Digital Footprint คืออะไร รอยเท้าดิจิทัลที่ส่งผลต่อการตลาด

ทุกวันนี้ อินเทอร์เน็ตแทบจะเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเรา ไม่ว่าจะทำอะไรก็ต้องพึ่งพาอินเทอร์เน็ตไปเสียหมด หากจะให้ย้อนกลับไปใช้ชีวิตแบบช่วงยุคก่อนที่จะมีอินเทอร์เน็ตก็ทำไม่ได้แล้ว แต่เคยคิดหรือไม่ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำไปบนโลกออนไลน์นั้น อดีตลบไม่ได้เหมือนในชีวิตจริง !

Digital Footprint เป็นสิ่งที่ช่วงหลังมานี้มีการพูดถึงเป็นอย่างมาก ยิ่งในยุคที่คนให้ความสำคัญกับเรื่องความเป็นส่วนตัว (Privacy) กันมากขึ้น Digital Footprint ยิ่งเป็นประเด็นที่น่าสนใจ เพราะไม่ว่าเราจะเข้าเว็บไซต์ไหน เล่นแอปฯ อะไร กดไลก์เพจไหน หรือพิมพ์ข้อความอะไรลงบนโซเชียลมีเดียบ้าง ก็ล้วนแล้วแต่ทำให้เกิดร่องรอยบนโลกออนไลน์ทั้งหมด และด้วยเหตุผลนั้น นักการตลาดจึงเริ่มเล็งเห็นการนำ Digital Footprint มาใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้า และนำไปวางแผนทำการตลาดให้มีประสิทธิภาพต่อไป

ดังนั้น บทความนี้จะพาทุกคนไปรู้จักว่า Digital Footprint คืออะไร มีอะไรบ้าง รวมถึงมีข้อดีและข้อเสียอย่างไร

Digital Footprint ตัวอย่าง

Digital Footprint คืออะไร

รู้หรือไม่ว่า ทุกเว็บไซต์ที่เราเข้า ทุกข้อความที่เราโพสต์ ทุกประโยคที่แชตกับคนอื่น รวมไปถึงการกดไลก์ กดแชร์ คอมเมนต์บนโลกออนไลน์ ล้วนทิ้งร่องรอยดิจิทัลที่จะสาวกลับมาหาตัวตนของเราได้ทุกเมื่อ !

Digital Footprint คือ รอยเท้าบนโลกดิจิทัล เปรียบเสมือนประวัติการใช้งานอินเทอร์เน็ตของเรา ไม่ว่าเราจะกระทำการใด ๆ บนโลกออนไลน์ก็ตาม สิ่งเหล่านั้นจะปรากฏเป็นร่องรอยที่ผู้อื่นสามารถติดตามหรือนำไปใช้งานต่อได้ โดยความน่าสนใจของ Digital Footprint คือ ไม่ใช่แค่เพียงข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานเท่านั้นที่ถูกบันทึกไว้ แต่ยังรวมไปถึงข้อมูลเชิงลึกอย่างจำนวนการคลิกลิงก์ วินาทีในการดูโฆษณา ตลอดจนระยะเวลาในการใช้งานบนเว็บไซต์หนึ่ง ๆ เลยทีเดียว เรียกได้ว่า Digital Footprint เก็บไว้หมดทุกอย่าง มากกว่าที่ตัวเราเองจะจำได้ด้วยซ้ำว่าเล่นอะไรไปบ้าง

จากที่กล่าวมา Digital Footprint อาจฟังดูน่ากลัว แต่ในทางกลับกัน ถ้าเรารู้จักนำมาใช้ Digital Footprint คือสิ่งที่มีประโยชน์ต่อการทำธุรกิจมาก เพราะนักการตลาดสามารถติดตามดูได้ว่ากลุ่มเป้าหมายมีความสนใจสินค้าหรือบริการประเภทใด จากโพสต์ที่พวกเขามีปฏิสัมพันธ์ (Engagement) ด้วยบ่อย ๆ หรือเพจที่กลุ่มเป้าหมายกดถูกใจ แอ็กเคานต์โซเชียลมีเดียที่กดติดตามเอาไว้ รวมถึงเว็บไซต์ที่คลิกเข้าไป เป็นต้น ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้เรารู้ได้ว่าควรนำเสนอสิ่งใดแก่กลุ่มเป้าหมาย และควรปรับปรุงหรือพัฒนาแบรนด์อย่างไรจึงจะสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างตรงจุด อันที่จริงก็ไม่ใช่แค่วงการการตลาด แต่สายอาชีพที่ต้องคัดคนเข้าองค์กรอย่างฝ่ายทรัพยากรบุคคล หรือ HR ก็ยังมีการใช้ Digital Footprint เพื่อกรองประวัติของผู้สมัครงานเช่นกัน

 

Digital Footprint มีอะไรบ้าง

รอยเท้าดิจิทัล หรือ Digital Footprint สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ Active Digital Footprint และ Passive Digital Footprint

