ชวนวิเคราะห์อดีตแอปฯ ดัง ทำไม Clubhouse ไม่ประสบความสำเร็จ?

Clubhouse คือ แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่มาในรูปแบบของคอนเทนต์ประเภทเดียวคือ “เสียง” โดยเป็นเสียงที่มาจากการจัดรายการสด ไม่มีภาพ ไม่มีข้อความใด ๆ เปรียบเสมือนห้องสโมสรที่รวมผู้ที่สนใจหัวข้อหรือเรื่องราวคล้าย ๆ กัน ให้สามารถเข้ามาพูดคุยแลกเปลื่ยนและแสดงความคิดเห็นกัน 

เรียกได้ว่าแอปพลิเคชันดังกล่าวได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในช่วงต้นปี 2564 โดยในเดือนกุมภาพันธ์ปีนั้น Clubhouse มียอดดาวน์โหลดบนแอปสโตร์มากกว่า 8 ล้านครั้ง หากแต่ภายในเวลาไม่กี่เดือน ตัวเลขข้างต้นก็ตกมาเหลือเพียงหลักแสนเท่านั้น เป็นสัญญาณว่าแพลตฟอร์มนี้ “ไม่ปังอย่างที่คิด”

จากรายงานของ SensorTower ระบุว่า ในเดือนเมษายนของปีเดียวกัน ยอดดาวน์โหลดทั่วโลกของ Clubhouse ลดเหลือเพียง 922,000 ครั้ง คิดเป็น 66% เมื่อเทียบกับในเดือนมีนาคมซึ่งมียอดดาวน์โหลด 2.7 ล้านครั้ง และการที่ตัวเลขลดลงอย่างมีนัยสำคัญนี้เองที่ทำให้ Clubhouse กลายเป็นแอปฯ ที่ดังในชั่วข้ามคืนและดับลงในระยะเวลาไม่กี่เดือน บทความนี้จึงจะมาชวนวิเคราะห์กันว่า เหตุผลอะไรที่ทำให้ผู้ใช้งานสนใจในตัวแพลตฟอร์มน้อยลง อันส่งผลให้ Clubhouse ไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นในคราแรก

ทำไม Clubhouse หายไปเร็ว

มีแพลตฟอร์มอื่นที่น่าเล่นกว่า

แน่นอนว่าเหล่าคอนเทนต์ครีเอเตอร์ที่สร้างฐานผู้ติดตามขึ้นมาได้เป็นจำนวนมากแล้ว ไม่ว่าจะบนแพลตฟอร์มไหนก็ตาม ล้วนแล้วแต่ไม่มีใครอยากทิ้งตัวเลขที่มีค่าเหล่านั้นไป นอกเสียจากว่ามีแพลตฟอร์มอื่นที่รู้สึกว่าจะทำให้แอ็กเคานต์ของตนเองหรือคอนเทนต์ที่ทำ “ปังมากกว่า” และ Clubhouse เองก็ตกอยู่ในสภาวะเช่นนั้น กล่าวคือ ความน่าสนใจของตัวแอปพลิเคชันยังสู้แอปฯ อื่นไม่ได้

ในฐานะโฮสต์ของห้องสนทนาห้องใดห้องหนึ่งบน Clubhouse เราก็มักจะเปิดห้องมาพูดคุยกันแต่ในหัวข้อเดิม ๆ ที่เราสนใจหรือเชี่ยวชาญเท่านั้น ซึ่งคนที่เข้ามาฟังก็จะวนเวียนสลับเปลี่ยนกันไป คนเคยฟังแล้วก็อาจไม่เข้ามาฟังอีก เพราะไม่มีใครอยากฟังเรื่องเดิม ๆ ทุกวัน เว้นแต่ว่าพวกเขาจะสนใจเรื่องดังกล่าวจริง ๆ แต่อย่างไรก็ดี สุดท้ายแล้วเมื่อพวกเขาเบื่อ พวกเขาก็จะไปหาห้องอื่น ๆ ฟังแทนเพื่อเพิ่มความหลากหลาย 

