Site Structure คืออะไร สำคัญอย่างไรต่ออันดับของเว็บไซต์

ไม่ว่าธุรกิจไหน ๆ ในปัจจุบันก็หันมาทำการตลาดออนไลน์ด้วยกันทั้งนั้น และหัวใจหลักของแบรนด์ออนไลน์ก็คือ “เว็บไซต์ (Website)” เพราะเป็นแพลตฟอร์มที่จะทำให้คนค้นหาธุรกิจของเราเจอ และรู้จักว่าเรากำลังขายสินค้าหรือบริการใด เรียกได้ว่าเว็บไซต์คือหน้าตาของแบรนด์ที่เป็นตัวช่วยในการตัดสินใจซื้อของลูกค้าเลยทีเดียว ดังนั้น ก่อนจะออกแบบเว็บไซต์ให้ดี เราต้องมีการออกแบบเนื้อหาและวางโครงสร้างเว็บไซต์ให้ดีเสียก่อน โดยโครงสร้างเว็บไซต์ที่ว่านั้นก็คือ “Site Structure” ที่เราจะมาอธิบายในวันนี้ ซึ่งถ้าหากเราต้องการให้เว็บไซต์ปรากฏอยู่อันดับต้น ๆ บนหน้าแรกของ Google ก็มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจการออกแบบโครงสร้างเว็บไซต์ให้ถูกต้องและเหมาะสมก่อนเป็นอันดับแรก

วิธีออกแบบ Site Structure

Site Structure คืออะไร

Site Structure คือ โครงสร้างเว็บไซต์ที่ประกอบไปด้วยแต่ละหน้าลิงก์ของเว็บไซต์ หรือเรียกได้ว่าเป็นการจัดระเบียบเว็บไซต์ให้รู้ว่าเว็บฯ นั้น ๆ มีเนื้อหาหลักอะไรบ้าง ซึ่งในส่วนนี้จะทำให้อัลกอริทึมของ Google เข้าใจและหาสิ่งต่าง ๆ ภายในเว็บไซต์ของเราได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งจะวัดได้ว่าเว็บไซต์เราสามารถอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้งานได้มากน้อยแค่ไหน หากผู้ใช้งานเข้ามายังหน้าหนึ่ง ๆ แล้วจะคลิกสู่หน้าอื่น ๆ ได้อย่างไรบ้าง หากมีความยุ่งยากหรือซับซ้อน บอตของ Google ก็จะเข้าถึงได้ยาก และจะตีความว่าเว็บไซต์ของเราไม่สะดวกต่อการใช้งาน มีโอกาสที่ผู้ใช้ทั่วไปเข้ามาแล้วจะหาสิ่งที่ตนเองต้องการไม่เจอ โดยปัจจัยเรื่องความยาก-ง่ายในการใช้งานเว็บไซต์จะมีผลในการทำ SEO หรือการจัดอันดับบนหน้าผลการค้นหาด้วย

 

Site Structure สำคัญอย่างไร

ช่วยให้ Search Engine เข้าใจเว็บไซต์ของเรามากขึ้น

ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่า การทำ Site Structure เป็นการแจกแจงรายละเอียดของเว็บไซต์ในแต่ละหน้า ว่าหน้าไหนเกี่ยวกับอะไร และเชื่อมโยงถึงกันอย่างไร มีความเกี่ยวข้องกันหรือไม่ ส่งผลให้เมื่อบอตของ Google เข้ามาเก็บข้อมูล ก็จะสามารถทำความเข้าใจเนื้อหาบนเว็บไซต์ของเราได้ง่ายขึ้น เพราะเรามีโครงสร้างเว็บไซต์ที่เปรียบเสมือนแผนที่นำทาง และเมื่อบอตเก็บข้อมูลได้อย่างละเอียดครบถ้วนแล้ว เว็บไซต์ของเราก็จะนำไปถูกจัดอันดับได้ไวขึ้น เรียกได้ว่าเป็นปัจจัยหลัก ๆ ที่มีประสิทธิภาพต่อการทำ SEO เลยทีเดียว