  • Active Digital Footprint คือ รอยเท้าดิจิทัลที่เกิดจากเจตนาของผู้ใช้งาน กล่าวคือ เป็นข้อมูลที่เราตั้งใจเผยแพร่อยู่แล้ว เช่น การเขียนบล็อก การส่งอีเมล การตั้งสเตตัสบนโซเชียลมีเดีย เป็นต้น โดยยิ่งเราทำสิ่งเหล่านี้มากเท่าไร เราก็ยิ่งมี Digital Footprint มากขึ้นเท่านั้น
  • Passive Digital Footprint คือ รอยเท้าดิจิทัลที่ไม่ได้เกิดจากความตั้งใจของผู้ใช้งาน หรือไม่ได้มีเจตนาจะบันทึก เช่น IP Address ประวัติการเข้าชมเว็บไซต์ต่าง ๆ ประวัติการดูโฆษณา ช่วงเวลาการใช้งานโซเชียลมีเดีย เป็นต้น

 

ข้อดี-ข้อเสียของ Digital Footprint มีอะไรบ้าง

จากที่ได้กล่าวมา หลายคนอาจเกิดความคิดว่า การมี Digital Footprint ออกจะดูไม่ปลอดภัยเอาเสียเลย ยิ่งในยุคที่เราต้องรักษาความเป็นส่วนตัวเช่นนี้ด้วยแล้ว ดังนั้น จะบอกว่า Digital Footprint มีแต่ข้อดีอย่างเดียวก็คงจะไม่ถูก เพราะรอยเท้าดิจิทัลก็เปรียบเสมือนดาบสองคม ซึ่งหากจะนำมาใช้งาน ก็ต้องใช้อย่างมีจริยธรรม ระวังไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิส่วนตัวของลูกค้ามากเกินไป ไม่เช่นนั้นอาจถูกแจ้ง PDPA ได้

ไปดูกันว่าข้อดีและข้อเสียของ Digital Footprint มีอะไรบ้าง

Digital Footprint ข้อดี

  • ทำให้แบรนด์รู้ถึงข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับพฤติกรรมทางการตลาดของกลุ่มเป้าหมาย และสามารถนำมาวางแผนการทำธุรกิจเพื่อนำเสนอสิ่งที่กลุ่มคนเหล่านั้นต้องการได้
  • ทำให้แบรนด์รู้ว่าควรปรับปรุงหรือพัฒนาธุรกิจในส่วนไหนเพื่อให้ประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น
  • สามารถโฆษณาและประชาสัมพันธ์ได้ง่ายและทั่วถึงมากขึ้น โดยเฉพาะบนโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook, Instagram, Twitter, TikTok ยิ่งสมัยนี้ อัลกอริทึมของแพลตฟอร์มเหล่านี้ได้ปรับให้ฟีดของผู้ใช้งานแต่ละคนไม่เหมือนกันตามลักษณะการใช้งาน ยิ่งทำให้โฆษณาของเราปรากฏสู่สายตากลุ่มเป้าหมายแบบตรงจุดมากขึ้น
  • เป็นแพลตฟอร์มแสดงตัวตนสำหรับผู้ที่ต้องการเป็นที่รู้จักบนโลกออนไลน์ และสร้างรายได้แก่ตัวเอง เช่น อาชีพอินฟลูเอนเซอร์ ยูทูบเบอร์ เป็นต้น
  • สามารถตามรอยอาชญากรได้ง่ายขึ้น เช่น กรณีซื้อของออนไลน์แล้วโดนโกง การเก็บบันทึก Digital Footprint ก็จะช่วยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถตามรอยผู้ต้องสงสัยได้
  • สามารถเก็บความทรงจำไว้ดูในอนาคตได้ เช่น คลิปวิดีโอ ภาพถ่าย หรือเหตุการณ์สำคัญในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ
  • ได้เห็นแนวคิด ทัศนคติ และรูปแบบการใช้ชีวิตของตนเองในอดีต เพื่อนำมาตกตะกอนและเรียนรู้วิธีปรับตัวในปัจจุบันและอนาคต

Digital Footprint ข้อเสีย

  • ความเป็นส่วนตัวลดลง เนื่องจากคนอื่นสามารถสืบค้นและรับรู้เรื่องราวของเราได้มากขึ้น
  • อาจโดนสะกดรอยตามจากผู้ไม่หวังดี หากอัปโหลดโพสต์ที่ระบุตำแหน่งที่อยู่แบบเรียลไทม์
  • หากโพสต์หรือแชร์คอนเทนต์ตามกระแสมากเกินไป เมื่อกลับมาดูอีกครั้งในอนาคตอาจพบว่าคอนเทนต์นั้น ๆ ไม่เหมาะสม แม้จะลบออกแต่ก็มีคนแค็ปฯ ไว้
  • ผู้ที่มีชื่อเสียงบนโลกออนไลน์มีโอกาสถูกขุดคุ้ยประวัติเก่า ๆ มาใช้โจมตี

