PANTONE คืออะไร ระบบสีที่สำคัญต่อการตลาดแบบสร้างสรรค์

ในการทำการตลาด งานออกแบบและกราฟิกเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะเปรียบเสมือนตัวกลางที่ทำให้ผู้บริโภครับรู้เกี่ยวกับสินค้าและบริการของแบรนด์ แต่นับวัน ธุรกิจที่ลงสนามแข่งขันกันสร้างการรับรู้ก็มีมากขึ้น วิธีที่จะเป็นอันดับหนึ่งในใจลูกค้าได้ คือ กราฟิกที่ใช้โฆษณาต้องสามารถดึงดูดกลุ่มเป้าหมายให้มาสนใจแบรนด์ได้จริง ๆ กล่าวคือ มีความกระชับ อ่านง่าย และเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการ มองปราดเดียวก็รู้ว่าขายอะไร และที่สำคัญ ต้องสวยงาม น่ามอง ซึ่งมีหัวใจหลักคือ “สี”

สำหรับวงการออกแบบ สีถือเป็นองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ เพราะแต่ละสีก็จะให้ความรู้สึกและความหมายที่แตกต่างกันไป เช่น กราฟิกที่ใช้สีฟ้าเป็นหลัก จะสร้างการรับรู้ได้แตกต่างจากกราฟิกที่ใช้สีแดงเป็นหลัก เป็นต้น ดังนั้น เราจึงต้องเลือกใช้สีให้เหมาะสม เพื่อให้งานออกมาสวยงาม และสร้างการรับรู้ได้ตรงกับความหมายที่แบรนด์ต้องการจะสื่อ ซึ่งการมีสี “PANTONE” จะช่วยทำให้งานของเราง่ายขึ้น

มาทำความรู้จักกันว่า PANTONE คืออะไร และสำคัญอย่างไรต่องานออกแบบและกราฟิก

 

PANTONE คืออะไร?

PANTONE คือ มาตรฐานของระบบสีที่ใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก กำหนดโดยบริษัทธุรกิจการพิมพ์และออกแบบในสหรัฐอเมริกาที่ชื่อว่า PANTONE จึงนำชื่อนี้มาใช้เรียกมาตรฐานการเทียบสีด้วย โดยมาตรฐานที่ว่านี้จะช่วยให้นักออกแบบและดิไซเนอร์ทั่วโลกเข้าใจตรงกัน เพราะแต่ละสีก็จะมีหลายโทน เช่น สีแดง ก็มีทั้งแดงเชอร์รี แดงกุหลาบ แดงอิฐ แดงเลือดหมู และอื่น ๆ อีกนับไม่ถ้วน เวลาส่งงานต่อให้โรงพิมพ์ หากไม่ระบุให้ชัดเจนก็อาจทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนได้ และระบบสี PANTONE ยังจะทำให้เราสามารถชี้ได้แบบไม่มีผิดเพี้ยนว่า แดงไหนกันแน่ที่เราต้องการ

ทั้งนี้ สี PANTONE จะแบ่งออกเป็น 2 หมวดหลัก ๆ ได้แก่

  • PANTONE Matching System (PMS) – เป็นระบบสี PANTONE ที่ใช้สำหรับงานพิมพ์ งานออกแบบแพ็กเกจจิง รวมถึงงานดิไซน์ต่าง ๆ ที่ทำบนคอมพิวเตอร์และมือถือ โดยนักออกแบบใน Agency โฆษณาส่วนมากจะต้องพึ่งพามาตรฐานนี้ในการสื่อสารกับลูกค้าให้เข้าใจตรงกัน
  • Fashion Home & Interiors (FHI) – เป็นระบบสี PANTONE ที่มักใช้กับเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย และระบบพ่นสีต่าง ๆ อาจจะไม่ค่อยเกี่ยวกับงานออกแบบด้านการตลาดโดยตรง แต่ก็มีวัตถุประสงค์เหมือนกัน คือ ใช้เป็นมาตรฐานสีเพื่อระบุให้ชัดว่าต้องการสีโทนไหน ให้ผลิตภัณฑ์ที่ออกมาตรงกับความต้องการแรกมากที่สุด

หากถามว่า แล้วสิ่งที่ใช้ระบุสีให้เข้าใจตรงกันของ PANTONE คืออะไร คำตอบคือ แต่ละสีของ PANTONE จะมี “โค้ด (Code)” เป็นของตนเองระบุไว้บนพาเลตต์ หากชอบสีไหนก็จิ้มเอาแล้วบอกโค้ดได้เลย เช่น สีเหลืองโทน PMS100 สีชมพูโทน PMS1905 สีม่วงโทน PMS258 เป็นต้น 