ช่วยมอบประสบการณ์ที่ดีแก่ผู้เข้าชม

นอกจากการทำ Site Structure จะช่วยให้บอตของ Google เข้ามาเก็บข้อมูลได้ง่ายแล้ว ยังช่วยมอบประสบการณ์ที่ดีแก่ผู้เข้าชมเว็บไซต์ด้วย เพราะการปรับโครงสร้างเว็บไซต์ให้มีความเหมาะสมจะช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถเข้า-ออกหน้าต่าง ๆ บนเว็บไซต์ได้สะดวก รวดเร็ว ตลอดจนสามารถหาข้อมูลที่ตนเองต้องการเจอได้อย่างง่ายดาย ซึ่งประสบการณ์ตรงนี้จะทำให้ผู้ใช้งานรู้สึกประทับใจและอยากกลับมาที่เว็บไซต์ของเราอีกเรื่อย ๆ และแน่นอนว่าจะส่งผลต่อการทำ SEO ของเราในทางบวก เนื่องจากหนึ่งในปัจจัยที่ Google นำมาใช้ในการจัดอันดับก็คือความ Friendly ของเว็บไซต์ที่มีต่อผู้ใช้งาน ดังนั้น ยิ่งเว็บไซต์ของเราสามารถมอบประสบการณ์ที่ดีแก่ผู้ใช้ได้มากเท่าไร ก็ยิ่งมีโอกาสที่จะติดอันดับต้น ๆ บนหน้าแรกของผลการค้นหามากขึ้นเท่านั้น และที่สำคัญ เมื่อมีคนเข้ามาที่เว็บไซต์ของเราเพิ่มขึ้น โอกาสที่เราจะขายสินค้าหรือบริการของตนเองได้ก็ยิ่งมีมากขึ้นตามไปด้วย

ทำให้จัดการข้อมูลได้ง่าย

ไม่ใช่แค่ดีต่อ Search Engine และผู้ใช้งานเท่านั้น แต่ Site Structure ยังดีต่อเจ้าของเว็บไซต์เองด้วย เพราะการทำโครงสร้างเว็บไซต์จะช่วยให้เราเห็นถึงภาพรวมของเนื้อหาและข้อมูลทุกอย่างบนหน้าเว็บฯ ว่าเป็นอย่างไร ที่เป็นอยู่ตอนนี้ดีแล้วหรือไม่ หรือควรจัดเรียงเนื้อหาใหม่ให้ตอบโจทย์และอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้งานได้มากกว่านี้ อันจะนำมาซึ่งการปรับปรุงเว็บไซต์ที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลดีต่อ SEO ยิ่งไปกว่านั้น หากวันไหนเราต้องการขยายเว็บไซต์ ก็จะสามารถทำได้ง่ายและเป็นระบบมากขึ้นด้วย เนื่องจาก Site Structure จะบอกเราว่าเนื้อหาเดิมของเรามีอะไรบ้าง ทำให้เรารู้ว่าควรปรับแก้ เชื่อมโยง หรือเพิ่มเติมอะไรตรงไหน

 

รูปแบบของ Site Structure คืออะไร

โครงสร้างเว็บไซต์มีหลายรูปแบบ โดยจะแบ่งตามการจัดรูปแบบเนื้อหาเว็บไซต์ว่าเป็นไปในทิศทางใด สามารถแบ่งออกได้เป็น 5 รูปแบบ ดังนี้

โครงสร้างแบบเส้นตรง (Linear Structure)

