Inbound PR คืออะไร ประชาสัมพันธ์อย่างไรให้ดึงดูดใจกว่าเดิม

ในยุคที่ธุรกิจต่างก็แข่งขันกันทำการตลาด ทั้งบนช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ สิ่งที่เหล่าผู้ประกอบการต้องทำก็คือ การหาวิธีโปรโมตแบรนด์ของตนเองให้โดดเด่นที่สุด เพื่อเป็นที่หนึ่งในใจลูกค้า ซึ่งวิธีที่ว่าก็สามารถทำได้หลากหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ ของธุรกิจ เช่น วัตถุประสงค์ งบประมาณ กลุ่มเป้าหมาย ฯลฯ แต่หนึ่งในสิ่งที่ทุกแบรนด์ต้องทำเหมือนกันก็คือ การทำโฆษณา (Advertising) หรือการนำเสนอสินค้าและบริการให้ผู้บริโภคในวงกว้างรับรู้ว่าเราคือใคร ขายอะไร และเพื่อให้การโปรโมตแบรนด์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น หลายธุรกิจก็เลือกที่จะทำ PR Marketing ควบคู่กันไปด้วย

การทำ PR หรือที่แปลตรงตัวว่า การประชาสัมพันธ์ จะแตกต่างจากการทำโฆษณาตรงที่ไม่ได้มีการนำเสนอสินค้าหรือบริการแต่อย่างใด แต่เน้นการสร้างการรับรู้แบรนด์ (Awareness) ผ่านการถ่ายทอดอัตลักษณ์และตัวตนที่เราต้องการให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าเราเป็นออกสู่สาธารณะ โดยสามารถทำได้หลายแนวทางเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการออกบูทจัดกิจกรรมพิเศษ การทำกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) การออกข่าวโทรทัศน์ ฯลฯ ทั้งหมดนี้เพื่อให้ผู้บริโภครับรู้ถึงการมีอยู่ของเราเท่านั้น ไม่ใช่การขายสินค้าหรือบริการเหมือนการโฆษณาแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม พอธุรกิจจำนวนมากทำ PR บ่อยเข้า ผู้บริโภคก็เริ่มจะรู้ทันและให้ความสนใจน้อยลง ทำให้ในหลายครั้ง การใช้กลยุทธ์ประชาสัมพันธ์ก็ไม่ได้ผลตอบรับดีเท่าที่ควร โดยเฉพาะหากทำได้ไม่แนบเนียน หรือมีการยัดเยียดแบรนด์ให้ลูกค้ามากเกินไปจนน่าอึดอัด กระนั้น เราก็ไม่แนะนำให้ทุกคนทิ้งกลยุทธ์นี้เสียทีเดียว เพราะถ้าทำถูกวิธี โอกาสประสบความสำเร็จก็มีมาก โดยวันนี้เราจะมาพูดถึงวิธีการประชาสัมพันธ์ให้ได้ผลในระยะยาว ที่เรียกว่า Inbound PR

Inbound PR กับ Outbound PR ต่างกันอย่างไร

Inbound PR คืออะไร

ในฐานะผู้บริโภค เชื่อว่าหลาย ๆ คนคงเคยถูกยัดเยียดขายของทั้งทางตรงและทางอ้อมกันมาบ้าง เมื่อเป็นเช่นนั้น เราก็จะรู้สึกไม่อยากซื้อ เพราะคิดว่า “ถ้าเราสนใจเดี๋ยวเราก็เข้าไปดูเอง” และนี่คือคีย์เวิร์ดหลักที่เราจะนำมาปรับใช้ในกลยุทธ์ Inbound PR

นักการตลาดน่าจะคุ้นชินกับคำว่า Inbound Marketing หรือกลยุทธ์การตลาดที่เน้นการสร้างแรงดึงดูดกันดี Inbound PR เองก็ใช้หลักการเดียวกัน โดย Inbound PR คือ การประชาสัมพันธ์ที่ดึงดูดให้ผู้บริโภคเข้ามาหาเราเอง ผ่านการทำคอนเทนต์ที่มีประโยชน์และตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย แต่ต้องไม่ทำให้ลูกค้ารู้สึกว่ากำลังถูกยัดเยียด เช่น การเขียนบล็อกให้ความรู้บนเว็บไซต์ คอนเทนต์รูปแบบต่าง ๆ บนโซเชียลมีเดีย หรือการทำ Influencer Marketing ให้เหล่าผู้มีอิทธิพลบนโลกออนไลน์โปรโมตแบรนด์ให้ เป็นต้น เพื่อเปลี่ยนสถานะจากผู้บริโภคทั่วไปให้กลายมาเป็นผู้ติดตามของเรา และกลายเป็นลูกค้าในท้ายที่สุด

