รวมวิธีการออกแบบโลโก้ให้ปัง อยากโดดเด่นเหนือคู่แข่งต้องอ่าน!

ไม่ว่าธุรกิจไหน ๆ ก็ต้องมีสัญลักษณ์เป็นของตนเอง เพื่อใช้สื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายและสร้างภาพลักษณ์แทนตัวตนของแบรนด์ ให้ผู้บริโภคเห็นแล้วจำได้ทันทีว่านี่คือแบรนด์ของเรา ดังนั้น การออกแบบโลโก้ให้โดดเด่น มีเอกลักษณ์ และน่าจดจำมากที่สุดจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยในการทำธุรกิจ

อย่างไรก็ดี การออกแบบโลโก้แบรนด์สักชิ้นก็ไม่ใช่เรื่องที่จะทำกันได้ง่าย ๆ เพราะต้องมีการวางแผนและดีไซน์ให้สวยงาม เหมาะสมกับ CI (Corporate Identity) หรืออัตลักษณ์ขององค์กร ที่สำคัญคือต้องทันสมัยและไม่ตกเทรนด์ เพื่อให้รับกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นยุคดิจิทัล ซึ่งปัจจุบัน โลโก้แบรนด์สไตล์มินิมอล เรียบง่าย และเน้นความสะอาดตากำลังเป็นที่นิยม เรียกได้ว่าเป็นสไตล์ที่อยู่ได้นาน ดูไม่ล้าหลัง และเหมาะสมกับธุรกิจทุกประเภท

วันนี้ เราจะมาบอกสิ่งที่ทุกคนควรรู้เกี่ยวกับการออกแบบโลโก้ รวมถึงวิธีการออกแบบโลโก้ที่ดีว่าควรทำอย่างไรให้แบรนด์ของเราดูสะดุดตา โดดเด่นเหนือคู่แข่ง รับรองว่าเมื่ออ่านจบแล้ว จะได้ไอเดียดี ๆ ในการออกแบบให้ลูกค้าจดจำได้อย่างแน่นอน!

การออกแบบโลโก้สินค้า

ลักษณะของโลโก้แบรนด์ที่ดีควรเป็นอย่างไร

จดจำได้ง่าย

โลโก้แบรนด์คือสัญลักษณ์ที่บ่งบอกว่าธุรกิจของเราแตกต่างจากคู่แข่งอย่างไร ดังนั้น โลโก้ที่ดีต้องทำให้คนสามารถจดจำแบรนด์ของเราได้ แม้ว่าจะแค่เห็นแบบผ่าน ๆ ตาก็ตาม ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น เวลาเราเห็นโลโก้แอปเปิลมีรอยกัด เราก็จะนึกถึง iPhone Macbook หรือ iPad ทันที หรือแม้กระทั่งเวลาเห็นโลโก้รูปแอปเปิลคล้าย ๆ กัน เราก็จะคิดถึงแบรนด์ Apple ก่อนอยู่ดี เพราะสมองของเราจดจำไปแล้วว่าโลโก้แอปเปิลคือของแบรนด์ Apple

ตัวอักษรหรือฟอนต์มีความเหมาะสม

ฟอนต์ในโลโก้ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญมาก เพราะหากเลือกได้ดีก็จะช่วยส่งเสริมโลโก้ของเราให้สวยงามขึ้นได้ แต่หากเลือกใช้ไม่เหมาะสมกับ CI ของธุรกิจ ผลที่ออกมาก็จะตรงกันข้ามเลยทีเดียว เทคนิคง่าย ๆ คือควรใช้ตัวหนังสือไม่เกิน 10-20 ตัวอักษรเท่านั้น เพื่อให้โลโก้แบรนด์ดูไม่รกและอึดอัดเกินไป ตลอดจนต้องมีการจัดวางระยะห่างและน้ำหนักของตัวอักษรให้ดูดีด้วย

