WEB 3.0 กำลังมา! รู้จักโลกอินเทอร์เน็ตไร้ตัวกลางที่ล้ำที่สุดในปี 2023

เทคโนโลยีในโลกปัจจุบันถูกพัฒนาและเติบโตไปอย่างรวดเร็ว จนทำให้อินเทอร์เน็ตกลายเป็นปัจจัยสำคัญในชีวิตของทุกคนบนโลก โดยนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1990 จนถึงปี 2023 อินเทอร์เน็ตได้ถูกพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง จนตอนนี้ Web 2.0 หรืออินเทอร์เน็ตเวอร์ชันที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันใกล้จะถึงจุดสิ้นสุด และกำลังจะถูกเปลี่ยนผ่านสู่เวอร์ชัน Web 3.0 ในอนาคตอันใกล้ โดยปัจจัยที่ทำให้ Web 3.0 ถือกำเนิดขึ้น ก็คงไม่พ้นความก้าวหน้าของเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี Blockchain, ระบบ Metaverse หรือแม้แต่ Artificial Intelligence (AI) ที่เข้ามามีบทบาทกับการใช้ชีวิตของผู้คน ดังจะเห็นได้จาก การใช้ AI ช่วยทำงานในอุตสาหกรรมต่าง ๆ  รวมถึงแชตบอตอย่าง ChatGPT ที่ได้รับความนิยมและเป็นไวรัลไปทั่วโลก

วันนี้เราจึงอยากจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ Web 3.0 หรืออินเทอร์เน็ตเวอร์ชันใหม่ที่กำลังจะก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของผู้คนในไม่ช้านี้ แต่จะมีข้อมูลอะไรที่เราควรรู้ก่อนบ้าง ไปอัปเดตพร้อมกันได้เลย

Web 3.0 คือ

ย้อนดูวิวัฒนาการของเว็บไซต์ เริ่มต้นจาก WEB 1.0 สู่ WEB 3.0

ก่อนที่เราจะไปทำความรู้จักกับอินเทอร์เน็ตเวอร์ชัน Web 3.0 เรามาย้อนดูกันหน่อย ว่าวิวัฒนาการของอินเทอร์เน็ตในแต่ละเวอร์ชันมีความเป็นมาอย่างไรบ้าง

Web 1.0 – ค.ศ. 1990-2004

นับตั้งแต่โลกนี้มีอินเทอร์เน็ต ต่างก็มีการเรียกชื่อตามการพัฒนาและเติบโตของอินเทอร์เน็ตเรื่อยมา โดยอินเทอร์เน็ตในยุคแรก หรือที่ถูกเรียกว่า Web 1.0 (World Wide Web 1.0) ได้ถือกำเนิดขึ้นจาก Tim Berners-Lee นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ชาวอังกฤษ ในช่วงปี ค.ศ. 1990 โดยที่เขามีแนวคิดเรื่องการสร้างโปรโตคอลกระจายอำนาจแบบเปิดที่อนุญาตให้ผู้ใช้งานสามารถค้นหาข้อมูลต่าง ๆ ได้ผ่านเว็บเบราว์เซอร์อย่าง Internet Explorer หรือ Netscape

อินเทอร์เน็ตในยุคเริ่มต้นจะเป็นการสื่อสารทางเดียว (One-Way Communication) เท่านั้น คือในรูปแบบที่ผู้ใช้งานจะใช้เพื่อสืบค้นและอ่านได้เพียงอย่างเดียว แต่ยังไม่สามารถตอบโต้ระหว่างกันได้ โดยมี HTML, URL และ HTTP เป็นองค์ประกอบสำคัญ ซึ่งเนื้อหาต่าง ๆ ก็มีอยู่อย่างจำกัดและไม่หลากหลาย

Web 2.0 – ค.ศ. 2004 – ปัจจุบัน (ใกล้จะสิ้นสุด)

หลังจากปี 2000 โลกอินเทอร์เน็ตก็พัฒนาไปอีกขั้น และวิวัฒนาการมาเป็นเวอร์ชัน Web 2.0 ซึ่งเวอร์ชันนี้ได้เปลี่ยนจากการสื่อสารทางเดียว (One-Way Communication) มาเป็นการสื่อสารแบบสองทาง (Two Way Communication) ที่ไม่เพียงแต่จะอนุญาตให้ผู้ใช้งานสามารถโต้ตอบหรือแสดงความเห็นได้เท่านั้น แต่เจ้าของเว็บไซต์ยังอัปเดตข้อมูลแบบเรียลไทม์ได้อีกด้วย โดยในเวอร์ชันนี้ มีโซเชียลมีเดียและแพลตฟอร์มตัวกลางที่สามารถรวมคนจากทั่วทุกมุมโลกเข้าไว้ด้วยกันเกิดขึ้นมากมาย จนกลายเป็นสื่อสังคมออนไลน์ที่หลาย ๆ คนรู้จักกันดีอย่าง Facebook, Twitter, Instagram หรือแม้แต่ Search Engine อย่าง Google และ Yahoo

