Digital PR คืออะไร ต่างจากการประชาสัมพันธ์ดั้งเดิมอย่างไร ?

หนึ่งในวิธีสร้างการรับรู้แบรนด์ที่ดีที่สุด ได้แก่ การประชาสัมพันธ์ หรือ PR (Public Relations) ซึ่งหลายคนน่าจะเคยเห็นเหล่าแบรนด์มาตั้งบูทจัดกิจกรรมตามสถานที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะห้างสรรพสินค้า หรือการที่ผู้บริหารของแบรนด์นั้น ๆ ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวตามโทรทัศน์ แต่ในยุคดิจิทัลที่ผู้คนใช้เวลากับโลกออนไลน์มากขึ้น ทำให้การประชาสัมพันธ์แบบดั้งเดิมที่เน้นช่องทางออฟไลน์เริ่มมีบทบาทน้อยลง ธุรกิจจำนวนมากจึงหันมาใช้การทำ “Digital PR” ซึ่งเป็นกลยุทธ์การประชาสัมพันธ์รูปแบบใหม่ ที่เน้นการใช้ช่องทางออนไลน์เพื่อสร้างการรับรู้และกระแสเชิงบวกต่อแบรนด์

Table of Contents

Digital PR คืออะไร ?

Digital Public Relations หรือ Digital PR คือ กลยุทธ์การประชาสัมพันธ์แบบใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นสื่อกลางเพื่อสร้างการรับรู้และความน่าเชื่อถือของแบรนด์ โดยส่วนมากจะเน้นการใช้ช่องทางออนไลน์อย่างโซเชียลมีเดีย เว็บไซต์ อีเมล หรือบล็อก ในการสร้างความสัมพันธ์ที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจ ไม่ว่าจะกับบุคคลทั่วไป พาร์ตเนอร์ทางธุรกิจ นักลงทุน นักข่าว หรือแม้แต่ผู้มีอิทธิพลบนโลกอินเทอร์เน็ต (Influencer)

นักธุรกิจถือสมาร์ตโฟน และมีตัวหนังสือ PR ลอยขึ้นมา

จุดประสงค์ของการทำ Digital PR คืออะไร ?

สร้างการรับรู้แบรนด์ (Brand Awareness)

กลยุทธ์ Digital PR ช่วยเพิ่มการรับรู้และการจดจำแบรนด์ในหมู่ผู้บริโภค ด้วยการสร้างเนื้อหาและกิจกรรมออนไลน์ที่โปรโมตแบรนด์ไปในตัว ทำให้แบรนด์มีโอกาสถูกพูดถึงและแพร่หลายไปในวงกว้าง

เพิ่มฐานลูกค้า (Customer Acquisition)

เนื้อหาและกิจกรรมออนไลน์ที่มีประโยชน์จะดึงดูดผู้บริโภคกลุ่มใหม่ให้สนใจในสินค้าและบริการของแบรนด์ ช่วยขยายฐานลูกค้าและเพิ่มโอกาสในการขายได้

ส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของแบรนด์ (Brand Image)

การทำ Digital PR ด้วยการสร้างเนื้อหาและกิจกรรมที่สอดคล้องกับคุณค่าและจุดยืนของแบรนด์ จะช่วยสร้างและรักษาภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่แบรนด์ในสายตาของผู้บริโภค

กระตุ้นการขาย (Sales)

เมื่อผู้บริโภครับรู้เกี่ยวกับแบรนด์และเกิดความสนใจในตัวสินค้าและบริการแล้ว กลยุทธ์ Digital PR ก็จะช่วยกระตุ้นให้กลุ่มเป้าหมายเกิดความต้องการซื้อ อันจะนำไปสู่การเพิ่มยอดขายให้ธุรกิจ

สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า (Customer Relationship Management)

การมีปฏิสัมพันธ์และสื่อสารผ่านช่องทางดิจิทัลต่าง ๆ จะช่วยให้แบรนด์สามารถเข้าถึงและสร้างความผูกพันกับลูกค้าได้อย่างใกล้ชิด ส่งผลให้รักษาฐานลูกค้าเดิมและสร้างความภักดีต่อแบรนด์ได้ในระยะยาว

 

กลยุทธ์ Digital PR ต่างจากการประชาสัมพันธ์แบบดั้งเดิมอย่างไร ?

