Canonical Tag คืออะไร ช่วยเรื่อง SEO ได้อย่างไรบ้าง?

อีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญที่ช่วยเรื่อง SEO แต่ยังไม่ค่อยมีใครรู้จัก! ขอบอกเลยว่า “Canonical Tag” นี้เป็นสิ่งที่คนทำ SEO ทุกคนจะต้องทำความเข้าใจ เพราะหลาย ๆ คนก็อาจยังเข้าใจผิดว่า ถ้าอยากติดแรงก์บนหน้าแรกของ Google จะต้องเขียนบทความในคีย์เวิร์ดเดิมเยอะ ๆ เข้าไว้ เพื่อที่จะได้ติดอันดับบนหน้าแรกสักอันอย่างแน่นอน แต่หารู้ไม่ว่านั่นเป็นความคิดที่ผิด! เนื่องจาก Google มีการออกมาอัปเดต Broad Core Algorithm Update โดยมีจุดประสงค์หลักคือการจัดการข้อมูลที่ซ้ำซ้อน (Duplicate Content) บนเว็บไซต์เดียวกันออกไปจากหน้าการค้นหา ส่งผลให้เว็บไซต์บางเว็บฯ ถูกตัดออกไปจากสารบบ และมีจำนวนคนเข้าเว็บไซต์ (Traffic) ลดลงแบบฮวบฮาบทันที ดังนั้น Canonical Tag จึงถือกำเนิดมาเพื่อช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้

Canonical Tag มีไว้ทำอะไร

Canonical Tag คืออะไร?

ใครที่รู้ตัวว่ากำลังใช้วิธีเขียนบทความหลาย ๆ อันด้วยคีย์เวิร์ดซ้ำ ๆ เพื่อให้เว็บไซต์ติดแรงก์ของ Google เมื่ออ่านบทความนี้แล้วแนะนำว่าให้เปลี่ยนวิธีเสียใหม่ เพราะจากประกาศของ Google ก็ชี้ให้เห็นแน่ชัดแล้วว่าการกระทำดังกล่าวนอกจากจะไม่ส่งผลดีต่อเว็บไซต์ของเราแล้ว ยังทำให้จำนวน Traffic และอันดับเว็บไซต์ลดลงเป็นอย่างมากด้วย แต่ถ้าเราเขียนบทความเยอะเกินจนจำไม่ได้ว่าคีย์เวิร์ดนี้เขียนไปแล้วหรือยังล่ะ? นั่นก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่หากเรารู้จักเครื่องมือนี้!

Canonical Tag คือเครื่องมือที่จะช่วยบอก Search Engine ให้รู้ว่า URL ที่อยู่ใน Tag นี้คือหน้าหลักของเว็บไซต์ (Rel Canonical) เพื่อให้อัลกอริทึมจดจำ (Index) หน้านั้น ๆ ในกรณีที่หน้าอื่นมีเนื้อหาซ้ำกันอยู่ และเพื่อป้องกันไม่ให้หน้าที่มีเนื้อหาซ้ำกับหน้าหลักปรากฏในผลการค้นหา ซึ่งจะทำให้ Google มองว่าเว็บไซต์ของเราไม่น่าเชื่อถือนั่นเอง

 

Canonical Tag ช่วยเรื่อง SEO อย่างไร?

เนื่องจากหน้าที่หลักของ Google คือการแสดงผลการค้นหาที่ดีที่สุดให้แก่ผู้ใช้งาน ดังนั้น หาก Google เข้ามาเก็บข้อมูลบนเว็บไซต์ของเรา แล้วพบว่ามีข้อมูลซ้ำซ้อนกันเป็นจำนวนมาก อัลกอริทึมก็จะเกิดความสับสนว่าควร Index ข้อมูลหน้าไหนดี ทำให้บางทีหน้าที่ถูก Index ไปอาจไม่ใช่หน้าที่ดีที่สุดที่เราต้องการ ส่วนหน้าที่เราต้องการให้แรงก์ก็ไม่ถูก Index ก็เป็นได้

อย่างไรก็ตาม การใช้ Canonical Tag จะช่วยให้ Google จดจำเว็บไซต์ของเราได้อย่างถูกต้อง และช่วยป้องกันปัญหาข้อมูลซ้ำได้อีกด้วย เมื่อนั้น ภาพลักษณ์ของเว็บไซต์เราก็จะดูมีความน่าเชื่อถือมากขึ้นในสายตาของอัลกอริทึม

 

วิธีการใส่ Canonical Tag SEO ทำอย่างไร?