Linear Structure คือ โครงสร้างเว็บไซต์ที่นำเสนอเนื้อหาตามลำดับ โดยเริ่มจากหน้า Landing Page เป็นหน้าแรก จากนั้นค่อยเรียงลำดับเนื้อหาไปทีละหัวข้อ เหมาะสำหรับเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาไม่มากนัก หรือต้องการจัดเนื้อหาให้เป็นระบบ เช่น ธุรกิจที่นำเสนอสินค้าหรือบริการเป็นขั้นตอน คอร์สเรียนออนไลน์ที่ต้องเริ่มจากบทที่ 1, 2, 3 ต่อไปเรื่อย ๆ หรือเนื้อหาบนอีบุ๊กที่ต้องอ่านจากหน้าแรกไปหน้าสุดท้าย เป็นต้น ข้อดีของ Site Structure รูปแบบนี้ คือ ทำง่าย และเป็นไกด์นำทางที่ดีแก่ทั้งบอตและผู้เข้าชมเว็บไซต์ เพราะทำให้ผู้ที่เข้ามาสามารถเข้าใจได้ทันทีว่าต้องไปที่หน้าไหนต่อ

โครงสร้างแบบต้นไม้ (Hierarchical Structure)

Hierarchical Structure เป็นโครงสร้างเว็บฯ ที่ผู้ประกอบการหลายคนนิยมใช้กัน เพราะเป็นรูปแบบที่เข้าใจง่ายมากที่สุด มีรูปร่างลักษณะคล้ายแผนผังต้นไม้ จึงเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “Tree Structure” ด้วย ข้อดีของโครงสร้างประเภทนี้คือ เหมาะสำหรับเว็บไซต์ที่เพิ่งสร้าง หรือเว็บไซต์ขนาดเล็กที่มีจำนวนไม่กี่หน้า ไปจนถึงเว็บไซต์ขนาดใหญ่ที่มีหน้าจำนวนมาก โดย Hierarchical Structure จะมีการจัดแบ่งหน้าต่าง ๆ เป็นหมวดหมู่ (Category) เริ่มจากหน้าแรกที่อยู่ด้านบนสุด แล้วไล่หน้ารองหรือหน้าย่อยลงมาเรื่อย ๆ ด้วยความชัดเจนนี้เองที่จะช่วยให้บอตเข้าใจความสัมพันธ์ของแต่ละหน้าได้ดียิ่งขึ้น

โครงสร้างแบบอิสระ (Web Linked Structure)

Site Structure ประเภทนี้จัดเป็นโครงสร้างเว็บไซต์ที่มีรูปแบบไม่ตายตัว เพียงแค่มีหลักการว่าทุกหน้าบนเว็บไซต์จะต้องเชื่อมโยงถึงกันได้ กล่าวคือ ไม่ว่าผู้ใช้งานจะเข้ามาที่หน้าไหน ก็ต้องสามารถเข้าถึงหน้าอื่น ๆ บนเว็บไซต์จากหน้านั้น ๆ ได้ เหมาะสำหรับการทำเว็บไซต์ที่มีจำนวนหน้าย่อยเยอะ ๆ และเน้นการคลิกกลับไปกลับมาภายในเว็บไซต์เท่านั้น เช่น เว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ เป็นต้น 

อย่างไรก็ดี โครงสร้างแบบอิสระนี้มีข้อจำกัดด้านการใช้งานที่ค่อนข้างซับซ้อน ดังนั้น จึงควรมีการวางแผนให้ดี และทำให้เข้าใจง่ายมากที่สุด เพื่อให้บอตสามารถเข้าใจถึงความสัมพันธ์ของหน้าต่าง ๆ บนเว็บไซต์ได้ และมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดแก่ผู้ใช้งานเว็บไซต์ ให้พวกเขารู้สึกประทับใจจนอยากกลับมาใช้งานใหม่

โครงสร้างเว็บไซต์แบบฐานข้อมูล (Database Structure)