Web 3.0 – ก้าวใหม่ของโลกอินเทอร์เน็ตไร้ตัวกลาง

แม้ยุคแห่ง Web 2.0 จะเป็นยุคอินเทอร์เน็ตเฟื่องฟู แต่ในแง่ของการหารายได้ของผู้ใช้ เหล่า Content Creator จะได้รับรายได้จากการทำคอนเทนต์เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น นี่จึงเป็นที่มาของแนวคิดการพัฒนาโลกอินเทอร์เน็ตให้เข้าสู่ยุค Web 3.0 ซึ่งเป็นยุคแห่งการตัดบทบาทของบริษัทหรือแพลตฟอร์มตัวกลางออกไป และให้สิทธิการควบคุมดูแลและจัดการแก่ผู้สร้างคอนเทนต์แบบเต็มตัวมากขึ้น

โดย Web 3.0 คือแนวคิดการใช้งานเว็บไซต์ที่เอื้อให้ผู้ใช้งานถือสิทธิความเป็นเจ้าของสินทรัพย์ดิจิทัลได้อย่างสมบูรณ์ โดย Web 3.0 ถูกกล่าวถึงครั้งแรกในปี 2014 โดยผู้ร่วมก่อตั้ง Ethereum ที่ชื่อว่า Gavin Wood โดยเขาระบุว่านี่จะเป็นการเปลี่ยนผ่านของยุคอินเทอร์เน็ตที่เน้นการกระจายอำนาจให้กับทุกฝ่ายอย่างแท้จริง โดยไม่จำเป็นต้องมาพึ่งพาบริการจากบริษัทเจ้าใดเจ้าหนึ่ง หรือกล่าวง่าย ๆ คือผู้ใช้งานทุกคนมีสิทธิในการดูแลข้อมูลต่าง ๆ ของตนเอง รวมถึงมีส่วนร่วมในการปรับแต่งและแก้ไขข้อมูลได้ อีกทั้งยังเป็นระบบที่เน้นความโปร่งใสภายใต้การทำงานของอินเทอร์เน็ตมาตรฐานเดียวกันด้วย

โดยเทคโนโลยีที่นำมาก่อรวมกันจนกลายเป็นรากฐานสำคัญสู่การสร้าง Web 3.0 บนโลกอินเทอร์เน็ตจะมีทั้ง ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence) หรือระบบคอมพิวเตอร์ที่ใช้ประมวลผล แก้ไขและจัดการปัญหาได้เองอย่างแม่นยำและสมเหตุสมผล รวมถึงระบบ Blockchain ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้การทำธุรกรรมดำเนินไปอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้ จากการไม่ผ่านตัวกลาง

 

หัวใจสำคัญของ Web 3.0 มีอะไรบ้าง?

แม้เป็นเรื่องยากที่จะนิยาม Web 3.0 อย่างเป็นรูปธรรม แต่อินเทอร์เน็ตแห่งอนาคตนี้ก็มีแกนหลักสำคัญอยู่ ดังนี้

·  กระจายอำนาจให้ทุกฝ่าย

แทนที่ข้อมูลจะถูกควบคุมด้วยบริษัทที่เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มที่เราใช้บริการ ผู้สร้างและผู้ใช้งานจะได้รับสิทธิความเป็นเจ้าของอย่างแท้จริงต่อเนื้อหาใด ๆ ของตนเอง ดังนั้น จึงเป็นอินเทอร์เน็ตแห่งการกระจายอำนาจ ที่ทำให้ผู้ใช้งานได้รับรายได้จากเนื้อหาของพวกเขาแบบ 100%

·  ทุกคนมีสิทธิเข้าร่วม Web 3.0 อย่างเท่าเทียมกัน

เนื่องจากมีการกระจายอำนาจ ทุกคนจึงมีสิทธิ์ในการเข้าร่วม Web 3.0 อย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่ต้องผ่านตัวกลางใด ๆ ทำให้ไม่ว่าใครก็ไม่สามารถห้ามหรือระงับไม่ให้คุณเข้าร่วมได้ ต่างจาก Web 2.0 ที่แพลตฟอร์มมีสิทธิห้ามหรือระงับบัญชีไม่ให้ใช้งาน 

