ฟิชชิง (Phishing) คืออะไร รู้เท่าทันภัย 9 ประเภทบนโลกออนไลน์

เมื่อโลกออนไลน์พัฒนาขึ้นทุกวัน เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ก็ถูกคิดค้นขึ้นอย่างไม่หยุดหย่อน ข้อดีคือทำให้โลกของเรามีความทันสมัยมากขึ้น แต่แน่นอนว่าสิ่งที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือ “อาชญากรรมไซเบอร์” เพราะสมัยนี้ อะไร ๆ ก็อำนวยความสะดวกให้เราไปเสียหมด เพียงแค่ไม่กี่คลิกเราก็สามารถไปยังหน้าที่ต้องการ เจอคำตอบที่กำลังค้นหา หรือบรรลุจุดมุ่งหมายอะไรบางอย่างได้แล้ว เหล่าผู้ประสงค์ร้ายจึงใช้ช่องว่างจากความสะดวกของโลกออนไลน์ในการหลอกลวงผู้ใช้งานแบบมักง่าย โดยปัจจุบัน เราสามารถพบเจอได้หลากหลายรูปแบบทีเดียว ซึ่งการหลอกลวงบนโลกออนไลน์นี้ มีศัพท์ในวงการที่เราเรียกกันว่า “Phishing”

บทความนี้จะพาไปดูว่า Phishing คืออะไร มีกี่ประเภท และเราจะสามารถเตรียมพร้อมและป้องกันการถูกหลอกลวงบนอินเทอร์เน็ตอย่างไรได้บ้าง

Phishing แปลว่าอะไร

 

Phishing คืออะไร

Phishing คือ หนึ่งในภัยคุกคามประเภท Fraud ที่มีรูปแบบการหลอกลวงบนโลกออนไลน์ผ่านการแอบอ้างเป็นเว็บไซต์หรือองค์กรต่าง ๆ ที่น่าเชื่อถือ เช่น อ้างว่าติดต่อจากธนาคาร กรมสรรพากร หรือแบรนด์ใหญ่ ๆ เป็นต้น โดยคำว่า Phishing มาจากคำว่า “Fishing” ที่แปลว่า “ตกปลา” ดังนั้น Phishing จึงหมายถึง การปล่อยให้ปลามากินเหยื่อที่ล่อไว้ กล่าวคือ เมื่อผู้ใช้งานคลิกเข้าสู่ระบบ อาชญากรที่สร้างเว็บไซต์ปลอมเหล่านั้นก็จะล้วงข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งานไปทันที ไม่ว่าจะเป็นหมายเลขบัตรเครดิต เลขบัตรประจำตัวประชาชน ตลอดจนรหัสผ่านในการเข้าสู่บัญชีต่าง ๆ การโจมตีรูปแบบนี้มักเป็นที่นิยมและพบได้บ่อยที่สุด โดยเฉพาะในยุคไซเบอร์ที่เราทุกคนต่างใช้อินเทอร์เน็ตกันเป็นกิจวัตรประจำวันเช่นนี้ ทำให้อาชญากรรมลักษณะนี้ทำได้ง่ายมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้เราต้องมีความระมัดระวังเสมอเพื่อจะได้รู้เท่าทันภัยคุกคามและไม่ตกเป็นเหยื่อการโจมตีบนอินเทอร์เน็ต

 

Phishing Attack คือข้อความแบบไหน

  • ข้อความที่ส่งลิงก์มาให้ และส่วนใหญ่บนลิงก์จะมีการสะกดผิด เช่น จาก Shopee เป็น Shoppee เป็นต้น ซึ่งบางคนอาจไม่ทันได้สังเกตข้อผิดพลาดนี้ เมื่อคลิกเข้าไป ลิงก์ดังกล่าวก็จะพาเราไปยังโดเมนย่อย หรือเว็บไซต์น่าสงสัยอื่น ๆ ที่หลอกเอาข้อมูลส่วนบุคคล
  • ข้อความที่ผู้ส่งใช้อีเมลส่วนตัวแทนอีเมลองค์กร และใช้บริการอีเมลสาธารณะ เช่น Gmail หรือ Hotmail เป็นต้น แต่แสร้งว่าเป็นองค์กรที่มีอยู่จริง
  • ข้อความที่ถูกเขียนในลักษณะที่กระตุ้นให้ผู้อ่านรู้สึกหวาดกลัว เช่น เงินของคุณถูกถอนออกจากบัญชี 50,000 บาท
  • ข้อความที่อ้างว่าผู้ใช้งานเป็นผู้โชคดี ได้รับเงินหรือรางวัลอะไรบางอย่างเพื่อหลอกล่อในคลิก เช่น ยินดีด้วย ! คุณเป็นผู้โชคดี ได้รับเงินเยียวยาผู้ประสบภัยโควิด-19 จำนวน 20,000 บาท เป็นต้น
  • ข้อความที่มักให้ผู้ใช้งานกรอกข้อมูลส่วนตัว เช่น รายละเอียดบัตรเดรดิต เลขประจำตัวประชาชน หรือรหัสผ่านต่าง ๆ
  • ข้อความที่มักใช้ภาษาที่ไม่เป็นทางการ และมีการสะกดผิด

