Green Marketing คืออะไร ช่วยโลกและธุรกิจไปพร้อมกันได้อย่างไร

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โลกเกิดการเปลี่ยนแปลงมากมาย เทคโนโลยีและระบบดิจิทัลพัฒนาถึงขีดสุด แต่ในทางตรงกันข้าม สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ กลับถูกทำลายจากการดำเนินกิจกรรมของมนุษย์ จนในที่สุดเกิดเป็นปัญหาทั้งอากาศที่ผันผวน ภาวะโลกร้อน ฝุ่นควัน หรือแม้แต่น้ำแข็งขั้วโลกเริ่มละลาย

สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้คนทั่วโลกเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย เพราะผู้บริโภคหลาย ๆ คน เริ่มหันมาใส่ใจในเรื่องของสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และเปลี่ยนมาใช้สินค้ารีไซเคิล หรือซื้อสินค้าจากแบรนด์ที่ตระหนักถึงสิ่งแวดล้อม ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นถึงแนวคิดของผู้บริโภคยุคใหม่ที่ต้องการแก้ไขปัญหานี้อย่างยั่งยืน

ด้วยเหตุนี้ Green Marketing หรือเทรนด์การตลาดสีเขียวจึงได้ถือกำเนิดขึ้น! ซึ่งเป็นการทำการตลาดที่มุ่งเน้นถึงความยั่งยืนและส่งเสริมการผลิตสินค้าที่คำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก และไม่ใช่เป็นเพียงกลยุทธ์ที่จัดทำขึ้นเพียงชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น แต่จะเป็นกลยุทธ์ที่จะช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมในระยะยาวผ่านวิสัยทัศน์ของธุรกิจ

แล้วกลยุทธ์ Green Marketing มีอะไรบ้าง? ที่จะช่วยขับเคลื่อนธุรกิจไปพร้อมกับการรักษ์โลก มารู้จักเทรนด์การตลาดสายกรีนนี้ไปด้วยกันได้เลย  

           

Green Marketing คืออะไร? 

ก่อนที่เราจะไปรู้จักกับกลยุทธ์สายกรีนนี้ให้มากขึ้น เรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่าแท้จริงแล้ว Green Marketing คืออะไรกันแน่? 

Green Marketing หรือที่รู้จักกันในชื่อของการ “การตลาดสีเขียว” คือกลยุทธ์ทางธุรกิจรูปแบบหนึ่งที่เน้นสร้างความยั่งยืนในเรื่องรักษาสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการทำธุรกิจ อาจจะอยู่ในรูปแบบของการส่งเสริมการผลิตสินค้าและบริการที่คำนึงถึงประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก หรือสร้างสรรค์สินค้าที่มีคุณสมบัติและกระบวนการผลิตบางอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความใส่ใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมก็ได้

สำหรับการทำ Green Marketing นั้น จะเป็นการสร้างแนวคิดรักษ์โลกให้แทรกซึมอยู่ในทุกกระบวนการของธุรกิจ ยกตัวอย่างเช่น กระบวนการผลิตสินค้าที่ช่วยลดการปล่อยสารพิษและการทำลายโอโซนในชั้นบรรยากาศ กระบวนการผลิตสินค้าจากวัสดุรีไซเคิลที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ กระบวนการผลิตสินค้าจากวัตถุดิบที่ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ หรือแม้แต่กระบวนการลดใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำขึ้นเพื่อลดปริมาณการสร้างขยะที่มากเกินไป แต่ไม่ว่าจะเป็นวิธีการในรูปแบบใดก็ตาม หากมีจุดประสงค์เพื่อช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมก็นับว่าเป็น Green Marketing ด้วยกันทั้งสิ้น

green marketing มีอะไรบ้าง

 

กลยุทธ์ 4P สำหรับแนวทางแบบธุรกิจสายกรีน

แล้วผู้ประกอบการหรือนักการตลาดจะสามารถนำ Green Marketing มาปรับใช้กับธุรกิจของตัวเองได้อย่างไรบ้างล่ะ?