·  เทคโนโลยี AI มีบทบาทสูง

เทคโนโลยี AI จะเข้ามามีบทบาทเพิ่มมากขึ้นใน Web 3.0 โดยเฉพาะในส่วนของการช่วยคัดกรองข้อมูลที่บิดเบือน ทำให้ผู้ใช้ได้รับข้อมูลที่มาจากผู้ใช้งานจริงเท่านั้น นอกจากนี้ ยังทำให้ผู้บริโภคได้รับข้อมูลของผลิตภัณฑ์หรือบริการต่าง ๆ ที่เที่ยงตรงมากกว่าเดิมด้วย

·  เข้าถึงอุปกรณ์และแอปพลิเคชันที่หลากหลายมากขึ้น

สำหรับ Web 3.0 ผู้ใช้จะสามารถเข้าถึงข้อมูลผ่านแอปพลิเคชันหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ง่ายขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องเชื่อมต่อกับสมาร์ตโฟนหรือคอมพิวเตอร์เท่านั้น

·  สกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) เข้ามาทำหน้าที่แทนสกุลเงินทั่วไป

เพื่อให้เป็นไปตามรูปแบบการกระจายอำนาจของ Web 3.0 จึงทำให้จะมีการใช้สกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) แทนที่สกุลเงินทั่วไป เพื่อลดการทำธุรกรรมผ่านตัวกลางอย่างธนาคารหรือแพลตฟอร์มชำระเงินดั้งเดิม

 

เทคโนโลยี Web 3.0 อัปเดตฉบับปี 2023

เพื่อให้เราเตรียมพร้อมเข้าสู่ Web 3.0 ในปี 2023 นี้ได้ดีขึ้น เราขอพามารู้จักเทคโนโลยีและแอปพลิเคชันที่จะมีบทบาทสำคัญและเป็นส่วนหนึ่งของอินเทอร์เน็ตยุคใหม่นี้!

Brave Brower

ถือเป็นแอปพลิชันที่ได้รับความนิยมมากที่สุดสำหรับ Web 3.0 ด้วยการใช้ระบบ Blockchain ดำเนินการ ทำให้มีจุดแข็งคือเรื่องความเป็นส่วนตัว พร้อมกันนั้นเว็บเบราว์เซอร์ตัวนี้ยังสามารถบล็อก Web Tracker และโฆษณาที่โชว์ในเบราว์เซอร์ให้อัตโนมัติ โดยที่ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปลั๊กอินใด ๆ ลงไปด้วย

Decentraland

Decentraland เป็นโลกเสมือนจริงที่อยู่บนระบบ Blockchain Ethereum อีกทีหนึ่ง โดยผู้ใช้ทั่วโลกสามารถพูดคุย โต้ตอบ หรือแม้แต่เล่นเกมกับผู้อื่นผ่านโลกเสมือนจริงนี้ได้

Storj

Storj คือระบบจัดเก็บไฟล์ที่มีระบบรักษาความปลอดภัยชั้นยอด เนื่องจากภายในจะมีระบบรักษาความเป็นส่วนตัวที่กำหนดให้ผู้ใช้เป็นเพียงผู้เดียวที่สามารถเข้าถึงข้อมูลของตนเองได้เท่านั้น ดังนั้น คนที่ใช้ระบบจัดเก็บไฟล์นี้จึงไม่จำเป็นต้องกังวลเรื่องการนำข้อมูลไปใช้โดยไม่ผ่านการยินยอม

Steemit

Steemit ถือเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียยุคใหม่ที่ตอบรับกับอินเทอร์เน็ตยุค 3.0 ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากแพลตฟอร์มนี้สร้างขึ้นภายใต้ระบบของ Blockchain ที่สิทธิความเป็นเจ้าของคอนเทนต์จะผูกติดกับผู้สร้างโดยไม่จำเป็นต้องผ่านตัวกลาง ดังนั้น หากเหล่า Content Creator สร้างสรรค์คอนเทนต์ผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลตัวนี้ ก็จะมั่นใจได้ว่าจะได้รับรายได้จากงานของตัวเอง 100%

DTube

DTube เป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียวิดีโอสตรีมมิ่งที่ทำงานภายใต้ระบบ Blockchain เช่นกัน ดังนั้น จุดแข็งของแพลตฟอร์มนี้จึงคล้ายคลึงกับ Steemit คือผู้สร้าง Content จะมีสิทธิได้รับรายได้จากคอนเทนต์ของตนเองโดยตรง ไม่ต้องผ่านตัวกลาง เพียงแต่เป็นการสร้างคอนเทนต์ในรูปแบบวิดีโอเท่านั้น

 

ข้อดีของ Web 3.0 ที่ผู้ใช้ต้องรู้

แล้วการเกิดขึ้นหรือเข้าสู่ Web 3.0 มีผลดีต่อผู้ใช้ทั่วโลกอย่างไรบ้าง?