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน มิจฉาชีพมีการส่งข้อความมาแบบแนบเนียนมากขึ้น เพราะผู้ใช้งานเริ่มรู้ทัน บางทีลิงก์ที่แนบมาอาจไม่ได้มีการสะกดผิดเหมือนอย่างที่คาดเดา เพราะสมัยนี้มีนวัตกรรมที่เรียกว่าการย่อ URL ดังนั้น เมื่อดูจากลิงก์ไม่ได้ ก็ให้ดูจากเนื้อหาในข้อความแทนว่าเชื่อถือได้หรือไม่ หลอกล่อให้เราคลิกหรือเปล่า และส่งมาจากองค์กรใด หากต้นทางที่ส่งมามีลักษณะแปลก ๆ ไม่ได้ใช้ชื่อองค์กรจริงก็ไม่ควรคลิกเข้าไป และลบข้อความเหล่านั้นทิ้งไปเลยจะดีที่สุด

 

Phishing มีกี่ประเภท

Phishing สามารถแบ่งออกได้หลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่มิจฉาชีพมักคิดกลเม็ดใหม่ ๆ ขึ้นมาหลอกลวงผู้ใช้งานอยู่บ่อย ๆ  แต่บทความนี้ เราจะยกรูปแบบ Phishing ที่พบได้บ่อยมาให้ได้ทำความรู้จักกันทั้งหมด 9 ประเภท ดังนี้

1.  Email Phishing

Email Phishing คือ การส่งข้อความหลอกลวงผ่านทางอีเมล เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในรูปแบบที่พบบ่อยที่สุด และถูกใช้มาอย่างยาวนานนับตั้งแต่ยุคแรก ๆ ของการมีอีเมลเลยทีเดียว โดยมิจฉาชีพจะใช้วิธีส่งอีเมลครั้งละจำนวนหลายฉบับแบบหว่านแห โดยมีความเชื่อว่าส่งเยอะ ๆ ไว้ก่อน เพื่อเพิ่มโอกาสการตกหลุมพรางของผู้ใช้งานให้ได้มากที่สุด แม้จะมีแค่หนึ่งหรือสองคนก็นับว่าประสบความสำเร็จแล้ว

เนื่องจากเป็นการส่งอีเมลแบบหว่านแห ทำให้เนื้อหาใน Email Phishing จะไม่เจาะจงถึงผู้รับคนไหนเป็นพิเศษ กล่าวคือ ไม่มีการระบุข้อมูลใด ๆ ที่สื่อว่าเป็นตัวเรา แต่จะใช้คำเรียกรวม ๆ แทน เช่น “เรียน ลูกค้าผู้มีอุปการคุณ” หรือ “เรียน เจ้าของบัญชี” เป็นต้น และบางทีอาจใช้คำพูดที่กระตุ้นให้ผู้อ่านรู้สึกตื่นกลัวร่วมด้วย เช่น “เราตรวจสอบพบว่าคุณโอนเงินจำนวน 20,000 บาท ใน Google Pay ไปยังบัญชีธนาคาร xxx หากนี่ไม่ใช่คุณ กรุณาคลิกลิงก์ด้านล่างนี้เพื่อรายงาน” เพื่อหลอกล่อให้เหยื่อคลิกลิงก์ที่แนบมา