ในกรณีที่ URL ของเว็บไซต์เราคือ http://www.domainname.com/blog แต่สามารถใช้ URL https://domainname.com/blog เข้าได้เหมือนกัน หากเป็นเช่นนี้ Google จะมองว่าทั้งสองหน้ามีเนื้อหาและข้อมูลเว็บไซต์ซ้ำกัน เนื่องจากอัลกอริทึมจะมองจาก URL เป็นหลัก จากนั้นหน้าเหล่านี้ก็จะถูก Google ลดความสำคัญลง ทำให้เว็บไซต์ของเราหมดโอกาสติดอันดับ SEO

แต่! อย่าเพิ่งหมดหวังไป เพราะ Canonical Tag ช่วยได้! โดยถ้าหากเราต้องการให้ http://www.domainname.com/blog เป็นหน้าที่ติดอันดับในผลการค้นหา ก็สามารถทำได้โดยการใส่ Canonical Tag เพิ่มลงไปใน Header HTML Tag ของหน้าที่เราต้องการให้ติดอันดับการค้นหา หรือหน้าที่เราต้องการให้เป็นหน้าหลัก และอีกหน้าหนึ่งที่ซ้ำกันแต่ไม่ได้ต้องการให้เป็นหน้าหลัก ดังนี้

<link rel=”canonical” href=”http://www.domainname.com/blog/”>

จากนั้น ถ้าอยากตรวจสอบว่า Canonical Tag ทำงานแล้วหรือยัง ก็สามารถเข้าไปเช็กได้ที่ MozBar ซึ่งเป็นหนึ่งใน Google Chrome Extension ได้ โดยคลิกดูที่ General Attributes และจะมีข้อมูลส่วนของ Rel=”Canonical” ปรากฏขึ้นมาว่าอ้างอิงไปยัง URL ไหนนั่นเอง

เพียงเท่านี้ หน้าหลักของเราก็จะไม่โดน Google มองว่าเป็นหน้าเว็บไซต์ที่ซ้ำกันอีกต่อไป และจะส่งผลให้เว็บไซต์มีโอกาสติดอันดับ SEO มากยิ่งขึ้น ดังนั้น Canonical คือตัวช่วยที่เหมาะสมที่สุดสำหรับเว็บไซต์ที่มีข้อมูลบนหน้าเว็บฯ ซ้ำกัน

 

ลักษณะของเว็บไซต์แบบใดที่ควรใช้ Canonical Tag?

เว็บไซต์ที่มี Duplicate Content

ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้วว่า Duplicate Content คือบทความที่มีเนื้อหาเหมือนกัน ตลอดจนบทความที่เราตั้งค่า Focus Keyword ไว้ซ้ำกันด้วย

เว็บไซต์ที่มี Similar Content

คล้าย ๆ กับ Duplicate Content แต่ Similar Content นั้นเนื้อหาจะไม่ได้เหมือนกันแบบเป๊ะ ๆ ส่วนมากจะเป็นเว็บไซต์ขายของที่มีรายละเอียดสินค้าคล้าย ๆ กัน โดยอาจแตกต่างกันเพียงราคาหรือรายละเอียดสินค้าแบบยิบย่อย เช่น ขนาด สี เป็นต้น

เว็บไซต์ที่มี URL Parameters

URL Parameters คือ URL ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อ Tracking ข้อมูลผู้ใช้งานบนเว็บไซต์ของเรา ซึ่งแต่ละ URL ก็จะมีเนื้อหาเหมือนกัน ทำให้ Google อาจคิดว่าเป็นเว็บเพจที่ซ้ำกันนั่นเอง

 

ข้อควรระวังในการใช้ Canonical Tag คืออะไรบ้าง?

ห้ามวาง Canonical Tag ที่มี URL เดียวกันในทุกหน้าของเว็บไซต์

ประการแรกนี้ มักเกิดจากการวาง Canonical Tag ใน HTML ของเทมเพลตหลักบนเว็บไซต์ ทำให้ Tag ปรากฏในทุกหน้าเว็บเพจ

ห้ามใส่ Canonical Tag มากกว่า 1 Tag ในหน้า HTML เดียวกัน

ในส่วนนี้ สามารถเกิดขึ้นได้จากการใส่ Canonical Tag ซ้ำกันเอง หรือเกิดจาก Plug-in ที่ใช้ใน CMS

ระวังเรื่อง Absolute URL (แบบเต็ม) และ Relative URL (แบบย่อ)

โดยเราควรใส่ URL แบบ Absolute URL (แบบเต็ม) เพื่อประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น เช่น ควรใส่ว่า 

