Sitemap คืออะไร องค์ประกอบที่เว็บไซต์ต้องมีเพื่อการทำ SEO

นักการตลาดหลายคนคงทราบดีอยู่แล้วว่า หนึ่งในวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการจะทำให้ธุรกิจออนไลน์ประสบความสำเร็จได้ คือ การทำ SEO (Search Engine Optimisation) หรือการปรับแต่งเว็บไซต์ให้สอดคล้องกับ Google Core เพื่อที่อัลกอริทึมจะได้มองว่าเว็บไซต์ของเรามีคุณภาพ ตอบโจทย์ผู้ใช้งาน และเหมาะแก่การนำไปจัดอันดับบนหน้าแรกของผลการค้นหา แต่ Google Core ที่ว่า หรือหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ Google กำหนดว่าเว็บไซต์ที่ดีควรจะมีนั้น ประกอบไปด้วยหลากหลายปัจจัยจนนับแทบไม่ถ้วน อีกทั้งยังเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา หากเราไม่ใช่คนที่มีเวลามานั่งอัปเดตเทร็นด์เป็นประจำ อาจทำให้ล่าช้ากว่าคู่แข่งไปได้ และการที่เราจะทำให้ครบทุกอย่างตามที่ Google ต้องการก็เป็นไปได้ยากด้วย

อย่างไรก็ดี มีหนึ่งในปัจจัยของการทำ SEO ที่หลายคนอาจมองข้ามไป แต่แท้จริงแล้วมีความสำคัญมากต่อการทำเว็บไซต์ธุรกิจเลยทีเดียว นั่นก็คือ Sitemap หรือแผนผังเว็บไซต์ที่ไม่ได้มีไว้เพื่อผู้ใช้งาน แต่เพื่อการทำงานที่สะดวกสบายของอัลกอริทึม

มาดูกันว่า Sitemap คืออะไร มีความเกี่ยวข้องและสำคัญอย่างไรต่อการทำ SEO

ความสำคัญของ Sitemap คืออะไร

Sitemap คืออะไร

ในการทำเว็บไซต์ธุรกิจสักเว็บฯ หนึ่ง แน่นอนว่าคงไม่ได้มีแค่หน้าเดียว โดยเฉพาะสำหรับธุรกิจที่มีสินค้าหรือบริการหลายอย่าง ยิ่งต้องเพิ่มจำนวนหน้าเพจตามสินค้าและบริการที่มี ทำให้บางครั้ง การที่อัลกอริทึมจะเข้ามา Crawl และ Index เว็บไซต์ก็ไม่สามารถทำได้ง่ายนัก Sitemap จึงถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่เว็บไซต์ต้องมีไว้คอยนำทาง

Sitemap คือ แผนผังเว็บไซต์ที่แสดงว่าโครงสร้างเว็บไซต์ของเราเป็นอย่างไร โดยการรวบรวม URL ของทุกหน้าเพจเข้าไว้ด้วยกัน เหมือนเป็นสารบัญ แต่ความพิเศษคือ จุดประสงค์หลักของ Sitemap ไม่ใช่หน้าเพจที่ทำไว้ให้ผู้ใช้งานเข้ามาดู แต่เป็นหน้าที่มีไว้เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ Bot ของ Search Engine เป็นหลัก เพื่อที่เวลาเข้ามาสำรวจและเก็บข้อมูลเว็บไซต์จะได้รู้ว่าภาพรวมของเว็บไซต์เราประกอบไปด้วยอะไรบ้าง มีกี่เพจ และสามารถเข้าถึงเพจต่าง ๆ ได้จากลิงก์ไหน ช่วยให้อัลกอริทึมสามารถทำงานได้อย่างรวดเร็ว และเพิ่มโอกาสในการถูกนำไปจัดอันดับบนหน้าผลการค้นหามากขึ้น

 

Sitemap มีกี่ประเภท อะไรบ้าง

ในการทำ Sitemap หรือแผนผังเว็บไซต์นั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่

HTML Sitemap

HTML Sitemap คือ แผนผังที่รวบรวมลิงก์ของหน้าต่าง ๆ ในเว็บไซต์ของเราไว้ด้วยกัน โดยจะระบุหัวข้อหรือหมวดหมู่ของแต่ละหน้าไว้อย่างชัดเจน ซึ่งนอกจากจะช่วยให้อัลกอริทึมทำงานสะดวกรวดเร็วขึ้นแล้ว หน้า HTML Sitemap ยังมีไว้ให้ผู้ใช้งานได้เข้ามาดูภาพรวมของเว็บไซต์อีกด้วย เนื่องจากอ่านง่าย แบ่งเป็นสัดส่วน ตลอดจนสามารถคลิกไปยังหน้านั้น ๆ ได้เลยโดยที่ไม่ต้องเลื่อนหาเองให้ยุ่งยาก

