SOAR Analysis คืออะไร? ควรทำมากกว่า SWOT Analysis จริงหรือ?

ในบทความก่อนหน้า เราได้มีโอกาสนำเสนอหลักการวิเคราะห์โดยใช้ SWOT Analysis (อ่านเพิ่มเติม: SWOT ANALYSIS คืออะไร ทำไมธุรกิจทุกประเภทต้องทำ) ให้คุณผู้อ่านได้รู้จักแล้ว โดยเราได้มีการเปรียบเทียบหลักการวิเคราะห์ SWOT กับสำนวน “รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง” เอาไว้ ซึ่งการทำ SWOT Analysis นี้ถูกคิดค้นและนำมาปรับใช้กับแวดวงธุรกิจมาตั้งแต่ยุค 40s แล้ว ดังนั้นในปัจจุบันจึงมีการนำเสนอหลักการใหม่ ๆ เข้ามาผนวกใช้กับการทำธุรกิจ

โดยในบทความนี้ เราจะพาทุกท่านมารู้จักกับ SOAR Analysis หลักการวิเคราะห์ที่จะทำให้คุณ “รู้จักธุรกิจของคุณ” ได้ดีกว่าที่เคย!

SOAR Analysis คืออะไร? 

SOAR Analysis คือเครื่องมือที่ช่วยในการวิเคราะห์ธุรกิจด้วยหลักการ 4 ประการ ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน ซึ่งพัฒนามาจากหลักการ SWOT Analysis เพื่อให้คุณสามารถรู้และเข้าใจธุรกิจของคุณอย่างครบวงจร รวมถึงการสร้างแผน การดำเนินงาน ผ่านการพิจารณาจุดแข็ง โอกาสและแรงบันดาลใจที่จะนำไปสู่ผลลัพธ์อันเป็นเป้าหมายขององค์กรได้

SOAR Analysis ประกอบด้วย Strength, Opportunities, Aspirations, Result

SOAR Analysis ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง?

SOAR Analysis คือการวิเคราะห์จากปัจจัยเชิงบวกที่ส่งผลในการขับเคลื่อนธุรกิจให้ไปสู่ความสำเร็จได้อย่างยั่งยื่น ในขณะที่ SWOT analysis คือการวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาสและปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ โดย SOAR Analysis ประกอบไป 4 ปัจจัยดังนี้

Strength

ปัจจัยแรกในการวิเคราะห์ด้วยหลัก SOAR Analysis คือการหาจุดแข็ง (Strength) ซึ่งจะเหมือนกับในหลัก SWOT analysis โดยการวิเคราะห์จุดแข็งของธุรกิจจะช่วยให้คุณเห็นถึงจุดเด่นและข้อได้เปรียบต่าง ๆ ที่มีเหนือคู่แข่ง ไม่ว่าจะเป็น ชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของธุรกิจ ฐานลูกค้า เทคโนโลยีหรือภูมิปัญญาต่าง ๆ ที่นำมาใช้ รวมถึงจุดแข็งในเรื่องของทีมงาน พนักงาน ส่วนแบ่งทางการตลาด ต้นทุน ฐานการผลิต และประโยชน์ที่สินค้าของคุณสามารถมอบให้กับผู้บริโภค (Unique Selling Points) เป็นต้น

ข้อควรระวังในการวิเคราะห์จุดแข็งของธุรกิจคือ คุณจำเป็นต้องมองในภาพรวมของตลาดทั้งหมด และมองหาสิ่งที่ธุรกิจของคุณมีหรือมีความโดดเด่นกว่าคู่แข่งในธุรกิจประเภทเดียวกัน ซึ่งในส่วนนี้คุณอาจจะใช้การทำ Research กลุ่มเป้าหมาย, ตลาด, คู่แข่ง และภาพจำของแบรนด์มาร่วมได้

Opportunities

ปัจจัยต่อมาคือการมองหา “โอกาส” (Opportunities) ซึ่งถึงแม้จะเป็นปัจจัยภายนอกก็จริง แต่ส่งผลดีต่อธุรกิจ เช่น การออกบูธในมหกรรมต่าง ๆ หรือนโยบายของภาครัฐบาลที่ช่วยส่งเสริมธุรกิจต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการลด/ผ่อนปรนภาษีนำเข้า-ส่งออก, การเซ็นสัญญากับองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่อื่น ๆ เป็นต้น

นอกจากนี้ การทำการวิจัยทางการตลาด ก็สามารถช่วยให้คุณมองเห็นโอกาสในการสร้างแผนกลยุทธ์ต่าง ๆ จากสิ่งที่คู่แข่งยังไม่ได้ทำหรือมีช่องโหว่ได้ด้วย

