Call to Action คืออะไร สำคัญอย่างไรในโลกการตลาดออนไลน์?

Call to Action คือหมัดเด็ดที่จะช่วยกระตุ้นให้ลูกค้าดำเนินการอะไรบางอย่างตามจุดประสงค์ที่คุณตั้งเอาไว้ ซึ่งไม่ใช่แค่ภาษาที่ใช้จะต้องเร่งให้ลูกค้าตัดสินใจเท่านั้น แต่การออกแบบและการวางตำแหน่งก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน นักการตลาดห้ามละเลยแม้แต่ข้อเดียว!

การเปลี่ยนผู้ชมหรือผู้อ่านให้กลายเป็นลูกค้าได้ถือเป็นเป้าหมายสูงสุดของคนทำการตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการตลาดออนไลน์ที่เต็มไปด้วยคู่แข่งที่พร้อมจะปรับตัวเร็วกว่าคุณก้าวหนึ่งเสมอ ดังนั้น ไม่ว่าคุณจะทำธุรกิจหรือเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ก็ตาม หากอยากเพิ่มยอด Engagement หรือยอดซื้อสินค้าจึงไม่สามารถอาศัยแค่คอนเทนต์อย่างเดียวได้ ต้องรู้จักใช้ Call to Action มากระตุ้นความสนใจให้เป็นในระดับที่เหมาะสมและไม่น่ารำคาญ บทความนี้ เราจะพาไปรู้จัก Call to Action พร้อมตัวอย่างอันทรงพลังให้คุณนำไปประยุกต์ใช้ง่าย ๆ ไปดูกันเลย

Call to Action คืออะไร สำคัญอย่างไร?

Call to Action คืออะไร สำคัญอย่างไร?

Call to Action หรือ CTA คือ ตัวกระตุ้นความสนใจให้ผู้อ่านหรือผู้ชมทำอะไรบางอย่าง มีความสำคัญในแง่ “ตัวเร่งปฏิกิริยา” ให้ลูกค้าตัดสินใจได้และลดความลังเลใจลง CTA สามารถแทรกอยู่ในคอนเทนต์ทั้งบทความสั้นและยาว อยู่ในแคปชั่น เป็นกรอบโดดเด่นในรูปภาพ หรือทำเป็นปุ่มลิงก์ไปยังหน้า Landing Page ที่ต้องการ และคุณสามารถเข้าไปดูผลลัพธ์และพฤติกรรมของผู้อ่านที่มีต่อปุ่ม CTA ของคุณได้ผ่าน Google Analytics

ตัวอย่างจุดประสงค์ของ CTA

  • ให้กดสั่งซื้อหรือจอง
  • ให้กดติดตาม
  • ให้คลิกไปยัง Landing Page ที่ต้องการเพื่ออ่านข้อมูลเพิ่มเติม
  • ให้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน อีบุ๊ค หรือเอกสาร
  • ให้กลุ่มเป้าหมายลงทะเบียนเพื่อทำ Lead Generation ซึ่งเป็นกระบวนการทำคอนเทนต์ดึงดูดให้กลุ่มที่มีแนวโน้มเป็นลูกค้าทิ้งช่องทางการติดต่อเอาไว้ เพื่อให้คุณนำไปสร้างความสัมพันธ์และเปลี่ยนจากแค่ Lead ให้กลายเป็น Customer ในที่สุด

CTA ตัวช่วยสำคัญที่เป็นดาบสองคม

ถึงแม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นตัวเร่งการกระทำ แต่ CTA คือกลยุทธ์ที่ต้องใช้ให้ถูกที่ถูกทางจึงจะได้ผล เพราะคอนเทนต์ที่เต็มไปด้วย CTA แต่ไม่มีเนื้อหาคุณภาพเลยอาจทำให้ผู้อ่านรำคาญ กดหนี และเกิดความรู้สึกลบกับคุณได้ ในทางกลับกัน ถ้าหากคุณไม่มี CTA เลย ถึงแม้คอนเทนต์จะมีคุณภาพแค่ไหนก็อาจไม่สามารถสร้างยอดขายหรือเก็บข้อมูลลูกค้าได้เพราะคนไม่รู้ว่าต้องคลิกที่ไหนนั่นเอง

5 เทคนิคลับที่ต้องจดไว้! Call อย่างไรให้ได้ Action

ถ้าอยากทำ CTA แล้วมั่นใจว่าได้ยอดอะไรบางอย่างกลับคืนมาตามที่ตั้งเป้าหมายไว้แน่ ๆ ต้องอ่านเทคนิคทำ Call to Action พร้อมตัวอย่างที่เรารวบรวมมาฝากกันเลย!