2. Web Phishing

อีกหนึ่งรูปแบบ Phishing ที่เจอบ่อย ได้แก่ Web Phishing หรือการหลอกล่อให้ผู้ใช้งานคลิกเข้าไปในเว็บไซต์ที่เป็นสแปม โดยมิจฉาชีพจะสร้างเว็บไซต์ขึ้นมาหน้าหนึ่ง แล้วปรับแต่งให้ดูคล้าย ๆ กับเว็บไซต์ขององค์กรที่มีอยู่จริงเพื่อตบตาเหยื่อ แต่วิธีสังเกตคือ URL จะต่างกันนิดหน่อย เช่น จาก primal.co.th ก็ปลอมแปลงเป็น primal.com ซึ่งถ้าหากเราไม่ระมัดระวัง หรือเป็นคนที่ไม่เคยรู้ URL ที่แท้จริงของเว็บไซต์องค์กรนั้น ๆ มาก่อนแล้วพลาดคลิกเข้าไป ก็อาจกลายเป็นผู้เสียหายได้เลย โดยจุดประสงค์ของเว็บไซต์เหล่านี้คือ การหลอกเอาข้อมูลของผู้ใช้งาน เช่น ยูเซอร์เนม พาสเวิร์ด บัตรประชาชน บัตรเครดิต หรือข้อมูลส่วนตัวอื่น ๆ ดังนั้น ถ้าเรากดเข้าเว็บไซต์ไหนไปแล้ว บนหน้าเพจมีให้กรอกข้อมูลส่วนตัวทำนองนี้ ให้เช็กดูดี ๆ ก่อนเสมอ แต่ถ้าจะให้ชัวร์ ไม่ควรคลิกลิงก์ที่ถูกส่งมาแบบไม่มีที่มาที่ไปเลยตั้งแต่แรก เพื่อป้องกันการถูกหลอกลวง

3. Spear Phishing

Spear Phishing คือ การหลอกลวงด้วยการพุ่งเป้าเจาะจงไปที่เหยื่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งชัดเจน โดยอาชญากรที่เลือกใช้วิธีนี้มักเป็นแฮกเกอร์มืออาชีพ เพราะจะต้องมีการล้วงข้อมูลส่วนตัวของเหยื่อหรือแฝงตัวเข้าไปในองค์กร เพื่อทำให้เนื้อหาในอีเมลมีความเฉพาะเจาะจงและสร้างความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น เช่น อาจใช้อีเมลที่มีชื่อคล้าย ๆ กับคนในองค์กร เพื่อแสร้งว่าเป็นบุคคลใกล้ตัว โดยที่เราอาจไม่ได้ดูให้ดีก่อนคลิกลิงก์ดังกล่าว เช่น อาชญากรต้องการทำทีว่าส่งมาจากคนในบริษัท ก็อาจใช้อีเมล primal@gmail.com แทนที่จะเป็นอีเมลของบริษัทจริง ๆ ดังนั้น ก่อนจะมีปฏิสัมพันธ์กับอีเมลใด ๆ ควรเช็กชื่อผู้ส่งก่อนเสมอ

4. Whaling Phishing

Whaling Phishing เป็นอีกหนึ่งรูปแบบที่ค่อนข้างซับซ้อนคล้ายกับ Spear Phishing แต่จะมุ่งเป้าไปที่เหยื่อรายใดรายหนึ่งแบบเฉพาะเจาะจง และมักจะเป็นบุคคลที่มีตำแหน่งอยู่ในระดับสูง เช่น ผู้บริหารระดับสูง ซีอีโอ หรือผู้จัดการ เป็นต้น โดยในเนื้อหาอีเมลจะสร้างความหวั่นวิตกขั้นรุนแรง เช่น อ้างว่าส่งจากหมายศาล อ้างว่าทำผิดกฎหมาย ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน หรือขอให้กระทำการบางอย่างเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่อาจส่งผลกระทบอย่างหนักต่อธุรกิจ แนะนำว่าเมื่อได้รับอีเมลทำนองนี้ ให้ตรวจสอบกับทางองค์กรต้นทางก่อนว่าเป็นอีเมลจริงหรือไม่ อย่าเพิ่งใจร้อนและดำเนินการใด ๆ เพราะมีโอกาสสูงที่จะถูกหลอก