สีเหมาะสมกับแบรนด์

สีทุกสีมีความหมายเสมอ เราอาจจะไม่รู้ตัว แต่หลายครั้งที่เรามองไปที่โลโก้แบรนด์ เรามักจะรู้สึกถึงสิ่งที่แบรนด์พยายามสื่อออกมาผ่านสีสันเป็นประจำ ดังนั้น โลโก้ที่ดีจึงต้องมีการคัดเลือกสีมาใช้อย่างเหมาะสม บ่งบอกถึงอัตลักษณ์ของธุรกิจ เพราะสีดังกล่าวจะถูกจดจำในฐานะสีประจำองค์กรตลอดไป

เอฟเฟกต์บนโลโก้ต้องไม่เยอะจนเกินไป

ดังที่ได้กล่าวไปว่า เทรนด์สมัยใหม่นี้เน้นความมินิมอล สบายตา ดังนั้น โลโก้ที่มีเอฟเฟกต์แปลก ๆ เยอะแยะไปหมดจึงอาจดูน่าดึงดูดน้อยกว่าโลโก้ที่มีความเรียบง่าย แต่ดูแล้วสามารถจดจำได้ทันที เช่น โลโก้ของ McDonald’s, MasterCard, Apple เป็นต้น

สีพื้นหลังช่วยส่งเสริมให้เห็นโลโก้ชัดเจน

การใช้พื้นหลังสีพื้น หรือสีขาว จะช่วยให้องค์ประกอบต่าง ๆ บนโลโก้แบรนด์ดูชัดเจน โดยเราไม่ควรใช้สีพื้นหลังที่กลืนไปกับองค์ประกอบ เพราะนอกจากจะทำให้ดูไม่สวยงามแล้ว ยังไม่เป็นที่น่าจดจำและไม่น่าเชื่อถืออีกด้วย

ต้องสื่อความหมายได้

เนื่องจากโลโก้แบรนด์เป็นสิ่งแรกขององค์กรที่ลูกค้าจะดู ดังนั้น นอกจากจะต้องออกแบบให้ดูดีแล้ว ยังต้องสามารถสื่อความหมายได้ด้วย เพื่อที่คนที่ผ่านมาเห็นแต่ยังไม่รู้จักแบรนด์ของเรา จะได้สามารถเดาได้ว่าธุรกิจของเราเกี่ยวกับอะไร

ไม่คัดลอกงานของผู้อื่น

ต่อให้คิดวิธีการออกแบบโลโก้ของตนเองไม่ออกแค่ไหน แต่เราก็ไม่ควรไปคัดลอกงานของผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคดิจิทัลที่เราสามารถค้นทุกอย่างเจอด้วยอินเทอร์เน็ตเช่นนี้ หากเราไปคัดลอกงานใครมา ผู้บริโภคก็จะดูออกได้ไม่ยากเลย และหากถูกจับได้ กระแสของแบรนด์ก็จะเป็นไปในทางลบ ซึ่งคงไม่มีแบรนด์ไหนอยากให้เกิดขึ้นอย่างแน่นอน

ผ่านการคิดมาอย่างรอบคอบ

เชื่อว่ามีหลายธุรกิจที่ลงมือออกแบบโลโก้ไปทั้ง ๆ ที่ยังไม่มีไอเดียหรือจุดประสงค์ของงานด้วยซ้ำ ซึ่งขอบอกเลยว่าเป็นวิธีที่ผิดมหันต์! เพราะอย่างที่ได้บอกไปว่า โลโก้คือหน้าตาและสัญลักษณ์ของแบรนด์ที่จะต้องอยู่กับเราและตราตรึงอยู่ในใจผู้บริโภคไปอีกนานแสนนาน ดังนั้น ก่อนจะเริ่มขั้นตอนการออกแบบโลโก้ใด ๆ เราจะต้องมีการคิดอย่างรอบคอบในทุก ๆ องค์ประกอบเสียก่อน เพื่อให้โลโก้ที่ออกมามีความสมบูรณ์แบบ และเหมาะสมกับแบรนด์ของเราที่สุด

 

