Content Pillar คืออะไร กลยุทธ์ที่ช่วยให้เว็บไซต์อันดับดีขึ้น

เป้าหมายหลักของการทำเว็บไซต์ คือการทำให้ผู้ใช้งานเห็นว่าธุรกิจของเราสามารถตอบสนองความต้องการของพวกเขาได้อย่างไร ด้วยการเขียนบทความให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของอัลกอริทึมของ Google หรือที่เรียกกันว่าการทำ SEO (Search Engine Optimization) เพื่อให้ผู้ที่เซิร์ชหาคีย์เวิร์ดเกี่ยวกับธุรกิจของเราเห็นเว็บไซต์เราเป็นอันดับแรก ๆ

อย่างไรก็ตาม เมื่อต้องเขียนคอนเทนต์ทุกวัน แถมบางครั้งก็วันละหลายโพสต์ หลายช่องทาง พอเวลาผ่านไปสักพักก็อาจเกิดอาการหัวตัน คิดไม่ออกว่าจะเขียนคอนเทนต์อะไรต่อไปดี วิธีแก้คือ ก่อนที่เราจะสร้างคอนเทนต์อะไรออกมาสักอย่างหนึ่งนั้น จะต้องผ่านกระบวนการคิดเพื่อให้มีความเชื่อมโยงและต่อเนื่องกันเสียก่อน และวันนี้เราจะมาพูดถึง “Content Pillar” ตัวช่วยจัดระเบียบแนวทางการเล่าเรื่อง เพื่อให้ไอเดียการเขียนคอนเทนต์ของเรามีทางไปได้เรื่อย ๆ มีอะไรใหม่ ๆ ไม่น่าเบื่อให้ผู้ใช้งานได้อ่านเสมอ

Content Pillar ตัวอย่าง

Content Pillar คืออะไร

หากใครเป็นนักการตลาดเพียงคนเดียวหรือไม่กี่คนในทีม หรือเป็นเจ้าของแบรนด์ที่ต้องทำคอนเทนต์ด้วยตนเอง ก็จะทราบดีว่าในหนึ่งวันนั้นยุ่งแค่ไหน เพราะต้องรับผิดชอบงานด้านการตลาดหลาย ๆ อย่างพร้อมกัน เมื่อมีเวลาอยู่อย่างจำกัด แต่ไม่อยากหลุดโฟกัสในการคิดและสร้างคอนเทนต์ลงบล็อกหรือโซเชียลมีเดีย กลยุทธ์ Content Pillar คือคำตอบที่จะช่วยให้เราทำงานได้ง่ายขึ้น!

แล้ว Content Pillar คืออะไรล่ะ

Content Pillar คือ ตัวช่วยจัดระเบียบการสื่อสารการตลาด ด้วยการกำหนดแนวทางหรือเรื่องราวที่แบรนด์จะสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมายให้มีทิศทางที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น หรือกล่าวง่าย ๆ ก็คือ เป็นกลยุทธ์การทำคอนเทนต์ผ่านการวางแผนว่า มีเรื่องอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องกับแบรนด์และเป็นสิ่งที่ลูกค้าอยากรู้ หรือเราต้องการบอกให้รู้ โดยอาจมีการศึกษาแนวทางของคู่แข่งว่าคอนเทนต์แบบไหนที่คนเข้ามามีส่วนร่วมมาก คอนเทนต์ไหนคนมีส่วนร่วมน้อย การทำเช่นนี้จะทำให้เรารู้ว่าธุรกิจอื่น ๆ มี Pillar แบบไหน และมีสัดส่วนในแต่ละ Pillar เท่าไร

 

Content Pillar มีอะไรบ้าง

ก่อนจะไปดูว่า Content Pillar มีอะไรบ้าง ต้องขอเท้าความก่อนว่า มีหลายครั้งที่เราอาจจะรู้สึกว่าคอนเทนต์อะไรก็ตามที่เคยลงไปแล้ว ก็รู้สึกไม่อยากลงซ้ำอีกเพราะกลัวจะน่าเบื่อ แต่ความจริงแล้ว จากมุมมองคนนอกอาจไม่คิดเช่นนั้น เนื่องจากคนอื่น ๆ ทั่วไปไม่ได้อยู่กับแบรนด์ของเราตลอดเวลา 24/7 เหมือนกับตัวเราเอง ดังนั้น บางทีคอนเทนต์ที่เราอาจคิดว่าน่าเบื่อ อาจจะยังใหม่สำหรับผู้อ่านอีกหลาย ๆ คนก็ได้ ยิ่งหากเป็นคอนเทนต์ที่เป็น FAQ ด้วยแล้ว ยิ่งต้องโพสต์บ่อย ๆ เพื่อที่เวลาลูกค้าใหม่ ๆ เซิร์ชหารายละเอียดเกี่ยวกับสินค้าและบริการของเรา จะได้หาเจออย่างง่ายดายทันที