Digital Footprint ข้อควรระวัง

วิธีแก้ไขปัญหา Digital Footprint กับความเป็นส่วนตัว

มาถึงตรงนี้ จะไม่พูดถึงการแก้ไขปัญหา Digital Footprint กับความเป็นส่วนตัวก็คงไม่ได้ เพราะอย่างที่รู้กันว่า ปัจจุบันประชาชนเริ่มตระหนักถึงประเด็นเรื่องการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และมีความหวงแหนข้อมูลส่วนตัวกันมากขึ้น หากถามว่า แล้วมีวิธีไหนหรือไม่ที่เราจะลบ Digital Footprint ของตัวเองออกไป เพราะบางคนอาจไม่สบายใจที่รู้สึกเหมือนโดนติดตามตลอดเวลาไม่ว่าจะทำอะไรบนอินเทอร์เน็ต

คำตอบคือ แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะลบ Digital Footprint ออก เพราะเมื่อมีอินเทอร์เน็ต ก็ต้องมี Digital Footprint ตามมาเป็นแพ็กคู่ แต่อย่างที่บอกว่า Digital Footprint เองก็มีข้อดี เพียงแต่เราต้องรู้จักใช้อย่างมีจริยธรรม ใช้เมื่อจำเป็น และไม่ละเมิดสิทธิส่วนตัวของใครหากบุคคลนั้นไม่ยินยอม เว้นแต่ว่าเป็นกรณีร้ายแรง อย่างอาชญากรรม เป็นต้น 

อย่างไรก็ดี แม้จะลบ Digital Footprint ไม่ได้ แต่เรามีวิธีเล่นอินเทอร์เน็ตให้ปลอดภัยมากขึ้น เพื่อไม่ให้เกิด Digital Footprint ที่ละเมิดสิทธิของเราภายหลังได้ ดังนี้

  • ระมัดระวังก่อนโพสต์หรือแชร์คอนเทนต์อะไรก็ตาม เพราะเมื่อโพสต์ดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไปแล้ว ก็จะถูกบันทึกลงบนแพลตฟอร์มนั้น ๆ เสมอ แม้เราจะลบไปแล้วก็ตาม ฉะนั้น ต้องคิดให้เยอะ ๆ ก่อนโพสต์หรือแชร์อะไรสักอย่างหนึ่ง เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจตามมา
  • ไม่ใส่ข้อมูลส่วนตัวบนโซเชียลมีเดียเยอะเกินความจำเป็น เพราะการทำเช่นนั้นจะทำให้ทั้งผู้ใช้งานคนอื่น ๆ และทางแพลตฟอร์มรู้เรื่องของเรามากเกินไป จึงควรกรอกข้อมูลแค่ช่องที่จำเป็นเท่านั้น
  • ตั้งค่าข้อมูลส่วนตัวต่าง ๆ ให้เป็น Private เพื่อไม่ให้คนที่เราไม่รู้จักสามารถเข้าถึงเราได้ง่าย
  • ระมัดระวังการใช้อินเทอร์เน็ตส่วนอื่น ๆ นอกเหนือจากโซเชียลมีเดียด้วย เช่น การเข้าเว็บไซต์ผิดกฎหมาย การคลิกลิงก์แปลก ๆ ที่อาจแฝงระบบติดตามข้อมูล รวมถึงล้วงข้อมูลส่วนตัวที่เราไม่ต้องการเปิดเผย

 

สรุป

ดังนั้น Digital Footprint คือ รอยเท้าบนโลกดิจิทัลที่จะติดตัวเราไปตลอด ไม่ว่าเราจะยินยอมหรือไม่ยินยอมก็ตาม ฟังดูอาจจะน่ากลัว แต่ Digital Footprint ก็มีข้อดี เพราะเราสามารถรู้ได้ว่ากลุ่มเป้าหมายของเราชอบหรือสนใจอะไร แล้วนำข้อมูลส่วนนั้นมาวางแผนในการทำการตลาดให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แต่ต้องระมัดระวังไม่ให้ละเมิดความเป็นส่วนตัวของลูกค้ามากเกินไปด้วย ไม่เช่นนั้นอาจส่งผลเสียต่อแบรนด์ได้ โดยก่อนจะเก็บข้อมูล เราต้องมีการขอความยินยอมจากผู้ใช้งานก่อน พร้อมทั้งชี้แจงว่าจะเก็บข้อมูลไปทำอะไร ตลอดจนให้คำมั่นว่าข้อมูลเหล่านั้นจะไม่รั่วไหล ในส่วนของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วไปก็ต้องมีความระมัดระวังตนเอง ไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวเกินความจำเป็น และเล่นโซเชียลมีเดียด้วยความรอบคอบเสมอ เพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงภายหลังได้

อยากทำการตลาดที่เป็นผลดีต่อทั้งแบรนด์ของคุณและลูกค้าใช่หรือไม่ Primal Digital Agency เป็นบริษัทรับทำการตลาดชั้นนำของไทยที่พร้อมให้คำปรึกษาในทุก ๆ ด้านของการทำธุรกิจ ให้คุณประสบความสำเร็จมากกว่าที่เคย ติดต่อเราได้เลยวันนี้