“หลานม่า” ทำการตลาดอย่างไร ? ถึงได้ 100 ล้านภายใน 4 วัน !

หลานม่า” ภาพยนตร์ไทยแนวดราม่าจากค่าย GDH เข้าฉายเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา สร้างปรากฏการณ์กวาดรายได้กว่า 100 ล้านบาท ภายในเวลาเพียง 4 วัน ทั้งนี้ นอกจากความกลมกล่อมของบทภาพยนตร์ การแสดงอันน่าทึ่งของทีมนักแสดง และวิธีการเล่าเรื่องของผู้กำกับ กลยุทธ์การทำการตลาดของเรื่องนี้ ก็เป็นอีกกุญแจสำคัญที่ช่วยให้หนังเรื่องนี้ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว !

บทความนี้จึงขอรวบรวมวิธีการตลาดของภาพยนตร์เรื่อง “หลานม่า” ว่าจะมีอะไรบ้าง ตามมาดูพร้อมกันข้างล่างนี้

ภาพยนตร์เรื่อง “หลานม่า” กวาดรายได้กว่า 100 ล้านบาท ภายในเวลาเพียง 4 วัน

ขอบคุณภาพจาก  Facebook GDH

เรื่องย่อ “หลานม่า

“เอ็ม” หนุ่มวัย 22 ปี ตัดสินใจดร็อปเรียนปีสี่ เพื่อหวังเส้นทางสายแคสต์เกม แต่ด้วยความไร้จุดหมายในชีวิต เขาจึงวางแผนหาทางรวยทางลัดโดยอาสาไปดูแลอาม่าวัย 70 กว่าปีที่ป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย หวังจะได้รับมรดกบ้านหลักล้านบาท

แม้สองวัยต่างกันถึง 50 ปี แต่เอ็มและอาม่าต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน ท่ามกลางความขัดแย้งและทะเลาะเบาะแว้ง แต่ก็แฝงไปด้วยความอบอุ่น ความห่วงใย และความผูกพันที่เริ่มเกิดขึ้น เอ็มได้เรียนรู้บทเรียนชีวิตจากอาม่าเกี่ยวกับความรัก ความสูญเสีย และคุณค่าของครอบครัว ทำให้เขาเปลี่ยนแปลงตัวเอง มองชีวิตในแง่ดี และพร้อมเผชิญหน้ากับปัญหา

“หลานม่า” เป็นภาพยนตร์ไทยที่ถ่ายทอดเรื่องราวครอบครัวอบอุ่น สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างหลานกับอาม่า จนได้รับกระแสตอบรับที่ดีจากทั้งนักวิจารณ์และผู้ชม

ความสำเร็จของภาพยนตร์เรื่อง “หลานม่า” (2024)

ภาพยนตร์เรื่อง “หลานม่า” กำกับโดย “จิม ไทยวงศ์” นำแสดงโดย “บิวกิ้น พุฒิพงศ์” และ “แต๋ว อุษา เสมคำ” ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามทั้งด้านรายได้และกระแสตอบรับ ดังนี้

รายได้ :

  • กวาดรายได้กว่า 100 ล้านบาท ภายในเวลาเพียง 4 วัน หลังเข้าฉาย ถือเป็นภาพยนตร์ไทยที่ทำรายได้เร็วที่สุดในรอบ 2 ปี
  •  กวาดรายได้รวมทั่วประเทศทะลุ 250 ล้านบาท ขึ้นแท่นอันดับ 1 หนังทำรายได้สูงสุดในรอบปี 

กระแสตอบรับ :

  • ได้รับเสียงชื่นชมจากนักวิจารณ์อย่างล้นหลาม ยกย่องบทภาพยนตร์ที่อบอุ่น เรื่องราวที่กินใจ แสดงถึงความผูกพันในครอบครัว
  • โดนใจผู้ชมทุกเพศ ทุกวัย 
  • กลายเป็นภาพยนตร์ที่พูดถึงกันอย่างกว้างขวางบนโซเชียลมีเดีย 
  • มีการรีวิวภาพยนตร์อย่างต่อเนื่องหลายช่องทาง 
  • คะแนนรีวิวใน IMDb อยู่ที่ 8.7/10

