รู้จักรูปแบบโฆษณาบน YouTube พร้อมเทคนิคการทำ Ads ให้ปัง!

หากจะพูดถึงแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียขนาดใหญ่ที่รวบรวมคลิปวิดีโอหลากหลายประเภทไว้ให้คนทุกเพศทุกวัยได้เลือกดูกันแล้ว ก็คงจะไม่พูดถึง YouTube ไม่ได้ เพราะสถิติจาก Hootsuite ระบุว่า YouTube ถือเป็น Search Engine ที่ใหญ่เป็นอันดับสองรองจาก Google ด้วยจำนวนผู้ใช้งานอยู่ที่ 1.9 พันล้านรายต่อเดือนเลยทีเดียว โดยผู้ใช้งานดังกล่าวนั้น มีทั้งผู้ใช้งานที่เป็นผู้ชมทั่วไป และผู้ใช้งานที่เริ่มผันตัวมาเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์เพื่อให้ความบันเทิงแก่ผู้ชมด้วยกันเอง ซึ่งประเภทหลังนี้ก็ดูเหมือนจะมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจาก YouTube มีค่าตอบแทนให้แก่เหล่าครีเอเตอร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมี YouTube Ads หรือโฆษณาบน YouTube มาลงในช่องด้วยก็จะยิ่งเพิ่มรายได้ให้สูงขึ้น ดังนั้น ตลาดของ YouTube จึงเป็นแหล่งที่มีกลุ่มผู้ใช้งานจำนวนมหาศาล และเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่น่าสนใจในการทำการตลาด รวมถึงสร้างการรับรู้ (Awareness) ให้แก่แบรนด์ของเรามากยิ่งขึ้น!

ก่อนอื่น เรามารู้จักรูปแบบโฆษณาบน YouTube กันก่อนดีกว่า ว่า YouTube Ads มีอะไรบ้าง

YouTube Ads มีกี่ประเภท

YouTube Ads มีอะไรบ้าง?

TrueView In-Stream Ads

รูปแบบโฆษณาบน YouTube แบบแรกคือ โฆษณารูปแบบ TrueView ที่ผู้ชมสามารถกดข้ามได้ (Skip Ad) หากไม่ต้องการจะรับชมต่อ แต่จะกดข้ามได้หลังจากที่โฆษณาเล่นไปแล้ว 5 วินาทีเท่านั้น โดยโฆษณา YouTube Ads รูปแบบ TrueView In-Stream Ads นี้จะปรากฏในหน้าที่แสดงวิดีโอของ YouTube รวมถึงวิดีโอในเว็บไซต์ของพาร์ตเนอร์ของ Google ด้วย เช่น แอปพลิเคชัน หรือเกมต่าง ๆ ซึ่งส่วนมากจะเป็นวิดีโอเพื่อเล่นถ่ายทอดเรื่องราวของแบรนด์ และนับว่าเป็นโฆษณาที่ค่อนข้างโดดเด่นทีเดียว 

ดังนั้น หากธุรกิจใดต้องการโฆษณาแบรนด์ให้เป็นไปในทางที่น่าสนใจ หรืออยากโน้มน้าวใจผู้บริโภคด้วยวิดีโอ TrueView In-Stream Ads ก็เป็นรูปแบบโฆษณาที่ตอบโจทย์ได้ดี เพราะการทำโฆษณาลักษณะนี้จะช่วยให้เราสามารถเพิ่มโอกาสในการรับรู้แบรนด์ การพิจารณาผลิตภัณฑ์ ตลอดจนถึงการเข้าชมเว็บไซต์และการขายได้มากขึ้น โดย YouTube Ads จะคิดค่าใช้จ่ายเมื่อผู้ชมดูโฆษณาไปจนถึง 30 วินาที แต่เนื่องจากผู้ชมสามารถกดข้ามได้ตั้งแต่ 5 วินาทีแรก จึงทำให้เราสามารถคัดกรองลูกค้าที่มีความสนใจจริง ๆ ได้อย่างชัดเจน

TrueView Discovery Ads

อีกหนึ่งโฆษณาบน YouTube ในรูปแบบ TrueView ที่สามารถกดข้ามได้เหมือนกับอันบน แต่ตัว Discovery Ads นี้จะเป็นวิดีโอแนะนำที่ขึ้นอยู่บนหน้าโฮมเพจของ YouTube โดยมักจะปรากฏบนหน้าจอของผู้ชมที่ค้นหาเรื่องราวคล้าย ๆ กับวิดีโอของเรา และเป็นโฆษณาที่ “ไม่จำกัดความยาวของวิดีโอ” เพราะเป็นโฆษณาที่เกิดจากการค้นหา แต่ถ้าหากเราอยากให้วิดีโอของเราไปแทรกอยู่ในระหว่างวิดีโออื่น ๆ ก็สามารถทำได้เช่นกัน แต่จะต้องมีความยาวไม่ต่ำกว่า 10 วินาที 

