5 เทรนด์การตลาดธุรกิจท่องเที่ยวที่น่าจับตามอง ฉบับปี 2023

อย่างที่ทราบกันดีกว่า การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้ชีวิตประจำวันของเราเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง อีกทั้งยังมีระเบียบข้อปฏิบัติด้านความปลอดภัยต่าง ๆ ที่เราต้องยึดถือ โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว ที่ผู้คนไม่สามารถรวมตัว หรือเดินทางกันได้สะดวกเหมือนก่อนหน้านี้ ทำให้เหล่านักท่องเที่ยวก็ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปตามสถานการณ์ของโลกเช่นกัน

ทั้งนี้ ภายใต้มาตรการการเปิดประเทศ รูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป และแนวโน้มการท่องเที่ยวในอนาคต เป็นเหตุให้มีการปรับปรุงการให้บริการต่าง ๆ ให้ดีกว่าเดิม เช่น สายการบิน โรงแรม เป็นต้น ส่วนนักท่องเที่ยวก็ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยในการเดินทางมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19

วันนี้ เราจะมาแนะนำ 5 เทรนด์การตลาดธุรกิจท่องเที่ยว ฉบับปี 2023 พร้อมอัปเดตกลยุทธ์การตลาดท่องเที่ยว เพื่อให้ผู้ประกอบการพร้อมปรับตัวและมุ่งสู่โลกแห่งการท่องเที่ยวแบบปลอดภัย ไร้กังวล และได้รับความไว้วางใจจากนักเดินทางอย่างเต็มรูปแบบ

ทำการตลาดท่องเที่ยว 2023

5 เทรนด์การตลาดธุรกิจท่องเที่ยว ปี 2023

การท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Brighter Future of Culinary Tourism)

อาหาร คือหนึ่งในสัญลักษณ์ที่บ่งบอกความเป็นมาของสังคมและวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น ส่งผลให้การท่องเที่ยวเชิงอาหารเป็นรูปแบบการท่องเที่ยวที่จะช่วยดึงดูดทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติให้เดินทางไปยังท้องถิ่นต่าง ๆ โดยแต่ละพื้นที่ก็จะมีเมนูอาหารที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวแตกต่างกันไปตามวัฒนธรรม ทั้งวัตถุดิบและรสชาติ เช่น เชียงใหม่มีข้าวซอย สุราษฎร์ธานีมีของฝากเป็นไข่เค็ม ปราจีนบุรีขึ้นชื่อเรื่องผลไม้ หรือแม้แต่วัฒนธรรมการกินสมัยใหม่ที่ได้รับอิทธิพลมาจากเหล่าคนดัง ก็สามารถถูกหยิบยกมาเป็นจุดขายของท้องถิ่นได้เช่นกัน อาทิ ลูกชิ้นยืนกิน ที่โด่งดังมาจาก “ลิซ่า BLACKPINK” จนกลายเป็นไวรัล ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหารของจังหวัดบุรีรัมย์ได้ เป็นต้น

การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน (Sustain to Regain)

การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน คือ การท่องเที่ยวที่คำนึงถึงขีดความสามารถในการรองรับของธรรมชาติ ชุมชน ขนบธรรมเนียมประเพณี และวิถีชีวิตที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ทั้งยังต้องปลูกจิตสำนึกให้แก่นักท่องเที่ยว คนท้องถิ่น รวมถึงผู้ประกอบการและหน่วยงานต่าง ๆ โดยการสร้างหลักการเบื้องต้นในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เช่น การกระจายผลประโยชน์อย่างเป็นธรรมสู่ท้องถิ่น ให้ประสบการณ์นันทนาการที่มีคุณค่าแก่นักท่องเที่ยว พร้อมส่งเสริมการเรียนรู้และเข้าใจเกี่ยวกับพื้นที่ ทรัพยากร และวิถีชีวิต

การท่องเที่ยวพร้อมการทำงาน (Work from Anywhere & Digital Nomad)

การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เกิดเทรนด์ใหม่ คือการทำงานจากที่ไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศเพียงอย่างเดียว (Work from Anywhere) จึงทำให้สามารถเที่ยวไปด้วย ทำงานไปด้วยได้ เพื่อเปลี่ยนสภาพแวดล้อมในการทำงาน และสร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลาย อันจะนำมาซึ่งความคิดสร้างสรรค์ในการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และในขณะเดียวกัน ก็ถือเป็นการพยุงเทรนด์การตลาดธุรกิจท่องเที่ยวให้กลับมาฟื้นตัวอีกครั้งด้วย

ตัวอย่างอาชีพที่ส่วนมากสามารถทำงานไปด้วย ท่องเที่ยวไปด้วยได้ เช่น งานสายดิจิทัลเอเจนซี อีคอมเมิร์ซ ฟรีแลนซ์ คอนเทนต์ครีเอเตอร์ งานออกแบบ บล็อกเกอร์ ช่างภาพ เป็นต้น ดังนั้น สถานที่ท่องเที่ยวจึงต้องมีการอำนวยความสะดวกในเรื่องของบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ตฟรี (Wi-Fi) โดยเฉพาะธุรกิจคาเฟ ร้านอาหาร และโรงแรม เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้นั่งทำงานสบาย ๆ แล้วยังได้เปลี่ยนบรรยากาศในการทำงานใหม่อีกด้วย

การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ (Wellness a Gift from Pandemic)

ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลังเกิดโรคระบาด ผู้คนก็หันมาใส่ใจเรื่องของสุขภาพกันมากขึ้น ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยพลิกโฉมวงการธุรกิจท่องเที่ยวเลยทีเดียว โดยถือเป็นประวัติการณ์ที่ประชากรโลกราว 8 พันล้านคนเริ่มตื่นตัวและเห็นความสำคัญของเรื่องสุขภาพพร้อมกัน ทำให้ประเด็นเรื่องการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเติบโตขึ้นทันที โดยนักท่องเที่ยวนิยมเดินทางไปทำกิจกรรมที่สร้างคุณค่าต่อชีวิต เช่น การนั่งสมาธิ ออกกำลังกาย กินอาหารคลีน และอื่น ๆ ที่เป็นการท่องเที่ยวที่มีจิตสำนึกต่อการส่งเสริมสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ปรับสภาพจิตใจและร่างกายให้สมดุล อย่างการเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ เป็นต้น

นวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ทำให้โลกน่าอยู่ขึ้น (Innovation for a Betterment)

ในยุค 2023 นี้ ผู้คนเริ่มหันมาตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น ดังนั้น หนึ่งในเทรนด์การตลาดธุรกิจท่องเที่ยวที่สำคัญคือ การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ หรือพัฒนาของเดิมที่มีอยู่ให้ดีขึ้นอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการผลิต กลยุทธ์การตลาด โครงสร้างองค์กร เพื่อนำไปสู่การส่งเสริมสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและการสร้างมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

อัปเดตเทรนด์ท่องเที่ยว 2023

อัปเดตกลยุทธ์การตลาดท่องเที่ยว ปี 2023

การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบไปแทบทุกธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยว ประกอบกับเป็นยุคที่การตลาดดิจิทัลเริ่มเฟื่องฟู คนทำธุรกิจท่องเที่ยวจึงหันมาใช้ความพยายามในพาธุรกิจของตนเองเข้าสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อให้สามารถลดต้นทุนและเข้าถึงผู้บริโภคในวงกว้างได้มากขึ้น

และนี่คือกลยุทธ์การตลาดออนไลน์สำหรับธุรกิจท่องเที่ยวที่ผู้ประกอบการไม่ควรมองข้าม หากอยากฟื้นฟูธุรกิจให้กลับมาเติบโตได้อีกครั้งในปี 2023 นี้

กำหนดกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน

ก่อนจะเริ่มต้นวางกลยุทธ์การตลาดออนไลน์สำหรับธุรกิจท่องเที่ยว สิ่งที่ควรมีเป็นอย่างแรกคือ “กลุ่มเป้าหมาย” แม้จะบอกว่ากลุ่มเป้าหมายก็เป็นนักท่องเที่ยวเหมือนกันหมด แต่ความจริงแล้ว นักท่องเที่ยวแต่ละกลุ่มก็มีความแตกต่างกันอยู่ดี เช่น นักท่องเที่ยวบางกลุ่มชอบเที่ยวทะเล บางกลุ่มชอบเที่ยวภูเขา บางคนชอบเที่ยวคนเดียว บางคนชอบเดินทางกับเพื่อน ครอบครัว หรือคนรัก ดังนั้น เราจึงควรกำหนดกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจนก่อนที่จะวางกลยุทธ์ใด ๆ เพื่อให้ธุรกิจสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้มากที่สุด

รู้จักพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของกลุ่มเป้าหมาย

ผู้บริโภคมักมีพฤติกรรมการค้นหาสถานที่ท่องเที่ยว ตั๋วรถ ตั๋วเครื่องบิน หรือแม้แต่โรงแรมและที่พักต่าง ๆ ตามช่องทางออนไลน์ที่แตกต่างกันไป และนั่นคือสิ่งที่เราต้องศึกษาว่าพวกเขาเข้าไปค้นหาอะไร ที่ไหน และอย่างไร หรือกล่าวง่าย ๆ ว่าเป็นการทำความรู้จักพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของกลุ่มเป้าหมายนั่นเอง จากนั้น ก็ปรับเนื้อหาที่มีให้เข้ากับการใช้งานดังกล่าว รวมถึงเตรียมความพร้อมสำหรับช่วงเวลาต่าง ๆ ดังนี้

  • ช่วงที่ผู้ใช้งานกำลังค้นหาแรงบันดาลใจในการเดินทาง
  • ช่วงที่ผู้ใช้งานกำลังตัดสินใจเกี่ยวกับข้อมูลวันหยุดในช่วงนั้น ๆ 
  • ช่วงที่ผู้ใช้งานได้ตัดสินใจจองที่พักแล้ว
  • ช่วงที่ผู้ใช้งานกำลังค้นหาสิ่งที่อยากทำในการเดินทาง

