คนทำเว็บไซต์ต้องรู้! Web Hosting คืออะไร จะเลือกแบบไหนดี?

ในการเริ่มต้นสร้างเว็บไซต์ของธุรกิจ ขั้นตอนแรกที่จะขาดไปไม่ได้เลยก็คือการเลือก “Web Hosting” ซึ่งเราจะต้องพิถีพิถันในการเลือกหา Hosting ที่ดีที่สุดให้แก่เว็บไซต์ของเราในระบบอินเทอร์เน็ต เนื่องจาก Hosting ถือเป็นรากฐานสำคัญที่จะเป็นตัววัดว่าเว็บไซต์ของเราจะสามารถดำเนินการต่อไปบนโลกออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ และในปัจจุบันนี้ก็มีผู้ให้บริการ Hosting เป็นจำนวนมากจนเลือกไม่ถูก ดังนั้น บทความในวันนี้จะมาบอกสิ่งที่คนทำเว็บไซต์ต้องรู้เกี่ยวกับ Hosting ว่า Host ทำหน้าที่อะไร ตลอดจนวิธีเลือก Hosting ให้เหมาะสมกับเว็บไซต์ของตนเองมากที่สุด เพราะถ้าหากเราเลือก Hosting ผิดแล้วล่ะก็ การบริการที่ได้รับก็อาจจะไม่ตอบโจทย์ความต้องการของธุรกิจเรา หรือที่แย่ไปกว่านั้นก็คืออาจทำให้เว็บไซต์ล่มบ่อยและเกิดความเสียหายตามมา เมื่อเป็นเช่นนั้น เว็บไซต์ที่เราลงทุนลงแรงทำไปเพื่อให้ธุรกิจของเราเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้นก็จะเปล่าประโยชน์ เพราะหากกลายเป็นเว็บไซต์ที่ไม่มีคุณภาพ คนก็จะไม่กดคลิกเข้ามา และหมดโอกาสในการติดอันดับ SEO

โฮสติ้งคืออะไร

Hosting คืออะไร?

Hosting คือ พื้นที่สำหรับรับฝากเว็บไซต์และเก็บข้อมูลขององค์กรบนเครื่องเซิร์ฟเวอร์ อันประกอบไปด้วยพื้นที่เว็บไซต์ พื้นที่อีเมล และพื้นที่ฐานข้อมูล จัดเก็บข้อมูล เช่น HTML, รูปภาพ หรือโปรแกรมต่าง ๆ หากถามว่า Host ทำหน้าที่อะไร คำตอบก็คือ ช่วยในการเผยแพร่เว็บไซต์ของเราออกสู่อินเทอร์เน็ตให้ผู้อื่นเข้ามาชม และเพื่อให้เว็บไซต์สามารถออนไลน์บนอินเทอร์เน็ตได้อย่างราบรื่น โดย Web Hosting จะเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตตลอดเวลาเพื่อให้บริการได้ทันทีเมื่อถูกเรียกข้อมูลของเว็บไซต์ที่จัดเก็บอยู่ นอกจากนี้ ยังให้บริการใช้งานอีเมลหรือสคริปต์ต่าง ๆ และผู้ใช้บริการก็สามารถจัดสรรพื้นที่เก็บข้อมูลดังกล่าวในปริมาณที่ตรงกับความต้องการของตนเองได้อีกด้วย

ปัจจุบันนี้ มีผู้ให้บริการหลายรายทั้งในและนอกประเทศให้เราได้เลือกสรร โดยเวลาเลือกเราควรพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะ Hosting เปรียบเสมือนรากฐานของเว็บไซต์เราในระบบอินเทอร์เน็ตที่มีผลโดยตรงต่อความเสถียรของเว็บฯ กล่าวคือ ถ้าหากเราเลือกเซิร์ฟเวอร์ที่ไม่เสถียร ก็อาจทำให้เว็บไซต์ของเราล่มบ่อย ๆ ได้

 

Web Hosting มีกี่ประเภท อะไรบ้าง?