โครงสร้างเว็บไซต์รูปแบบนี้จะตรงข้ามกับโครงสร้างแบบต้นไม้ที่เรียงจากบนลงล่าง เพราะโครงสร้างเว็บไซต์แบบฐานข้อมูลจะเรียงจากล่างขึ้นบน เพื่อระบุว่าหัวข้อย่อยแต่ละอันควรจัดอยู่ในหมวดหมู่ใด เหมาะสำหรับเว็บไซต์ที่สร้างขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นฐานข้อมูลขององค์กรต่าง ๆ เช่น เว็บไซต์ฐานข้อมูลของธนาคาร เป็นต้น โดยข้อดีของ Site Structure ประเภทนี้ คือ ผู้ใช้งานและบอตสามารถดึงข้อมูลที่ตนเองต้องการออกมาใช้งานได้ง่าย เพราะมีการจัดหมวดหมู่ไว้อย่างเป็นระบบ

โครงสร้างแบบผสม (Hybrid Structure)

โครงสร้างแบบสุดท้าย คือ Hybrid Structure หรือรูปแบบผสม กล่าวคือ เป็นการผสมผสานระหว่างโครงสร้างแบบต้นไม้ (Hierarchy Structure) กับโครงสร้างรูปแบบอื่น ๆ เข้าด้วยกัน แล้วแต่ว่าเว็บไซต์มีจุดประสงค์อะไร อยากให้รูปแบบการท่องเว็บฯ เป็นอย่างไร แล้วจึงค่อยนำรูปแบบที่เหมาะสมมาทำเป็นโครงสร้างเว็บไซต์ของตนเอง

อย่างไรก็ตาม แม้จะบอกว่า Site Structure มีส่วนช่วยในการทำ SEO ค่อนข้างมาก แต่ก็ต้องอย่าลืมให้ความสำคัญกับปัจจัยอื่น ๆ ที่ Google กำหนดเป็นเกณฑ์การพิจารณาการจัดอันดับด้วย เพราะในขณะที่เราทำอย่างเดียว คู่แข่งของเราอาจจะทำสิบอย่าง และแน่นอนว่าคนที่ทำมากกว่าก็มีโอกาสติดอันดับที่สูงกว่า 

 

การออกแบบ Site Structure ทำอย่างไร

ในการออกแบบโครงสร้างเว็บไซต์ เราจะต้องวางแผนอย่างรัดกุมก่อนว่าเนื้อหาที่เราต้องการจะเผยแพร่บนหน้าเว็บฯ มีอะไรบ้าง จะจัดหมวดหมู่และเชื่อมโยงแต่ละหน้าเข้าหากันอย่างไร เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ทั้งผู้ใช้งานและบอตที่จะเข้ามาเก็บข้อมูลเว็บไซต์ของเราให้ได้มากที่สุด อันจะนำมาซึ่งประสิทธิภาพในการทำ SEO ที่ดี โดยการออกแบบโครงสร้างเว็บไซต์มีแนวทางเบื้องต้น ดังนี้

กำหนดเป้าหมายของเว็บไซต์

การจะสร้างเว็บไซต์หนึ่ง ๆ ขึ้นมานั้น เชื่อว่าทุกคนก็คงมีเป้าหมายในใจอยู่แล้ว ว่าเราจะทำเว็บไซต์นี้ขึ้นมาเพื่ออะไร เช่น ต้องการขายสินค้าหรือบริการ ต้องการทำเว็บฯ ให้ความรู้ ข้อมูล ข่าวหรือ หรือแม้แต่ต้องการบอกเล่าเรื่องราวและประสบการณ์ต่าง ๆ ผ่านบล็อก ฯลฯ และเมื่อเรารู้แล้วว่าเป้าหมายของตนเองคืออะไร เราก็จะสามารถกำหนดทิศทางของเนื้อหาบนเว็บไซต์ได้อย่างเหมาะสม ตรงกับความต้องการของผู้ใช้งาน

