เซฟเก็บไว้เลย! ยิงโฆษณาไม่ใช่เรื่องยาก หากเข้าใจคำศัพท์เทคนิค Facebook เหล่านี้

ทุกวันนี้ต้องยอมรับว่าธุรกิจต่างๆ บนโลกกำลังขับเคลื่อนด้วยออนไลน์เกือบ 100% ละการทำโฆษณาทางช่องทางออนไลน์ก็เป็นวิธีที่คนนิยมใช้กันอย่างมากเนื่องจากสะดวกและเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว แน่นอนว่าโฆษณา Facebook คงเป็นทางเลือกแรกๆ ที่หลายคนซึ่งหันมาใช้พื้นที่ออนไลน์ในการทำธุรกิจใช้กัน บทความนี้เราจึงนำเอาคำศัพท์เทคนิค Facebook รวมถึงคำศัพท์ Facebook Ads มาแชร์ให้ทุกท่านได้เก็บไว้เป็นคลังข้อมูล เวลาที่เจอคำศัพท์เหล่านี้ตอนทำโฆษณา Facebook จะได้ไปต่อได้อย่างสบาย

facebook brand awareness

Brand Awareness – การรับรู้แบรนด์

แปลตรงตัวตามความหมายก็คือการทำให้แบรนด์หรือธุรกิจเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ซึ่งหากวิเคราะห์ในแง่ของ Facebook Ads คำนี้ก็คือการทำโฆษณาเพื่อส่งคอนเทนต์หรือเนื้อหาที่คุณต้องการจะนำเสนอแก่ผู้ใดก็ได้ที่ยังไม่เคยรู้จักแบรนด์ของคุณมาก่อน เป็นเสมือนการแนะนำตัวให้กับผู้คนได้รับรู้ถึงการมีอยู่ของแบรนด์หรือธุรกิจของคุณ

Reach – การมองเห็น

จำนวนครั้งของผู้ที่ได้เห็นคอนเทนต์หรือเนื้อหาต่างๆ ผ่านโฆษณา Facebook โดยการนับจำนวน Reach จะนับจากบัญชีผู้ใช้ที่ไม่ซ้ำกัน ยกตัวอย่างเช่น คน 1 คน มองเห็นโฆษณาเดิม 10 ครั้ง ก็นับเป็น 1 Reach เท่านั้น แต่ถ้าคน 10 คน มองเห็นโฆษณานั้นคนละครั้ง ก็จะนับจำนวนเป็น 10 Reach เป็นต้น

Impression – การแสดงผลโฆษณา

จำนวนครั้งในการปรากฎของโฆษณา โดยการนับจำนวน Impression จะนับเป็นทุกๆ ครั้งที่โฆษณานั้นปรากฎกับผู้ใดก็ตามแม้ว่าจะเป็นบัญชีผู้ใช้เดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น คน 1 คน มองเห็นโฆษณาเดิม 10 ครั้ง ก็นับเป็น 10 Impression หรือถ้าเป็นคน 10 คน เห็นโฆษณาคนละครั้ง ก็นับเป็น 10 Impression เช่นกัน เพราะนับจากจำนวนที่โฆษณาแสดง

Engagement – การมีส่วนร่วม

การที่ผู้คนเข้ามาทำการ Like, Comment, Share บนเพจหรือโฆษณาของคุณ โดยการจะได้มา ซึ่ง Engagement นั้นจะต้องสร้างแรงจูงใจและความน่าสนใจเพื่อโน้มน้าวให้ผู้ใช้รู้สึกอยากที่จะทำ เช่นมีคอนเทนต์ที่ดีมีประโยชน์จนผู้อ่านอยากแชร์ไว้ให้เพื่อนๆ ของเขาได้รับรู้ หรือโฆษณาของคุณถูกใจจนเขาต้อง Like เป็นต้น