กล่าวง่าย ๆ ว่า PANTONE คือ ระบบสีกลางที่เป็นมาตรฐานสากลที่ทั้งโลกรับรู้ร่วมกัน ช่วยให้จับคู่สีได้อย่างถูกต้อง และลดปัญหาความคลาดเคลื่อนของสีเวลาส่งงานต่อกันเป็นทอด ๆ ให้งานออกมาสมบูรณ์แบบมากที่สุดนั่นเอง

 

สี Pantone โทนแดง

 

งานประเภทไหนควรใช้ประโยชน์จากสี Pantone

พอเป็นเรื่องสี หลายคนก็ต้องนึกถึงงานออกแบบอยู่แล้ว แต่งานออกแบบก็มีหลายประเภท ซึ่งหลายคนอาจจะไม่ได้พึ่งพาระบบสีของ PANTONE ด้วยซ้ำไป แต่ก็สามารถผลิตผลงานออกมาได้แบบมีคุณภาพ กระนั้น ก็ยังมีงานอีกหลายประเภทที่ควรใช้ประโยชน์จากสี PANTONE เพื่อให้งานออกมาเป็นสีที่ต้องการ 

มาดูกันว่ามีงานแบบไหนบ้าง

  • งานที่ต้องการความแม่นยำของสีสูง เช่น โลโก้แบรนด์ หรืองานที่ต้องมีสีประจำแบรนด์เป็นองค์ประกอบหลัก เพราะสีของแบรนด์เป็นสิ่งที่บอกอัตลักษณ์องค์กร ทำให้ผู้บริโภครับรู้ถึงความเป็นเรา จะคลาดเคลื่อนไม่ได้เด็ดขาด
  • งานที่ต้องการความคงเส้นคงวาของสี เช่น งานที่ใช้สีใดสีหนึ่งเยอะ ๆ ในพื้นที่เดียว หากสีไม่นิ่งก็จะดูออกทันทีว่างานไม่เรียบร้อย
  • งานที่มีจำนวนมากและต้องใช้เวลาพิมพ์อย่างต่อเนื่อง เช่น งานที่ต้องส่งโรงพิมพ์อย่างพวกแพ็กเกจจิง สีของสินค้าตัวอย่างที่พิมพ์ให้ลูกค้าดู ควรจะเหมือนกับสีของสินค้าที่วางขายจริง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การใช้ประโยชน์จากสี PANTONE อาจมีค่าใช้จ่ายสูง เพราะบางครั้งต้องมีการผสมสี การเทสต์สี และปรู๊ฟสี สำหรับธุรกิจที่มีงบประมาณจำกัด อาจไม่จำเป็นต้องลงทุนกับสี PANTONE ขนาดนั้น แค่ใช้พาเลตต์ดูโคดสีเบื้องต้นเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันในการทำงานเป็นทีมก็เพียงพอแล้ว

 

PANTONE ผู้มีอิทธิพลในการกำหนด Colour of the Year

ในฐานะที่เป็นบริษัทกลางในการกำหนดมาตรฐานของระบบสี PANTONE ยังมีอิทธิพลในการกำหนด Colour of the Year อีกด้วย กล่าวคือ ในทุก ๆ ปี จะมีการประกาศสีประจำปีออกมาเสมอ อย่างสีประจำปี 2024 ก็จะเป็นสี Pantone 13-1023 Peach Fuzz หรือ สีพีช

แล้วทำไม PANTONE ถึงมีอิทธิพลในการกำหนด Colour of the Year ได้?

แรกเริ่มเดิมที เมื่อปี 1986 PANTONE ได้ก่อตั้ง PANTONE Colour Institute ขึ้น โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้คำแนะนำแก่ดิไซเนอร์และธุรกิจต่าง ๆ ในเรื่องของการนำสีไปปรับใช้กับงานออกแบบ รวมถึงสินค้าและบริการของแบรนด์ จากนั้น ทางบริษัทก็สั่งสมประสบการณ์และความเชี่ยวชาญมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งในปี 1994 ได้มีการจัดทำ PANTONE View Colour Planner ซึ่งเป็นหนังสือที่พูดเกี่ยวกับเทรนด์สี และการใช้สีในการออกแบบสำหรับดิไซเนอร์และแบรนด์ เรียกได้ว่า PANTONE ได้กลายเป็นองค์กรที่มีอิทธิพลเรื่องสีในระดับสากลไปแล้ว ณ ขณะนั้น

ต่อมา เมื่อปลายปี 1999 PANTONE ได้ก้าวขึ้นไปอีกขั้นในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านสี ด้วยการกำหนดสีประจำปี หรือ PANTONE Colour of the Year เป็นครั้งแรก ซึ่งสีแรกที่ประกาศออกมาอย่างเป็นทางการ คือ สี Cerulean Blue โดยในปี 2000 สีดังกล่าวได้ถูกนำมาใช้ในวงการออกแบบอย่างแพร่หลาย ถือเป็นสิ่งที่ช่วยยืนยันความสำเร็จของ PANTONE ในฐานะผู้มีอิทธิพลด้านสี ทำให้ปีต่อ ๆ มาหลังจากนั้น PANTONE ก็ประกาศ Colour of the Year ออกมาอย่างต่อเนื่อง และแบรนด์ต่าง ๆ ก็ยึดสีประจำปีจาก PANTONE เป็นสีหลักที่ใช้ในการออกแบบในปีนั้น ๆ เช่นกัน

 

Pantone กำหนดสีประจำปี 2024

PANTONE Colour of the Year มีความสำคัญอย่างไร?

