เพราะข้อมูลมีค่ายิ่งกว่าน้ำมัน ทำ E-Commerce Tracking ด้วย Google Analytics เครื่องมือที่ทั้งสะดวกและมีประสิทธิภาพ

ด้วยความที่ธุรกิจในยุคสมัยนี้ “เว็บไซต์” เปรียบเสมือนหน้าร้านอีกหนึ่งสาขา (หรือหลายๆ ธุรกิจก็ใช้เป็นสาขาหลัก) ของแบรนด์สินค้าและบริการไปเลย นั่นเป็นเพราะพฤติกรรมการบริโภคที่นับวันจะก้าวเข้าสู่ออนไลน์จนใกล้ 100% เข้าไปทุกที จึงทำให้ออนไลน์เป็นตัวแปรที่มีความสำคัญมากๆ กับแทบทุกธุรกิจ ดังนั้นการเก็บข้อมูลด้วยเครื่องมืออย่าง Google Analytics เพื่อนำมาวิเคราะห์และปรับปรุงแก้ไขเว็บไซต์หรือหน้าร้านออนไลน์ให้ยังคงมีประสิทธิภาพสูงสุดอยู่เสมอนั้น เป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

ในบทความนี้เราจะพาทุกคนมาทำความรู้จักเครื่องมือทรงประสิทธิภาพนี้ซึ่งถือเป็นเครื่องมือที่ทุกๆ ธุรกิจที่มีเว็บไซต์โดยเฉพาะกับคนที่ต้องการทำ E-Commerce Tracking ด้วยแล้วยิ่งไม่ควรมองข้าม

ตัวอย่าง Dashboard Google Analytics

Google Analytic หรือ GA คืออะไร

Google Analytic คือเครื่องมือจาก Google ที่ให้คุณสามารถใช้งานได้ ฟรี! เอาไว้สำหรับเก็บข้อมูลผู้เข้าชมเว็บไซต์ของเรา มีวัตถุประสงค์เพื่อการนำข้อมูลเหล่านั้นไปต่อยอดใช้ในการวิเคราะห์ในงานด้านต่างๆ ตามแต่เจ้าของเว็บไซต์ต้องการ อาทิ การนำข้อมูลไปใช้ทางด้านกลยุทธ์การตลาดต่างๆ การซื้อโฆษณา หรือแม้แต่ปรับแต่งเว็บไซต์ (UX/UI Design) เพื่อให้ผู้ใช้สามารถใช้งานได้อย่างสะดวกและง่ายที่สุด

นอกจากนี้ Google Analytics ยังช่วยให้คุณรู้ได้ว่า สินค้าหรือบริการใดได้รับความสนใจ คุณสามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้อย่างทันท่วงทีรวมทั้งการเข้าถึงโอกาสในการเติบโตทางธุรกิจด้านอื่นๆ อีกด้วย โดยข้อมูลที่ GA สามารถเก็บได้นั้นถือเป็นข้อมูลสำคัญๆ ที่เพียงพอจะนำไปทำงานต่างๆ ต่อได้ ไม่ว่าจะเป็น เพศ อายุ อุปกรณ์ที่ใช้ในการเข้าเว็บไซต์ (จะได้รู้ว่าลูกค้าส่วนใหญ่มาจากช่องทางไหน Mobile หรือ Desktop เพื่อปรับปรุงเว็บไซต์ให้เสถียรที่สุด)

อีกทั้งยังดูได้ด้วยว่าคนที่เข้าเว็บไซต์ของคุณมาจากแหล่งใดบ้าง เช่น เข้าจากลิงก์ที่แชร์ไว้บนเพจ Facebook เสริ์ชผ่าน Google แล้วเจอลิงก์เว็บไซต์ คลิกผ่านโฆษณาบน Facebook และช่องทางอื่นๆ นอกจากนี้ถ้าดูในแง่ของพฤติกรรมผู้เข้าชมเว็บไซต์ล่ะก็ Google Analytic สามารถเก็บข้อมูลได้อย่างละเอียด ตั้งแต่

จำนวนหน้าที่ผู้ใช้เว็บไซต์เราเข้าไปดู ระยะเวลาที่พวกเขาอยู่บนเว็บไซต์ของเรา ไปจนถึงพวกเขาทำการซื้อสินค้าอะไรผ่านเว็บไซต์ของเราบ้าง หรือถ้าจะให้ลงลึกไปอีกคุณก็สามารถรู้ได้ว่า กลุ่มลูกค้าที่เข้ามาบนหน้าเว็บไซต์เป็นใคร ช่วงอายุไหนที่ซื้อสินค้าของคุณมากกว่า ซึ่งแน่นอนว่าข้อมูลเหล่านี้คุณไม่สามารถหาซื้อได้จากที่ไหน นอกซะจากว่าจะเป็นคนเก็บข้อมูลด้วยตัวเองและเป็นข้อมูลที่จะช่วยให้คุณเพิ่มประสิทธิภาพกับธุรกิจของตัวเองด้วย