Traffic – ทราฟฟิก

จำนวนผู้เยี่ยมชมซึ่งในกรณีของ Facebook Tracking แล้วก็คือการนับจำนวนผู้ใช้ที่ทำการคลิกลิงก์เว็บไซต์ต่างๆ ผ่านโฆษณาที่คุณเผยแพร่ออกไป

Video Views – การรับชมวิดีโอ

จำนวนผู้รับชมวิดีโอโดยจะนับ 1 View ได้ก็ต่อเมื่อวิดีโอเริ่มเล่นไปจนครับ 3 วินาที เท่ากับว่าหากผู้ใช้แค่เลื่อนผ่านหน้า Video ของคุณระบบก็จะไม่ได้นับเป็นจำนวน View แต่ถ้าเป็น Video View ใน Story จะนับเป็น 1 View ทันทีตั้งแต่ผู้ชมเลื่อนผ่าน

Lead Generation – เพิ่มโอกาส

รูปแบบโฆษณาที่มีจุดประสงค์เพื่อเปลี่ยนบุคคลทั่วไปให้กลายมาเป็นผู้ที่มีโอกาสจะพัฒนาเข้ามาเป็นลูกค้าของธุรกิจหรือแบรนด์ในอนาคต โดยทั่วไปแล้วโฆษณาที่เป็น Lead Generation มักจะมีลักษณะการนำเสนอ โปรโมชั่น ข้อเสนอพิเศษ (Offer) ส่วนลด ของแถม ฯลฯ เพื่อดึงดูดให้กลุ่มผู้ชมโฆษณาเป้าหมายที่อาจจะกำลังสนใจผลิตภัณฑ์นั้นๆ เข้ามาเป็นลูกค้าในอนาคต

Paid Reach – การมองเห็นผ่านการซื้อโฆษณา

จำนวนการมองเห็นคอนเทนต์หรือเนื้อหาใดๆ ก็ตามที่มีการซื้อโฆษณา 

Organic Reach – การมองเห็นโดยไม่ผ่านการซื้อโฆษณา

จำนวนการมองเห็นคอนเทนต์หรือเนื้อหาใดๆ ก็ตามที่ไม่ผ่านการซื้อโฆษณา

Link Clicks – จำนวนคลิกลิงก์

จำนวนคลิกลิงก์ผ่านโฆษณาโดยมีจุดประสงค์เพื่อเชื่อมตาอไปยังเว็บไซต์ แอปพลิเคฟชันหรือแพลตฟอร์มต่างๆ หรือแม้แต่บนแพลตฟอร์ม Facebook เองก็สามารถเรียก Link Clicks ได้ อาทิ การทำโฆษณาแบบ Collection เมื่อผู้ใช้คลิกเข้าไประบบก็จะพาเข้าสู่หน้า Canvas (Instant Experience) นั่นก็จะนับเป็นจำนวนคลิกได้เช่นกัน

Collborative Ads

Image: Facebook

Collaborative Ads 

โฆษณาที่แสดงผลข้อมูลจากการคัดกรองของระบบเพื่อนำส่งโฆษณาตามที่ผู้ชมกลุ่มเป้าหมายต้องการรับชมอย่างแท้จริง โดยการทำโฆษณาประเภทนี้ไม่จำเป็นต้องมีเว็บไซต์ก็สามารถทำได้ ระบบจะจดจำจากผู้ที่เคยเยี่ยมชมเว็บไซต์ของคุณ (ในกรณีที่ไม่มีเว็บไซต์ ก็จะเป็นหน้าร้านของคุณบนแพลตฟอร์ม E-Commerce) เมื่อผู้ใช้มีการคลิกที่ตัวสินค้าต่างๆ ระบบก็จะจดจำเอาไว้ว่าคนคนนั้นมีแนวโน้มที่จะสนใจสินค้าประเภทไหน 