ดังนั้น การทำ Inbound PR คือกลยุทธ์ที่สามารถสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างแบรนด์กับลูกค้าได้ เพราะเป็นความสัมพันธ์ที่ลูกค้าเป็นฝ่ายเข้ามาสนใจเราเอง ซึ่งมักจะยั่งยืนกว่าการที่เราไปยัดเยียดให้เขามาสนใจ ทำให้ Inbound PR ช่วยเพิ่มโอกาสในการที่ลูกค้าจะสนับสนุนแบรนด์ของเราในระยะยาวได้มากกว่าการประชาสัมพันธ์แบบโต้ง ๆ

 

ข้อดีของ Inbound PR คืออะไร

เพราะคอนเทนต์คือหัวใจสำคัญของการตลาด

อย่างที่ได้บอกไปว่า Inbound PR คือการทำคอนเทนต์ที่น่าสนใจ เพื่อสร้างการรับรู้แบรนด์และดึงดูดให้มีผู้บริโภคเข้ามาดูเยอะ ๆ ซึ่งสำหรับการตลาดยุคนี้ที่การแข่งขันสูงลิ่ว คอนเทนต์ถือเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ เพราะเป็นปัจจัยหลัก ๆ ที่จะทำให้กลุ่มเป้าหมายรับรู้ถึงการมีอยู่ของเรา ท่ามกลางแบรนด์ที่ขายสินค้าหรือบริการคล้าย ๆ เราเป็นร้อยเป็นพัน หากใครทำได้เร็วกว่า น่าสนใจกว่า แบรนด์นั้นก็ได้เปรียบกว่า ดังนั้น สิ่งที่เราต้องท่องไว้เสมอเวลาจะวางแผนคอนเทนต์อะไรสักอย่าง คือ ต้องทำให้แตกต่างและโดดเด่น รวมถึงต้องทำให้ไวกว่าคู่แข่ง เนื่องจากผู้บุกเบิกในคอนเทนต์หนึ่ง ๆ มักจะได้รับความนิยมด้วยยอดกดไลก์ กดแชร์ หรือคอมเมนต์ที่มากที่สุดเสมอ

ช่วยให้แบรนด์เป็นที่รู้จักในวงกว้าง

เมื่อเราทำคอนเทนต์ที่มีประโยชน์ต่อผู้ชมได้แล้ว ผลลัพธ์ที่ตามมาก็คือ แบรนด์จะได้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น เพราะสมัยนี้ เวลาลูกค้าอยากจะซื้ออะไร แค่กดเข้า Google แล้วเซิร์ชหาสินค้าและบริการนั้น ๆ ก็สามารถทำได้ง่ายและรวดเร็ว เมื่อลูกค้าเจอคอนเทนต์ของเราบนหน้าผลการค้นหา แบรนด์ของเราก็จะเริ่มเป็นที่รู้จัก ยิ่งมีคนคลิกเข้ามาเยอะมากเท่าไร ยิ่งมีโอกาสขายได้มากเท่านั้น ฉะนั้น ควรหมั่นทำคอนเทนต์คุณภาพเป็นประจำ เพื่อกระตุ้นโอกาสในการถูกมองเห็นและเป็นที่รู้จักในหมู่กลุ่มเป้าหมาย

ดึงดูดคนที่มีโอกาสจะเป็นลูกค้าจริง ๆ

การประชาสัมพันธ์เชิงรุกแบบที่ธุรกิจต้องเป็นฝ่ายเข้าไปหาลูกค้านั้น นับวันยิ่งใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไป เพราะลูกค้ามักจะรู้สึกว่าเป็นการรบกวนและสร้างความรำคาญมากกว่าจะดูน่าดึงดูด ในขณะที่การทำคอนเทนต์ให้ลูกค้าเข้ามาหาเราเองนั้น มีโอกาสที่เราจะได้กลุ่มเป้าหมายที่มีแนวโน้มจะเป็นลูกค้าของเราจริง ๆ มากกว่า เพราะพวกเขาเป็นฝ่ายเข้ามาสนใจเราเอง โดยที่เราไม่ต้องยัดเยียดสินค้าและบริการอะไรให้เลย อันจะนำไปสู่ยอดขายที่เพิ่มขึ้นด้วย

