Anti-Valentine’s Day Marketing แคมเปญการตลาดเอาใจคนโสด

ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นห้วงเวลาของเทศกาลแห่งความรักอย่าง “วันวาเลนไทน์” เราจะเห็นว่า ไม่ว่าจะเลื่อนผ่านหน้าฟีดแอปพลิเคชันไหน ๆ ก็จะเต็มไปด้วยแคมเปญต้อนรับวันวาเลนไทน์จากเหล่าแบรนด์ต่าง ๆ ทั้งนั้น ไหนจะโปรโมชันมา 2 จ่าย 1 เซตเมนูคู่รักในร้านอาหาร โปรโมชันมาเป็นคู่รับส่วนลดพิเศษ หรือการแจกของขวัญให้กับลูกค้าที่มาใช้บริการเป็นคู่ ฯลฯ ซึ่งการทำเช่นนี้ ก็ต้องบอกว่าเป็นกลยุทธ์ที่ได้ผลมากทีเดียว เพราะเป็นการตลาดแบบ Real-Time Marketing ที่กระตุ้นความสนใจของผู้บริโภคในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ ได้ดี

แต่ ! แบรนด์ทั้งหลายเหล่านี้อาจลืมไปว่า แม้คนมีคู่จะออกไปเดตกันหวานชื่นในวันวาเลนไทน์ ทว่ายังมีกลุ่มคนโสดที่ฉายเดี่ยว อยากออกไปโซโลเดตแบบจอย ๆ โดยที่ไม่ต้องถูกมองด้วยสายตาแปลก ๆ อยู่เหมือนกัน ส่งผลให้บางที แคมเปญการตลาดที่เอาใจแต่ลูกค้าที่เป็นคู่รักอย่างเดียว อาจดูเหมือนเราละเลยลูกค้าอีกกลุ่มไปได้

บทความนี้จึงจะมาเล่าถึงกลยุทธ์การตลาดเพื่อคนโสดที่เรียกว่า “Anti-Valentine’s Day Marketing” ตะโกนบอกให้โลกรู้ไปเลยว่าคนโสดก็มีหัวใจ !

 

Anti-Valentine’s Day Marketing คืออะไร

เมื่อช่วงปี 2019 ก่อนจะเกิดโรคโควิด-19 แบรนด์ฝั่งตะวันตกจำนวนมากได้ทำการตลาดแคมเปญสวนกระแสวันแห่งความรักขึ้น และเสียงตอบรับก็ดีเกินคาด จนเกิดเป็นเทรนด์ “Anti-Valentine’s Day” ที่ไวรัลไปทั่วโลก จนปีต่อ ๆ มา ธุรกิจต่าง ๆ ก็นำเทรนด์นี้มาปรับใช้ในการทำแคมเปญโปรโมตแบรนด์ตัวเอง เรียกว่าเป็นกลยุทธ์ Anti-Valentine’s Day Marketing หรือการตลาดเพื่อเอาใจกลุ่มลูกค้าที่โสด ไม่อินกับวันวาเลนไทน์ โดยสามารถทำได้หลากหลายรูปแบบ แล้วแต่แบรนด์จะสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นการคิดโปรโมชันที่ให้คนโสดสามารถมีส่วนร่วมด้วยได้ หรือการทำคอนเทนต์บอกข้อดีของการเป็นโสด หรือจะมาแนวตัดพ้อคนมีคู่แบบขำ ๆ เอาฮาก็ได้ รับรองว่าได้ใจเหล่าประชากรที่ยังโสดแน่นอน

การตลาดสำหรับคนที่ไม่อินวันวาเลนไทน์

ทำไม Anti-Valentine’s Day Marketing ถึงใช้ได้ผล

ทั้งที่หันไปทางไหนก็มีแต่คนรักกันหวานชื่น เหมือนเราเป็นโสดอยู่คนเดียวแท้ ๆ แต่ทำไม Anti-Valentine’s Day Marketing ถึงได้กระแสตอบรับดีจัง !?