โดยจะเป็นการที่ Brand ดึง Catalogue Feed จากแพลตฟอร์ม E-Commerce มาใช้เป็น Dynamic Ads สำหรับการทำโฆษณาไปยังกลุ่มเป้าหมายที่เรากำหนดไว้อัตโนมัต หรือที่รู้จักกันในชื่อ CPAS นั่นเท่ากับว่าลูกค้าแต่ละคนจะเห็นสินค้าบนโฆษณาของคุณไม่เหมือนกันเลย ขึ้นอยู่กับความสนใจของแต่ละบุคคลจริงๆ

Facebook Dynamic Ads

Image: Facebook

Dynamic Ads 

รูปแบบโฆษณาที่เป็นการดึงแคตตาล็อกสินค้ามาแสดงแบบอัตโนมัติ โดยมีจุดเด่นคือการแสดงสินค้าต่างๆ ที่ผู้คนสนใจจริงๆ แม้ว่าพวกเขาจะเคย หรือไม่เคยเข้าไปที่เว็บไซต์ของคุณเลยก็ตาม อีกทั้งยังสามารถ Retarget หรือโฆษณาตอกย้ำ เพื่อเตือนให้พวกเขาได้เห็นสินค้าที่สนใจ เคยกดเข้าไปดูแต่ยังไม่ซื้อผ่านช่องทางออนไลน์หรือแอปฯ บนโทรศัพท์มือถือ เป็นรูปแบบโฆษณาที่สามารถประยุกต์ใช้ร่วมกันกับ Collaborative Ads และ Collection Ads ได้

Facebook Collection Ads

Image: Facebook

Collection Ads

อีกหนึ่งรูปแบบโฆษณาที่มีจุดเด่นคือเราสามารถจัดการ Microsite ด้านในเองได้ อาจจะเป็นภาพ วิดีโอรวมถึงการดึงรายการสินค้าต่างๆ เข้ามาแสดงบนโฆษณาเพื่อดึงดูดให้คนที่สนใจสามารถเข้าไปกดสั่งซื้อต่อได้ในเว็บไซต์ของคุณ เป็นการพยายามสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ผู้ใช้ (User Experience) เพื่อให้ได้รับโฆษณาที่น่าสนใจมากขึ้น

Carousal

รูปแบบการแสดงผลโฆษณาที่จะแสดงในลักษณะรูปภาพสี่เหลี่ยมจตุรัสวางต่อกัน ผู้ชมสามารถรับชมได้ผ่านการคลิกปุ่มเพื่อเลื่อนดูภาพต่อๆ ไปที่ยังไม่แสดงผลได้

CPC – Cost Per Click

วิธีการคิดต้นทุนโฆษณาโดยนับตามจำนวนครั้งที่มีคนคลิกโฆษณา ตัวอย่างเช่น สมมติว่าราคาต่อหนึ่งคลิกของคุณคือ 3 บาท หากตลอดทั้งแคมเปญที่โฆษณากำลังเผยแพร่อยู่นั้นมีคนคลิก 1,000 ครั้ง เงินที่คุณต้องจ่ายกับทาง Faecbook ก็คือ 3,000 บาท ซึ่งใน 1,000 ครั้งนั้น จะเป็นคนคนเดิมคลิกซ้ำกี่ครั้งก็ได้ เท่ากับว่าการคลิก 1,000 ครั้ง ไม่ได้หมายความว่าคน 1,000 คนเป็นคนคลิก อาจจะมีคนคลิกแค่ 500 คนแต่พวกเขาคลิกโฆษณาของคุณคนละ 2 ครั้ง เป็นต้น

CPM – Cost Per 1,000 Impressions

วิธีการคิดต้นทุนโฆษณาต่อการแสดงผล 1,000 ครั้ง ตัวอย่างเช่น หาก CPM ของคุณคือ 100 บาท ถ้าโฆษณาของคุณแสดงเพียง 500 ครั้ง คุณก็จะต้องชำระเงินเพียง 50 บาท แต่ถ้าโฆษณาของคุณแสดงทั้งหมด 10,000 ครั้ง คุณก็ต้องจ่ายเงินให้กับทาง Facebook ทั้งสิ้น 1,000 บาท