บริการ Web Hosting ในปัจจุบันสามารถแบ่งออกได้เป็น 5 ประเภท ได้แก่

Shared Hosting

Shared Hosting คือ Hosting ที่เหมาะสำหรับเว็บไซต์ทั่ว ๆ ไปที่มีการใช้งานไม่มากนัก เพราะ Hosting ประเภทนี้จะจัดแบ่งพื้นที่ในเซิร์ฟเวอร์ออกเป็นส่วน ๆ ให้ผู้ใช้บริการเช่า ดังนั้น ในเซิร์ฟเวอร์หนึ่ง ๆ จึงจะมีผู้เช่าหลายราย นั่นหมายความว่าจำนวนเว็บไซต์บนเซิร์ฟเวอร์ก็จะมีมากตามไปด้วย ทรัพยากรภายในเครื่องของเราจึงจะถูกแชร์ร่วมกับผู้อื่น แต่ข้อดีของ Shared Hosting คือราคาไม่แพง

Virtual Private Server Hosting

หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า VPS Hosting นั่นเอง โดย Hosting ประเภทนี้คือการให้บริการเสมือนผู้ใช้บริการมีเซิร์ฟเวอร์เป็นของตนเอง เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการเพิ่มโปรแกรมหรือแอปพลิเคชันเพื่อใช้งานบนเว็บไซต์ ซึ่งจะแตกต่างจากประเภทแรกตรงที่ Shared Hosting ไม่อนุญาตให้ลงแอปพลิเคชันใด ๆ นอกจากนี้ VPS Hosting ยังเหมาะสำหรับเว็บไซต์ที่มียอดผู้เข้าชม (Traffic) สูงด้วย เนื่องจาก Bandwidth และ Data Transfer จะถูกแบ่งแยกการใช้งานอย่างชัดเจน ไม่ต้องแชร์กันเหมือนประเภทแรก

Dedicated Server Hosting

Dedicated Server Hosting คือบริการเซิร์ฟเวอร์ที่ให้เราใช้งานแต่เพียงผู้เดียว โดยปกติแล้วจะเหมาะสำหรับองค์กรขนาดกลางขึ้นไปที่ต้องการความเสถียรและความปลอดภัยสูง เพราะทั้งเซิร์ฟเวอร์จะมีเว็บไซต์เราที่ใช้งานเพียงเว็บฯ เดียวเท่านั้น

Reseller Hosting

Hosting ประเภทนี้เป็นบริการสำหรับผู้ให้บริการจัดทำเว็บไซต์อีกทีหนึ่ง เพื่อพัฒนาเว็บไซต์สำเร็จรูปไปขายต่อให้ผู้ที่ต้องการใช้งาน และยังมีไว้สำหรับผู้ที่มีเว็บไซต์หลายเว็บฯ ต้องดูแลด้วย

WordPress Hosting

WordPress Hosting คือ Hosting ที่ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับการใช้งานของเว็บไซต์ที่ถูกสร้างขึ้นมาด้วยโปรแกรม WordPress เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยอาจมีทั้งในรูปแบบของ Shared Hosting หรือ VPS Hosting ก็ได้

 

วิธีเลือก Hosting ให้มีประสิทธิภาพ

ดูว่าเว็บไซต์ของเรามีการใช้งานแบบใด

ด้วยเพราะ Web Hosting นั้นมีหลากหลายประเภทและมีคุณสมบัติแตกต่างกันดังที่ได้กล่าวไป ฉะนั้น เราจึงต้องพิจารณาก่อนว่าเว็บไซต์ของเรามีการใช้งานแบบใด เพื่อให้รู้ว่าเหมาะกับ Hosting ประเภทไหนมากที่สุด เช่น หากเป็นเว็บไซต์เล็ก ๆ ที่มีข้อมูลจำนวนไม่มากหรือเป็นเว็บไซต์ที่เพิ่งสร้าง ยังไม่มีคนเข้ามาดูมากนัก ก็สามารถใช้บริการ Shared Hosting ได้ แต่ถ้าหากเป็นเว็บไซต์ที่มีจำนวนผู้เข้าชมสูง หรือมีแนวโน้มที่จะเติบโตมากขึ้นในอนาคต รวมถึงมีการใช้โปรแกรมหรือแอปพลิเคชันต่าง ๆ เพื่อรันเว็บไซต์ ก็อาจใช้เป็นแบบ VPS Hosting ได้