ขั้นตอนการออกแบบโลโก้ให้ปัง

วิธีการออกแบบโลโก้นั้นจะต่างจากการออกแบบงานกราฟิกอื่น ๆ เล็กน้อย ตรงที่กราฟิกจะใช้กับคอนเทนต์ทั่ว ๆ ไป แต่สำหรับโลโก้ เราต้องนำมาใช้คู่กับแบรนด์และสินค้าหรือบริการของเรา ที่สำคัญคือจะอยู่กับเราและในใจลูกค้าตลอดไป ดังนั้น ทุกธุรกิจจึงจำเป็นต้องมีวิธีการออกแบบโลโก้ที่รอบคอบ รัดกุม โดยสิ่งที่ต้องคำนึงถึงในขั้นตอนการออกแบบโลโก้ มีดังนี้

อยากให้โลโก้สื่ออารมณ์แบบไหน

ก่อนจะเริ่มเลือกสี เลือกรูปทรง หรือสร้างสรรค์ดีไซน์ เราต้องตอบคำถามให้ได้ก่อนว่าอยากจะให้โลโก้แบรนด์ของตนเองสื่ออารมณ์แบบไหน ซึ่งอารมณ์ดังกล่าวก็ควรสอดคล้องกับอัตลักษณ์ของแบรนด์ด้วย เช่น โลโก้ของ Disney ที่สื่อถึงความสนุกและการมองโลกในแง่ดี ด้วยฟอนต์ตัวหนังสือแบบโค้ง ดูน่ารัก เหมาะสมกับเหล่าตัวการ์ตูนในจักรวาล ซึ่งหากนำโลโก้รูปแบบประมาณนี้ไปใช้กับธุรกิจร้านขายของเท่ ๆ ก็คงจะไม่เหมาะนัก

นอกจากนี้ เรายังต้องให้ความสำคัญกับเรื่องอารมณ์และความหมายของแต่ละสีด้วย เช่น สีเขียว สื่อความหมายเกี่ยวกับการเติบโต สุขภาพ และธรรมชาติ รวมถึงให้อารมณ์ของความสดชื่นและผ่อนคลาย ในขณะที่สีแดงสื่อถึงความอันตรายหรือความกระตือรือร้น หากเลือกใช้ผิดสีแล้วละก็ อาจทำให้อัตลักษณ์ของแบรนด์เปลี่ยนเลยทีเดียว!

อีกหนึ่งสิ่งที่สามารถสื่ออารมณ์ได้คือฟอนต์ เพราะฟอนต์แต่ละแบบก็ให้อารมณ์ที่แตกต่างกันไป เช่น ฟอนต์แบบมีหาง ก็จะสื่อถึงความเคารพ ความเป็นดั้งเดิม เหมาะสำหรับเว็บไซต์ข่าว หรือเว็บไซต์ที่มีความเป็นทางการ เช่น เว็บไซต์โรงเรียน เว็บไซต์มหาวิทยาลัย ส่วนฟอนต์แบบไม่มีหาง ดูทันสมัย สะอาดตา ก็จะเหมาะสมสำหรับเว็บไซต์ธุรกิจด้านเทคโนโลยี หรือสื่อโฆษณา แต่หากเป็นฟอนต์แบบน่ารัก ๆ ไม่เป็นทางการ ก็จะเหมาะกับธุรกิจสำหรับเด็ก เช่น การ์ตูน อนิเมชัน หรือร้านขายของเล่น เป็นต้น

อยากให้โลโก้มีความหมายอย่างไร

นอกจากสื่ออารมณ์แล้ว โลโก้แบรนด์ยังต้องสื่อความหมายได้ด้วย ไม่ใช่แค่การที่เราเอาชื่อแบรนด์มาจับคู่กับรูปทรงต่าง ๆ เท่านั้น แต่เรายังต้องสื่อความหมายผ่านโลโก้ออกไปให้ได้ว่าแบรนด์ของเราทำธุรกิจเกี่ยวกับอะไร มีอัตลักษณ์และวิสัยทัศน์อย่างไร นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงไม่ควรใช้โลโก้สำเร็จรูป เพราะไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อเราโดยเฉพาะแต่อย่างใด