สำหรับนักการตลาดที่สนใจนำการตลาดนี้ไปปรับใช้กับธุรกิจ ไม่จำเป็นต้องรื้อกลยุทธ์แบบเดิมของตัวเองเลยแม้แต่น้อย แต่สามารถวางแผนการทำ Green Marketing โดยอ้างอิงจากกลยุทธ์ 4P แบบเดิมที่เคยใช้ ๆ กันได้ โดยมีแนวทางดังนี้

 

1.   P – Product, Green Product สินค้าสีเขียว

ปัจจัยแรกของกลยุทธ์ 4P ก็คือ Product หรือสินค้า อันเปรียบเสมือนหัวใจสำคัญสำหรับการทำธุรกิจ โดยสินค้าในที่นี้อาจเป็นรูปแบบที่จับต้องได้ หรือบริการที่จับต้องไม่ได้ เพียงแต่เป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อเสนอขายให้กับผู้บริโภคก็นับว่าเป็น Product ได้ทั้งหมด 

สำหรับสินค้าที่สอดคล้องกับแนวทางของ Green Marketing ก็ไม่ได้มีอะไรซับซ้อน ผู้ประกอบการสามารถวางแผนสร้างสรรค์สินค้าด้วยการวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ในรูปแบบเดิม เพียงแต่ใส่แนวคิดเรื่องสิ่งแวดล้อมเข้าไปเป็นหัวใจหลักเพิ่มเติมด้วย เช่น เลือกผลิตสินค้าจากวัสดุย่อยสลายได้ เลือกกระบวนการผลิตที่ไม่ปล่อยสารพิษทำร้ายโลก หรือแม้แต่ออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ใช้งานได้ทนทานและยั่งยืนที่สุดเพื่อลดการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง เพียงเท่านี้ก็ถือเป็นการใช้กลยุทธ์ P-Product ในแนวทางของ Green Marketing แล้ว 

2.   P – Price, Green Price ราคาสีเขียว

สำหรับเรื่องการตั้งราคาสินค้าและบริการตามแนวคิด Green Marketing นอกจากต้องคำนึงถึง Brand Positioning รวมถึงรูปแบบการจ่ายเงิน หรือส่วนลดแล้ว ยังควรคำนึงถึงต้นทุนการผลิตและต้นทุนเรื่องสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปด้วย

สำหรับต้นทุนสิ่งแวดล้อม ในบางกรณีอาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมนอกเหนือไปจากต้นทุนสินค้าแบบปกติ อย่างไรก็ตาม หากคิดต้นทุนตามวิสัยทัศน์ของการตลาดแบบยั่งยืน ต้นทุนตรงนี้ก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นโดยเสียเปล่า แต่กลับเป็นการลงทุนระยะยาวที่ให้ผลตอบแทนทั้งภาพลักษณ์และผลกำไรอย่างยั่งยืน ดังนั้น ผู้ประกอบการอาจจำเป็นต้องวิเคราะห์ถึงเรื่องของต้นทุนไปพร้อมกับการกำหนดราคาโดยคำนึงถึงความคุ้มค่าในมุมมองของลูกค้า เพื่อให้พวกเขามั่นใจว่าสินค้ามีคุณภาพ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และมีประโยชน์กับโลกในระยะยาว

3.   P – Place, Green Place สถานที่สีเขียว

สำหรับกลยุทธ์ด้านสถานที่ในแนวทางการทำ Green Marketing อาจหมายถึงสถานที่การจัดจำหน่ายที่ครอบคลุมไปถึงกระบวนการขนส่งต่าง ๆ เพื่อให้สินค้าและบริการไปถึงมือผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว

ดังนั้น นอกจากจะต้องคำนึงเรื่องการจัดจำหน่ายในทำเลที่เหมาะสมที่สุดและใกล้ชิดกับลูกค้าให้มากที่สุดแล้ว ยังควรตระหนักถึงเรื่องวิธีการกระจายสินค้าโดยใช้ทรัพยากรให้น้อยที่สุด เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกันด้วย เช่น การจัดจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ หรือการจัดส่งสินค้าให้ลูกค้าในปริมาณมาก ๆ เพื่อลดการใช้ทรัพยากรการขนส่งที่สิ้นเปลือง เป็นต้น

