รู้จักระบบจัดการเนื้อหาบนเว็บไซต์ Magento พร้อมข้อดี-ข้อเสีย

เชื่อว่าผู้ใช้อินเทอร์เน็ตหลายรายในปัจจุบันย่อมรู้จักกับ E-Commerce ในหลาย ๆ แพลตฟอร์ม เพราะนอกจากจะมีความสะดวกรวดเร็วแล้ว ยังไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง เพียงแค่กดสั่งซื้ออยู่ที่บ้านก็รอรับของได้เลย นอกจากนี้ ยังมีเว็บไซต์ E-Commerce จำนวนมากที่ไม่ได้เป็นเพียงแค่แพลตฟอร์มซื้อ-ขายเพียงอย่างเดียว แต่เป็น Community สำหรับการพูดคุยอีกด้วย โดยหนึ่งในกุญแจสำคัญของการทำให้แพลตฟอร์มเหล่านี้ตอบโจทย์กับผู้บริโภค ก็คือ Software Development อย่าง Magento ที่เราจะมาพูดถึงในวันนี้ 

แพลตฟอร์ม Magento

Magento คืออะไร?

หากคุณคือคนที่กำลังมองหาแพลตฟอร์ม E-Commerce ที่จะใช้กับธุรกิจของตนเองอยู่ อาจเคยเห็นเว็บไซต์ต่าง ๆ ผ่านตามาบ้าง ไม่ว่าจะเป็น Volusion, Shopify, BigCommerce ฯลฯ แต่ยังมีอีกหนึ่งช่องทางที่ผลสำรวจจาก Alexa ระบุว่าเป็นแพลตฟอร์มที่กำลังมาแรงในขณะนี้ โดยมีจำนวนผู้ใช้งานคิดเป็น 20% ของจำนวนผู้ค้าขายที่ใช้งาน E-Commerce ทั้งหมด และแพลตฟอร์มนั้นก็คือ Magento

หากถามว่า Magento คืออะไร? คงบอกได้ว่า Magento คือ แพลตฟอร์มจัดการเนื้อหาบนเว็บไซต์ (Content Management System: CMS) ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อการทำ E-Commerce โดยเฉพาะ หรืออาจกล่าวง่าย ๆ ว่าเป็นระบบหลังบ้านที่สร้างขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์การขายของออนไลน์ โดยใช้ภาษาพีเอชพี (PHP) ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถพัฒนาเว็บไซต์ของตนเองได้ตั้งแต่จัดหมวดหมู่สินค้า อัปเดตจำนวนสินค้าในคลัง ระบบชำระเงิน การจัดส่ง รวมไปถึงระบบโปรโมชันเลยทีเดียว

Magento ถูกพัฒนาขึ้นโดยบริษัทที่มีชื่อว่า Varien (ปัจจุบันคือ Magento Inc. ซึ่งต่อมาถูกซื้อไปโดย eBay) ออกเวอร์ชัน Beta ครั้งแรกเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2008 โดยใช้ Zend Framework เป็นพื้นฐาน และที่สำคัญ ทีมงานผู้พัฒนา Magento ส่วนหนึ่งเคยเป็นทีมที่พัฒนา Oscommerce มาก่อนด้วย

อย่างไรก็ตาม Magento ไม่ใช่โปรแกรมสำเร็จรูป ผู้ใช้งานจึงต้องเขียนโค้ดขึ้นมาเอง ซึ่งจะมีความยืดหยุ่นในการออกแบบสูงมาก เรียกได้ว่าสามารถดีไซน์หน้าตาของเว็บไซต์อย่างที่ตนเองต้องการได้แบบไม่จำกัด และยังมีฟังก์ชันอำนวยความสะดวกอื่น ๆ อีกมากมาย เนื่องจาก Magento เป็นระบบแบบ Open Source Software ที่สามารถเขียนปลั๊กอินฟังก์ชันต่าง ๆ ที่ร้านค้าต้องการได้ อันจะช่วยให้เจ้าของร้านดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

ในปัจจุบันนี้ Magento เปิดให้ใช้งานทั้งหมดหลายตัวด้วยกัน เช่น Joomla, Virture Mart, OsCommerce, PrestaShop, OpenCart เป็นต้น ซึ่งแต่ละตัวจะมีเอกลักษณ์และการใช้งานที่แตกต่างกันไปตามความถนัดและความต้องการของผู้ใช้งาน

 

Magento มีประโยชน์อย่างไรกับ E-Commerce?