<link rel=canonical href=”http://www.domainname.com/blog/”> 

ไม่ใช่ <link rel=canonical href=”/blog/”> 

หรือ <link rel=canonical href=”domainname.com/blog/”>

ห้ามใส่ Canonical Tag ในหน้าที่ไม่ใช่เป้าหมาย

เราควรเช็ก URL ให้ถูกต้องก่อนที่จะใส่ Canonical Tag ลงไป โดยเลือกใส่เฉพาะหน้าที่ต้องการเท่านั้น หากในลิงก์ไม่ได้มีการเฉพาะเจาะจงหน้าไว้อย่างชัดเจน ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อ SEO ได้ เช่น หน้าเป้าหมายคือ https://domainname.com/services/seo การใส่ Canonical Tag จึงควรเป็น 

<link rel=”canonical” href=”http://www.domainname.com/services/seo/”> 

ไม่ใช่ <link rel=”canonical” href=”http://www.domainname.com/services/”>

ห้ามใส่ Canonical Tag ในส่วนของ <body>…</body>

Canonical Tag ต้องใส่ในส่วน <head>…</head> เท่านั้น ไม่เช่นนั้นก็จะไม่เห็นผล และจะกระทบไปถึงอันดับ SEO ของเว็บไซต์เราเลยทีเดียวหากทำไม่ถูกต้อง

 

หาก Traffic ลดไปแล้วก่อนที่จะใส่ Canonical Tag จะแก้ไขอย่างไร?

ต้องบอกก่อนว่าเว็บไซต์ที่ถูก Google ลดความสำคัญลงไป ทำให้จำนวนคนเข้าเว็บไซต์ หรือ Traffic หายไปด้วยนั้น ไม่มีวิธีแก้ที่จะทำให้พวกเขาเหล่านั้นกลับมาได้เหมือนเดิม แต่มีสิ่งที่พอจะทำได้หลังจาก Traffic ลดลง ก็คือปรับปรุงและพัฒนาส่วนที่มีอยู่ให้ดีขึ้น ดังนี้

  • ลบหน้าเว็บเพจที่ไม่สำคัญออกให้หมด เช่น หน้าที่ไม่ค่อยมีใครเข้ามาดู หรือหน้าที่เนื้อหาไม่มีประโยชน์ต่อผู้อ่าน เป็นต้น แต่ก่อนจะลบทิ้ง อย่าลืมเก็บ URL เหล่านั้นมาทำ Redirect มาที่หน้าหลักที่เราต้องการด้วยล่ะ!
  • ใส่ Canonical Tag ลงไปบนหน้าที่มีเนื้อหาซ้ำกัน ต่อให้ก่อนหน้านั้นไม่เคยใส่เลย แต่เริ่มตอนนี้ก็ยังไม่สาย เพราะจะได้ฟื้นฟูภาพลักษณ์ที่น่าเชื่อถือยิ่งขึ้นเวลา Google มา Index ทำให้ได้จำนวน Traffic กลับคืนมาไม่มากก็น้อย และมีโอกาสได้อันดับ SEO ที่ดีกว่าเดิมด้วย
  • หมั่นเขียนบทความที่หลากหลาย จะได้ไม่ซ้ำกันกับคีย์เวิร์ดที่เคยเขียนไปแล้วก่อนหน้า นอกจากนี้ การเขียนบทความใหม่ ๆ และมีคุณภาพลงเว็บไซต์อยู่เสมอ จะเป็นการช่วยให้ Google Index Status เกิดความสมดุล กล่าวคือ หน้าเว็บเพจที่มีคุณภาพ กับไม่มีคุณภาพ จะอยู่ในอัตราส่วนที่เหมาะสมนั่นเอง

 

สรุป

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่เราจะลงคอนเทนต์อะไรสักอย่างบนเว็บไซต์ อย่าลืมตอบคำถามตัวเองให้ดีก่อนว่าเราต้องการให้หน้าไหนเป็นหน้าหลักที่อยากให้ Google เข้ามา Index มากที่สุด ส่วนบทความอื่น ๆ ที่ไม่ใช่บทความที่เราต้องการให้เป็นหน้าหลักก็ไม่ควรมีคีย์เวิร์ดอันเดียวกัน เพราะจะทำให้ Google มองว่าสองเว็บเพจมีเนื้อหาเหมือนกันและลดความสำคัญของเว็บไซต์เราลงไปได้ แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้จริง ๆ การใช้ Canonical Tag คือวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกัน Duplicate Content ไม่ให้เว็บไซต์โดนลดอันดับ SEO และแสดงผลอย่างมีประสิทธิภาพได้เหมือนเดิม