Paid Media คืออะไร? รูปแบบสื่อที่นักทำโฆษณาต้องรู้จัก!

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเลือกใช้ “สื่อ” ถือเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้แคมเปญการตลาดสร้างผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยในแวดวงการตลาด สื่อที่รู้จักกันดีจะมีอยู่ด้วยกัน 3 รูปแบบคือ Paid, Owned, Earned และ Shared Media ซึ่ง Paid Media ก็เป็นรูปแบบหนึ่งที่นักการตลาดนิยมใช้กันมากที่สุดในยุคนี้!

Paid Media คืออะไร? มีข้อดีข้อเสียอย่างไร ที่ทำให้แตกต่างจาก Owned, Earned และ Shared Media มาหาคำตอบพร้อมกันในบทความนี้!

Table of Contents

ทำความรู้จัก PESO Model คืออะไร?

ก่อนไปหาคำตอบว่า Paid Media คืออะไร? เรามาทำความรู้จักกับ PESO Model ซึ่งเป็นโมเดลสำคัญสำหรับสิ่งนี้กันก่อน!

PESO Model คือเครื่องมือช่วยจัดหมวดหมู่ประเภทการสื่อสารของแบรนด์ เพื่อช่วยให้เห็นภาพแคมเปญการตลาดชัดเจนขึ้น โดย PESO Model เป็นโมเดลที่สร้างขึ้นโดย Gini Dietrich นักเขียนและนักประชาสัมพันธ์ชื่อดังผู้ก่อตั้ง Spin Sucks (บริษัทด้านประชาสัมพันธ์และการสื่อสาร ที่ก่อตั้งในปี 2009) โดย Gini สร้างโมเดลนี้ขึ้นมาเพื่อใช้วางแผนการสื่อสารในองค์กร โดยแบ่งออกเป็น 4 รูปแบบ คือ

  • Paid Media
  • Owned  Media
  • Earned Media
  • และ Shared Media

ซึ่งทั้ง 4 องค์ประกอบล้วนมีความสัมพันธ์กัน ดังนั้น หากต้องการทำแคมเปญการตลาดให้สำเร็จ ก็จำเป็นต้องสื่อสารให้สอดคล้องกัน และเลือกใช้รูปแบบให้เหมาะกับแต่ละแคมเปญมากที่สุด

 

Paid, Owned, Earned และ Shared Media คืออะไร?

Paid, Owned, Earned และ Shared Media คือรูปแบบการสื่อสารจากโมเดล PESO Model ที่แบรนด์ใช้เพื่อสื่อสารเนื้อหาหรือสินค้าและบริการไปยังผู้บริโภค ซึ่งการสื่อสารแต่ละรูปแบบจะมีกระบวนการที่ต่างกันแต่เชื่อมโยงกันอยู่ โดยอาจแบ่งประเภทได้ตามวิธีการที่แบรนด์ถูกพูดถึง หรือแบ่งตามการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย (Audience) ก็ได้ ซึ่งในบทความนี้เราขอพาไปทำความรู้จักว่า Paid Media คืออะไรก่อนเป็นอันดับแรก!

 

Paid Media คืออะไร?

Paid Media คือการสื่อสารที่แบรนด์ต้องจ่ายเงินเพื่อประชาสัมพันธ์หรือโปรโมตสินค้าทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ บนพื้นที่ของสื่อ Third Party ตัวอย่างเช่น Google Ads, Facebook Ads, แบนเนอร์ที่แสดงผลในเว็บไซต์ของผู้อื่น เป็นต้น

 

ตัวอย่างของ Paid Media มีอะไรบ้าง?

  • โฆษณาบนโซเชียลมีเดีย เช่น โฆษณาบน Facebook, Instagram, Twitter, TikTok, Linked, YouTube ฯลฯ
  • โฆษณาบนเว็บไซต์ เช่น โฆษณาแบนเนอร์
  • โฆษณาบนสื่อดิจิทัล เช่น ซื้อคีย์เวิร์ดผ่าน Google AdWords
  • การตลาดผ่านอินฟลูเอนเซอร์ (Influencer Marketing), KOLs (KOLs Marketing)
  • โฆษณาทางโทรทัศน์
  • โฆษณาทางหนังสือพิมพ์
  • การทำการตลาดทาง E-mail (E-mail Marketing)

ฯลฯ

 

ข้อดีของ Paid Media

1. เจาะกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการได้

การสื่อสารด้วย Paid Media โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางออนไลน์ จะช่วยให้สามารถระบุกลุ่มเป้าหมายอย่างเฉพาะเจาะจงได้ ดังนั้น จึงมีโอกาสเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายจริง ๆ ของแบรนด์ได้มากกว่า

2. เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายจำนวนมากได้รวดเร็ว

เมื่อจ่ายเงินซื้อโฆษณา โอกาสเข้าถึงลูกค้าก็มากขึ้นตามงบประมาณที่มี พร้อมกันนั้น ยังสามารถสื่อสารสินค้าไปยังกลุ่มเป้าหมายในระยะเวลาตามที่กำหนด ทำให้สามารถวัดผลลัพธ์ความสำเร็จได้รวดเร็วกว่ารูปแบบการสื่อสารอื่น ๆ