เมื่อเราทำการตลาดออนไลน์ การสร้างเว็บไซต์ร้านค้าเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะถือเป็นหัวใจหลักที่จะช่วยบ่งบอกอัตลักษณ์ความเป็นแบรนด์ของเราให้ชัดเจนขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น เว็บไซต์ยังเป็นแพลตฟอร์มที่ใช้แสดงสิ่งที่ลูกค้าต้องการจะเห็น ไม่ใช่แค่เพียงสินค้าหรือบริการที่เราขายเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องของความสวยงามในการออกแบบหน้าเว็บไซต์ รวมถึงความใส่ใจในขั้นตอนต่าง ๆ ในการใช้งานเว็บไซต์ด้วย โดยหากเรามีการออกแบบที่มีความสวยงาม ทันสมัย เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ใช้งานง่าย ก็จะสามารถดึงดูดลูกค้าได้มากขึ้น เพราะหน้าเว็บฯ คือสิ่งแรกที่ลูกค้าจะเห็นเกี่ยวกับแบรนด์ของเรา และจะเป็นสิ่งที่สามารถสร้างความประทับใจแรก (First Impression) ได้ ดังนั้น เว็บไซต์จึงเรียกได้ว่าเป็นหน้าต่างบานแรกที่จะพาลูกค้ามาพบเจอกับร้านค้าของเรา และเป็นตัวช่วยให้ลูกค้าตัดสินใจได้ว่าควรไปต่อกับแบรนด์ของเราหรือไม่

ทั้งนี้ Magento เป็นหนึ่งในโปรแกรมที่จะช่วยให้เจ้าของร้านค้าสามารถออกแบบเว็บไซต์ในแบบของตนเองได้ ทั้งยังสามารถเซตระบบหลังบ้านได้ตามที่ต้องการ ถือว่าเป็นแพลตฟอร์มที่มีประโยชน์กับ E-Commerce ในหลาย ๆ ด้าน เช่น 

  • นอกจากช่วยให้ออกแบบหน้าเว็บไซต์ในแบบที่เราต้องการได้แล้ว ก็ยังสามารถพัฒนาต่อยอดได้เรื่อย ๆ เพื่อรองรับกับความเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคที่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
  • สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับแบรนด์ เพราะเมื่อร้านค้ามีตัวตน ดูน่าเชื่อถือ ลูกค้าก็จะจดจำเราได้มากขึ้น
  • มีความเป็น User-Friendly เพราะสามารถสั่งซื้อได้อย่างสะดวกรวดเร็วภายในไม่กี่ขั้นตอน ไม่ทำให้ผู้ใช้งานเสียเวลาและสับสน
  • มีช่องทางการชำระเงินที่หลากหลาย ทั้งยังสามารถตรวจสอบสถานะการสั่งซื้อและการจัดส่งได้ในลิงก์เดียว
  • มีฟังก์ชันพิเศษสำหรับร้านค้าที่ต้องการจัดโปรโมชัน ช่วยส่งเสริมการขาย อันส่งผลให้ร้านค้ามีฐานลูกค้าที่เติบโตขึ้นในวงกว้าง
  • หากร้านค้ามีระบบสมาชิก ลูกค้าก็จะได้รับสิทธิพิเศษและได้มีส่วนร่วมกับแบรนด์มากขึ้น
  • เชื่อมต่อกับระบบอื่น ๆ ของแบรนด์ได้ เพื่อการใช้งานที่ครบวงจรมากกว่าเดิม

นอกจากนี้ ถ้าอยากให้เว็บไซต์ร้านค้าของตนเองดูน่าดึงดูดมากขึ้น Magento ยังมีคุณสมบัติที่น่าสนใจเพิ่มเติมอีก ได้แก่