ตัวอย่างแผนผังเว็บไซต์ HTML Sitemap

ตัวอย่าง html sitemap

XML Sitemap

XML Sitemap เองก็เหมือนกับ HTML Sitemap ตรงที่เป็นหน้าเพจที่รวบรวม URL ในแต่ละหน้าบนเว็บไซต์ของเราเอาไว้ ทว่า XML Sitemap นั้นจะแสดงแค่ URL ของแต่ละหน้าโดยไม่มีการระบุหัวข้อหรือหมวดหมู่ไว้เหมือน HTML Sitemap เนื่องจากการทำ Sitemap ประเภทนี้ไม่ได้มีไว้เพื่อให้ผู้ใช้งานเข้ามาดู แต่เพื่อให้ Bot ของ Search Engine เข้ามาสำรวจเว็บไซต์ของเราได้ง่ายขึ้นเท่านั้น กล่าวคือ ได้เห็นภาพรวมของเว็บไซต์ว่ามีโครงสร้างเป็นอย่างไร มีหน้าอะไรบ้าง และจะสามารถ Crawl แต่ละหน้าได้ผ่านลิงก์ไหน

อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ XML Sitemap แตกต่างจากผังประเภท HTML คือการใช้ระบบ Coding ที่มีความละเอียดและซับซ้อนกว่ามาก เพราะเราไม่ได้เน้นสื่อสารกับผู้ใช้งานทั่วไป แต่เน้นการทำให้อัลกอริทึมเข้าใจง่ายเพื่อส่งเสริมการทำ SEO มากกว่า ดังนั้น XML Sitemap จึงเป็นรูปแบบแผนผังเว็บไซต์ที่ได้รับความนิยมในหมู่เว็บไซต์ธุรกิจที่ต้องการโปรโมตแบรนด์บนช่องทาง Search Engine

ตัวอย่างแผนผังเว็บไซต์ XML Sitemap

ตัวอย่าง xml sitemap

 

Sitemap มีข้อดีอย่างไร

ในแวดวง SEO อาจมีนักการตลาดไม่มากนักที่จะคำนึงถึงความสำคัญของ Sitemap แต่ความจริงแล้ว หากจะทำ SEO ให้มีประสิทธิภาพ การวางแผนผังเว็บไซต์อย่างชัดเจนนั้นคือสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง โดยข้อดีของ Sitemap คือ

  • ช่วยให้อัลกอริทึมเข้าใจภาพรวมเว็บไซต์ของเรา รวมถึงสามารถเข้ามาสำรวจและเก็บข้อมูลต่าง ๆ บนเว็บฯ ได้อย่างรวดเร็วและสะดวกสบายมากขึ้น เพราะมี Sitemap เป็นเหมือนแผนที่ช่วยนำทาง
  • เว็บไซต์ถูกนำไปจัดอันดับเร็วขึ้น และมีโอกาสได้อันดับดี ๆ ซึ่งจะส่งผลทั้งในส่วนของหน้า Web Search, Image Search และ Video Search สำหรับหน้าเว็บฯ ที่มีภาพหรือวิดีโอ
  • ช่วยให้นักพัฒนาเว็บไซต์ (Developer) เข้าใจโครงสร้างของเว็บไซต์ได้ดียิ่งขึ้น รู้ว่าควรปรับปรุงส่วนไหนบ้าง ทำให้ง่ายต่อการทำงาน
  • สำหรับ HTML Sitemap จะไม่เพียงแต่ช่วยให้อัลกอริทึมเข้าถึงเว็บไซต์ของเราได้ง่ายขึ้นเท่านั้น แต่ยังช่วยให้ผู้ใช้งานมองเห็นภาพรวมของเว็บไซต์และสามารถเข้าถึงหน้าต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว อันจะนำมาซึ่งยอดคลิกที่เพิ่มขึ้น และส่งผลต่อ UX/UI ที่ดีด้วย

 