Facebook Ads Placement

Placement – ตำแหน่งโฆษณา

ตำแหน่งการแสดงผลโฆษณา ตรงส่วนนี้สามารถเลือกได้ตอนที่คุณกำลังสร้างแคมเปญโฆษณา โดยจะถูกระบุอยู่ในส่วนของ Ad Set โดยสามารถเลือกได้ว่าจะให้ระบบส่งโฆษณาไปยังตำแหน่งโฆษณาต่างๆ แบบอัตโนมัติ (Autometic Placements) หรือแบบกำหนดเอง (Manual Placements) ซึ่งตำแหน่งโฆษณาในปัจจุบันเราสามารถเลือกให้โฆษณาไปแสดงได้ทั้งบน Facebook, Messenger, Instagram และ Audience Network หรือเว็บไซต์ แอปพลิเคชัน ที่เป็นพันธมิตรกับ Facebook

 Audience Insight – ข้อมูลเชิงลึกกลุ่มเป้าหมาย

เครื่องมือที่มีไว้สำหรับตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกของกลุ่มเป้าหมายซึ่งจะอยู่ในตัวจัดการโฆษณาหรือ Ad Manager สามารถใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลโฆษณา Facebook Ads อย่างละเอียด ตั้งแค่เรื่องความสนใจ พฤติกรรมผู้ใช้ไปจนถึงข้อมูลประชากร

Target Audience – กลุ่มผู้ชมเป้าหมาย

กลุ่มเป้าหมายที่เราสามารถกำหนดเองได้ สำหรับนำส่งโฆษณาที่เราทำขึ้น โดยกำหนดได้อย่างละเอียดตั้งแต่ ประเทศ จังหวัด เพศ อายุ ถิ่นที่อยู่ ความสนใจ ฯลฯ

Facebook Ads Campaign Budget Optimization

CBO – Campaign Budget Optimization

การกำหนดงบประมาณโฆษณาในระดับแคมเปญ ตรงส่วนนี้จะแตกต่างจากการกำหนดงบโฆษณาแบบเดิม (ในระดับ Ad Set) เพราะงบที่กำหนดแบบเดิมจะเป็นการเฉลี่ยค่าใช้จ่ายจนหมดภายในชุดโฆษณานั้นๆ เท่านั้นไม่ว่าชุดโฆษณานั้นจะดีหรือไม่ดี แต่ถ้าเป็นการใส่งบประมาณในระดับแคมเปญหรือ CBO ระบบจะดูว่าชุดโฆษณาตัวไหนมีแนวโน้มที่ดี ก็จะดึงงบฯ ส่วนใหญ่ไปให้กับชุดโฆษณานั้นๆ เพื่อให้ผลลัพธ์ออกมาได้อย่างดีที่สุด

Frequency – ความถี่

ความถี่ในการแสดงผลโฆษณาโดยตัวเลขนี้จะได้มาจากการนำ จำนวนการแสดงผล(Impression) หารด้วย จำนวนการมองเห็น (Reach) ยกตัวอย่างเช่น โฆษณาที่คุณทำออกไปมีการแสดงผลทั้งหมด 500,000 ครั้ง มีจำนวนการมองเห็นทั้งหมด 280,000 ครั้ง เมื่อนำ 500,000 / 280,000 โฆษณาของคุณก็มีความถี่เป็น 1.8 ครั้ง หรือแปลง่ายๆ ก็คือคนหนึ่งคนเห็นโฆษณาของคุณ 1.8 ครั้ง