ดังนั้น สิ่งที่เราต้องทำจึงไม่ใช่หลีกเลี่ยงการโพสต์คอนเทนต์ซ้ำ แต่เป็นการปรับคอนเทนต์เรื่องเดิมให้ดูใหม่ กล่าวคือ นำเนื้อหาเก่ามาดัดแปลงให้เป็นรูปแบบใหม่ นำเสนอในมุมมองที่หลากหลายมากขึ้นเพื่อไม่ให้จำเจ 

ทีนี้ เมื่อเราเข้าใจแล้วว่า Content Pillar คืออะไร ต่อไปเรามาดูกันว่า แล้ว Content Pillar มีอะไรบ้าง และควรทำอย่างไรให้การวางแผนคอนเทนต์มีระเบียบมากที่สุด

โดยทั่วไปแล้ว Content Pillar สามารถแบ่งออกได้เป็น 5 แบบหลัก ๆ ได้แก่

  1. Gags – คำพูดหรือข้อความประจำวันที่สร้างช่วงเวลาดี ๆ แก่ผู้อ่าน
  2. Trend/Occasion – การสร้างเทรนด์หรือโอกาสพิเศษที่ให้ความรู้สึกสนุกสนาน อาจรวมถึงการทำ Real-Time Marketing หรือการหยิบกระแส ณ ขณะนั้นมาทำเป็นคอนเทนต์การตลาด
  3. Entertainment – การสร้างช่วงเวลาที่สนุกสนานแก่กลุ่มเป้าหมาย ด้วยเกมหรือควิซต่าง ๆ ที่เน้นการมีส่วนร่วม
  4. Brand – เนื้อหาที่นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับแบรนด์และสินค้าหรือบริการของแบรนด์
  5. Campaign – ข้อมูลเกี่ยวกับแคมเปญ โปรโมชัน หรือกิจกรรม

เมื่อเราได้ประเภทที่เหมาะสมกับแบรนด์แล้ว ให้ชั่งน้ำหนักว่าแบรนด์ของเราควรโพสต์ประเภทไหนมากที่สุด และในสัดส่วนเท่าไร เช่น Campaign 50%, Brand 20%, Trend/Occasion 10%, Entertainment 10% และ Gags 10% เป็นต้น

จากนั้น เมื่อได้สัดส่วนที่เหมาะสมแล้ว ให้วางแผนความถี่ในการโพสต์ ว่าในหนึ่งเดือนจะโพสต์กี่ครั้ง หรือในหนึ่งสัปดาห์จะโพสต์วันไหนบ้าง เช่น วางแผนจะโพสต์เดือนละ 20 โพสต์ แล้วจึงคิดสัดส่วนต่อว่าสัปดาห์หนึ่งควรมีกี่โพสต์ จนถึงลงช่วงวันและเวลาใดจะดีที่สุด

ทั้งนี้ การทำ Content Pillar นั้น เราสามารถปรับได้ตามความเหมาะสม ขึ้นอยู่กับประเภทของธุรกิจและแผนการตลาดของแบรนด์ว่าต้องการเน้นอะไร เช่น หากเป็นแบรนด์ไฮเอนด์ก็อาจจะเน้นไปที่ Brand Content สัก 50% เพื่อโชว์ความสวยงามและความหรูหราของสินค้า ส่วนหัวข้ออื่น ๆ ก็ลดหย่อนลงมาตามความเหมาะสม

 

ทำ Pillar Page เพื่ออันดับ SEO ที่ดีขึ้น

Pillar Page คือ หน้าเว็บไซต์ที่ถูกสร้างขึ้นมา โดยมีเนื้อหาครอบคลุมถึงเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ และมีการเชื่อมโยงไปยังคอนเทนต์ต่าง ๆ ที่เป็นประเด็นเดียวกันที่อยู่บนเว็บไซต์ ซึ่งเมื่อเราทำ Content Pillar เรียบร้อยแล้ว ก็ให้จัดหมวดหมู่คอนเทนต์เหล่านั้นด้วยการสร้าง Pillar Page เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าไปชมคอนเทนต์ต่าง ๆ ผ่านช่องทางเชื่อมต่อบนหน้าเพจได้สะดวกขึ้น

ทั้งนี้ Pillar Page จะช่วยทำให้หน้าเว็บไซต์และคอนเทนต์ของเราถูกจัดระเบียบเป็นกลุ่ม ๆ ในรูปแบบของ Topic Cluster อันประกอบไปด้วย Pillar Page ที่เป็นหน้าเว็บไซต์กลางซึ่งช่วยสรุปประเด็นที่แบรนด์ต้องการสื่อสารกับบุคคลภายนอก ในขณะเดียวกัน Pillar Page ก็จะรวบรวมช่องทางเชื่อมต่อไปยังคอนเทนต์ต่าง ๆ ภายในเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นหลักของ Pillar Page ผ่านการเชื่อมโยงด้วยลิงก์