แม้ว่าเมื่อพูดถึงวาเลนไทน์ หลายคนจะนึกถึงความรักในรูปแบบแฟน ซึ่งความจริงแล้ว วาเลนไทน์ไม่ใช่วันสำหรับคู่รักเท่านั้น แต่ยังเป็นความรักในรูปแบบการรักคนในครอบครัวอย่างพ่อ แม่ พี่น้อง หรือจะรักเพื่อน รักตัวเองก็ได้เช่นกัน ! โดยผลสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคในปี 2019 ที่กระแส Anti-Valentine’s Day กำลังบูม พบว่า มีคนมากถึง 70% ที่เกิดในช่วงทศวรรษ 1980s ซื้อดอกไม้ให้ตัวเอง และ 40% ซื้อดอกไม้ให้พ่อแม่ในวันวาเลนไทน์

นอกจากนี้ สถิติของ Economic Intelligence Center (EIC) ยังระบุอีกด้วยว่า

  • คนโสดใช้จ่ายไปกับการท่องเที่ยวมากกว่าคนมีครอบครัว 40%
  • คนโสดมีอัตราการกินอาหารนอกบ้านมากกว่าคนมีครอบครัว 12%
  • คนโสดใช้จ่ายไปกับการซื้อความบันเทิงอื่น ๆ เช่น ดูหนัง ดูคอนเสิร์ต ร้องคาราโอเกะ ฯลฯ มากกว่าคนมีครอบครัว 5%

จะเห็นได้ว่า กลุ่มผู้บริโภคที่ยังโสด เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง อาจด้วยเพราะไม่มีภาระหน้าที่ที่ต้องใช้จ่ายมากเท่าคนมีครอบครัว ทั้งยังมีนิสัยชอบซื้อความสุขให้ตัวเอง ใช้ชีวิตอย่างอิสระ อยากจะไปไหนก็ไป อยากจะกินอะไรก็กิน ดังนั้น ช่วงวาเลนไทน์จึงไม่ใช่ช่วงที่แบรนด์ต้องตักตวงโอกาสจากเฉพาะคนมีคู่เท่านั้น แต่กลุ่มคนโสดก็เป็นเป้าหมายหลักของเทศกาลนี้เช่นกัน !

 

ไอเดียการทำแคมเปญ Anti-Valentine’s Day Marketing

นำเสนอโปรโมชันที่ทำให้คนโสดรู้สึกพิเศษ

โดยปกติแล้ว เรามักจะเห็นโปรโมชันที่เอาใจเฉพาะคนมีคู่เท่านั้น คราวนี้ให้ลองหันมาให้ความสำคัญกับกลุ่มลูกค้าที่โสดกันบ้าง ไม่อย่างนั้น คนโสดก็ไม่เลือกอุดหนุนเราในวันวาเลนไทน์กันพอดี เพราะดูเหมือนร้านอยากจะต้อนรับแค่คนมีแฟนเท่านั้น โดยโปรโมชันที่สามารถทำได้ เช่น มอบส่วนลดให้ลูกค้าที่มาคนเดียว หรือมีการแจกดอกไม้ ลูกอม หรือขนมไว้สำหรับทุกโต๊ะเพื่อแสดงถึงความใส่ใจ ไม่ว่าลูกค้าโต๊ะนั้นจะมาคนเดียว มากับคนรัก หรือมากับเพื่อน ๆ ก็ตาม

ทำ Real-Time Content แต่เปลี่ยนมาเอาใจคนโสดบ้าง

พูดถึง Real-Time Content ในช่วงวาเลนไทน์ หลายคนก็คงจะนึกถึงคอนเทนต์ที่สื่อถึงความรัก พูดถึงหวานใจ หรือตอกย้ำคนโสดแบบตลก ๆ ว่าการมีแฟนดีอย่างไร แต่ลองนึกดูว่า หากเราเปลี่ยนมาสวนกระแส เป็นการทำคอนเทนต์เพื่อคนโสดในวันวาเลนไทน์บ้าง กระแสตอบรับจะดีแค่ไหน เช่น อาจเป็นการพูดถึงข้อดีของการเป็นโสด บอกให้คนที่ชอบแซวคนโสดรู้ว่าคนโสดก็ไม่ได้เหงาเสียหน่อย หรือจะเป็นคอนเทนต์แนวรักตัวเอง แล้วโยงเข้าสินค้าและบริการของแบรนด์เลยก็ได้ ว่าให้มาซื้อผลิตภัณฑ์ของเราเพื่อเป็นของขวัญให้กับตัวเองในวันวาเลนไทน์