 “หลานม่า” ทำการตลาดอย่างไร ? แนะนำวิธีทำการตลาดที่น่าสนใจ

นอกจากตัวบทภาพยนตร์ ความสามารถของนักแสดงนำ และการทำงานของผู้กำกับและทีมงาน กลยุทธ์การตลาดของภาพยนตร์เรื่องนี้ ก็เป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยเพิ่มโอกาสในการประสบความสำเร็จได้ ทั้งนี้ เราขอรวบรวมกลยุทธ์ที่น่าสนใจ ซึ่งอาจมีประโยชน์ต่อการนำมาปรับใช้ในธุรกิจหรือแผนการตลาดของคุณ

1. Influencer Marketing

ทีมงานได้ร่วมมือกับอินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังหลายท่าน เพื่อช่วยโปรโมตภาพยนตร์ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียต่าง ๆ โดยอินฟลูเอนเซอร์เหล่านี้ได้รีวิวภาพยนตร์ พูดคุยถึงเนื้อหา จัดเกมส์แจกรางวัล ฯลฯ ด้วยฐานผู้ติดตามจำนวนมากของอินฟลูเอนเซอร์เหล่านี้ ทำให้ภาพยนตร์สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างกว้างขวาง กระตุ้นให้ผู้คนสนใจและอยากชมภาพยนตร์มากขึ้น

2. สื่อออฟไลน์

นอกจากการโปรโมตผ่านสื่อออนไลน์แล้ว ทีมงานยังใช้สื่อออฟไลน์ต่าง ๆ เช่น ติดตั้งป้ายบิลบอร์ด โฆษณาทางโทรทัศน์ วิทยุ นิตยสาร และหนังสือพิมพ์ โดยเน้นเป็นภาพของโปสเตอร์ภาพยนตร์ที่มีนักแสดงนำ (“บิวกิ้น พุฒิพงศ์” และ “แต๋ว อุษา เสมคำ”) และวันเวลาเข้าฉาย การโปรโมตผ่านสื่อเหล่านี้ช่วยให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่กว้างขวางมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้ชมที่ไม่ค่อยใช้สื่อออนไลน์หรือโซเชียลมีเดีย

3. Content Marketing

GDH สร้างคอนเทนต์ออนไลน์ที่น่าสนใจ ดึงดูดความสนใจจากผู้ชม ผ่านทาง Facebook Page สำหรับโปรโมตภาพยนตร์ โดยมีการโพสต์คอนเทนต์ต่าง ๆ เช่น ตัวอย่างภาพยนตร์ เบื้องหลังการถ่ายทำ บทสัมภาษณ์นักแสดง กิจกรรมโปรโมต ฯลฯ การทำ Content Marketing ช่วยให้ผู้ชมรู้สึกร่วมไปกับภาพยนตร์ ใกล้ชิดกับภาพยนตร์ และอยากชมมากขึ้น ตัวอย่างคอนเทนต์ที่ GDH โปรโมตผ่าน Facebook ที่น่าสนใจ เช่น

  • คอนเทนต์เชื่อมโยงผลงานเพลงของบิวกิ้น พุฒิพงศ์ นักแสดงนำ กับเนื้อหาในภาพยนตร์ (ชมคอนเทนต์คลิกที่นี่)
  • คอนเทนต์สอนคำศัพท์ภาษาจีน โดยใช้คำที่ตัวละคร “อาม่า” พูดในเรื่อง (ชมคอนเทนต์คลิกที่นี่)
  • คอนเทนต์เปรียบเทียบความต่างของ Generation โดยเปรียบเทียบผ่าน “อาม่า” และ “เอ็ม” ตัวละครหลักของเรื่อง (ชมคอนเทนต์คลิกที่นี่) 

นอกจากนี้ ยังมีการทำ Content Marketing ผ่านทางโซเชียลมีเดียอื่น ๆ เช่น TikTok, YouTube, X และเว็บไซต์ต่าง ๆ 

  • คลิปสัมภาษณ์เด็กที่สยามให้โทรหาอาม่า จนกลายเป็นไวรัลใน TikTok (ชมคลิปคลิกที่นี่
  • คอนเทนต์สัมภาษณ์เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ บริษัทเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ถึงความรู้สึกและความประทับใจที่ได้ชมภาพยนตร์หลานม่า โดยทำเป็นคอนเทนต์โปรโมตทางเว็บไซต์ข่าวและช่องทางอื่น ๆ (อ่านคอนเทนต์ได้ที่นี่)