3. วัดผลลัพธ์ได้แม่นยำ

ตอนนี้หลายแพลตฟอร์มมีเครื่องมือวิเคราะห์ผลลัพธ์หลังบ้านที่ครอบคลุม ดังนั้น หากซื้อ Paid Media จากช่องทางเหล่านี้ ก็จะช่วยให้ติดตามผลลัพธ์ได้แม่นยำและชัดเจนขึ้น

4. กำหนดรูปแบบการสื่อสารด้วยตนเอง

เมื่อเป็นการซื้อโฆษณา การจัดการคอนเทนต์และกำหนดรูปแบบก็มีอิสระมากกว่า ดังนั้น สำหรับ Paid Media นักทำโฆษณาก็สามารถกำหนดรูปแบบการสื่อสารได้เต็มที่ เพื่อให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายและช่องทางที่ต้องการซื้อโฆษณามากที่สุด

 

ข้อเสียของ Paid Media

1. ค่าใช้จ่ายสูงกว่าสื่อประเภทอื่น

ผลลัพธ์ของ Paid Media จะขึ้นอยู่กับงบประมาณที่มี ดังนั้น หากต้องการสื่อสารให้ได้ผลลัพธ์สูงสุด นักการตลาดอาจจำเป็นต้องลงทุนสูงกว่าสื่อประเภทอื่น ยกตัวอย่างเข่น การซื้อเวลาโฆษณาทางโทรทัศน์ อย่างไรก็ดี หากคิดในแง่ที่การซื้อโฆษณาสามารถร่นระยะเวลาการสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมายได้ ก็นับเป็นการใช้งบที่คุ้มค่า

2. แพลตฟอร์มที่ลงโฆษณามีข้อจำกัดแตกต่างกัน

เนื่องจากแพลตฟอร์มลงโฆษณาแต่ละอันมีข้อจำกัดและกฎระเบียบต่างกัน การลง Paid Media แต่ละครั้งจึงจำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎของแพลตฟอร์มนั้น ๆ อย่างเคร่งครัดด้วย นักทำโฆษณาจึงควรศึกษาข้อจำกัดในแต่ละแพลตฟอร์มให้ละเอียด ก็จะช่วยให้หลีกเลี่ยงการทำผิดกฎและโฆษณาถูกแบนได้

3. กลุ่มเป้าหมายอาจรู้สึกถูกยัดเยียด

ผู้ชมปัจจุบันมีแนวโน้มจะรู้สึกถูกยัดเยียดเมื่อเห็นโฆษณาอยู่แล้ว ดังนั้น การที่ Paid Media ปรากฏซ้ำ ๆ อาจสร้างความรำคาญให้กับพวกเขาได้ ดังนั้น นักทำโฆษณาจึงควรสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ ๆ และไม่โชว์โฆษณาซ้ำบ่อยจนเกินไป ก็อาจช่วยสร้างผลลัพธ์ไปในทางบวกได้มากยิ่งขึ้น

ทำ Paid Media อย่างไรให้ได้ผลลัพธ์สูงสุด?

ถึงแม้จะเป็นการใช้เงินเพื่อซื้อโฆษณา แต่การทำ Paid Media ให้ได้ผลลัพธ์สูงสุดมีกลยุทธ์สำคัญอยู่ ดังนี้

1. สร้างคอนเทนต์ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย

ถ้าอยากทำ Paid Media ให้ได้ผลลัพธ์สูงสุด การทำโฆษณาให้ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายเป็นสิ่งสำคัญมาก! เช่น การออกแบบ โฆษณาที่พูดถึงปัญหา/วิธีแก้ไข รีวิวจากผู้ใช้จริง แสดงภาพสินค้าที่น่าดึงดูด ฯลฯ หรือถ้าเป็นวิดีโอก็สร้างสรรค์ Storytelling ที่น่าสนใจ และอาจมีการ Tie-in สินค้าลงไป ที่สำคัญต้องไม่ลืมออกแบบกราฟิกหรือข้อความที่ดึงดูดสายตาโดยอาจเป็นการใช้สีหรือรูปแบบตัวอักษร ก็จะช่วยให้กลุ่มเป้าหมายเห็นแล้วอยากกดคลิกเข้าไปที่โฆษณาได้มากขึ้น

2. Headline สั้น ง่าย ชวนคลิก

เนื่องจากชื่อหัวข้อมักเป็นด่านแรกที่กลุ่มเป้าหมายจะเห็นก่อน ดังนั้น นักทำโฆษณจึงควรคิดชื่อ Headline ให้สั้น ง่าย และชวนคลิก หรือตั้งให้สอดคล้องกับปัญหาที่กลุ่มเป้าหมายกำลังสงสัยอยู่ เพียงเท่านี้ก็จะยิ่งเชื้อเชิญให้พวกเขาอยากคลิกหรือมีปฏิสัมพันธ์กับโฆษณามากยิ่งขึ้น