5. Vishing Phishing

Vishing เป็นการสมาสกันของคำว่า Voice และ Phishing แปลว่า การหลอกลวงผ่านรูปแบบของเสียง ซึ่งพบเจอได้บ่อยมากในยุคนี้ หรือที่เราคุ้นเคยกันดีในชื่อเรียก “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” นั่นเอง แม้จะเป็นวิธีที่ค่อนข้างเก่าแต่ก็ยังใช้ได้ผลอยู่ เนื่องจากมีคนโดนหลอกด้วยวิธีนี้เป็นประจำ และแก๊งคอลเซนเตอร์มักหามุกใหม่ ๆ มาหลอกเหยื่อเสมอ เช่น

  • อ้างว่าโทร.จากองค์กรใดองค์กรหนึ่ง ที่พบบ่อยจะเป็นกรมสรรพากร ไปรษณีย์ไทยหรือขนส่งอื่น ๆ ธนาคาร เป็นต้น
  • อ้างว่าเป็นคนรู้จักของเหยื่อ แต่จะไม่ระบุชื่อ แล้วหลอกล่อให้เหยื่อเอ่ยชื่อคนรู้จักสักคนออกมาเอง เช่น “เฮ้ย ! แก พอดีฉันเปลี่ยนเบอร์ จำฉันได้เปล่า…”
  • อ้างว่าเหยื่อได้รับรางวัลหรือของสมนาคุณจากแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่ง แล้วให้แอดไลน์เพื่อรับรางวัลนั้น

นอกจากนี้ ยังมีทริกอื่น ๆ อีกมากมายที่แก๊งคอลเซนเตอร์ใช้หลอก ซึ่งถ้าหากเราตกหลุมพราง ฝ่ายนั้นก็ขอขอข้อมูลส่วนตัวต่าง ๆ ของเรา หรือหลอกให้โอนเงินให้ ทางที่ดี เมื่อได้รับสายจากอาชญากรเหล่านี้ควรวางสายทันที และไม่ควรให้ข้อมูลส่วนตัวที่มีความสำคัญกับใครผ่านมือถือเด็ดขาด

ภัยคุกคาม Phishing มีอะไรบ้าง

6. Smishing Phishing

Smishing Phishing ก็เป็นรูปแบบอาชญากรรมไซเบอร์ที่เราพบได้เยอะมากในยุคหลัง นั่นก็คือการฟิชชิงผ่าน SMS นั่นเอง ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้ เราได้รับ SMS จากมิจฉาชีพมากกว่า SMS จากคนรู้จักหรือองค์กรจริง ๆ เสียอีก แม้คนส่วนใหญ่จะรู้เท่าทันอาชญากรรมรูปแบบนี้แล้ว แต่ก็ยังมีคนหลงตกเป็นเหยื่ออยู่เรื่อย ๆ Smishing Phishing จึงยังไม่หมดไป แต่วิธีสังเกตก็ไม่ได้ยาก โดยข้อความเหล่านี้มักจะถูกส่งมาจากเบอร์แปลกที่เป็นเบอร์ส่วนตัวของบุคคลทั่วไป แต่อ้างว่าส่งมาจากองค์กรใหญ่ ๆ ซึ่งไม่สมเหตุสมผล บางทีก็เป็นข้อความที่ใช้ภาษาไม่เป็นทางการ พิมพ์ผิด หรือเป็นข้อความที่อ้างว่าเราได้รางวัล หรือทำให้งงงวย เช่น “พัสดุของคุณจัดส่งไม่สำเร็จ กรุณาคลิกลิงก์เพื่อดำเนินการจัดส่งต่อ” คนที่สั่งของออนไลน์บ่อย ๆ ก็อาจจะหลงกลแล้วคลิกเข้าไป กรอกข้อมูลต่าง ๆ เพราะคิดว่าเป็น SMS จากขนส่งจริง หรืออาจจะเป็น SMS ที่หลอกล่อให้เราคลิกเข้าไปในเว็บไซต์ปลอมที่มิจฉาชีพสร้างขึ้นก็ได้