ในช่วงปลายปีของทุกปี PANTONE จะประกาศสีประจำปีของปีถัดไป เพื่อให้นักการตลาดและผู้ประกอบการได้เตรียมตัวสำหรับการวางแผนงานออกแบบในปีหน้า ว่าควรใช้สีไหนดี ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายและเวลาในการวิเคราะห์ตลาดเพื่อหาสีที่เหมาะสมสำหรับแต่ละปี ซึ่งก็มีแบรนด์จำนวนมากที่นำ Colour of the Year มาปรับใช้กับการออกแบบผลิตภัณฑ์ของตนเอง เพราะถือว่าเป็นสีแห่งปี และเป็นการทำการตลาดตามกระแสรูปแบบหนึ่ง เช่น เมื่อปี 2020 ที่ทาง PANTONE ประกาศให้สี Classic Blue เป็นสีประจำปี ทาง Apple ก็ได้เปิดตัวไอโฟนรุ่นใหม่เป็นสีน้ำเงิน สร้างความฮือฮาให้กับผู้บริโภค และได้กระแสตอบรับที่ดีมาก

หากถามว่าจะไม่ใช้สีประจำปีที่ PANTONE กำหนดได้ไหม คำตอบก็คือ ได้ แต่ที่หลาย ๆ แบรนด์ใช้ประโยชน์จาก Colour of the Year นั่นก็เพราะว่า การทำการตลาดแบบตามกระแสจะช่วยให้แบรนด์ดูสร้างสรรค์ ทันสมัย มีการอัปเดตตามกาลเวลาที่เปลี่ยนไป และเพิ่มความน่าสนใจให้แก่สินค้าและบริการมากขึ้น ทั้งนี้ PANTONE Colour of the Year เป็นการกำหนดสีประจำปีเพื่อเป็นไอเดียให้แก่ธุรกิจในการนำไปปรับใช้กับงานออกแบบเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่าต้องนำมาเป็นสีประจำองค์กร หรือต้องรีแบรนด์ให้เข้ากับ Colour of the Year ทุกปี แค่นำสีดังกล่าวไปประยุกต์ใช้อย่างสร้างสรรค์ ให้ผู้บริโภครู้ว่าเราเป็นแบรนด์ที่อัปเดตและตามกระแสทันก็พอ

 

สี PANTONE หัวใจที่การตลาดเชิงสร้างสรรค์ต้องพึ่งพา

ได้ยินแต่ชื่อกันมานาน เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ก็เชื่อว่าหลายคนคงเข้าใจแล้วว่า PANTONE คืออะไร และมีความสำคัญอย่างไรต่อวงการออกแบบ โดยทั่วไปแล้ว หากเพียงต้องการให้เกิดความเข้าใจตรงกันระหว่างทีม หรือโรงพิมพ์ ก็แค่ใช้โคดสี PANTONE แทนการบอกชื่อสีได้เลย เพราะหากบอกแค่สีชมพู ก็จะมีคำถามตามมาอีกว่าชมพูไหน ชมพูกุหลาบ ชมพูนู้ด ชมพูกลีบบัว ฯลฯ ซึ่งพาเลตต์ที่มีโคดสีของ PANTONE จะช่วยลดปัญหานี้ แต่ถ้าเป็นงานที่มีความซับซ้อนกว่านั้น อาจต้องมีการผสมสี เทสต์สี และปรู๊ฟสีเพิ่ม ซึ่งบางครั้งก็มีค่าใช้จ่ายสูง ทว่าก็จะได้งานที่ละเอียดและสมบูรณ์แบบ ถูกใจทั้งดิไซเนอร์และลูกค้าแน่นอน

เพราะการออกแบบกราฟิกเป็นเรื่องที่ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง หากคุณกำลังมองหาความช่วยเหลือ ติดต่อ Primal Digital Agency ได้เลยวันนี้ เรามีทีมงานมากประสบการณ์ด้าน Creative กว่า 25 คน ที่พร้อมสร้างสรรค์แคมเปญของแบรนด์คุณให้สวยงาม และน่าดึงดูดกว่าใครในตลาด