ช่องทางที่ใช้

  • การประชาสัมพันธ์แบบดั้งเดิม – เน้นสร้างการรับรู้ผ่านช่องทางออฟไลน์ เช่น วิทยุ โทรทัศน์ ใบปลิว บิลบอร์ด สื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ
  • การทำ Digital PR เน้นสร้างการรับรู้ผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น เว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย อีเมล บล็อก

กลุ่มเป้าหมาย

  • การประชาสัมพันธ์แบบดั้งเดิม – เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้กว้าง แม้คนเหล่านั้นไม่ได้มีความสนใจในสินค้าของเรามาก่อนเลย แต่ก็มีโอกาสเจอโฆษณาหรือบูทของแบรนด์ได้ตลอดทุกที่เพียงแค่ออกจากบ้าน
  • การทำ Digital PR สามารถกำหนดกลุ่มเป้าหมายได้เจาะจงมากกว่า โดยผู้ที่เห็นคอนเทนต์จะเป็นผู้มีความสนใจในสินค้าหรือบริการของเราจริง ๆ ซึ่งมีโอกาสซื้อสูงกว่า

รูปแบบเนื้อหาประชาสัมพันธ์

  • การประชาสัมพันธ์แบบดั้งเดิม – เนื้อหามีความเป็นทางการ เน้นให้ข้อมูลล้วน ๆ
  • การทำ Digital PR – เนื้อหาหลากหลาย เน้นความแปลกใหม่ น่าสนใจ สวยงามและดึงดูดสายตา

การวัดผลลัพธ์

  • การประชาสัมพันธ์แบบดั้งเดิม – วัดผลได้ยาก เพราะการติดโฆษณาตามป้าย สื่อสิ่งพิมพ์ หรือแจกใบปลิว เป็นการมุ่งสร้างการรับรู้เท่านั้น ธุรกิจจะไม่รู้เลยว่ามีใครสนใจแบรนด์ของเราจากโฆษณาเหล่านั้นบ้าง
  • การทำ Digital PR สามารถวัดผลได้ชัดเจน เพราะสมัยนี้มีเครื่องมือมากมายที่ช่วยให้ธุรกิจสามารถรวบรวมข้อมูล แล้วนำมาวิเคราะห์เพื่อวางแผนกลยุทธ์ขั้นต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ต้นทุนในการประชาสัมพันธ์

  • การประชาสัมพันธ์แบบดั้งเดิม – ต้นทุนโดยรวมสูงกว่า เพราะต้องจ่ายค่าพื้นที่โฆษณาทุกครั้งที่ต้องการทำคอนเทนต์หรือจัดอิเวนต์โปรโมตแบรนด์
  • การทำ Digital PR ประหยัดต้นทุนได้มากกว่า เพราะสามารถทำคอนเทนต์ลงบนช่องทางออนไลน์ของตนเองได้เลย ไม่จำเป็นต้องซื้อพื้นที่โฆษณาทุกครั้ง

ความเร็วในการสร้างผลลัพธ์

  • การประชาสัมพันธ์แบบดั้งเดิม – ใช้เวลานาน และต้องทำหลาย ๆ ครั้งกว่าแบรนด์จะสร้างการรับรู้ในวงกว้างได้
  • การทำ Digital PR สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างรวดเร็ว เพราะโลกออนไลน์เป็นแพลตฟอร์มที่ไร้ข้อจำกัดทั้งด้านพรมแดนและเวลา

การมีส่วนร่วมของกลุ่มเป้าหมาย (Engagement)

  • การประชาสัมพันธ์แบบดั้งเดิม – กลุ่มเป้าหมายไม่ค่อยมีส่วนร่วมกับแบรนด์
  • การทำ Digital PR กระตุ้นการมีส่วนร่วมได้มาก โดยเฉพาะกับคอนเทนต์ที่ตรงใจกลุ่มเป้าหมาย

นักการตลาดใช้แล็ปท็อปในการทำ Digital PR

ตัวอย่างการใช้กลยุทธ์ Digital PR

การสร้างคอนเทนต์ที่ตอบโจทย์ผู้ใช้งาน

ในแต่ละช่วง ความนิยมเสพคอนเทนต์ของผู้บริโภคก็เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ จึงเป็นหน้าที่ของธุรกิจที่ต้องคอยค้นหาว่ากลุ่มเป้าหมายกำลังอินกับอะไร แล้วผลิตคอนเทนต์ที่เกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ ออกมา เช่น หากเป็นแบรนด์ขายเครื่องสำอาง อาจทำเป็นอินโฟกราฟิกบอกเทคนิคการเลือกรองพื้นให้เข้ากับสีผิว ซึ่งเป็นคำถามที่พบบ่อยในกลุ่มลูกค้าผู้หญิง หรือหากขายเครื่องม้วนผม ก็สามารถทำวิดีโอสอนใช้สินค้า เพื่อให้ผู้บริโภคเห็นภาพมากขึ้นว่าหลังจากใช้ผลิตภัณฑ์ของแบรนด์แล้วจะเกิดผลลัพธ์อย่างไร