Aspirations

ในส่วนของปัจจัยที่ 3 ของ SOAR Analysis เป็นต้นไป จะมีความแตกต่างจาก SWOT ซึ่งก็คือ การหาแรงบันดาลใจหรือจุดมุ่งหมายของการทำธุรกิจ (Aspirations) โดยในส่วนนี้ไม่เพียงแต่เป็นการสร้างเป้าหมายในแง่มุมต่าง ๆ ของการทำธุรกิจเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการสร้างคุณค่าและความเชื่อมั่นขององค์กรที่จำเป็นต้องรักษาเอาไว้ด้วย

การหาแรงบันดาลใจในการทำธุรกิจนั้นสำคัญอย่างมาก เพราะสามารถช่วยให้คุณวางแผน และเลือกสรรกลยุทธ์ที่เหมาะสมมาใช้ได้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายสูงสุดของการทำธุรกิจ ในขณะเดียวกันยังสามารถรักษาปณิธาน ความเชื่อมั่นขององค์กรเอาไว้ได้

Results

ปัจจัยสุดท้ายของการทำ SOAR Analysis คือผลลัพธ์” (Result) สำหรับการตั้งเป้าหมายของธุรกิจเอาไว้จะมีความสำคัญอย่างมาก เพราะคุณสามารถนำมาใช้เป็นตัวชี้วัดได้ว่า กระบวนการทำงานทั้งหมดเป็นอย่างไร บรรลุเป้าหมายและผลลัพธ์หรือเปล่า โดยในปัจจุบันการกำหนดผลลัพธ์ จะมีการนำหลัก 3P มาประกอบด้วย ทั้งในด้านของผลกำไร (Profits), บุคคลากร (People) และสิ่งแวดล้อม (Planet)

การกำหนดเป้าหมายขององค์กรที่ชัดเจนเอาไว้จะช่วยให้คุณวางแผน จัดการ ดูแลในทุกรายละเอียดที่จะส่งเสริม สนับสนุนให้บรรลุเป้าหมายสูงสุดได้ นอกจากนี้คุณยังจะได้รู้ว่าต้องใช้แรงจูงใจ การบริหารทรัพยากรและบุคคลแบบไหนที่จะช่วยขับเคลื่อนธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด

SOAR Analysis VS SWOT Analysis

การทำ SOAR Analysis เน้นการเรียนรู้ รวมถึงเข้าใจในจุดยืนและมองเห็นตัวตนของธุรกิจแบบชัดเจน บวกกับการใส่ใจเรื่องวิสัยทัศน์ขององค์กร โดยมองถึงจุดแข็งของธุรกิจจากทั้งปัจจัยภายในและภายนอก เพื่อนำมาพัฒนาและเพิ่มศักยภาพของกลยุทธ์ (Strategy) และกลวิธี (Tactic) ที่ดีอยู่แล้วให้ดีขึ้นกว่าเดิม 

ในขณะที่ SWOT Analysis จะเป็นการวิเคราะห์ถึงปัจจัยที่เกิดขึ้นแล้วส่งผลไม่ดีต่อธุรกิจ โดยจะนำจุดอ่อนและอุปสรรคมาวิเคราะห์ เพื่อหาแผนสำรองอื่น ๆ มาปรับใช้ได้ทัน นอกจากนี้ยังมีการมองหาโอกาสและพัฒนาจุดแข็งของธุรกิจเพื่อลดจุดอ่อนด้วย

ทำธุรกิจควรทำ SOAR หรือ SWOT ดี?

ในการทำธุรกิจนั้น ไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าคุณควรวิเคราะห์แบบ SOAR หรือ SWOT ดีกว่ากัน เพราะทั้งสองกระบวนการมีจุดแข็งที่แตกต่างกัน ซึ่งเราแนะนำว่าควรทำทั้งสองอย่างควบคู่กันไปในช่วงแรก โดยคุณอาจจะโฟกัสไปที่การทำการวิเคราะห์แบบ SWOT เพื่อประเมินจุดยืนของธุรกิจ รวมถึงคู่แข่งและตลาดก่อน จากนั้นเมื่อธุรกิจของคุณเริ่มอยู่ตัว ก็สามารถนำ SOAR Analysis มาทำต่อเพื่อพัฒนาธุรกิจและองค์กรให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือการหมั่นอัปเดตและวิเคราะห์ทั้งสองกระบวนการอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ธุรกิจของคุณมีความยั่งยืนและมั่นคงในตลาดที่มีการแข่งขันสูงได้