FAQ Schema คืออะไร? รู้จักเทคนิคทำเว็บไซต์ที่ช่วยเรื่อง SEO

แน่นอนว่าคนทำเว็บไซต์ทุกคนจะต้องรู้จักกลยุทธ์การทำ On-Page SEO กันเป็นอย่างดี เพราะการทำ SEO นั้น นอกจากจะช่วยให้เจ้าของเว็บไซต์สามารถควบคุมการแสดงผลหรือข้อมูลที่จะให้ Search Engine เห็นได้แล้ว ยังเป็นวิธีที่ทำได้ง่ายและเห็นผลจริงโดยไม่มีค่าใช้จ่ายในการลงทุน และหนึ่งในเทคนิคหลัก ๆ ของ SEO ก็คือการทำ FAQ Schema หรือ Schema Markup นั่นเอง ซึ่งหลายคนอาจจะยังสงสัยว่า FAQ Schema คืออะไร ก็ต้องบอกก่อนว่า FAQ นั้นย่อมาจาก Frequently Asked Questions ซึ่งแปลเป็นไทยได้ว่า “คำถามที่มักพบบ่อย” ดังนั้น FAQ Schema หรือ Schema Markup ก็คือการใส่คำตอบของคำถามที่พบบ่อยลงไปเพื่อให้ปรากฏบนหน้าการค้นหา ช่วยทำให้การแสดงผลของเว็บไซต์เราดูมีความน่าสนใจมากขึ้น และดึงดูดให้ผู้ใช้งานคลิกเข้ามาอ่านบทความ ตลอดจนซื้อสินค้าหรือบริการของเราได้ ซึ่งจะมีเทคนิคย่อย ๆ ให้เลือกใช้อีกมากมาย แต่ในวันนี้ บทความนี้จะขอเจาะประเด็นไปที่ “FAQ Markup” ซึ่งเป็นรูปแบบการทำเว็บไซต์ที่เป็นที่นิยมมากในขณะนี้

FAQ Schema ทำอย่างไร

FAQ Markup คืออะไร?

FAQ Markup คือ Structure Data รูปแบบหนึ่งที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำ SEO ให้แก่เว็บไซต์ของเรา โดยจะมีลักษณะเป็นโคดหรือชุดคำสั่งหลาย ๆ ชุด ที่ทำให้ Search Engine เข้าใจมากขึ้นว่าข้อมูลในหน้านั้น ๆ เกี่ยวกับอะไร และเป็นข้อมูลประเภทใด ซึ่งหาก Google สามารถจัดระเบียบข้อมูลของเราได้แล้ว เวลาที่มีผู้ค้นหาคีย์เวิร์ดที่เกี่ยวกับเว็บไซต์ของเราก็จะมีข้อมูลอื่น ๆ เพิ่มขึ้นมาด้วย ส่วนมากมักเป็นคำถามที่พบบ่อย เช่น ราคา สถานที่ตั้ง ตลอดจนดาวที่เป็นรีวิวจากผู้ใช้งาน หรือข้อมูลใด ๆ ที่ทำให้ผู้พบเห็นสามารถตัดสินใจได้เลยโดยที่ไม่ต้องกดลิงก์เข้ามา เป็นต้น โดยส่วนนี้จะทำให้เว็บไซต์ของเรามีความโดดเด่นกว่าคู่แข่ง อีกทั้งยังมีความน่าเชื่อถือกว่าด้วย

 

ทำไมต้องใช้ FAQ Markup?

การใช้ FAQ Markup เปรียบเสมือนการที่เรากำลังตอบคำถามให้กับคีย์เวิร์ดที่ผู้ใช้งานใช้ค้นหา โดยหากเราติดตั้ง Markup เอาไว้ ก็จะทำให้การแสดงผลของเว็บไซต์เรามีความน่าสนใจมากขึ้นเมื่อเทียบกับเว็บไซต์อื่น ๆ ที่กำลังพูดถึงหัวข้อเดียวกัน