ดังนั้น นี่อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้ยอดผู้ติดตามของเราลดลงเรื่อย ๆ จนกระทั่งยอดนิ่ง ไม่มีผู้ติดตามเพิ่ม และถึงแม้บางทีผู้ติดตามอาจจะไม่ได้ลด แต่วันหนึ่งก็ไม่มีใครสนใจคอนเทนต์ของเราอย่างที่เคยอีก ซึ่งปัญหาในส่วนนี้เป็นที่น่ากังวลสำหรับนักการตลาดมาก เพราะในการทำการตลาดนั้น เรามักโฟกัสที่การเติบโตของตัวเลขเสมอ หากยอดลดลงไป นั่นเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงการไม่ประสบความสำเร็จ หลายคนจึงรู้สึกว่าเอาเวลาไปทำคอนเทนต์บนแพลตฟอร์มอื่นดีกว่าที่จะมาหยุดการเจริญเติบโตของช่องตัวเองบน Clubhouse และเมื่อคนเริ่มหันไปใช้งานแพลตฟอร์มอื่นแทน ก็ทำให้ Clubhouse หมดกระแสลงอย่างช่วยไม่ได้

 

สังคมท็อกซิกบนแพลตฟอร์ม

สังคมบน Clubhouse นั้นทุกคนล้วนต้องการความโดดเด่น และด้วยความที่แพลตฟอร์มนี้เปิดโอกาสให้ทุกคนแสดงความคิดเห็นกันอย่างเท่าเทียม จึงไม่มีใครที่อยู่ในตำแหน่ง “ผู้นำ” หรือ “หัวหน้า” ของห้องที่จะคอยจัดระเบียบของคนที่เข้ามาฟัง ส่งผลให้เกิดความวุ่นวายอยู่บ่อยครั้ง เพราะทุกคนก็อยากจะได้รับการมองเห็น ได้รับการชื่นชมและการยอมรับ จึงต้องแก่งแย่งชิงดีตำแหน่งการเป็นผู้นำหรือหัวหน้าของห้องนั้น ๆ ให้ได้ด้วยการมีบทพูดเยอะ ๆ หรือแม้แต่การพูดอะไรก็ได้ที่ทำให้คนอื่นให้ความสนใจตนเอง ซึ่งในส่วนนี้ Clubhouse อาจต้องไปคิดใหม่แล้วว่า จุดเด่นของแอปพลิเคชันที่สร้างขึ้นมาเพื่อให้คนในสังคมมารวมตัวกัน พูดคุย และแสดงความคิดเห็นในเรื่องที่สนใจเหมือนกันนั้น เป็นการสร้างความปรองดองหรือความแตกแยกกันแน่

นอกจากนี้ ในช่วงแรกของการถือกำเนิดขึ้นของแพลตฟอร์มนั้น ไม่มีฟีเจอร์บันทึกเสียงไว้ฟังย้อนหลัง ซึ่งส่งผลให้ผู้ใช้งานเกิดอาการ “Fear of Missing Out (FOMO)” กล่าวคือ เป็นความกลัวว่าจะพลาดหากไม่ได้เข้าไปฟัง ทำให้ผู้ใช้งานหลายคนมีความรู้สึกว่าต้องจดจ่ออยู่กับแอปฯ นี้ตลอดเวลาเพื่อไม่ให้ตนเองพลาด 

ทั้งนี้ อาการ FOMO นั้นจะเกิดขึ้นและอยู่ต่อไปนาน ๆ ไม่ได้ เพราะจะก่อให้เกิดภาวะหมดไฟในการใช้งาน (Burn Out) เนื่องจากต้องคอยพูด คอยติดตาม คอยเข้าไปฟังอยู่เรื่อย ๆ จนเหนื่อย และสภาวะนี้เองที่เป็นสาเหตุว่าทำไม Clubhouse ถึงกระแสตก เพราะสุดท้ายแล้วคนก็เริ่มเข้าไปฟังน้อยลง จำนวนห้องที่เปิดน้อยลง ความหลากหลายของหัวข้อก็น้อยลงตามไปด้วย ทำให้ผู้ใช้งานรู้สึกว่าไม่มีห้องไหนน่าฟังอีกต่อไป