ข้อดีของโฆษณาบน YouTube แบบ TrueView คือ เป็น YouTube Ads ที่ช่วยให้เราสามารถโฆษณาแบรนด์ผ่านวิดีโอในลักษณะ How To (การสาธิตวิธีการ) ได้ อันเป็นคอนเทนต์ที่มีประโยชน์แก่ผู้รับชม ทั้งยังมีความเสี่ยงต่ำ เพราะเราจะได้เสียค่าใช้จ่ายก็ต่อเมื่อผู้ชมเลือกที่จะดูโฆษณาของเราโดยการคลิกเข้ามาที่ภาพปกวิดีโอเท่านั้น เรียกได้ว่ามีโอกาสน้อยมากถึงมากที่สุดที่จะเสียเงินจากกลุ่มคนที่ไม่สนใจแบรนด์ของเรา นอกจากนี้ ยังสามารถเข้าถึงผู้ชมจำนวนมากได้อีกด้วย เนื่องจากอัลกอริทึมของ YouTube นั้นเก็บประวัติการค้นหาของผู้ใช้บน Google เอาไว้ และเลือกที่จะแสดงโฆษณาตามความสนใจของผู้ใช้รายนั้น ๆ

Non-Skippable In-Stream Ads

โฆษณารูปแบบนี้เป็นโฆษณาความยาวไม่เกิน 20 วินาทีและไม่สามารถกดข้ามได้ ออกแบบมาเพื่อให้ข้อความทุกอย่างที่เราต้องการสื่อสารนั้นเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ทั้งหมด ซึ่งเราสามารถแทรกไว้ที่ตำแหน่ง ก่อน ระหว่าง หรือหลังวิดีโอก็ได้ เหมาะสำหรับธุรกิจที่ต้องการเปิดตัวสินค้าใหม่ หรือการจัดโปรโมชันต่าง ๆ ข้อดีคือทำให้เราสามารถบอกเรื่องราวได้อย่างละเอียดและลึกซึ้ง สร้างการรับรู้แบรนด์ให้แก่กลุ่มเป้าหมายได้อย่างชัดเจน ครบถ้วน แต่เราเองก็ต้องกำหนดข้อความที่ดึงดูดและเลือกกลุ่มเป้าหมายให้ดีด้วยเช่นกัน เพื่อที่โฆษณาจะได้มีประสิทธิภาพมากที่สุด โดย Non-Skippable Ads จะมีการคิดค่าโฆษณาก็ต่อเมื่อมีการแสดงโฆษณาครบ 1,000 ครั้ง

ทั้งนี้ เนื่องจากโฆษณาบน YouTube ประเภทนี้กดข้ามไม่ได้ ต่อให้ผู้ชมไม่อยากดูโฆษณาของเรา แต่พวกเขาก็จะได้ยินในสิ่งที่เราต้องการจะบอกอยู่ดี ดังนั้น เราจึงควรคิดคำที่กระตุ้นการตัดสินใจหรือ CTA (Call to Action) ลงไปในโฆษณาด้วยเพื่อเรียกความสนใจจากผู้ชมให้ได้ภายในระยะเวลาอันสั้น

Bumper Ads

โฆษณาบน Youtube แบบ Bumper Ads นั้นเป็นโฆษณารูปแบบวิดีโอสั้น มีความยาวเพียง 6 วินาที และกดข้ามไม่ได้เช่นเดียวกันกับแบบ Non-Skippable Ads แต่ข้อดีคือ ช่วยลดการรบกวนผู้ชมได้ เพราะเมื่อโฆษณาไม่ยาวนักก็จะไม่ทำให้ผู้ชมรู้สึกอารมณ์เสีย ออกแบบมาเพื่อช่วยให้แบรนด์สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น รวมไปถึงเพิ่มการรับรู้เกี่ยวกับแบรนด์ เพราะผู้ชมสามารถคลิกลิงก์เพื่อเข้าสู่เว็บไซต์ของแบรนด์ต่อไปอีกได้

อย่างไรก็ตาม อาจดูเหมือนเป็นเรื่องยากที่เราจะสร้างความประทัยใจให้แก่ผู้ชมได้ภายในเวลาเพียง 6 วินาที แต่จากผลสำรวจของ Google ระบุว่า YouTube Ads แบบ Bumper Ads นั้นมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการเพิ่มอัตราการเข้าถึงวิดีโอแบบยาว เพราะหลังจากที่ Bumper Ads แสดงผลไป 6 วินาทีแล้วสามารถดึงดูดความสนใจของผู้ชมได้ ก็จะเพิ่มโอกาสในการทำให้ผู้ชมคลิกเข้าไปดูวิดีโอตัวเต็มมากขึ้น ซึ่งเราอาจใช้โฆษณารูปแบบนี้เมื่อต้องการเข้าถึงผู้ชมในวงกว้าง และควรใส่ข้อความสั้น ๆ ที่สร้างการจดจำแบรนด์ลงไปด้วย 