นอกจากนี้ การทำ FAQ Markup ยังช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้ใช้งานคลิกเข้ามาที่เว็บไซต์ของเราได้อีกด้วย และยิ่งจำนวนการคลิกมากเท่าไร เว็บไซต์ของเราก็จะยิ่งอยู่บน Rank ได้นานมากขึ้นเท่านั้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ทำให้อันดับของเราตก เพราะถ้ามีเว็บไซต์อื่นที่ดีกว่า เว็บไซต์ของเราก็อาจถูกแทนที่ได้เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น การสร้าง Markup นั้นเป็นเพียงหนึ่งในหลาย ๆ ปัจจัยที่ช่วยทำให้อันดับของเว็บฯ สูงขึ้น แต่ผลพลอยได้ที่สำคัญก็คือ กลุ่มเป้าหมายของเราจะได้เห็นสิ่งที่พวกเขาอยากเห็นจากเว็บไซต์เราแน่นอน

 

หลักการติดตั้ง FAQ Markup คืออะไร?

FAQ Markup สามารถทำได้โดยการติดตั้งโคดลงไปในเว็บฯ ซึ่งเราสามารถเลือกใช้งานได้สองรูปแบบด้วยกัน รูปแบบแรกเรียกว่า “Microdata” และรูปแบบที่สองเรียกว่า “Jason-LD”

Microdata

วิธีนี้อาจจะต้องอาศัยทักษะการแก้ไขโคดสักเล็กน้อย เพราะมันคือแทก (tag) เสริมที่เราเขียนเพิ่มขึ้นมาจากโคดเดิมของหน้าเว็บไซต์ที่มีอยู่แล้ว โดยการเพิ่มโคด Microdata นี้ไม่ได้ส่งผลให้การแสดงผลเปลี่ยนแปลงไป หรือทำให้เวลาโหลดหน้าเว็บฯ มากขึ้นแต่อย่างใด ทว่าเป็นเพียงการติดแทกบอกให้ Search Engine รู้ว่าโคดที่เราเขียนบนเว็บไซต์ส่วนไหนหมายถึงอะไรเท่านั้น

หลักการทำงานของ Microdata จะมีการกำหนดสโคปของธุรกิจเรา เช่น Local Businesses เป็นต้น จากนั้นก็กำหนด Property ต่าง ๆ ให้แก่โคดที่เขียนแต่ละส่วนว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างไร และหมายถึงอะไร เรายังสามารถกำหนดข้อมูลอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น ชื่อธุรกิจ สถานที่ตั้ง เวลาเปิด-ปิดทำการ ฯลฯ หรือกล่าวง่าย ๆ ก็คือเป็นข้อมูลที่คนมักใช้คีย์เวิร์ดเซิร์ชหานั่นเอง ซึ่งแน่นอนว่ายิ่งเรากรอกข้อมูลมากเท่าไร Search Engine ก็จะยิ่งเก็บข้อมูลได้ตรงตามที่เราอยากให้แสดงมากเท่านั้น และส่งผลให้เรามีโอกาสได้คะแนนด้าน On-Page SEO ดีกว่าเว็บไซต์คู่แข่งด้วย

Jason LD

เราสามารถสร้าง FAQ Markup ให้ออกมาเป็นภาษาที่เรียกว่า Jason ได้ง่าย ๆ เพียงแค่เข้ากูเกิลแล้วเซิร์ชว่า “FAQ Schema Generator” ก็จะพบผู้ให้บริการหลากหลายรายให้เลือกใช้ โดยเราสามารถคลิกเข้าไปที่อันใดอันหนึ่งแล้วสร้าง FAQ Markup เป็นของตัวเองได้เลยด้วยการพิมพ์ประโยคคำถามที่มักเจอบ่อย กับคำตอบของคำถามเหล่านั้นใส่ลงไป จากนั้นเราก็จะได้โคดมา ซึ่งเราต้องคัดลอกโคดดังกล่าวมาติดตั้งในบทความที่ต้องการทำ FAQ บนเว็บไซต์ จะติดไว้ตรงไหนก็ได้ แต่ควรอยู่ในช่วงบอดี (Body) จะดีที่สุด

 

ทำ FAQ Markup ควรใส่คีย์เวิร์ดแบบไหนดี?