เมื่อเรารู้ช่วงเวลาเหล่านี้ ก็จะทำให้สามารถสร้างสรรค์คอนเทนต์ออกมาได้ตรงกับจังหวะที่ผู้ใช้งานกำลังค้นหาสิ่งนั้น ๆ และเพิ่มโอกาสในการถูกเลือกมากขึ้น

สร้างสรรค์ Content Marketing

การทำ Content Marketing มีจุดประสงค์ในการสร้างคอนเทนต์ที่มีคุณค่าแก่ธุรกิจ เช่น การทำวิดีโอ รูปภาพ หรืออินโฟกราฟิกเพื่อการโฆษณา เป็นต้น เพื่อกระตุ้นความสนใจจากลูกค้าให้เข้ามารับชมสินค้าหรือบริการ โดยหากอยากให้คอนเทนต์ดูโดดเด่นขึ้นมาในช่วงเวลาที่เกือบทุกธุรกิจท่องเที่ยวทำคอนเทนต์คล้าย ๆ กัน ก็ควรสร้างสรรค์ออกมาให้แตกต่างจากคู่แข่ง และคงความเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ไว้เสมอ หรือติดต่อเอเจนซีผู้เชี่ยวชาญที่รับทำคอนเทนต์ เพื่อเพิ่มคุณภาพและความเป็นมืออาชีพของคอนเทนต์ให้มากขึ้น ทำให้สามารถดึงดูดผู้ชมได้มากกว่าเดิม

ทำ Local SEO

อีกหนึ่งการตลาดออนไลน์สำหรับธุรกิจท่องเที่ยว คือการใช้ประโยชน์จาก Local SEO เพื่อเพิ่มการเข้าชมเว็บไซต์ให้มากขึ้น เพราะ SEO หรือ Search Engine Optimization สามารถช่วยให้เว็บไซต์ของเราติดอันดับแรก ๆ บนหน้าการค้นหาได้ จากที่ไม่มีใครมองเห็นเว็บไซต์เลย แต่หากเราทำ Local SEO ได้อย่างถูกต้อง ก็ไม่แน่ว่ายอดคนเข้าเว็บไซต์อาจพุ่งขึ้นรัว ๆ แบบที่คาดไม่ถึงเลยทีเดียว

ทำโฆษณาแบบ PPC

ข้อได้เปรียบของโฆษณาแบบ PPC หรือ Pay Per Click อยู่ที่ความรวดเร็วและความแม่นยำของผลลัพธ์ เพราะการจ่ายเงินซื้อพื้นที่โฆษณาจะทำให้เว็บไซต์ของเราสามารถขึ้นอันดับต้น ๆ ได้เลยโดยไม่ต้องรอ ไม่ต้องเสี่ยงดวง ดังนั้น เมื่อผู้บริโภคค้นหาคีย์เวิร์ดเกี่ยวกับธุรกิจของเรา ก็จะเจอเว็บไซต์เราเป็นอันดับแรก ๆ แต่ข้อจำกัดคืออาจต้องใช้เงินลงทุนจำนวนหนึ่งในการประมูลเพื่อขึ้นเป็นอันดับแรก กระนั้น กลยุทธ์นี้ก็สามารถสร้าง Conversion Rate ได้ในอัตราที่สูงกว่าปกติ เรียกได้ว่าคุ้มค่ากับการลงทุนแน่นอน

 

สรุป

จะเห็นได้ว่า เทรนด์การตลาดธุรกิจท่องเที่ยวปี 2023 นี้ แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการท่องเที่ยวที่ดีขึ้น ด้วยการสร้างประสบการณ์ท่องเที่ยวที่มีความหมาย ดีต่อชีวิต จิตใจ และสังคม กลุ่มนักท่องเที่ยวยุคใหม่เองก็มีแนวโน้มที่จะมีความรับผิดชอบและรักษาความสะอาดมากขึ้น เพราะทุกคนต่างต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดการระบาดแพร่เชื้อโควิด-19 ใหม่อีกครั้ง

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจท่องเที่ยวหลายท่านต่างก็คาดการณ์ไว้ว่า ปีนี้ ธุรกิจท่องเที่ยวจะกลับมาบูมอีกครั้งแน่นอน เพราะผู้คนต่างก็รู้สึกอัดอั้นจากการอยู่บ้านเป็นปี ๆ และตื่นเต้นที่จะได้ออกมาเที่ยวอีกครั้ง ดังนั้น นี่จึงเป็นเวลาอันเหมาะสมที่ธุรกิจท่องเที่ยวจะกลับมาเริ่มวางแผนการตลาดให้ธุรกิจเติบโตได้ดีเหมือนเดิม

หากไม่มั่นใจในการทำการตลาด หรืออยากเพิ่มประสิทธิภาพในการถูกมองเห็น ติดต่อ Primal Digital Agency เพื่อรับบริการด้านการตลาดแบบครบวงจรได้เลยวันนี้