ส่วนเรื่องค่าใช้จ่าย เราจะต้องจ่ายเงินตามการแสดงผล กล่าวคือ จะมีการคิดค่าโฆษณาเมื่อมีการแสดงโฆษณาครบ 1,000 ครั้ง

Overlay Ads

YouTube Ads แบบ Overlay Ads เป็นโฆษณาแบนเนอร์ (Banner) ที่จะอยู่ด้านล่างหรือมุมขวาของวิดีโอ เป็นรูปภาพขนาด 480 x 70 Pixels และครอบคลุมพื้นที่หน้าวิดีโอถึง 20% โดยโฆษณาจะปรากฏเมื่อผู้ชมเริ่มเล่นวิดีโอหลัก เหมาะสำหรับธุรกิจทั่ว ๆ ไปที่ต้องการให้กลุ่มเป้าหมายได้เห็นแบรนด์ของเราแบบผ่าน ๆ ตาบ้าง ซึ่งถ้าหากมีคนสนใจก็จะสามารถกดดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ หรือกดซ่อนโฆษณาก็ได้เช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ Overlay Ads สามารถแสดงผลได้แค่บนเดสก์ท็อปเท่านั้น

Display Ads

Display Ads เป็นโฆษณาบน YouTube แบบแบนเนอร์ขนาด 300 x 250 Pixels ที่ปรากฏทางด้านขวามือของวิดีโอ และจะอยู่บนรายการวิดีโอแนะนำ (Suggest Videos) ซึ่งการทำโฆษณาประเภทนี้เราควรต้องใส่ข้อมูลคำพูดที่ต้องการสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมายให้กระชับ ชัดเจน เพื่อดึงดูดความสนใจจากผู้ชม โดยโฆษณา Display Ads จะปรากฏอยู่ในทุกส่วน ยกเว้นหน้าแรกของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน YouTube เหมาะสำหรับธุรกิจที่ต้องการโปรโมตแบรนด์ให้เป็นที่โดดเด่นและเห็นชัดในสายตาของลูกค้า

Cards and Sponsored Cards

Cards and Sponsored Cards คือรูปแบบของโฆษณาแบบป๊อปอัป หรือ CTA ที่กระตุ้นให้เกิดการคลิกภายในเวลาไม่เกิน 20 วินาที โดยจะมีขนาดเล็กปรากฏอยู่บนวิดีโอของ YouTube ข้อดีคือไม่เป็นการรบกวนผู้ชมขณะรับชมวิดีโอหลัก เพราะการ์ดโฆษณาจะขยายใหญ่ขึ้นก็ต่อเมื่อมีการคลิกเท่านั้น ทั้งยังช่วยผลักดันให้เกิดปฏิสัมพันธ์บางอย่างจากผู้ที่พบเห็นด้วย

Mastheads

โฆษณาบน YouTube รูปแบบนี้มีลักษณะเป็นแบนเนอร์หรือวิดีโอไร้เสียงขนาดใหญ่บนหน้าโฮมเพจ ความยาว 30 วินาที โดยสามารถใช้แบบ Standard Size (970 x 250 Pixels) หรือ Expandable Size (970 x 500 Pixels) ก็ได้ นอกจากนี้ เรายังสามารถใส่ลูกเล่น Multi-Function ให้โฆษณาของเราดูน่าสนใจมากขึ้นได้อีกด้วย! เหมาะสำหรับธุรกิจที่ต้องการโปรโมตสินค้าใหม่ ๆ หรือต้องการเปิดตัวแบบดูยิ่งใหญ่อลังการ โดยจะมีการคิดค่าโฆษณาแบบ CPD (Cost Per Day) หรือ CPM (Cost Per Thousand Impressions)

 

สรุป

ทั้งนี้ ไม่ว่า YouTube Ads จะมีอะไรบ้าง หรือเราจะใช้โฆษณาบน YouTube แบบไหนก็ตาม แต่สิ่งสำคัญที่แบรนด์ต้องตระหนักไว้เสมอคือ เราต้องรู้ว่าผู้ชมของเราคือใคร เพราะถ้าหากเราไม่รู้กลุ่มเป้าหมายแล้วล่ะก็ โฆษณาที่ลงทุนลงแรงทำไปก็อาจจะไม่เข้าตาใครเลย ทำให้เสียค่าโฆษณาไปแบบฟรี ๆ ยิ่งไปกว่านั้น โฆษณาที่ทำก็ไม่ควรยืดเยื้อ ไม่ใช่แค่ในแง่ของระยะเวลา แต่หมายรวมถึงคอนเทนต์ในวิดีโอนั้น ๆ ที่ควรจะต้องเข้าสู่เนื้อหาหลักที่ต้องการโฆษณาในจังหวะที่ถูกต้องและเหมาะสม ทำให้คนดูรู้สึกอยากดูต่อไปจนจบ และอย่าลืมแสดงแบรนด์หรือสินค้าให้ชัดเจนเป็นสำคัญด้วย เพราะเป็นสิ่งที่สามารถสื่อสารโดยตรงให้ผู้ชมเข้าใจได้ว่าสินค้าของเราคืออะไรนั่นเอง