4.   P – Promotion โปรโมชันสีเขียว

สำหรับการทำโปรโมชันหรือโฆษณา หลัก ๆ แล้ว จะเป็นการส่งเสริมการขายและทำให้ผู้บริโภครู้จักแบรนด์มากขึ้นในวงกว้าง แต่สำหรับการทำกลยุทธ์ P – Promotion ในแนวทางของ Green Marketing นั้น อาจมีวัตถุประสงค์เพิ่มเติมขึ้นมาเล็กน้อย ตรงที่การเผยแพร่ข่าวสารให้กับผู้บริโภคควรให้ความสำคัญในเรื่องรักษาสิ่งแวดล้อมเข้าไปด้วย  

ในการสื่อสารแนวคิดรักษ์สิ่งแวดล้อมออกไปสู่วงกว้าง อาจเน้นย้ำว่าธุรกิจทำอะไรเพื่อสิ่งแวดล้อมได้บ้าง (What) หรือสินค้าที่ผลิตออกมาเชื่อมโยงกับการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างไร (How) และสินค้าช่วยอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าใช้ชีวิตแบบไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมได้ง่ายขึ้นไหม (For Whom) ซึ่งหากนักการตลาดสามารถสื่อสารกลยุทธ์ Green Marketing ได้มีประสิทธิภาพมากพอ ก็จะช่วยทำให้ภาพลักษณ์ของแบรนด์ดีขึ้นได้ด้วย

กลยุทธ์ green marketing

 

ประโยชน์ของ Green Marketing

นอกจากช่วยโลกในเรื่องของสิ่งแวดล้อมแล้ว หลายคนอาจสงสัยว่าแล้ว Green Marketing มีประโยชน์ต่อธุรกิจอย่างไรอีกบ้าง? 

1.  เจาะกลุ่มตลาดใหม่

ผู้บริโภคสายกรีนถือเป็นกลุ่มตลาดใหม่ที่น่าสนใจ เพราะนอกจากจะมีแนวโน้มเติบโตมากขึ้นในอนาคต ยังเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อและยินดีที่จะจ่ายเงินหากได้สินค้าที่ตอบโจทย์ในเรื่องสิ่งแวดล้อมจริง ๆ ดังนั้น การทำ Green Marketing จึงอาจเป็นประโยชน์ให้ธุรกิจสามารถเจาะตลาดกลุ่มใหม่ ๆ ที่มีคุณภาพ และสร้างผลกำไรได้อย่างยั่งยืน  

2.  ส่งเสริมภาพลักษณ์ธุรกิจให้ดีขึ้น

Green Marketing ช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้กับธุรกิจได้! เพราะในสายตาของผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อ มักจะมองหาสินค้าหรือบริการที่คำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ยิ่งถ้าเป็นธุรกิจที่ตระหนักถึงข้อนี้ด้วยแล้ว มีแนวโน้มได้ใจลูกค้าและกลุ่มคนที่มีอุดมการณ์เดียวกัน ดังนั้น ถ้าผู้ประกอบการหรือนักการตลาดคนไหนกำลังมองหากลยุทธ์สร้างภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือ Green Marketing ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ตอบโจทย์อย่างมาก

3.  ลดต้นทุน เพิ่มกำไรระยะยาว

Green Marketing ยังมีหัวใจสำคัญว่าด้วยการใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างคุ้มค่าเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ดังนั้น หากสามารถผลิตสินค้าตามแนวทางนี้ได้ ก็อาจทำให้ผู้ประกอบการลดต้นทุนลงไปพร้อม ๆ กับสร้างผลกำไรจากกลุ่มตลาดใหม่ในระยะยาวได้อีกด้วย

4.  หนทางแห่งนวัตกรรมใหม่ ๆ

ด้วยเครื่องมือและกระบวนการผลิตแบบเดิม ๆ อาจไม่ได้ตอบโจทย์กระบวนการผลิตเพื่อสิ่งแวดล้อมสักเท่าไร ดังนั้น การทำ Green Marketing จึงเปิดโอกาสให้ธุรกิจลงทุนกับการสร้างสรรค์นวัตกรรมเครื่องจักรชิ้นใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์การรักษาสิ่งแวดล้อมได้ตั้งแต่เริ่มกระบวนการผลิต

ถึงแม้การลงทุนกับเครื่องไม้เครื่องมืออาจเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิตในระยะแรก แต่ถ้าเทียบกับการเติบโตของธุรกิจอย่างยั่งยืนแล้ว ถือว่าคุ้มค่าแก่การลงทุน 