ดังที่ได้กล่าวไปว่า FAQ คือ “คำถามที่มักพบบ่อย” (Frequently Asked Questions) ดังนั้น ในการคัดเลือกประโยคมาใส่ให้ได้ประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องทำ Keyword Research เสียก่อน เพราะการใส่คีย์เวิร์ดนั้นไม่ใช่เพียงนึกอยากจะใส่ก็ใส่ลงไปได้เลย แต่ทุกคำควรถูกคัดสรรมาแล้วเป็นอย่างดีว่าถูกค้นหาโดยผู้ใช้งานหรือกลุ่มเป้าหมายของเว็บไซต์เราจริง ๆ ยิ่งมีคนค้นหามาก ก็ทำให้มีโอกาสที่จะแสดงเว็บไซต์เรามากขึ้น โดยคีย์เวิร์ดสามารถแบ่งได้เป็น 3 ส่วนหลัก ๆ ดังนี้

Broad Match Type

Broad Match คือการใส่คำปกติแบบไม่มีสัญลักษณ์พิเศษ นับว่าเป็นคีย์เวิร์ดที่มีรูปแบบกว้างที่สุด เพราะเมื่อทำการค้นหา คีย์เวิร์ดที่มีความหมายใกล้เคียงกัน หรือมีคีย์เวิร์ดอยู่ในวลีหรือประโยค ก็จะแสดงเว็บไซต์เราบนหน้าการค้นหาได้ ซึ่งข้อดีของการใช้คีย์เวิร์ดแบบ Broad Match Type คือช่วยทำให้โฆษณาแสดงมากขึ้น แต่ข้อเสียคือแสดงโฆษณามากเกินไป หรือแสดงโฆษณาที่ไม่มีความเชื่อมโยงกับคีย์เวิร์ด

Phrase Match Type

สัญลักษณ์ของการใส่คีย์เวิร์ดแบบ Phrase Match Type คือเครื่องหมายอัญประกาศ (“…”) ล้อมคีย์เวิร์ด ซึ่ง Phrase Match จะเป็นการใช้คียเวิร์ดที่แคบว่า Broad Match แต่ไม่แคบเท่า Exact Match กล่าวคือ เมื่อมีการค้นหาคำหรือคีย์เวิร์ดที่เราใส่ไว้ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบคำ ในประโยค หรือในวลีก็ตาม ผลการค้นหาก็จะแสดงโฆษณาของเรา นับว่าดีในแง่ที่สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ดีกว่าแบบ Broad Match นั่นเอง

Exact Match Type

สัญลักษณ์ของการใส่คีย์เวิร์ดแบบ Exact Match คือเครื่องหมายปีกกา […] ล้อมคีย์เวิร์ด เป็นคำค้นหาที่มีความเฉพาะตัวสูงมาก ต้องค้นหาตามคีย์เวิร์ดเป๊ะ ๆ โดยที่ไม่ผิดพลาดหรือสะกดผิดเลย เว็บไซต์หรือโฆษณาของเราจึงจะปรากฏบนหน้าค้นหา ข้อดีคือได้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่มีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น ช่วยประหยัดงบในการซื้อพื้นที่โฆษณา แต่ข้อเสียคือ เมื่อมีความเฉพาะเจาะจง จำนวนลูกค้าก็จะน้อยลงไปด้วย ฉะนั้น คีย์เวิร์ดรูปแบบนี้จึงไม่เหมาะกับการทำแคมเปญจำพวก Brand Awareness เท่าไรนัก

 

สรุป

ดังนั้น หากถามว่า FAQ Schema คืออะไร คำตอบก็คือ เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยให้เว็บไซต์ของเราได้คะแนน On-Page SEO ดีขึ้น ทั้งยังช่วยให้เมื่อผู้ใช้งานค้นหาข้อมูลอะไรก็ตามบน Search Engine ก็จะได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์หรือสามารถตัดสินใจได้ทันทีว่าเว็บไซต์นั้นน่าคลิกเข้ามามากน้อยแค่ไหน โดยถ้าหากมีคนคลิกเข้ามาที่เว็บไซต์ของเรามาก เว็บไซต์ก็มีโอกาสติดอันดับหน้าแรกของ Google มาก โดยในการที่จะทำให้ผู้อื่นเซิร์ชหาเราเจอนั้น จะต้องมีการทำ Keyword Research เพื่อคัดสรรคีย์เวิร์ดที่เหมาะสมแก่การนำมาใส่ในการสร้าง FAQ Schema ด้วย