1. กระชับ แต่เก็บเนื้อหาสำคัญครบถ้วน

    • เลือกใช้คำสั้น ๆ ที่เก็บความหมายได้ครบและยังมีความหมายเชิญชวนหรือทำให้ฉุกคิด
    • สามารถเล่นคำเพื่อเพิ่มความโดดเด่นและเป็นที่จดจำให้กับ CTA 
    • แต่ในขณะเดียวกัน ข้อมูลอื่น ๆ บนภาพหรือหน้าเว็บก็ต้องไม่คลุมเครือและครบถ้วนเพียงพอที่ผู้อ่านจะมั่นใจแล้วคลิกที่ CTA ในที่สุด
    • ตัวอย่างเช่น 
      • อยากเพิ่มยอดขายใช่ไหม? ลงทะเบียนเพื่อปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเลย ฟรี!
      • เสียเวลากับการเดินทางไปทำไม ประชุมออนไลน์ดีกว่า ดาวน์โหลดแอปเลย
      • ฉันต้องการ Traffic เข้าสู่เว็บไซต์มากกว่าเดิม รับข้อเสนอ

2. โดดเด่นในทุกอุปกรณ์

  • เลือกสีและรูปแบบของปุ่มหรือกรอบให้โดดเด่นแตกต่างจากพื้นหลัง เห็นครั้งเดียวสะดุดตาและรู้ว่าต้องคลิก
  • อย่าลืมปรับเว็บไซต์และวางตำแหน่งปุ่ม CTA ให้แสดงผลชัดเจนทั้งคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต และสมาร์ตโฟน เนื่องจากผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในปัจจุบันเข้าถึงเนื้อหาต่าง ๆ จากสมาร์ตโฟนเป็นหลัก หากปุ่ม CTA ของคุณตกขอบอาจทำให้ลูกค้าไม่เห็นหรือไม่คลิก

3. ดึงดูดและเร่งด้วยระยะเวลาหรือสิทธิพิเศษ

  • เพื่อเร่งให้ลูกค้าคลิกเลย ไม่ต้องตัดสินใจนาน ๆ คุณอาจต้องมีตัวเร่งปฏิกิริยาอีกชั้นหนึ่งตามหลักการ FOMO หรือ Fear of Missing Out คือความรู้สึกกลัวจะพลาดอะไรบางอย่างไปหากทำสิ่งนั้นไม่ทันเวลา
  • สามารถเร่งด้วยระยะเวลา สิทธิพิเศษ หรือความรู้สึกว่าสิ่งนี้มีจำกัด ไม่ผลิตเพิ่มแล้ว เป็นต้น
  • Call to Action ที่เพิ่มแรงกระตุ้นแบบนี้ ตัวอย่างเช่น
    • ลดหนักจัดเต็ม วันเดียวเท่านั้น ชอปเลย
    • ลงทะเบียนภายในวันนี้ รับส่วนลดเพิ่ม 10%
    • มีจำนวนจำกัด เฉพาะงานนี้เท่านั้น

4. CTA เดียวอาจไม่พอ

  • CTA ที่ดีคือ CTA ที่ดึงดูดให้ลูกค้าทำการกระทำบางอย่างได้เลยก็จริง แต่สำหรับลูกค้าบางคนที่ต้องการเวลาตัดสินใจ คุณก็ไม่ควรละเลยและควรสร้างทางเลือกให้พวกเขาด้วย CTA อีกอันหนึ่ง แต่ใน 1 หน้าหรือ 1 รูปภาพไม่ควรมี CTA เกิน 2 จุด
  • ตัวอย่างเช่น คุณอาจมีปุ่ม “สั่งซื้อเลย” อยู่แล้ว แต่ก็อาจทำปุ่ม “ดูข้อมูลเพิ่มเติม” เพื่อสร้างทางเลือกให้ลูกค้าที่ยังตัดสินใจไม่ได้ จากนั้นจึงค่อยสร้างปุ่ม “สั่งซื้อเลย” อีกครั้งที่หน้าข้อมูลก็ได้