ยิ่งไปกว่านั้น การที่แพลตฟอร์มไม่สามารถบันทึกเสียงได้ ทำให้ทุกคนสามารถพูดอะไรออกมาก็ได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบคำพูดของตนเอง และแน่นอนว่าปัญหาที่ตามมาคือ การพ่นคำพูดท็อกซิกใส่กัน บุลลีกัน ตลอดจนล่วงละเมิดทางเพศด้วยวาจา โดยมีหลาย Case Study จาก Clubhouse ที่ผู้ใช้งานระบุว่าพวกเขาต้องเจอกับอาการ PTSD หรือ Post-Traumatic Stress Disorder ซึ่งคือโรคจิตเภทชนิดหนึ่งที่เกิดจากสภาวะจิตใจของผู้ป่วยได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงจากเหตุการณ์เลวร้าย เพราะใช้งานแพลตฟอร์มดังกล่าวแล้วต้องเจอกับคำพูดแย่ ๆ จากคนที่ไม่รู้จัก ดังนั้น อีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ Clubhouse ไม่ประสบความสำเร็จจึงเป็นเพราะการใช้งานแอปฯ ทำให้สุขภาพจิตของผู้เล่นแย่ลง

อย่างไรก็ดี ขณะนี้ Clubhouse ได้เพิ่มฟีเจอร์การบันทึกเสียงไว้ฟังย้อนหลังขึ้นมาแล้วเป็นที่เรียบร้อย หากแต่ก็อาจพูดได้ว่า ทำในวันที่สายไป เพราะผู้คนส่วนใหญ่ต่างก็หันไปใช้แอปพลิเคชันอื่นกันแล้ว

 

ไม่เหมาะสำหรับสายคอนเทนต์ครีเอเตอร์

ด้วยลักษณะของแพลตฟอร์มที่ไม่ได้เอื้ออำนวยให้ใครคนใดคนหนึ่งโดดเด่น ซึ่งนอกจากจะส่งผลให้ผู้ใช้งานหลายคนแก่งแย่งการถูกมองเห็นกันแล้ว ยังอาจส่งผลให้บางคนรู้สึกว่าไม่เป็นส่วนหนึ่งของแพลตฟอร์ม เช่น คนทำสายคอนเทนต์ครีเอเตอร์ที่ต้องการสปอตไลต์เยอะ ๆ แต่เมื่อมาอยู่ใน Clubhouse กลับเป็นแค่คนจืดจางคนหนึ่งที่ไม่ได้มีบทบาทอะไรมากมาย เมื่อนั้น การทำคอนเทนต์จะไปมีประโยชน์อะไรในเมื่อแพลตฟอร์มไม่สามารถให้แสงแก่เราได้ ส่งผลให้คนทำงานสายนี้ต้องหันไปหาแอปพลิเคชันอื่นที่เอื้ออำนวยต่อการสร้างสรรค์คอนเทนต์มากกว่าอย่าง Instagram Facebook หรือ TikTok แทน หรืออาจกล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่า แรกเริ่มเดิมทีนั้น คนจำนวนมากต้องการเล่น Clubhouse เพราะคาดหวังให้เป็นแพลตฟอร์มใหม่ในการหารายได้ แต่พอเข้ามาทดลองใช้จริง ๆ แล้ว การเล่น Clubhouse นั้นต้องใช้ทั้งเวลาและพลังงานเป็นอย่างมาก ยิ่งไปกว่านั้น ยังไม่ก่อให้เกิดชื่อเสียงและรายได้ในชีวิตอีกด้วย ส่งผลให้ผู้คนอาจมองว่าเอาเวลาออกไปหารายได้ด้วยการทำคอนเทนต์บนแพลตฟอร์มอื่น ๆ ดีกว่า