  • Marketplace สามารถทำให้เว็บไซต์ของเรากลายเป็น Shopping Mall Online เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ค้ารายอื่นมาวางขายสินค้าบนหน้าร้านของเราได้ โดยระบบสามารถจัดการในเรื่องของสี ไซซ์ รูปแบบ ประเภทสินค้า ยอดเงิน และผู้ขายให้เราทั้งหมด
  • มีระบบ Dropship ซึ่งเป็นประโยชน์มากสำหรับตัวแทนขายสินค้า เพราะเว็บไซต์สามารถจัดส่งสินค้าให้กับลูกค้าของตัวแทนจำหน่ายได้เลยโดยไม่ต้องสต็อกสินค้า
  • มีระบบ Affiliate หรือระบบกระจายสินค้า รวมถึงบริการจากเจ้าของธุรกิจผ่านคนกลาง ด้วยการดึงข้อมูลการใช้อินเทอร์เน็ตของลูกค้า จากนั้นอัลกอริทึมจะจัดหมวดหมู่สินค้าที่คาดว่าลูกค้าคนนั้น ๆ จะสนใจไปขึ้นที่หน้าแรกของลูกค้าแต่ละราย

 

Magento ข้อดี-ข้อเสีย

ถึงแม้ว่าจะมีคุณสมบัติที่น่าสนใจมากมายอย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้ว แต่แน่นอนว่า Magento ก็ยังมีข้อจำกัดบางประการเช่นเดียวกับแพลตฟอร์มอื่น ๆ เราจึงสามารถสรุปเป็นข้อดี-ข้อเสียของ Magento ได้ ดังนี้

ข้อดีของ Magento

  • ดีไซน์โดดเด่น มีความสวยงาม ทำให้สามารถออกแบบเว็บไซต์ให้น่าดึงดูดได้
  • มีระบบหลังบ้านและระบบจัดการสินค้าที่ครบครัน
  • รองรับการทำ Multi Store & Language
  • เหมาะสำหรับบริษัทใหญ่ ๆ
  • มีระบบ Configurable Product ที่สมบูรณ์ ไม่ต้องลง Module เอง
  • ระบบค้นหาสินค้ามีให้เลือกใช้ทั้งแบบปกติและแบบละเอียด (Advance Search
  • รองรับการทำ SEO

ข้อเสียของ Magento

  • ใช้ต้นทุนในการพัฒนาสูง
  • ถึงจะออกแบบมาเพื่อให้พัฒนาต่อได้ แต่ก็สามารถทำได้ยาก เพราะตัว CMS ค่อนข้างมีความซับซ้อน
  • Module มีให้เลือกใช้น้อย และราคาสูงกว่าฝั่ง WordPress หลายเท่าตัว
  • คนไทยยังนิยมใช้น้อย เนื่องจาก Magento ไม่ใช่เว็บไซต์สำเร็จรูป แต่ต้องเขียนโค้ดเอง ทำให้ผู้ใช้หลายคนอาจมองว่ายุ่งยาก

 

สรุป

จะเห็นได้ว่า Magento นั้นสามารถพัฒนาระบบและต่อยอดได้หลากหลายตามที่ร้านค้าต้องการ แต่ต้องยอมรับว่าในบางครั้งฟังก์ชันต่าง ๆ ที่ถูกพัฒนาเพิ่มเติมอาจมีความซับซ้อนมากขึ้นและไม่เหมาะกับผู้ที่เพิ่งเริ่มต้นใช้งาน ดังนั้น ในส่วนนี้ควรต้องมีผู้เชี่ยวชาญ หรือระบบที่รองรับได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะช่วยให้ร้านค้าทำงานได้ง่ายขึ้น และหากเรารู้วิธีใช้แพลตฟอร์ม Magento อย่างถูกวิธีแล้ว รับรองว่าการออกแบบเว็บไซต์จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป เพราะเพียงแค่มีข้อมูลที่พร้อม จากนั้นเราต้องการจะออกแบบเว็บไซต์ให้เป็นแบบใด ก็สามารถวางแผนร่วมกับทีมของตนเองได้เลยทันทีโดยที่ไม่ต้องเสียเวลาไปกับการใช้งานด้วยระบบที่ทำงานแบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ และไม่มีประสิทธิภาพมากพอ

กระนั้น ก็ต้องอย่าลืมว่า Magento เองก็มีข้อดี-ข้อเสียที่อาจเหมาะหรือไม่เหมาะกับธุรกิจของเราก็ได้ แต่ถ้าหากลองพิจารณาดูแล้วพบว่าเหมาะสม ก็แน่นอนว่าแพลตฟอร์มนี้จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ของแบรนด์ได้ในระยะยาว เมื่อนั้น เราก็จะมีลูกค้ามากขึ้น อันนำมาซึ่งการเพิ่มโอกาสในการขายที่มากกว่าเดิมด้วย