รู้จักกลุ่มเป้าหมาย

หลังจากรู้แล้วว่าเป้าหมายของการทำเว็บไซต์คืออะไร อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือการรู้จัก “กลุ่มเป้าหมาย” ของตนเอง ว่ากลุ่มคนแบบไหนที่เราอยากให้พวกเขาเข้ามาที่เว็บไซต์เรา แล้วทำให้เกิด Conversion หรือ Action อะไรบางอย่าง โดยเราควรจะต้องรู้ถึงพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของกลุ่มคนเหล่านั้น ไปจนถึงปัญหาที่พวกเขากำลังประสบ เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการทำคอนเทนต์ให้ตอบโจทย์ความต้องการดังกล่าว และบอกแก่กลุ่มเป้าหมายว่าเราสามารถช่วยเหลือพวกเขาจากปัญหาที่ว่าได้อย่างไร นอกจากนี้ เรายังสามารถบอกได้อีกด้วยว่าแบรนด์เราแตกต่างจากแบรนด์อื่น ๆ อย่างไร และทำไมพวกเขาจึงควรเลือกเรา

สำรวจคู่แข่ง

การสำรวจคู่แข่งเป็นหนึ่งในวิธีที่ทุกธุรกิจจะพลาดไม่ได้ เพราะจะทำให้เราได้รู้ว่าแบรนด์ที่ขายสินค้าหรือบริการใกล้เคียงกับเราเขาทำอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะแบรนด์ใหญ่ที่สามารถดึงดูดลูกค้าได้เยอะ ๆ แล้วนำกลยุทธ์เหล่านั้นมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับธุรกิจของตนเอง แน่นอนว่าเรื่องของ Site Structure ก็เช่นกัน หากใครที่เพิ่งเริ่ม แล้วยังไม่รู้ว่าจะทำออกมาในรูปแบบไหนดี ให้ลองดูเว็บไซต์ของธุรกิจที่คล้าย ๆ กันก่อนว่าเขามีโครงสร้างอย่างไร แนะนำว่าให้เลือกดูของเว็บไซต์ที่ติดอันดับบนหน้าแรกของ Google จะดีที่สุด เพราะนั่นหมายความว่าอัลกอริทึมเองก็พอใจกับ Site Structure รูปแบบดังกล่าวเช่นกัน

เชื่อมโยงแต่ละหน้าเข้าด้วยกัน

ขั้นตอนสุดท้าย คือร่างแผนผังการเชื่อมโยงแต่ละเว็บเพจเข้าด้วยกัน หรือที่เรียกว่า Internal Link นั่นเอง โดยให้เชื่อมโยงตามลำดับความสำคัญ กล่าวคือ หน้าไหนที่มีความสำคัญมาก ก็ให้ทำ Internal Link หน้านั้นมากกว่าหน้าอื่น ๆ และที่สำคัญ คีย์เวิร์ดที่ทำการลิงก์ไปจะต้องมีความเกี่ยวข้องกับหน้าเพจดังกล่าวด้วย ซึ่งการทำ Internal Link นี้ นอกจากจะช่วยให้บอตของ Google สามารถเข้ามาเก็บข้อมูลได้ง่ายและสะดวกแล้ว ยังเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยเพิ่มโอกาสในการทำให้ผู้ใช้งานอยู่บนเว็บไซต์ของเรานานขึ้นด้วย 

 

สรุป

ดังนั้น Site Structure คือโครงสร้างเว็บไซต์ซึ่งประกอบไปด้วยข้อมูลต่าง ๆ บนหน้าเว็บฯ ของเรา ว่ามีอะไรอยู่หน้าไหน ส่วนใด หรือมีหน้าไหนเชื่อมโยงกันบ้าง หากเราวางรูปแบบโครงสร้างไม่เป็นระเบียบ โอกาสที่เว็บไซต์จะได้ขึ้นเป็นอันดับดี ๆ บนหน้าแรกของ Google ก็เป็นเรื่องยาก คนทำเว็บไซต์ทุกคนจึงต้องรู้จักการทำ Site Structure เอาไว้เพื่อให้เว็บไซต์ของตนเองมีประสิทธิภาพในการทำ SEO ให้ได้มากที่สุด