 

นิยมใช้กันเฉพาะกลุ่มเท่านั้น

ต้องยอมรับว่าอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ Clubhouse หมดกระแสคือ การที่ตัวแอปพลิเคชันไม่ได้มีลักษณะที่เอื้ออำนวยต่อการ “แมส” ในวงกว้าง เพราะอย่างที่กล่าวไปแล้วว่า แพลตฟอร์มนี้เปรียบเสมือนงานเสวนา เป็นสถานที่ที่ให้ผู้คนเข้าไปร่วมพูดคุยและแสดงความคิดเห็นกัน ซึ่งในสังคมไทยยังไม่ค่อยมีพื้นที่แบบนี้สักเท่าไร ทำให้ในช่วงแรก ๆ ที่แอปพลิเคชันถือกำเนิดขึ้นมาจึงเป็นที่ฮือฮาในหมู่ผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียเป็นอย่างมาก แต่เมื่อเวลาผ่านไปสักพัก หลายคนก็เริ่มรู้สึกว่าฟีเจอร์ของแอปฯ ไม่ตอบโจทย์ สุดท้ายจึงเหลือเพียงแต่คนไม่กี่กลุ่มที่ชอบเข้าไปฟังเรื่องราวต่าง ๆ หรือชอบแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้อื่นเป็นทุนเดิมที่ยังใช้งานแพลตฟอร์มนี้อยู่ ส่วนคนที่แค่เข้ามาทดลองใช้แรก ๆ แล้วพบว่าไม่ชอบ หรือไม่ใช่แนว ก็ต่างพากันย้ายไปใช้งานโซเชียลมีเดียอื่นที่ถูกจริตมากกว่า และเมื่อผู้เข้าฟังมีน้อยลง ก็ส่งผลให้ห้องที่เปิดมีความจำเพาะเจาะจงมากขึ้น ยิ่งทำให้ Clubhouse กลายเป็นแพลตฟอร์มเฉพาะกลุ่มไปโดยปริยายนั่นเอง

 

สรุป

ณ วันนี้ Clubhouse ที่ยังมีอยู่จึงมีเพียงแต่ห้องเงียบ ๆ ไม่ครึกครื้นอย่างเก่า โดยเฉพาะห้องที่เกี่ยวกับการเมืองที่ตอนนี้ลดลงไปมากเมื่อเทียบกับช่วงแรกของการเปิดตัว โดยสาเหตุอาจมาจากคอนเทนต์เก่า ๆ เดิม ๆ ที่คนเริ่มเบื่อจะฟัง ส่วนผู้พูดเองก็ไม่สามารถหาเรื่องอะไรใหม่ ๆ มาพูดได้ตลอดเวลา ด้วยประสบการณ์ชีวิตของแต่ละคนที่มีจำกัด ทำให้วันนี้เราอาจพูดได้มากมาย พูดได้ดี น่าฟัง แต่ก็เป็นธรรมดาที่สมองของมนุษย์เราเวลาพูดออกไปเยอะ ๆ เป็นเวลาติดต่อกัน ไม่กี่วันผ่านไปก็หมดเรื่องจะพูดแล้ว 

อย่างไรก็ตาม ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มเองก็ไม่ได้นิ่งเฉยกับการที่ Clubhouse ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะตัวแอปพลิเคชันก็ยังมีการพัฒนาด้วยการปล่อยฟีเจอร์ใหม่ออกมาเรื่อย ๆ และมีแพลนที่จะเปิดให้ใช้งานบนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ด้วย โดยทางเราเองก็เชื่อว่าหากตัวแอปฯ ไม่หยุดพัฒนา และสามารถใช้งานได้ในหลาย ๆ ระบบปฏิบัติการแล้ว Clubhouse ก็มีโอกาสที่จะกลับมาครึกครื้นอีกครั้งอย่างแน่นอน