และนี่ล่ะคือเหตุผลที่ว่าทำไม “คุณจึงควรใช้ Google Analytic)

***หมายเหตุ: Google Analytics เป็นเพียงเครื่องมือที่ใช้สำหรับติดตามและดูผลลัพธ์เท่านั้น หากต้องการจะติดตั้ง Tracking Code ต่างๆ จะต้องทำผ่านเครื่องมือที่ชื่อว่า Google Tag Manager (GTM)

KPIs วัดผล Google Analytics

ใน Google Analytics เมนูเหล่านี้มีไว้ทำอะไร

Real Time

ตัวเลขแสดงช่วงเวลาปัจจุบันว่า ณ ขณะที่คุณกำลังดูข้อมูลอยู่นั้นมีคนเข้าเว็บไซต์จำนวนกี่ Sessions พวกเขาเข้าเว็บไซต์หน้าไหนอยู่บ้างโดยมีการวัดผลให้เห็นเป็นกราฟแบบเรียลไทม์

* 1 Session นับเป็น 30 นาทีและใน 1 User จะมีกี่ Session ก็ได้

Audience

สำหรับดูภาพรวมของจำนวนคนที่เข้าชมเว็บไซต์เราว่ามีปริมาณเป็นอย่างไรบ้าง ช่วงอายุ ความสนใจ อาศัยอยู่ที่ไหน ใช้อุปกรณ์และระบบปฏิบัติการอะไรในการเข้าเว็บไซต์

Acquisition

ตัวที่จะบอกว่าผู้คนที่เข้ามาอยู่บนเว็บไซต์ของคุณ เขามาจากช่องทางไหน อาทิ การค้นหาใน Google (Organic Search) มาจากการคลิกโฆษณาของ Google พิมพ์ลิงก์เข้าเว็บไซต์โดยตรง หรือจะมาจาก Social Media ต่างๆ เมื่อเราได้ข้อมูลตรงส่วนนี้มาก็สามารถนำไปใช้พัฒนาศักยภาพเพิ่มจำนวนการเข้าถึงในแต่ละช่องทางได้

Behavior

ส่วนนี้จะบอกคุณว่าผู้คนที่เข้ามาในเว็บไซต์อยู่ในหน้าไหนมากที่สุดและเมื่อเข้ามาแล้วคลิกไปที่หน้าไหนต่อ จำนวนการคลิกไปหน้าอื่นๆ มามากน้อยแค่ไหน โดยคุณสามารถเอาผลลัพธ์จากส่วนนี้ไปพัฒนาร่วมกับหน้าร้านออนไลน์ของคุณ (E-Commerce) ให้รองรับการใช้งานมากยิ่งขึ้น

ยกตัวอย่างเช่น หากลูกค้ากด “เพิ่มสินค้าลงตะกร้า” บ่อยๆ แต่ยอดการซื้อขายต่ำจนไม่สมเหตุสมผล คุณอาจจะต้องกลับมาตรวจสอบดูว่าหน้าจ่ายเงินของคุณมีปัญหาหรือไม่ เป็นต้น

Conversions

ส่วนนี้คือเป้าหมายหรือ Goals ที่คุณกำหนดเอาไว้ว่าจะนับกิจกรรมใดบนเว็บไซต์ให้เป็น Conversions บ้าง ซึ่งโดยส่วนมากหากเป็นเว็บไซต์ทั่วๆ ไป ก็มักจะนับว่า ถ้าผู้ใช้อยู่บนเว็บไซต์เกิน 3 นาที นับเป็น Conversion หรือจะเป็นกรอกแบบฟอร์ม นับเป็น Conversions เป็นต้น ส่วนถ้าเป็นเว็บไซต์ที่มีระบบ E-Commerce ด้วย ก็อาจจะไปเก็บ Conversions ตรงส่วนของปุ่ม Add To Cart หรือไม่ก็ปุ่มจ่ายเงินเลยก็ได้ 

ซึ่งคุณสามารถกำหนดได้ตามต้องการและทำการติดตามผลใน Google Analytics สูงสุดถึง 20 Conversions เลยทีเดียว โดยข้อมูลส่วนนี้จะช่วยให้คุณสามารถนำไปเป็นกลุ่มเป้าหมายสำหรับทำแคมเปญโฆษณา (Google Ads) หรือใช้สำหรับการวางแผนกลยุทธ์การตลาดต่อไปได้ โดยระบบของ Google Analytics จะคำนวณและแสดงผลออกมาเป็นเปอร์เซ็นต์ (Conversions Rate) ให้คุณทำงานได้ง่ายยิ่งขึ้น