3. ใช้ข้อความ Call-To-Action

ตัวโฆษณาควรมีข้อความ Call-To-Action กระตุ้นให้ผู้ที่เห็นโฆษณาเกิดความรู้สึกอยากกระทำบางอย่าง โดยนักการตลาดอาจใช้กลยุทธ์การมอบส่วนลด/โปรโมชัน กลยุทธ์ FOMO ซึ่งย่อมาจากคำว่า “Fear of Missing Out” เช่น จองเลยตอนนี้  สมัครด่วนเพื่อรับส่วนลด กดเพื่อรับโปรโมชัน กดคลิกเพื่อรับสิทธิพิเศษเพิ่มเติม เป็นต้น โดยการมีปุ่ม Call-To-Action นอกจากจะช่วยเรียกความสนใจจากกลุ่มเป้าหมายได้ดีแล้ว ยังช่วยให้ผู้ชมรู้ด้วยว่า ต้องทำอย่างไรต่อ หากสนใจสินค้าที่กำลังดูโฆษณาอยู่

Paid Media มีประโยชน์อย่างไรกับธุรกิจออนไลน์ปัจจุบัน?

ปฏิเสธไม่ได้ปัจจุบันนี้ ผู้บริโภคทุกคนไม่ได้รับข่าวสารผ่านทางวิทยุหรือโทรทัศน์เพียงอย่างเดียว แต่สื่ออย่างโซเชียลมีเดียและเว็บไซต์กลายมาเป็นแพลตฟอร์มที่มีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ การทำ Paid Media จึงมีประโยชน์เนื่องจากช่วยให้แบรนด์สื่อสารและเข้าถึงผู้บริโภคได้มากกว่า

ยิ่งการทำธุรกิจออนไลน์ในปัจจุบัน ต้องอาศัยความเร็วเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าทำโฆษณาเพื่อนำเสนอให้กับผู้บริโภคได้ก่อน ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสให้ผู้บริโภคอยากเลือกซื้อมากขึ้น ดังนั้น Paid Media จึงตอบโจทย์การทำธุรกิจออนไลน์เป็นอย่างมาก เนื่องจากนักการตลาดสามารถซื้อโฆษณาได้รวดเร็วตามระยะเวลาที่กำหนด เจาะกลุ่มเป้าหมายเฉพาะได้ อีกทั้งยังควบคุมค่าใช้จ่ายได้ด้วย

การกำหนด KPI ของ Paid Media วัดผลอย่างไร?

หากต้องการวัดผลลัพธ์ Paid Media สามารถวัดได้หลัก ๆ จาก 3 ตัวชี้วัด ดังนี้

1. Brand Awareness

Brand Awareness คือความรับรู้ของผู้ชมต่อการเห็นโฆษณาหรือคอนเทนต์ของเรา โดย Brand Awareness ของการทำ Paid Media อาจวัดได้จากยอดเข้าชมโฆษณา ยอดไลก์ ยอดแชร์  จำนวนการถูกกล่าวถึง ยอดการกดติดตาม หรือตามแต่วัตถุประสงค์ที่นักทำโฆษณากำหนดไว้

2. Conversion

Conversion คือการกระทำบางอย่างของผู้ชมที่เข้ามาสร้างผลประโยชน์ให้กับเจ้าของโฆษณาในแง่ใดแง่หนึ่ง โดย Conversion ของการทำ Paid Media กำหนดได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นยอดขาย ยอดคลิก ยอดการดาวน์โหลด หรือกำหนดเป็นจำนวนผู้ชมโฆษณาก็ได้

3. Lead Generation

Lead Generation คือลูกค้าเป้าหมายที่มีแนวโน้มจะเป็น “ว่าที่” ลูกค้าในอนาคต โดย Lead Generation ที่วัดได้จาก Paid Media ก็อาจวัดได้ยอดการดาวน์โหลด ยอดการกรอกฟอร์ม ยอดการให้ข้อมูลส่วนตัว ฯลฯ ที่เกิดจากการกดเข้ามายังโฆษณา Paid Media เป็นต้น

paid owned earned media คือ


สรุป

จะเห็นได้เลยว่า Paid Media เป็นอีกหนึ่งรูปแบบการสื่อสารที่ช่วยให้แบรนด์ทำการตลาดและเข้าถึงผู้บริโภคยุคใหม่ได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดี การจะสื่อสารกับผู้บริโภคนั้นไม่ควรจะใช้แค่ Paid Media อย่างเดียว แต่ควรสื่อสาร Owned, Earned และ Shared Media ควบคู่กันไป ก็จะทำให้ได้ผลลัพธ์การตลาดที่มีประสิทธิภาพในระดับสูงสุด

ทั้งนี้ หากคุณเป็นผู้ประกอบการที่ไม่รู้แนวทางว่าควรทำ Paid Media อย่างไร ถึงจะจะเหมาะกับธุรกิจมากที่สุด Primal Digital Agency ของเรายินดีให้คำปรึกษา เราคือเอเจนซีรับทำ SEO ชั้นนำที่มีผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดและการสื่อสารกว่า 150 คน ถ้าพร้อมแล้วก็สามารถกรอกรายละเอียดเพื่อปรึกษาเราได้เลยตอนนี้!