การทำ Influencer Marketing

เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ Digital PR ที่ฮิตมาก ๆ ในสมัยนี้ เพราะอินฟลูเอนเซอร์คือผู้มีอิทธิพลบนโลกออนไลน์ ที่หากพวกเขาพูดถึงแบรนด์เราลงบนแพลตฟอร์มของตนเองแล้ว ก็มีสิทธิ์ที่จะช่วยแบรนด์เพิ่มยอดขายได้ เพราะเหล่าผู้ใช้งานก็ชอบซื้อสินค้าตามอินฟลูฯ เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

การเขียนบทความ SEO

SEO หรือ Search Engine Optimisation เป็นกระบวนการปรับปรุงเว็บไซต์ให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่อัลกอริทึมของ Search Engine กำหนด เพื่อดันให้เว็บไซต์ขึ้นไปอยู่อันดับต้น ๆ บนหน้าผลการค้นหา ช่วยทำให้มีผู้ใช้งานคลิกเข้ามาที่เว็บไซต์มากขึ้น ทั้งยังเพิ่มความน่าเชื่อถือให้ธุรกิจด้วย โดยการทำ Digital PR ผ่านการใช้หลัก SEO ได้แก่ การเขียนบทความที่มีการแทรกคีย์เวิร์ดที่กลุ่มเป้าหมายมักใช้เซิร์ชไว้ในเนื้อหา โดยเนื้อหานั้น ๆ ต้องมีประโยชน์ เกี่ยวข้องกับเว็บไซต์ และตอบโจทย์ที่ผู้ใช้งานสงสัย

การสร้างความสัมพันธ์กับสื่อออนไลน์

จากที่เมื่อก่อนแบรนด์มักทำ PR ด้วยการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวและสื่อมวลชน เพื่อที่จะได้ไปปรากฏอยู่ตามสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ หรือโทรทัศน์ แต่สมัยนี้ทำได้ง่ายกว่านั้น เพราะมีสื่อออนไลน์จำนวนมากให้ธุรกิจได้เลือกทำ Digital PR โดยการสร้างความสัมพันธ์กับสื่อเหล่านั้น เพื่อที่จะได้ไปปรากฏอยู่บนเว็บไซต์อื่น ๆ ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคเกิดความไว้ใจ เพราะการทำเช่นนี้ก็เหมือนกับว่ามีคนอื่น (เว็บไซต์อื่น) พูดถึงเราในทางที่ดี และที่สำคัญ หลายเว็บไซต์มีบริการ Backlink โยงกลับมาที่เว็บไซต์เรา เพิ่มโอกาสในการติดแรงก์ (Rank) มากขึ้นด้วย

การจัดกิจกรรมออนไลน์

มีธุรกิจจำนวนมากนิยมจัด Webinar ที่คล้าย ๆ กับการจัดอิเวนต์สัมมนาแต่เป็นในรูปแบบออนไลน์ เพื่อสร้างการรับรู้และความน่าเชื่อถือให้แบรนด์ โดยอาจเป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับธุรกิจที่เรากำลังทำ เช่น ธุรกิจอีคอมเมิร์ซจัด Webinar เพื่อแชร์เทคนิคเกี่ยวกับการบริหารจัดการองค์กรให้ประสบความสำเร็จระดับสากล แต่สำหรับธุรกิจ SME เล็ก ๆ อาจทำเป็นเกมสนุก ๆ ที่กระตุ้นการมีส่วนร่วมจากผู้บริโภคบนโซเชียลมีเดีย เช่น การทำโพล หรือการเล่น Q&A บน Instagram

        

โปรโมตแบรนด์แบบธุรกิจยุคใหม่ ด้วยกลยุทธ์ Digital PR

ในยุคดิจิทัลที่มีธุรกิจจำนวนมากกำลังแข่งขันกันอย่างดุเดือด การสร้างการรับรู้แบรนด์ด้วยการทำ Digital PR นั้นมีบทบาทสำคัญอย่างมาก เพราะการตลาดสมัยใหม่ เราจะรอให้ผู้บริโภคเข้าหาอย่างเดียวไม่ได้ แต่เราต้องรู้จักเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในที่ที่พวกเขาจะมองเห็นด้วย เพื่อสร้างโอกาสในการขาย อันจะนำไปสู่ความสำเร็จในอนาคต

ไม่ถนัดทำคอนเทนต์ออนไลน์ ไว้ใจ Primal Digital Agency ได้เลย เราคือบริษัทรับทำการตลาดชั้นนำของไทย ที่มีบริการครอบคลุมตั้งแต่การเขียนบทความ SEO การออกแบบกราฟิก ไปจนถึงบริการรับทำ Backlink ช่วยให้ธุรกิจของคุณน่าเชื่อถือ และก้าวขึ้นสู่หน้าแรกของ Google ได้ภายในระยะเวลาตามตกลง ติดต่อเราได้เลยวันนี้