ตัวอย่างเช่น โลโก้ของเว็บไซต์ชื่อดังอย่าง Amazon ที่จะมีลูกศรสีส้มชี้จากใต้ตัว A ไปยังตัว Z เพื่อสื่อว่า Amazon มีขายทุกอย่างตั้งแต่ A-Z อีกทั้งลูกศรดังกล่าวยังมีลักษณะโค้งเหมือนรอยยิ้ม สื่อถึงใบหน้าของลูกค้าเมื่อได้รับสินค้าจากทางเว็บไซต์นั่นเอง

โลโก้ของเราจะมีอายุยืนยาวแค่ไหน

โลโก้แบรนด์คือสิ่งที่เมื่อถูกเผยแพร่สู่สาธารณะแล้ว จะกลายเป็นภาพจำของแบรนด์เราตลอดไป ดังนั้น คงไม่มีแบรนด์ไหนอยากจะเปลี่ยนโลโก้บ่อย ๆ ให้ลูกค้าเกิดความสับสนอย่างแน่นอน ในขั้นตอนการออกแบบโลโก้ เราจึงต้องคิดก่อนเสมอว่าในอีกหลายปีข้างหน้า โลโก้ของเราจะยังดูดีอยู่หรือไม่

อนึ่ง เพื่อให้โลโก้ของเราอยู่ได้นาน ๆ วิธีการออกแบบโลโก้ที่ไม่ควรใช้คือการเลือกใช้ดีไซน์ตามเทรนด์ประจำปี หรือโทนสีประจำปี เนื่องจากเทรนด์เหล่านี้เป็นสิ่งที่อยู่ไม่นานก็ต้องหมดไป อีกทั้งหน้าตาของโลโก้ก็จะซ้ำ ๆ กับแบรนด์อื่นไปหมดจนไม่มีอัตลักษณ์ของตนเองอีกด้วย เราจึงควรออกแบบโลโก้ที่มีความเรียบ จดจำได้ง่าย และใช้ได้นานโดยที่ไม่ดูเก่า มากกว่าจะทำอะไรหวือหวาตามเทรนด์ 

ลักษณะเฉพาะของโลโก้เราคืออะไร

โลโก้ที่ดีต้องมีลักษณะเฉพาะไม่เหมือนใคร เพื่อทำให้เกิดการจดจำได้ง่ายตั้งแต่แรกเห็น โดยเราไม่ควรใช้โลโก้คล้าย ๆ กับแบรนด์อื่น เพราะจะทำให้ผู้บริโภครู้สึกสับสน และหากแบรนด์ของเราไม่ได้มีชื่อเสียงไปกว่าอีกแบรนด์หนึ่งที่มีหน้าตาคล้ายกัน เราก็แทบไม่มีโอกาสที่จะเข้าไปอยู่ในใจของผู้บริโภคได้เลย ดังนั้น ให้ลองลิสต์รายการจุดเด่นของแบรนด์เราออกมาเป็นข้อ ๆ แล้วค่อยเลือกใช้จุดนั้นมาเป็นลักษณะเฉพาะของโลโก้

 

สรุป

เนื่องจากโลโก้คือสิ่งที่จะอยู่กับเราไปอีกนาน เป็นเหตุให้ทุกแบรนด์ต้องใส่ใจกับวิธีการออกแบบโลโก้ให้มาก ๆ เพื่อไม่ให้โลโก้ของเราตกยุคในอนาคต การเลือกใช้ดีไซน์แบบเรียบง่ายแต่ดูดี ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ปลอดภัยสำหรับการออกแบบโลโก้สมัยนี้ แต่อย่าลืมว่าต้องสื่อถึงความเป็นแบรนด์ผ่านโลโก้นั้น ๆ ให้ได้ เพื่อให้ดูมีเอกลักษณ์และเป็นที่จดจำในหมู่ผู้บริโภค