คำนวณพื้นที่ที่ต้องใช้

จำนวนพื้นที่การใช้งานในเซิร์ฟเวอร์ หรือที่เรียกว่า Disk Space นั้น คือพื้นที่ที่ถูกจัดสรรเอาไว้ให้เราได้ใช้งานร่วมกับเว็บไซต์อื่น ๆ หลังจากที่เลือกประเภทของ Web Hosting ที่ต้องการได้แล้ว เราก็จะต้องเลือกพื้นที่ Disk Space เพื่อให้เว็บไซต์ของเรามีพื้นที่ใช้งานในเซิร์ฟเวอร์นั้น ๆ โดยหากยังไม่แน่ใจว่าต้องใช้พื้นที่เท่าไร ก็ให้ดูขนาดเว็บไซต์ของตนเองว่ามีพื้นที่เท่าไร และยึดเป็นเกณฑ์ต่ำสุดที่เราจะต้องใช้

ดู Data Transfer และ Bandwidth

Data Transfer คือการรับ-ส่งข้อมูลซึ่งสัมพันธ์กับตัว Bandwidth ที่เป็นเสมือนท่อประปารับ-ส่งข้อมูลของเว็บไซต์เรา รวมไปถึงจำนวนคนเข้าชมเว็บไซต์ หรือ Traffic ด้วย โดยหากคนที่เข้ามาดูเว็บไซต์ของเรานั้นเข้ามาดูในช่วงเวลาที่แตกต่างกันก็อาจไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าทุกคนต่างเข้ามาพร้อม ๆ กัน ก็จะทำให้เกิดปัญหาหน้าเว็บฯ ล่ม เข้าไม่ได้ และทุก ๆ กิจกรรมที่เกิดขึ้นบนเว็บไซต์ของเราจะถูกนำมาคิดเป็นปริมาณ Bandwidth ทั้งสิ้น ดังนั้น หากปริมาณ Bandwidth ของเรามีมากพอ ก็เปรียบเสมือนการที่เรามีท่อประปาขนาดใหญ่ไว้รองรับการอัปโหลดข้อมูล และจำนวนคนเข้าเว็บไซต์ได้ดีกว่าการมี Bandwidth น้อย

ต้องมีการประมวลผลที่รวดเร็ว จำนวนเมมโมรีสูง

ความรวดเร็วในการประมวลผลนั้นส่งผลต่อความรวดเร็วในการโหลดหน้าเว็บไซต์ด้วย ดังนั้น เราจึงควรเลือก Web Hosting ที่เซิร์ฟเวอร์มีจำนวนเมมโมรีสูง หน้าเว็บฯ ของเราจะได้ประมวลผลได้ไวยิ่งขึ้น

ดูภาษาและระบบปฏิบัติการของเว็บไซต์

ในส่วนนี้ดูได้ไม่ยาก เพราะเพียงแค่ค้นหาในอินเทอร์เน็ตหรือสอบถามกับทางผู้ให้บริการโดยตรงก็ได้คำตอบแล้ว และการเลือก Web Hosting ที่ตรงกับภาษาและระบบปฏิบัติการของเว็บไซต์เรา จะทำให้การทำงานของเว็บไซต์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ฟีเจอร์และระบบการจัดการเว็บไซต์ต้องดี

เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่เราไม่ควรมองข้าม นั่นก็คือฟีเจอร์และระบบการจัดการเว็บไซต์ของ Web Hosting ต้องดี โดยควรพิจารณาจากองค์ประกอบย่อยดังต่อไปนี้

  • ระบบจัดการเว็บไซต์มีวิธีดำเนินการอย่างไร ใช้ยากหรือง่ายเพียงใด
  • ระบบจัดการฐานข้อมูลเป็นอย่างไร
  • ระบบป้องกันหรือระบบความปลอดภัยหนาแน่นหรือไม่ เช่น สามารถป้องกันอีเมลขยะหรือไวรัสได้หรือไม่
  • ระบบสำรองข้อมูลในกรณีที่เซิร์ฟเวอร์เกิดปัญหามีประสิทธิภาพแค่ไหน
  • ระบบตรวจสอบสถิติการใช้งานเพื่อตรวจสอบจำนวนคนเข้าดูเว็บไซต์เป็นอย่างไร