4. GDH ประกาศให้พนักงานหยุดงานวันที่ 4 เมษายน

GDH ประกาศให้พนักงานหยุดงานวันที่ 4 เมษายน ซึ่งเป็นวันที่ภาพยนตร์เข้าฉาย เพื่อให้พนักงานพาครอบครัวไปดูภาพยนตร์ นอกจากนี้ บริษัท Bilkin Entertainment ซึ่งเป็นบริษัทส่วนตัวของบิวกิ้น พุฒิพงศ์ นักแสดงนำ ก็ประกาศให้หยุดด้วย กลยุทธ์นี้ถือเป็นความแหวกแนวที่สามารถสร้างความประทับใจให้แก่พนักงาน พร้อมกันนั้นเมื่อสื่อต่าง ๆ ทำข่าวเรื่องนี้ ก็ถือเป็นการโปรโมตภาพยนตร์ไปในตัว

5. กำหนดวันเข้าฉายถูกเวลา

ภาพยนตร์เรื่อง “หลานม่า” เข้าฉายในช่วงเทศกาลเชงเม้งและต่อเนื่องไปถึงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ครอบครัวมีโอกาสได้มาพบปะสังสรรค์กัน ตรงกับเนื้อหาของภาพยนตร์ที่พูดถึงความสัมพันธ์ในครอบครัว ทำให้ผู้ชมที่มีเวลาว่างในช่วงเทศกาลนี้พาครอบครัวมาชมภาพยนตร์ได้โดยง่าย และมีแนวโน้มจะประสบความสำเร็จสูง

6. เจาะตลาดผู้สูงอายุควบคู่ไปกับกลุ่มเป้าหมายอื่น

ภาพยนตร์เรื่องนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์อันอบอุ่นระหว่างหลานกับอาม่า จึงตรงกับความสนใจของกลุ่มผู้สูงอายุเป็นอย่างมาก ทีมงานจึงให้นักแสดงนำไปโปรโมตในรายการที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้สูงอายุ เช่น รายการเกษียณสำราญ ซึ่งเป็นการเจาะตลาดที่แม่นยำ และช่วยให้ภาพยนตร์มีฐานผู้ชมที่กว้างขวางมากขึ้น

7.  ใช้กระแสปากต่อปาก

กระแสการบอกต่อแบบปากต่อปาก เป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้ภาพยนตร์ “หลานม่า” ประสบความสำเร็จ โดย GDH เน้นสร้างสรรค์ภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาอบอุ่น กินใจ ตอบโจทย์กลุ่มผู้ชม จากนั้นให้ผู้ชมบอกเล่าความประทับใจผ่านโซเชียลมีเดียหรือชักชวนกันเอง พร้อมกันนั้น ทาง GDH ก็มีการอัปเดตรายได้ของภาพยนตร์ผ่านทางช่องทางโซเชียลมีเดียของทางบริษัทอยู่เสมอ ทำให้เกิดการสร้าง Soial Proof ซึ่งส่งผลให้เกิดการบอกต่อในวงกว้าง จนกลายเป็นภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จทั้งรายได้และกระแสทางบวก

ภาพยนตร์ “หลานม่า” ขึ้นแท่นอันดับ 1 หนังทำเงินสูงสุด

ขอบคุณภาพจาก  Facebook GDH

สรุป

กลยุทธ์การตลาดที่ชาญฉลาด และการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายและผู้ชมอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ภาพยนตร์เรื่อง “หลานม่า” ประสบความสำเร็จทั้งรายได้ คำวิจารณ์ และมีการวางแผนว่าจะเข้าฉายที่ต่างประเทศ ถือเป็นภาพยนตร์ที่กอบกู้ชื่อเสียงความเป็นค่ายหนังคุณภาพของ GDH ได้อย่างสมบูรณ์

เห็นได้เลยว่าการตลาดเป็นปัจจัยสำคัญที่มีส่วนช่วยเพิ่มโอกาสให้ภาพยนตร์ประสบความสำเร็จได้ดีขึ้น ทั้งนี้ถ้าคุณอยากจะประสบความสำเร็จทางธุรกิจบ้าง สามารถมาปรึกษา Primal Digital Agency ของเราได้เลย เราคือเอเจนซีการตลาดชั้นนำที่พร้อมออกแบบแผนกลยุทธ์เพื่อธุรกิจของคุณโดยเฉพาะ รับรองว่าเติบโตทั้งรายได้และสร้างการรับรู้ให้กลุ่มเป้าหมายได้แน่นอน !