5.  ทางเลือกสู่การเติบโตในระยะยาว

ทั้งค่าใช้จ่ายในการเจาะกลุ่มตลาดใหม่ เงินที่เสียไปเพื่อโปรโมตวิสัยทัศน์ของแบรนด์ หรือแม้แต่เงินลงทุนเพื่อสร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์สิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะ ทั้งหมดนี้อาจทำให้การทำ Green Marketing ใช้เงินลงทุนสูงในระยะเริ่มแรก อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับผลตอบแทนและความมั่นคงในระยะยาวแล้วก็นับว่าคุ้มค่า

เพราะปัจจุบันแนวโน้มที่ผู้คนจะต้องการสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น บริษัทที่มุ่งมั่นสร้างความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมจึงมีโอกาสได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคมากกว่า ทำให้มีโอกาสสร้างรายได้และการเติบโตของธุรกิจในระยะยาวได้มากกว่า

 

กรณีศึกษา

เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น เราจะขอยก Case Study แบรนด์ดังที่นำเอา Green Marketing มาประยุกต์ใช้กับธุรกิจของตนเอง

SCG

SCG องค์กรเครือซีเมนต์ไทย เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ดำเนินนโยบายเพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นนโยบายอนุรักษ์และฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ นโยบายสิ่งแวดล้อมและสภาพอากาศ ทั้งหมดทั้งมวลเริ่มต้นตั้งแต่กระบวนการผลิต การขนส่ง รวมไปถึงการทำแพ็กเก็จจิงที่ง่ายต่อการย่อยสลาย สิ่งนี้จึงทำให้ SCG เป็นหนึ่งในธุรกิจไทยที่น่าจับตามองและน่าสนับสนุนในระยะยาว

Starbuck

Starbuck ก็เป็นหนึ่งในบริษัทที่ดำเนินนโยบายตามแนวทาง Green Marketing เช่นเดียวกัน ดังจะเห็นได้จากการการใช้ Solar Cell แทนการใช้พลังงานไฟฟ้า รวมถึงมีการออกแคมเปญให้ลูกค้าใช้แก้วรีไซเคิลเพื่อลดปริมาณขยะพลาสติก พร้อมทั้งสร้างแคมเปญรณรงค์ให้ลูกค้าเข้าร่วมกิจกรรมปลูกต้นไม้และทาสีถนนบนโซเชียลมีเดีย ที่นอกจากจะช่วยโลกแล้ว ยังส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้กับแบรนด์อีกด้วย

IKEA

IKEA ได้ออกแคมเปญมากมายที่ส่งเสริมแนวทางการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างเช่น แคมเปญการรับซื้อ-ขายเฟอร์นิเจอร์มือสอง ที่ให้ลูกค้านำเฟอร์นิเจอร์เก่าคุณภาพดีของตนเองมาฝากขาย ซึ่งหากลูกค้าคนไหนสนใจก็สามารถซื้อได้ในราคาที่ถูกกว่าราคาตั้งต้น เรียกว่าได้ประโยชน์กันทุกด้าน โลกก็ไม่ต้องมีเฟอร์นิเจอร์เหลือทิ้งเป็นขยะ แถมยังส่งเสริมภาพลักษณ์ให้แบรนด์ดูใส่ใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมและการรีไซเคิลมากขึ้นไปอีก

 

สรุป

จะเห็นได้เลยว่า Green Marketing ไม่ใช่เพียงแคมเปญสีเขียวฉาบฉวยเพื่อดึงดูดใจลูกค้า แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงนโยบายธุรกิจให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่สามารถช่วยส่งเสริมทั้งภาพลักษณ์ และเจาะตลาดกลุ่มลูกค้ากลุ่มใหม่ พร้อมทั้งสร้างโลกที่ดีกว่าเพื่อคนรุ่นต่อไป

และหากผู้ประกอบการท่านใดยังไม่มั่นใจว่าธุรกิจของตนเองเหมาะสมกับการใช้เทคนิคหรือกลยุทธ์แบบใด หรือต้องการความช่วยเหลือด้านการทำการตลาดเพื่อให้ถึงเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ สามารถติดต่อผู้เชี่ยวชาญ Primal Digital Agency เพื่อรับคำปรึกษาที่ออกแบบมาเพื่อธุรกิจของคุณโดยเฉพาะได้เลย!