเว็บก็จะเพิ่มขึ้น อันจะส่งผลต่อยอดขายที่มากขึ้นด้วย

 

ปัจจัยใดบ้างที่ส่งผลต่อความเร็วเว็บไซต์?

ก่อนจะไปดูวิธีทำให้เว็บโหลดเร็วขึ้น เรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่าความเร็วเว็บไซต์นั้นเกิดจากปัจจัยใดบ้างเพื่อการนำไปปรับใช้ให้ตรงจุดและเกิดผลมากที่สุด

สิ่งสำคัญเรื่องแรกที่ทุกคนต้องรู้ คือ ทุกเว็บไซต์เกิดจากการรวมกันของภาษาที่เป็นต้นกำเนิดเว็บ ซึ่งมีผลโดยตรงต่อความเร็วในการโหลด ได้แก่ 

  • HTML
  • CSS
  • JavaScript
  • Asset อื่น ๆ เช่น รูปภาพ วิดีโอ ฟอนต์ ฯลฯ

นอกจากนี้ ขั้นตอนการโหลดเว็บไซต์นั้นไม่ได้เกิดขึ้นภายในขั้นตอนเดียวแล้วจบอย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่ภายใต้กระบวนการดังกล่าวยังมีอีกหลายสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนที่ระบบจะประมวลผลให้ผู้เข้าชมสามารถมองเห็นหน้าเว็บไซต์ที่สมบูรณ์แบบได้ ดังนี้

  • เบราว์เซอร์ส่งคำขอไปยัง DNS เพื่อแปลงโดเมนเว็บไซต์ให้กลายเป็น IP Address ของ Server
  • เมื่อได้ IP Address มาแล้ว เบราว์เซอร์จะส่งคำขอไปที่เซิร์ฟเวอร์เพื่อขอไฟล์ต่าง ๆ ในเว็บไซต์ของเรา
  • หากไฟล์ในเว็บไซต์เราเก็บไว้หลายที่ เช่น ดึง JavaScript ปุ่ม Share จาก Facebook เบราว์เซอร์จะต้องส่งคำขอไปหลายที่ ซึ่งจะส่งผลให้เว็บไซต์โหลดช้าลง
  • ถ้ามีหลายไฟล์ ใน HTTP 1.1 เบราว์เซอร์จะต้องส่งคำขอไปทีละไฟล์ด้วย แต่ในปัจจุบันมี HTTP 2 ที่ช่วยให้เบราว์เซอร์สามารถส่งคำขอแค่ครั้งเดียว โดยหากเปิดใช้ HTTP 2 เว็บไซต์ก็จะโหลดเร็วขึ้น
  • เมื่อได้รับไฟล์มาแล้ว เบราว์เซอร์ก็จะนำไฟล์มารัน (เช่น JavaScript) หรือนำมาเรนเดอร์ (เช่น รูปภาพ วิดีโอ) ซึ่งไฟล์แต่ละประเภทก็จะส่งผลต่อความเร็วเว็บไซต์ที่แตกต่างกัน

 

5 เทคนิคเพิ่มความเร็วเว็บไซต์ให้อันดับ SEO เหนือกว่าคู่แข่ง

ปรับ Web Hosting ให้เร็วขึ้น

หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า ความเร็วของเว็บไซต์ไม่ได้ขึ้นอยู่ที่ตัวเว็บเราเท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับ Web Hosting ที่เราใช้ด้วย โดย 2 ปัจจัยหลักที่เราต้องเช็กก่อนเลือก Hosting ได้แก่

1. Web Hosting ของเราเป็นประเภทไหน?

(อ่านเกี่ยวกับประเภทของ Web Hosting เพิ่มเติมได้ที่ – คนทำเว็บไซต์ต้องรู้! WEB HOSTING คืออะไร จะเลือกแบบไหนดี?)

ประเภท Hosting ที่แนะนำให้ใช้ คือ Cloud Hosting หรือแบบ VPS เนื่องจาก Hosting ประเภทนี้จะมีการแบ่งทรัพยากรให้แต่ละเว็บไซต์อย่างชัดเจน ไม่ต้องแย่งกับใคร ซึ่งจะทำให้เว็บไซต์โหลดเร็วขึ้น แล้วยังราคาถูกด้วยเมื่อเทียบกับการซื้อ Dedicated Hosting ทั้งเครื่อง

2. Web Hosting ของเราเก็บเว็บไซต์เราไว้ที่ประเทศไหน?

การเข้าเว็บไซต์ก็ไม่ต่างอะไรจากการโทรศัพท์ หากปลายทางอยู่ประเทศเดียวกันหรือใกล้กัน สัญญาณก็จะดีกว่า ดังนั้น หากเราเน้นกลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนไทย การจะทำให้เว็บไซต์โหลดได้เร็วที่สุดก็คือ การเลือก Hosting ที่เก็บเว็บไซต์เราไว้ที่ประเทศไทย แต่ปัญหาคือ ปัจจุบันนี้ยังไม่มี Web Hosting ใดที่มีเซิร์ฟเวอร์ในไทยเลย เพราะฉะนั้น เว็บไซต์เราจึงต้องถูกเก็บไว้ในต่างประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่วิธีแก้คือการเลือกให้พื้นที่ใกล้กับประเทศไทยมากที่สุด เช่น สิงคโปร์ หรือจะใช้เทคนิคในข้อต่อไปเพื่อแก้ปัญหานี้ก็ได้