ได้แสดงความเชี่ยวชาญต่อสาธารณชน

ในโลกดิจิทัลที่เต็มไปด้วยคอนเทนต์การตลาดจากธุรกิจต่าง ๆ นี่เป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้ทำคอนเทนต์เพื่อแสดงความเชี่ยวชาญให้ผู้บริโภคได้รับรู้ โดยอาจทำเป็นคอนเทนต์แนะแนวหรือให้ความรู้เกี่ยวกับธุรกิจที่เราทำ เพื่อที่เวลากลุ่มเป้าหมายเข้ามาเห็นจะได้รู้สึกว่า เราคือผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้น ๆ จริง และเกิดความไว้ใจที่จะซื้อสินค้าหรือใช้บริการมากขึ้น

PR Marketing คืออะไร

หลักการทำ Inbound PR มีอะไรบ้าง

ในการทำ Inbound PR หรือการประชาสัมพันธ์แบบเน้นการดึงดูดลูกค้าเข้าหานั้น สามารถแบ่งเป็นกระบวนการหลัก ๆ ได้ 4 ขั้นตอน ดังนี้

ดึงดูดกลุ่มเป้าหมาย (Attract)

ก่อนอื่น ลองนึกว่าหากเราเป็นแบรนด์น้องใหม่ที่ยังไม่เป็นที่รู้จักเลย หรือต่อให้อยู่ในวงการธุรกิจมานานแล้วแต่ก็ยังไม่เป็นที่จดจำในหมู่ผู้บริโภคมากนัก เราจะทำอย่างไรให้ตนเองถูกมองเห็นมากขึ้น

แน่นอนว่าคำตอบก็คือ การทำคอนเทนต์ หัวใจหลักของ Inbound PR นั่นเอง โดยคอนเทนต์ควรจะอยู่ทั้งบนเว็บไซต์และโซเชียลมีเดีย เพื่อเพิ่มโอกาสในการถูกมองเห็น โดยจะต้องเขียนเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ ให้คุณค่าอะไรบางอย่างแก่ผู้เข้าชมได้ และที่สำคัญคือหมั่นโพสต์เป็นประจำ เพราะเพจหรือเว็บไซต์ที่ไม่มีการอัปเดตอย่างสม่ำเสมอมักไม่ได้รับความไว้ใจจากผู้บริโภคเท่าไรนัก และนอกจากจะต้องโพสต์บ่อย ๆ แล้ว อย่าลืมใช้เทคนิคการทำ SEO (Search Engine Optimisation) เพื่อให้คอนเทนต์ของเราขึ้นไปอยู่อันดับต้น ๆ บนหน้าผลการค้นหาด้วย เช่น การแทรกคีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้องลงในเนื้อหา การเขียนโดยยึดหลัก E-E-A-T ตามหลัก Google Core เป็นต้น

เปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายให้เป็นลูกค้า (Convert)

เมื่อเราได้ยอดกลุ่มเป้าหมายหรือผู้เข้าชมจากการทำคอนเทนต์ที่มีคุณภาพแล้ว สิ่งที่ต้องทำถัดจากนั้นก็คือ การเปลี่ยนกลุ่มคนดังกล่าวให้เป็นลูกค้าให้ได้ ซึ่งขั้นตอนนี้ไม่ได้ยากเกินความสามารถ เพราะเราทำให้พวกเขาสนใจได้แล้ว อยู่ที่ว่าธุรกิจไหนจะมีกลยุทธ์ที่น่าดึงดูดมากที่สุด ซึ่งก็สามารถทำได้หลายรูปแบบ เช่น การใส่ CTA (Call to action) ไว้ในเนื้อหา เพื่อกระตุ้นให้กลุ่มเป้าหมายรู้สึกว่าต้องซื้อทันที โดยบอกให้พวกเขารู้ว่าถ้าไม่ซื้อวันนี้แล้วจะพลาดอะไรไป หรือการทำ Landing Page ให้สวยงาม ใช้สะดวก และนำทางไปสู่หน้าการซื้อ-ขายได้ง่าย หรือการมีแบบฟอร์มให้กรอกเพื่อติดต่อเข้ามาเป็นลูกค้า เป็นต้น

ปิดการขายให้เร็วที่สุด (Close)