7. Angler Phishing

Angler Phishing เป็นเทคนิคแบบใหม่ที่หลาย ๆ คนอาจยังไม่คุ้นชิน แต่ก็พบได้มากตามโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มต่าง ๆ โดยวิธีนี้ มิจฉาชีพจะคอยสังเกตพฤติกรรมการเล่นอินเทอร์เน็ตของเหยื่อ แล้วหาจังหวะเพื่อที่จะเข้าไปสวมรอยเพื่อมีปฏิสัมพันธ์ด้วยอย่างแนบเนียน เช่น หากเราบ่นลงทวิตเตอร์ว่าได้รับบริการที่ไม่ดีจากค่ายมือถือ อาชญากรก็จะสวมรอยเป็นเจ้าหน้าที่จากค่ายมือถือนั้น ๆ มาหลอกเราว่าจะแก้ปัญหาให้ และขอข้อมูลของเราไป โดยอาจเป็นการหลอกถามตามกระบวนการ หรือส่งลิงก์มาเพื่อหลอกให้กรอกฟอร์ม หากเจอสถานการณ์เช่นนี้ ให้เช็กดูให้ดีว่าผู้ที่แอบอ้างว่ามาจากองค์กรนั้น ๆ เชื่อถือได้หรือไม่ และควรเช็กกับองค์กรดังกล่าวให้ชัวร์ก่อน ทางที่ดี ไม่ควรไปยุ่งเกี่ยวหรือทำธุรกรรมใด ๆ ด้วยเลย หากมีปัญหาที่ต้องการการแก้ไข แนะนำให้ติดต่อเบอร์ขององค์กรหรือเข้าไปที่ศูนย์โดยตรงเลยจะดีกว่า

8. CEO Fraud Phishing

วิธีนี้คล้าย ๆ กับ Whaling Phishing ที่ได้กล่าวไปในข้อสี่ กล่าวคือ เป้าหมายของอาชญากรจะเป็นบุคคลระดับสูง แต่ระดับการโจมตีจะรุนแรงกว่ามาก โดยจะใช้บุคคลสำคัญเป็นตัวล่อให้เหยื่อหลงเชื่อเพื่อกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ปลอมตัวเป็นซีอีโอและส่งอีเมลให้แก่คนในบริษัท เพื่อขอให้บุคคลนั้นส่งข้อมูลสำคัญ หรือโอนเงินให้ในทันที เป็นต้น ซึ่งข้อความมักจะมาในรูปแบบที่เร่งให้เราดำเนินการอย่างเร่งด่วน ทำให้เหยื่อรู้สึกตกใจและรีบเทกแอ็กชัน หากเราไม่ตรวจสอบดูให้ดีก่อนก็อาจตกเป็นเหยื่อ Phishing ประเภทนี้ได้

9. Search Engine Phishing

อีกหนึ่งเทคนิคที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ คือการสร้างความน่าเชื่อถือผ่านเครื่องมือค้นหา หรือ Search Engine โดยอาศัยการทำ SEO (Search Engine Optimisation) เพื่อให้เว็บไซต์ติดอันดับต้น ๆ บนหน้าแรกของ Google แล้วใช้คีย์เวิร์ดที่คนค้นหาบ่อย เช่น สมัครงาน หางานแถวปริมณฑล เป็นต้น ซึ่งเมื่อมีผู้ใช้งานเซิร์ชหาคำดังกล่าวแล้วเจอเว็บไซต์เหล่านี้อยู่อันดับต้น ๆ ก็จะคลิกเข้าไปทันทีโดยไม่ทันได้ตรวจสอบให้ดีก่อน เพราะส่วนมาก เว็บไซต์ที่ติดอันดับต้น ๆ ก็มักจะเป็นเว็บไซต์ที่เชื่อถือได้

อย่างไรก็ดี อัลกอริทึมของ Google มีการอัปเดตอยู่เรื่อย ๆ เพื่อนำสิ่งที่ดีและมีประโยชน์ที่สุดมาให้ผู้ใช้งาน จึงสามารถวางใจได้ในระดับหนึ่งว่าเว็บไซต์สแปมจะไม่ถูกระบบนำมาจัดอันดับแรก ๆ กระนั้น ก็ควรตรวจสอบให้ดีทุกครั้งก่อนจะกรอกข้อมูลใด ๆ ผ่านอินเทอร์เน็ต เพราะในขณะที่เราพยายามอุดช่องโหว่ไม่ให้มิจฉาชีพฉวยโอกาส มิจฉาชีพเองก็พยายามหาช่องว่างในการเข้ามาหลอกเราเช่นกัน การใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์อย่างมีสติและรอบคอบอยู่ตลอดเวลาจึงเป็นเรื่องสำคัญ

 