ผู้ให้บริการมีความน่าเชื่อถือ

สิ่งที่เราจะไม่คำนึงถึงไม่ได้เลยก่อนจะใช้บริการ Web Hosting คือความน่าเชื่อถือของผู้ให้บริการนั้น ๆ โดยเราอาจหาข้อมูลเกี่ยวกับผู้ให้บริการมาประกอบการตัดสินใจ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลบริษัท รีวิวจากผู้ใช้งานจริง หรือการจดทะเบียนพาณิชย์ เพื่อช่วยเสริมความมั่นใจก่อนจะใช้บริการ

การบริการก่อนและหลังการขาย

การบริการทั้งก่อนและหลังการขายจะเป็นตัวบ่งชี้ได้ว่าผู้ให้บริการนั้น ๆ ใส่ใจลูกค้ามากเพียงใด เช่น สามารถตอบคำถามหรือข้อสงสัยของเราได้อย่างรวดเร็วและชัดเจนหรือไม่ ให้ข้อมูลสำคัญแก่ผู้ใช้บริการมากน้อยแค่ไหน ตลอดจนบริการหลังการขายที่เราสามารถหาดูได้จากรีวิวต่าง ๆ หรือคอมเมนต์ตามสื่อออนไลน์ว่าผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตมีความคิดเห็นอย่างไรต่อผู้ให้บริการ Web Hosting เจ้านี้บ้าง เป็นต้น

สามารถติดต่อได้ง่าย

ข้อมูลการติดต่อของผู้ให้บริการต้องมีความชัดเจนและน่าเชื่อถือ อีกทั้งยังต้องพร้อมให้บริการเราอย่างรวดเร็ว เพราะบนโลกออนไลน์สามารถเกิดปัญหาได้ตลอดเวลา หากวันไหนเว็บไซต์เราเกิดล่มและไม่สามารถติดต่อผู้ให้บริการได้ทันท่วงที ก็อาจส่งผลให้เว็บไซต์ของเราเสียหายมาก ดังนั้น การที่ผู้ให้บริการ Web Hosting มีช่องทางติดต่อที่สะดวก รวดเร็ว ไม่ซับซ้อน จะช่วยให้เราตัดสินใจใช้บริการได้ง่ายขึ้น

ราคาสมเหตุสมผล

ปัจจัยสำคัญประการสุดท้ายของวิธีเลือก Hosting ก็คือเรื่องของราคา ว่าสมเหตุสมผลกับงบประมาณที่ตั้งไว้หรือไม่ โดยเราอาจต้องมองไปถึงเรื่องของบริการที่เราจะได้รับด้วย เพราะ Web Hosting ที่ราคาถูกก็ไม่ได้หมายความว่าจะดีเสมอไป บางทีถ้าราคาสูงขึ้นมาเล็กน้อย แต่ได้บริการที่ครบครันและเหมาะสมกับเว็บไซต์ของเรามากกว่า ก็อาจนับว่าคุ้มค่ากว่า

 

สรุป

จะเห็นได้ว่า ข้อดีของ Web Hosting คือ มีบริการติดตั้งโปรแกรมต่าง ๆ ที่ทำหน้าที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น Web Server, FTP, Database, DNS, E-mail, Subdomain และอื่น ๆ ที่พร้อมใช้งาน โดยเราสามารถอัปโหลดไฟล์เว็บไซต์ของตนเองมาวางไว้บนระบบ Hosting ได้เลย เพียงเท่านี้ เว็บไซต์เราก็สามารถทำงานได้อย่างราบรื่นทันที ซึ่งสิ่งสำคัญก็คือ เราต้องดูตามความเหมาะสมว่า Web Hosting แบบใดที่เหมาะกับเว็บไซต์ของเรา เพื่อให้เว็บไซต์ดำเนินการไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด รวมไปถึงเพิ่มโอกาสในการติดอันดับ SEO อีกด้วย!