มาถึงขั้นตอนที่สำคัญมาก ๆ นั่นก็คือ การปิดการขาย ซึ่งเป็นขั้นที่ชี้วัดว่าธุรกิจเราจะได้ยอดขายเพิ่มหรือไม่ โดยเราต้องพยายามอย่าทำให้กระบวนการซื้อ-ขายยืดเยื้อ และปิดการขายให้ได้ไวที่สุด เพราะความอยากซื้อของลูกค้าบางคนก็เป็นแค่อารมณ์ชั่ววูบ และอาจเกิดการเปลี่ยนใจได้ในภายหลังหากว่าการซื้อ-ขายไม่เสร็จสิ้นสักที ซึ่งขั้นตอนนี้อาจต้องอาศัยผู้ที่มีทักษะด้านการขายโดยเฉพาะ เนื่องจากทีมงานเหล่านี้จะรู้ว่าควรโน้มน้าวลูกค้าอย่างไรให้เกิดผลลัพธ์สูงสุด หรือสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความ 7 เทคนิคปิดการขายให้อยู่หมัด เซลส์มืออาชีพต้องอ่าน !

สร้างความประทับใจหลังการขาย (Delight)

ถึงแม้ว่าจะขายของสำเร็จแล้ว แต่ก็ไม่ใช่ว่าหน้าที่ของเราจะหมดลงแต่เพียงเท่านั้น เพราะเราต้องมีบริการหลังการขายที่สร้างความประทับใจแก่ลูกค้าด้วย เพื่อที่จะได้เพิ่มโอกาสในการกลับมาอุดหนุนซ้ำ และทำให้ลูกค้าเหล่านั้นมีความภักดีต่อแบรนด์ (Brand Loyalty) เช่น เมื่อลูกค้าได้รับสินค้าแล้ว ก็ลองทักไปถามดูว่าได้รับสินค้าแล้วหรือยัง ชอบหรือไม่อย่างไร หากขายเสื้อผ้า รองเท้า แล้วลูกค้าใส่ไม่ได้ ก็ควรมีบริการรับเปลี่ยน-คืนภายในวันที่กำหนด เป็นต้น นอกจากนี้ เรายังควรเช็กกระแสแบรนด์ในอินเทอร์เน็ตอยู่เรื่อย ๆ หรือที่เรียกว่าการทำ Social Listening เพื่อดูว่าลูกค้ามีทัศนคติต่อแบรนด์ของเราอย่างไร แล้วนำฟีดแบ็กเหล่านั้นมาปรับปรุงและพัฒนาธุรกิจให้ดียิ่งขึ้น

 

สรุป

จะเห็นได้ว่า Inbound PR คือ หนึ่งในกระบวนการช่วยทำการตลาดในระยะยาว เพราะแทนที่เราจะเป็นฝ่ายเข้าหาลูกค้าก่อน ซึ่งไม่มีอะไรมารับประกันได้ว่าลูกค้าเหล่านั้นจะรู้สึกชอบสินค้าหรือบริการของเรา เราเลือกที่จะดึงดูดลูกค้าให้เป็นฝ่ายเข้ามาหาเราด้วยตัวเอง เพื่อให้ได้กลุ่มเป้าหมายที่มีแนวโน้มเป็นลูกค้าเราจริง ๆ มากขึ้น แถมยังเพิ่มโอกาสในการกลับมาซื้อซ้ำด้วย หากเราสามารถสร้างคอนเทนต์ให้ดูมีความน่าเชื่อถือได้

อย่างไรก็ตาม การทำ Inbound PR อย่างเดียวก็อาจจะไม่ได้ทำให้เกิดประสิทธิภาพทางธุรกิจสูงสุด ดังนั้น การที่เราเป็นฝ่ายเข้าไปหาลูกค้าก่อนด้วยการทำโฆษณา ก็ยังถือว่าจำเป็นในการทำการตลาดอยู่ เพราะในขณะที่ Inbound PR ช่วยเน้นเรื่องสร้างการรับรู้ การโฆษณาจะช่วยในเรื่องของการกระตุ้นยอดขาย ซึ่งถ้าสามารถทำควบคู่กันไปได้ รับรองว่าจะได้ผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจอย่างแน่นอน

หากรู้สึกว่าไม่มีเวลามากพอที่จะทำทั้งสองอย่างไปพร้อมกัน Primal Digital Agency บริษัทรับทำการตลาดชั้นนำของไทยมีทีมงานผู้เชี่ยวชาญกว่า 150 คนที่พร้อมช่วยคุณเพิ่มศักยภาพในการทำธุรกิจให้มากยิ่งขึ้น ติดต่อเราได้เลยวันนี้