ใช้ CDN เพื่อกระจายเว็บของเราไปทั่วโลก

หากจะกล่าวถึง CDN ให้เข้าใจง่ายแบบสั้น ๆ ก็คือ การที่ผลลัพธ์จากเว็บไซต์เราถูกคัดลอกไปเตรียมไว้ในเซิร์ฟเวอร์หลากหลายจุดทั่วโลก เพื่อให้ผู้ใช้ที่ไม่ว่าจะอาศัยอยู่ในประเทศใด ก็สามารถเข้าเว็บไซต์เราจากเซิร์ฟเวอร์ที่ใกล้ตนเองที่สุดได้เลย โดยในปัจจุบันมีผู้ให้บริการ CDN หลายเจ้า แต่ที่นิยมมากที่สุดในหมู่ผู้พัฒนาเว็บไซต์ไทย ได้แก่ Cloudflare เนื่องจากเป็นบริการที่สามารถใช้ได้ฟรี และมีแพลนพื้นฐานที่ครอบคลุมความจำเป็นหลัก ๆ อย่างครบครัน รวมถึงสามารถอัปเกรดไปยังแพลนที่สูงขึ้นได้หากต้องการใช้ฟีเจอร์มากขึ้นในอนาคต

นอกจากนี้ สำหรับใครที่ใช้บริการ Cloudflare จะไม่ได้รับแค่ประโยชน์จาก CDN เท่านั้น แต่ยังจะได้ HTTP 2 โดยอัตโนมัติ ซึ่งจะช่วยให้หน้าเว็บโหลดเร็วกว่าเดิมอีกด้วย

ใช้ Cache ให้เป็นประโยชน์

การใช้งาน Cache ถือเป็นเทคนิคพื้นฐานในการเพิ่มความเร็วเว็บไซต์เลยทีเดียว เพราะเป็นวิธีที่ทำได้ง่าย ไม่กระทบกับโคดหลักของเว็บไซต์มาก โดยการทำงานของ Cache คือ ช่วยเก็บไฟล์ผลลัพธ์และส่งให้แก่ผู้ใช้ที่ขอข้อมูลเดียวกัน ทำให้ระบบของเราไม่ต้องประมวลผลใหม่ทุกครั้งที่มีผู้ใช้ต้องการไฟล์ดังกล่าว

หากจะอธิบายให้เห็นภาพมากขึ้น ก็อาจลองนึกถึงเว็บไซต์ขนาดใหญ่ที่มีผู้เข้าชมจำนวน 100,000 รายพร้อมกันในครั้งเดียว แต่แทนที่เซิร์ฟเวอร์จะต้องประมวลผล 100,000 ครั้ง Cache ก็จะช่วยให้เซิร์ฟเวอร์ประมวลผลแค่ครั้งเดียว สามารถประหยัดรอบการประมวลผลไปได้อีก 99,999 ครั้ง ซึ่งจะทำให้เว็บไซต์โหลดไวกว่าเดิมนั่นเอง

บีบอัดทุกอย่างในเว็บไซต์

องค์ประกอบทุกอย่างของเว็บไซต์ ไม่ว่าจะเป็น HTML, CSS, JavaScript และ Asset อื่น ๆ เช่น รูปภาพ วิดีโอ ฯลฯ ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้นนั้นสามารถนำมาบีบอัดได้ทั้งหมด โดยพื้นฐานของการบีบอัดคือ GZIP Compression ซึ่งเป็นการบีบอัดไฟล์ก่อนส่งกลับมาที่เบราว์เซอร์ของผู้เข้าชม ทำให้เว็บไซต์โหลดไวขึ้นถึง 2 เท่าหรือมากกว่าเลยทีเดียว

ติดตั้งปลั๊กอินเท่าที่จำเป็น

การติดตั้งปลั๊กอินน้อยเกินไปก็อาจทำให้เว็บไซต์ทำงานได้ไม่มีประสิทธิภาพมากพอตามที่เราต้องการ แต่ในทางตรงกันข้าม หากติดตั้งมากเกินไปก็จะทำให้เว็บไซต์โหลดช้าลงอีก ซึ่งอาจจะเป็นเฉพาะบางปลั๊กอินเท่านั้น ไม่ใช่ว่าเป็นกับทุกตัว แต่สำหรับใครที่โหลดปลั๊กอินไว้เยอะก็ควรเช็กดูอีกครั้งว่าปลั๊กอินอันไหนจำเป็นหรือไม่จำเป็น และอันไหนที่เป็นสาเหตุให้เว็บของเราโหลดช้า แล้วตัดอันนั้นทิ้งไป

 

สรุป

นอกจากนี้ การเพิ่มความเร็วเว็บไซต์ยังมีเทคนิคอื่น ๆ ที่สามารถทำได้อีกมากมาย โดยบางอย่างก็สามารถทำได้เลย บางอย่างก็ต้องใช้เวลา แต่ 5 เทคนิคหลักข้างต้นนี้เป็นวิธีที่ได้รับการพิสูจน์มาแล้วว่าเห็นผลดีที่สุด หากใครลองนำไปปรับใช้ดู จะพบว่าเว็บไซต์เราโหลดเร็วขึ้นจนน่าตกใจอย่างแน่นอน และความไวนี้เองที่จะทำให้ผู้เข้าชมรู้สึกประทับใจและอยากกดเข้ามาในเว็บไซต์เราซ้ำอีกหลาย ๆ ครั้ง เพราะขึ้นชื่อว่าผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ทุกคนต่างก็ต้องการความรวดเร็วกันทั้งนั้น หากเจอเว็บไซต์ใดที่โหลดช้า ๆ เราก็คงรู้สึกไม่อยากกลับมาที่เว็บไซต์ดังกล่าวอีกแล้วในอนาคต ดังนั้น การเพิ่มความเร็วเว็บไซต์จึงเป็นสิ่งที่คนทำเว็บทุกคนมองข้ามไม่ได้เด็ดขาด