เปลี่ยน Valentine’s Day ให้เป็น Palentine’s Day

Palentine’s Day ถือกำเนิดมาจาก Galentine’s Day ในสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2011 โดย “Gal” เลียนเสียงมาจากคำว่า “Girl” ซึ่งสื่อถึงเหล่าเพื่อนหญิงพลังหญิงที่รวมตัวกันจัดปาร์ตีฉลองในวันก่อนวาเลนไทน์ 1 วัน จากนั้นมา วันที่ 13 กุมภาพันธ์ของทุกปีก็กลายเป็น Galentine’s Day หรือถ้าจะพูดแบบไม่จำกัดเพศว่าต้องเป็นหญิงเท่านั้น ก็ใช้คำว่า Palentine’s Day ซึ่งถือเป็น “วันแห่งมิตรภาพ” ไปเลย ไม่ว่าจะเป็นเพศหญิง ชาย หรือ LGBTQIA+ ก็สามารถมาฉลองกับแก๊งเพื่อนในวันวาเลนไทน์ที่ร้านของเรา หรือมีส่วนร่วมในโปรโมชันวันวาเลนไทน์ของทางแบรนด์ได้ 

สื่อสารอย่างเป็นกันเอง ให้ความรู้สึกเหมือนโสดเป็นเพื่อนกัน

ข้อนี้สำคัญมาก คือ ทุกแคมเปญที่เราทำออกไป ต้องเป็นการสื่อสารแบบเป็นกันเอง ทำให้คนโสดที่ผ่านมาเห็น รู้สึกว่าเรากำลังโสดเป็นเพื่อนกัน ไม่ได้โสดอยู่คนเดียวในโลกเสียหน่อย เป็นเทคนิคเชิงจิตวิทยาที่จะทำให้ผู้อ่านรู้สึกมีอารมณ์ร่วมกับแบรนด์ และมีโอกาสมอบความไว้วางใจให้กับเรามากขึ้น ที่อาจถึงขั้นเปิดเข้ามาดูในเพจหรือเว็บไซต์แล้วตามมาอุดหนุนเลยก็ได้ หากสินค้าหรือบริการของเรากำลังเป็นที่ต้องการของลูกค้ารายนั้น ๆ พอดี

การใช้กลยุทธ์ Anti-Valentine’s Day Marketing

Anti-Valentine’s Day Marketing ส่งเสริมความสนุกให้ชีวิตโสด

การทำการตลาดแบบ Real-Time โดยการอิงตามกระแสหรือเทศกาลในช่วงนั้น ๆ เป็นเรื่องที่ดี และพิสูจน์มาแล้วจากหลายแบรนด์ว่าประสบความสำเร็จจริง ดังนั้น การจะทำการตลาดเพื่อเอาใจคนมีแฟนในวันวาเลนไทน์ก็ไม่ใช่เรื่องผิดแปลก แต่การนำเสนอเรื่องราวของ Anti-Valentine’s Day Marketing ในบทความนี้ ก็เพื่อจะสื่อว่าไม่อยากให้เหล่าธุรกิจหลงลืมลูกค้าอีกกลุ่มไป เพราะลูกค้าทุกคนล้วนมีความสำคัญต่อเรา การจะทำโปรโมชันพิเศษให้เฉพาะแค่ลูกค้าที่เป็นคู่รักนั้น อาจทำให้ลูกค้าที่เป็นโสดบางคนรู้สึกว่าร้านเราไม่ยินดีต้อนรับพวกเขาในวันแห่งความรัก 

จะดีกว่าหรือไม่ หากเราหันมาให้ความสำคัญกับลูกค้าทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม ด้วยการเปลี่ยน Valentine’s Day Marketing แบบเดิม ๆ ที่เน้นเจาะแต่กลุ่มคู่รัก มาเป็น Valentine’s Day ที่ส่งเสริมทั้งการรักครอบครัว รักเพื่อน รักแฟน และรักตัวเองไปพร้อม ๆ กัน

สำหรับผู้ประกอบการคนใดที่กำลังมองหาความช่วยเหลือในการวางแผนกลยุทธ์การตลาดออนไลน์ Primal Digital Agency เป็นเอเจนซีการตลาดที่มีผู้เชี่ยวชาญกว่า 150 คน พร้อมให้คำปรึกษาและแนะนำในทุกแง่มุมของการทำธุรกิจ ติดต่อเราได้เลยวันนี้