เว็บไซต์แบบไหนที่ควรทำ Sitemap

  • เว็บไซต์ขนาดใหญ่ มีหลายเพจ หรือมีเนื้อหาแยกออกจากกันหลายส่วน การที่ไม่มี Sitemap หรือแผนผังเว็บไซต์ช่วยจัดระเบียบเว็บฯ และคอยนำทาง อาจทำให้อัลกอริทึมสับสน และประสบความยากลำบากในการเข้าถึงเพจต่าง ๆ บนเว็บไซต์ได้ ซึ่งสิ่งที่ตามมาคือ การเข้ามาสำรวจและเก็บข้อมูลเว็บไซต์ไม่ครบ โดยเฉพาะหน้าที่เพิ่งสร้างใหม่ หรือหน้าที่เพิ่งอัปเดต ส่งผลให้โอกาสในการติดแรงก์บนหน้าผลการค้นหาน้อยลง
  • เว็บไซต์ที่เพิ่งสร้างใหม่ สำหรับเว็บไซต์ใหม่ที่ยังไม่ได้รับคะแนนหน้าเว็บฯ หรืออำนาจเว็บไซต์ (Domain Authority) จาก Google มากนัก Sitemap คือทางเลือกที่จะทำให้เว็บไซต์เรามีศักยภาพพอในการถูกนำไปจัดอันดับมากขึ้น เพราะอัลกอริทึมจะสามารถเข้ามาเก็บข้อมูลเว็บไซต์เราได้ง่ายกว่าเว็บไซต์ที่ไม่มี Sitemap
  • เว็บไซต์ที่มี Backlink จากเว็บไซต์อื่นน้อย หรือที่เรียกว่า External Link นั่นเอง เป็นที่รู้กันว่า Backlink คือหนึ่งในปัจจัยหลัก ๆ ที่มีผลต่อ SEO ซึ่งถ้าเรามี External Link น้อย อันดับของเราก็จะสู้คู่แข่งที่มีลิงก์ประเภทนี้เยอะไม่ได้ Sitemap อาจจะไม่ได้ช่วยโดยตรง แต่ก็สามารถทดแทนคะแนนที่หายไปจาก External Link ได้ในระดับหนึ่ง เพราะการมี Sitemap จะทำให้เว็บไซต์ของเราดูน่าเชื่อถือในสายตาของอัลกอริทึม มั่นใจได้ว่าจะไม่ถูกจับไปรวมกับสแปมอย่างแน่นอน

 

Sitemap องค์ประกอบที่เว็บไซต์ควรมี หากอยากเพิ่มประสิทธิภาพ SEO

จะเห็นได้ว่า Sitemap คือองค์ประกอบที่จำเป็นต่อเว็บไซต์ โดยเฉพาะเว็บไซต์ที่มีหลายหน้า เพราะจะช่วยให้อัลกอริทึมสามารถเข้ามา Crawl และ Index ได้ง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้น เมื่อนั้น เว็บไซต์ของเราก็จะมีโอกาสได้ขึ้นไปอยู่ในอันดับดี ๆ บนหน้าแรกของผลการค้นหา รวมถึงได้คะแนนในส่วนของ UX/UI เพิ่มขึ้นด้วย อันจะนำมาซึ่งจำนวนผู้เข้าชมเว็บไซต์และโอกาสในการสร้างยอดขายที่มากกว่าเดิม โดยเราควรเริ่มทำ Sitemap ตั้งแต่ก่อนเผยแพร่เว็บไซต์เลย เพราะหลังจากที่เราเผยแพร่เว็บไซต์สู่โลกออนไลน์แล้ว นั่นหมายความว่าอัลกอริทึมจะเริ่มทำงานทันที แต่จะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับว่า SEO ของเรามีประสิทธิภาพแค่ไหน ซึ่งหากทำ Sitemap ไว้ตั้งแต่แรก ก็มีโอกาสที่จะถูกนำไปแรงก์ได้เร็ว

สำหรับใครที่สงสัยว่า ถ้าไม่ทำ Sitemap จะเป็นอะไรไหม คำตอบคือ ไม่เป็นไร แต่ต้องเป็นเว็บไซต์ขนาดเล็ก มีจำนวนหน้าไม่มาก ข้อมูลไม่ซับซ้อน และมั่นใจว่าอัลกอริทึมสามารถเข้ามาตรวจสอบเพจต่าง ๆ ได้เลยโดยไม่จำเป็นต้องอาศัยแผนผังนำทาง หรือเป็นเว็บไซต์ที่ทำ Internal Link ไว้อย่างครอบคลุมพอสมควรแล้ว เพราะอัลกอริทึมจะเข้าถึงแต่ละหน้าบนเว็บไซต์ได้จากลิงก์เหล่านั้น

หากคุณเป็นเจ้าของธุรกิจ แต่ไม่เชี่ยวชาญด้านการทำเว็บไซต์เอง หรือไม่มีประสบการณ์การทำ SEO มาก่อน Primal Digital Agency เป็นบริษัทรับทำ SEO ชั้นนำของไทยที่มีผู้เชี่ยวชาญกว่า 150 คน พร้อมช่วยดูแลธุรกิจคุณในทุกแง่มุมเท่าที่คุณต้องการ ด้วยการคิดค้นแผนกลยุทธ์ที่เหมาะกับธุรกิจคุณให้โดยเฉพาะ ติดต่อเราได้เลยวันนี้