5. เนื้อหาตรงประเด็น ไม่สับสน

  • CTA ควรบอกจุดประสงค์หรือความต้องการให้ชัดเจนว่าอยากให้ผู้อ่านอ่านแล้วทำอะไรต่อ โดยควรมีประเด็นเดียวและไม่สร้างความสับสนเพิ่มเติมว่าสรุปแล้วคลิกตรงนี้คือสั่งซื้อหรือไปลงทะเบียนกรอกข้อมูลกันแน่
  • หากเป็นปุ่ม CTA ลิงก์ไปหน้า Landing Page ควรเตรียมคอนเทนต์บนหน้านั้นให้สื่อสารจุดประสงค์ได้ชัดเจนและมีคุณภาพ ไม่เช่นนั้นลูกค้าอาจกดปิดและกลายเป็นการเพิ่ม Bounce Rate ให้กับหน้าเว็บไซต์แทน

5 เทคนิคลับที่ต้องจดไว้! Call อย่างไรให้ได้ Action

วิธีเลือก Call to Action พร้อมตัวอย่างที่เหมาะกับคอนเทนต์แต่ละประเภท

แต่ละธุรกิจและแต่ละจุดประสงค์ต้องการ Call to Action ไม่เหมือนกัน เพื่อสร้าง “Action” ปลายทางที่ไม่เหมือนกัน 

  • Call to Action สำหรับธุรกิจ e-Commerce ตัวอย่างเช่น ชอปเลย, ชอปด่วน, สั่งเลย, Buy Now, Order Now, หยิบใส่ตะกร้า
  • Call to Action เพื่อให้เกิดการกระทำตามจุดประสงค์ต่าง ๆ ทั่วไป เช่น อ่านเพิ่มเติม, คลิกดูข้อมูลเพิ่มเติม, Read more, Learn more
  • Call to Action สำหรับเหล่าคอนเทนต์ครีเอเตอร์ อินฟลูเอนเซอร์ หรือ Online Community เช่น Subscribe now!, ติดตาม, เป็นเพื่อนกับเราตอนนี้ คลิก
  • Call to Action เพื่อรับบริการต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญฟรี, พูดคุยกับเรา คลิก
  • Call to Action เพื่อเก็บ Lead Generation ให้คุณมีข้อมูลติดต่อกลุ่มที่มีแนวโน้มเป็นลูกค้าของคุณ (Lead) โดยอาจมีสิทธิพิเศษบางอย่างแลกกับการที่ Lead จะยอมกรอกข้อมูลติดต่อ ตัวอย่างเช่น คลิกเพื่อรับข้อมูลข่าวสาร, ลงทะเบียนรับจดหมายข่าว, ลงทะเบียนเพื่อรับผลิตภัณฑ์ทดลองฟรี, กรอกข้อมูลเพื่อไม่พลาดทุกโปรโมชันเด็ด, สมัครสมาชิกรับส่วนลดครั้งแรก 15% 

ได้รู้กันไปแล้วว่า Call to Action คืออะไรและสำคัญอย่างไร แต่อย่างไรก็ตาม อย่าลืมว่าต้องใส่ใจกับคอนเทนต์แวดล้อมด้วย ไม่เช่นนั้น ถึง CTA จะเด่นแค่ไหนก็ไม่มีพลังมากพอให้คนคลิก

และเมื่อคุณทำ Call to Action แล้ว อีกหนึ่งขั้นตอนที่สำคัญไม่แพ้การคิดคำที่ปังสุด ๆ ก็คือการวัดผลและทำ Experiment ไปพร้อม ๆ กัน เช่น หากเป็นไปได้ อาจลองทำ A/B Testing โดยเปรียบเทียบ CTA 2 ชุดหรือมากกว่านั้น และเข้าไปเช็ก Performance ใน Google Analytics สม่ำเสมอเพื่อจะได้รู้ว่ามีจุดไหนต้องปรับปรุง