อย่างที่ได้กล่าวไปว่า Web 3.0 เกิดขึ้นบนรากฐานของระบบ Blockchain ที่ทั้งผู้ใช้และเจ้าของแพลตฟอร์มใด ๆ ต่างก็มีสิทธิเท่าเทียมกัน ดังนั้น ข้อดีจึงอยู่ที่ผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องขออนุญาตเพื่อเข้าถึงบริการบนเครือข่าย ซึ่งก็หมายถึงบุคคลอื่นหรือแพลตฟอร์มใด ๆ ก็จะไม่สามารถปฏิเสธหรือปิดกั้นการเข้าถึงบริการของผู้ใช้งานได้ด้วย พร้อมกันนั้นการที่ Web 3.0 ใช้ระบบ Blockchain ที่เน้นมอบสิทธิความเป็นเจ้าของข้อมูลให้ผู้ใช้ 100% จึงทำให้มั่นใจได้ว่าข้อมูลส่วนบุคคลจะไม่ถูกนำไปใช้แสวงหาประโยชน์ทางการตลาดหรือแม้แต่ถูกเซนเซอร์จากบุคคลที่สามที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้สร้างสรรค์ผลงาน 

นอกจากนี้ ข้อดีอีกอย่างหนึ่งยังอยู่ที่การปรับมาทำงานบนเครือข่ายแบบ Decentralized ซึ่งเป็นเครือข่ายคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ เพราะการพัฒนาของอินเทอร์เน็ตที่ก้าวล้ำมากขึ้นเช่นนี้ ยังจะช่วยลดปัญหาเซิร์ฟเวอร์ล่มที่เคยเกิดขึ้นบ่อยครั้งในอินเทอร์เน็ตยุคก่อน ๆ อีกด้วย

 

Web 3.0 ก็มีข้อจำกัดเช่นกัน

แม้จะมีข้อดีมากมาย แต่ก็ใช่ว่า Web 3.0 จะไม่มีข้อจำกัด เพราะ Web 3.0 อาจจะยังไม่มีประสิทธิภาพในเรื่องของการขยาย Scalability มากนัก ทำให้การดำเนินธุรกรรมอาจล่าช้ากว่าเว็บไซต์แบบทั่วไป พร้อมกันนั้น การเข้าถึงการใช้งาน Web 3.0 ก็อาจยังไม่ได้แพร่หลาย เนื่องจากเทคโนโลยีที่ทำงานร่วมกับ Web 3.0 ยังมีออกมาไม่มากนัก อีกทั้งผู้ใช้งานเว็บเบราว์เซอร์ปัจจุบันก็ยังคงยึดติดและเชื่อถือบริการจากแพลตฟอร์มจาก Web 2.0 มากกว่า

web 3.0 มีอะไรบ้าง

สรุป

Web 3.0 ถือเป็นความก้าวล้ำทางอินเทอร์เน็ตที่น่าสนใจไม่น้อย เพราะนอกจากจะมอบประโยชน์ให้กับทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้อินเทอร์เน็ต Content Creator หรือแม้แต่เจ้าของแพลตฟอร์ม Web 3.0 ยังเป็นภาพสะท้อนให้เห็นแนวคิดสำคัญแห่งยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นการให้ความสำคัญเรื่องความเป็นส่วนตัว รวมถึงสิทธิและผลประโยชน์ที่ควรจะเป็นของผู้สร้างเอง 

ถ้าผู้ประกอบการคนใดสนใจอยากหยิบยกเทคโนโลยีของ Web 3.0 มาอัปเดตให้ธุรกิจของตนเอง แต่ก็ไม่รู้จะเริ่มอย่างไรดี แนะนำให้ปรึกษา Primal Digital Agency ของเราได้เลย เรามีผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมให้คำปรึกษา พร้อมแล้วก็ปรึกษาแผนการตลาดกับเราฟรีตอนนี้!