การทำ Pillar Page มีประโยชน์ด้านอำนวยความสะดวกแก่ผู้เข้าชมเว็บไซต์ให้สามารถเห็นภาพรวมของคอนเทนต์ที่เราต้องการจะนำเสนอได้ชัดเจน และหากต้องการข้อมูลเชิงลึก Pillar Page จะช่วยให้เข้าถึงคอนเทนต์ที่ต้องการได้ง่ายขึ้นอีกด้วย

นอกจากจะช่วยในด้านธุรกิจและการตลาดแล้ว Pillar Page ยังมีความสำคัญกับ SEO มาก เนื่องจากเป็นเทคนิคหนึ่งที่จะช่วยให้อัลกอริทึมของ Google เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างคอนเทนต์ในเว็บไซต์ของเรา กับประเด็นที่ต้องการจะนำเสนอ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มความน่าเชื่อถือของเว็บไซต์ และส่งผลให้เว็บไซต์ได้ขึ้นไปอยู่บนอันดับต้น ๆ บนหน้าแรกของ Google

การทำ Pillar Page ที่พบได้บ่อย ๆ จะมีอยู่ 3 รูปแบบ ดังนี้

  1. หน้ารวมบล็อก

เป็นหน้าเพจที่ทำขึ้นมาเพื่อรวมลิสต์คอนเทนต์ แล้วทำ Internal Link ออกไปยังบทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยหน้าตาส่วนใหญ่จะเป็นกล่องการ์ด (Card Box) ให้ผู้ใช้งานคลิกต่อไปยังบทความที่สนใจ ซึ่งเราสามารถแบ่งย่อยออกเป็นหมวดหมู่ให้ชัดเจนได้ ผ่านการออกแบบหน้าตาเว็บไซต์ที่สวยงาม

  1. หน้า Product & Service

Pillar Page ประเภทนี้จะทำขึ้นเพื่อนำเสนอสินค้าและบริการของแบรนด์ ดังนั้น ส่วนมากจึงจะเน้นเชื่อมโยงไปยังคอนเทนต์ที่สนับสนุนการขายเป็นหลัก

  1. หน้าไกด์ไลน์

เป็น Pillar Page แนวให้ความรู้ เช่น How-To หรือสรุปเนื้อหาของคอนเทนต์ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อแสดงให้เห็นถึงสิ่งที่เว็บไซต์อยากจะมอบให้ผู้อ่านในเชิงลึก โดยคอนเทนต์ประเภทนี้มักได้รับการตอบรับที่ค่อนข้างดี เพราะแสดงให้เห็นถึงความเชี่ยวชาญของผู้เขียน แล้วยังเป็นมิตรต่อ SEO ด้วย

 

สรุป

และนี่ก็คือการทำ Content Pillar และ Pillar Page ที่นักการตลาดสายคอนเทนต์พลาดไม่ได้ เพราะกลยุทธ์ดังกล่าวเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะทำให้คอนเทนต์กลายเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น กล่าวคือ เราจะสามารถทำคอนเทนต์ได้อย่างเหมาะสมกับธุรกิจ ไม่ซ้ำซากหรือน่าเบื่อ แม้จะเป็นหัวข้อเดิมก็ตาม เนื่องจาก Content Pillar คือตัวช่วยวางแผนการทำคอนเทนต์ได้เป็นอย่างดี ตลอดจนการทำ Pillar Page จะช่วยให้คอนเทนต์กลายเป็นสื่อกลางที่ส่งผ่านคุณค่าของธุรกิจไปยังกลุ่มเป้าหมายได้อย่างครบถ้วนและทรงพลัง ทั้งยังเพิ่มโอกาสในการที่ Google จะผลักดันเว็บไซต์ของเราให้ขึ้นไปอยู่บนอันดับต้น ๆ บนหน้าแรกของการค้นหาอีกด้วย

หากใครที่กำลังเริ่มต้นทำธุรกิจ หรือทำมานานแล้วแต่ยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้างเสียที จะทำ SEO ก็ไม่รู้ว่าควรเริ่มอย่างไรให้ได้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพ Primal Digital Agency บริษัทรับทำ SEO ชั้นนำของไทยยินดีให้คำปรึกษาและมอบแผนการตลาดที่เหมาะสมกับธุรกิจของผู้ประกอบการแต่ละราย โดยผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดมากประสบการณ์ด้าน SEO โดยเฉพาะ