แนวทางการป้องกัน Phishing

  • ตรวจสอบชื่อหรือเบอร์โทร.ผู้ส่งอีเมลหรือข้อความให้ดีก่อนเสมอ
  • ไม่คลิกลิงก์หรือดาวน์โหลดไฟล์มั่วซั่ว
  • ตรวจสอบเนื้อหาภายในข้อความว่าใช้ภาษาที่เป็นทางการ สมเหตุสมผลกับที่ส่งมาจากองค์กรใหญ่ ๆ หรือไม่ และมีคำผิดที่แสดงถึงความไม่เป็นมืออาชีพปะปนอยู่หรือไม่
  • ติดตั้งโปรแกรมแอนติไวรัส (Antivirus) และอัปเดตโปรแกรมอยู่เสมอ เพราะซอฟต์แวร์ที่ไม่ได้รับการอัปเดตมักถูกแฮกได้ง่าย
  • หากตรวจสอบแล้วพบว่าได้รับอีเมล Phishing ให้แจ้ง Microsoft ได้เลย ด้วยการทำให้อีเมลดังกล่าวไปอยู่ใน Junk แล้วเลือก Phishing
  • สังเกต URL ของเว็บไซต์ก่อนจะกระทำการใด ๆ บนเว็บไซต์นั้น ๆ เสมอ โดยเว็บไซต์ที่เป็นของจริงจะมี https อยู่ข้างหน้า ไม่ใช่ http เฉย ๆ
  • สำหรับองค์กรที่มีงบประมาณ ควรลงทุนติดตั้งระบบป่องกันภัยคุกคามไอทีเพื่อไม่ให้องค์กรตกเป็นเหยื่อ Phishing ได้ง่าย โดยเฉพาะองค์กรที่มีชื่อเสียง มักถูกมิจฉาชีพนำชื่อไปแอบอ้าง

 

Phishing ภัยคุกคามที่ชีวิตยุคใหม่ไม่อาจหลีกเลี่ยง

สรุปได้ว่า Phishing คือ ภัยคุกคามออนไลน์ที่มาในรูปแบบที่หลากหลาย ทั้งผ่านอีเมล เว็บไซต์ โทรศัพท์ SMS หน้า Search Engine ฯลฯ โดยมีจุดประสงค์เพื่อหลอกล่อให้เหยื่อกรอกรหัสผ่าน และข้อมูลส่วนบุคคลอื่น ๆ  โดยเฉพาะในเรื่องธุรกรรมทางการเงิน ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าสมัยนี้ มิจฉาชีพก็มีทริกที่สามารถหลอกเหยื่อได้เนียนพอสมควร แต่ถ้าเราสังเกตดี ๆ ก็จะมีจุดที่ทำให้ดูออกอยู่ว่าเป็นของจริงหรือปลอม ดังนั้น เราควรเล่นอินเทอร์เน็ตด้วยความไม่ประมาท กล่าวคือ ทุกครั้งที่ได้รับข้อความ สายโทรศัพท์ หรืออีเมลที่เข้าข่าย Phishing ที่ได้กล่าวไปข้างต้นนี้ ก็ไม่ควรให้ข้อมูลสุ่มสี่สุ่มห้า แต่ควรเช็กให้ดีก่อนว่าเว็บไซต์นั้น หรือผู้ส่งข้อความนั้น ๆ ไว้ใจได้หรือไม่ เพื่อลดความเสี่ยงในการถูกคุกคามบนโลกไซเบอร์ให้น้อยที่สุด และที่สำคัญ ทุกองค์กรควรมีการอบรมเรื่อง Phishing แก่พนักงานอย่างจริงจัง เพื่อให้ทุกคนรู้เท่าทันภัยจากผู้ไม่ประสงค์ดีที่พร้อมจะหลอกล่อเอาข้อมูลของเราผ่านทางออนไลน์อยู่ตลอดเวลา

ในการจะทำธุรกิจออนไลน์ให้ปลอดภัยนั้น การระวังตนจาก Phishing ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทุกองค์กรควรให้ความสำคัญ แต่ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เพราะในโลกเทคโนโลยีอันแสนกว้างใหญ่ มีปัจจัยอีกหลายอย่างที่ผู้ประกอบการต้องเรียนรู้เพื่อนำพาให้ธุรกิจของคุณไปสู่ความสำเร็จที่วัดผลได้ และ Primal Digital Agency เอเจนซีรับทำ SEO ชั้นนำของไทย พร้อมให้ความช่วยเหลือคุณในทุกแง่มุมของการทำธุรกิจ ติดต่อเราได้เลยวันนี้