Google Analytics ใช้อย่างไร

สำหรับวิธีการสมัครใช้งานนั้นสิ่งที่คุณจะต้องมีเป็นอันดับแรกคือ บัญชี Gmail (หากไม่มี Gmail มาก่อนสามารถสร้างใหม่ได้ที่ https://mail.google.com/ ) โดย Google Analytics มีขั้นตอนการสมัครใช้งานดังต่อไปนี้

วิธีสมัคร Google Analytics

1. ไปที่ https://analytics.google.com/

2. คลิกปุ่มสีฟ้า “Set up for free”

วิธีการตั้งชื่อ Google Analytics

3. ตั้งชื่อ Account Name จากนั้นคลิก Next

คู่มือการสร้าง Google Analytics

4. เลือกแพลตฟอร์มที่คุณต้องการจะวัดผล ในที่นี้เลือกเป็น Web จากนั้นคลิก Next

วิธีการติดตั้ง Google Analytics

5. กรอกข้อมูลตามที่ระบบกำหนด จากนั้นคลิก Create

6. ระบบจะขึ้นหน้า Terms and Service Agreement มา ให้เลือกเป็นประเทศไทยและติ๊กยอมรับทั้ง 2 จุด จากนั้นคลิก I Accept

ตัวอย่าง Google Analytics Tracking Code

7. จากนั้นระบบจะแสดงหน้าตาดังรูป (เข้าได้จาก คลิกสัญลักษณ์ฟันเฟืองด้านล่างมุมซ้าย ที่แท็บ Property คลิก Tracking Info เลือก Tracking Code) คัดลอกเอา Code (Global Site Tag) ไปติดตั้งในเว็บไซต์ของคุณ

8. รอระยะเวลาให้ Google Analytics ทำการอัปเดตข้อมูลไม่เกิน 48 ชั่วโมง ก็สามารถติดตามข้อมูลในเว็บไซต์ได้แล้ว

การทำ E-Commerce Tracking

ก่อนอื่นเราขออธิบายสั้นๆ ก่อนว่า E-Commerce Tracking ก็คือการติดตามพฤติกรรมผู้บริโภคผ่านข้อมูลบนเว็บไซต์ E-Commerce ของเรานั่นเอง ซึ่งก็คือเรื่องเดียวกันกับการใช้ Google Analytics หรือ GA ในการติดตาม เพียงแต่สำหรับ E-Commerce Tracking จะเป็นการทำการติดตามผลในแง่ของการซื้อ – ขายสินค้าเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่ทางเจ้าของธุรกิจสามารถนำไปวิเคราะห์และวางแผนการตลาด การขายเพิ่มเติมเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดต่อไปโดยเราจะใช้ฟีเจอร์ที่ชื่อว่า Enhanced E-Commerce ในการติดตั้งเพื่อติดตามผล

โดยข้อมูลที่เราจะได้จากการติดตั้ง Enhance E-Commerce ก็จะมีอย่างเช่น ช่องทางที่ลูกค้าเข้ามาบนหน้าเว็บไซต์ของเรา อะไรขายดีที่สุด เรามียอดขายรวมแล้วทั้งสิ้นเป็นเงินกี่บาท ช่องทางการชำระเงินไหนที่ลูกค้านิยมที่สุด วิธีการจัดส่งที่ลูกค้าเลือก ฯลฯ หรือพูดง่ายๆ คือ ทุกๆ การกระทำของลูกค้าที่เข้ามาอยู่บนหน้าเว็บ E-Commerce ของเรา เราสามารถรู้ได้หมดว่าพวกเขาทำอะไรบ้างนั่นเอง

ตัวอย่าง E-Commerce Tracking

ทุกวันนี้อย่างที่เราต่างทราบกันดีว่า “ข้อมูล” มีความสำคัญขนาดไหน หากธุรกิจของคุณมีเว็บไซต์เป็นของตัวเองเราก็อยากจะแนะนำว่าอย่าลืมตั้งตั้งเครื่องมืออย่าง Google Analytics สำหรับการเก็บข้อมูลในทุกๆ การกระทำของผู้เข้าชมเว็บไซต์ของคุณ เพราะนั่นคือขุมทรัพย์ที่คุณไม่สามารถหาซื้อที่ไหนได้ จริงอยู่ที่ข้อมูลบางประเภทมีการซื้อขายกัน แต่ข้อมูลที่เป็นของคนที่สนใจและเข้ามาในเว็บไซต์ของคุณจริงๆ คุณเท่านั้นที่สามารถเก็บได้