Ad Campaign – แคมเปญโฆษณา

แคมเปญในการสร้างโฆษณาซึ่งจะเป็นส่วนที่คุณสามารถเลือกวัตถุประสงค์ในการทำโฆษณา Facebook ได้รวมถึงกำหนดงบโฆษณาในส่วนนี้เลยก็ได้เช่นเดียวกัน โดยภายในแคมเปญโฆษณาจะประกอบย่อย 2 ส่วนหลักๆ คือ ชุดโฆษณาและโฆษณา

Ad Set – ชุดโฆษณา

ส่วนของการสร้างโฆษณารองจากแคมเปญ ซึ่งจะเป็นส่วนที่คุณต้องกำหนด ระยะเวลาในการทำโฆษณา กลุ่มเป้าหมายตั้งแต่ ตำแหน่งที่ตั้ง อายุ เพศ ความสนใจ ตำแหน่งการแสดงผลโฆษณาโดยภายในชุดโฆษณาจะมีองค์ประกอบย่อยลงไปอีกหนึ่งส่วนคือ “โฆษณา”

Ad – โฆษณา

โฆษณาที่จะนำไปแสดงผลต่อสาธารณะ ตรงส่วนนี้สามารถเป็นได้ทั้งตัวหนังสือ ภาพ วิดีโอหรือลิงก์ที่คุณสร้างขึ้นซึ่งถ้าหากเข้าไปสร้างโฆษณาผ่าน Ad Manager คุณสามารถเลือกได้ 2 ทางคือใช้โพสต์เดิมที่มีอยู่แล้ว (ที่เคยโพสต์ลงหน้าเพจ) หรือจะสร้างเป็นโพสต์ใหม่สำหรับโฆษณาโดยเฉพาะ ซึ่งเมื่อกดสร้างแล้วจะไม่ได้แสดงอยู่บ้านหน้าเพจ ซึ่งส่วนของโฆษณาจะมีรูปแบบการแสดงผลให้เลือกอยู่ 2 หมวดหลักๆ คือ 1. Single Image or Video และ 2. Carousel

Pixel – พิกเซล

ชุดโค้ดที่มีไว้สำหรับเก็บข้อมูลการกระทำต่างๆ บนเว็บไซต์ อาทิ การกด Add To Cart การสั่งซื้อ กรอกข้อมูล ฯลฯ ตามที่เรากำหนด Event (กิจกรรม) Conversion ต่างๆ เอาไว้เพื่อนำเอาข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์หรือนำมาต่อยอดเพื่อสร้างโฆษณาด้วยวัตถุประสงค์ Conversion หรือนำมาใช้สร้างกลุ่มเป้าหมายแบบกำหนดเองเพื่อนำมาทำโฆษณา Re-Marketing ต่อไปได้

Event – กิจกรรม

เป็นการกำหนดกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นบนเว็บไซต์เพื่อทำการเก็บข้อมูล Conversion ต่างๆ ซึ่งจะเป็นส่วนประกอบในการทำ Pixel ซึ่งใช้งานโดยการนำโค้ด Event ที่เราต้องการเก็บข้อมูลไปแทรกไว้ในโค้ด Pixel อีกที โดยแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ 

1. Standard Event 

สามารถเก็บข้อมูลพื้นฐานต่างๆ ที่นิยมใช้กัน โดยจะเป็นทาง Facebook ที่กำหนดมาให้เลือกมีทั้งหมด 9 กิจกรรม ได้แก่ View content, Search, Add to cart, Add to wishlist, Initiate Checkout, Add payment info, Make purchase, Lead, Complete Registration การใช้ Standard Event เป็นวิธีที่ง่ายและไม่ซับซ้อน ข้อมูลที่ได้เหมาะสำหรับการทำไปสร้าง Custom Audience หรือกลุ่มเป้าหมายแบบกำหนดเองเพื่อทำการซื้อโฆษณาต่อไปในอนาคต

2. Custom Conversions

เป็นการกำหนดวิธีการวัดผลที่ละเอียดและซับซ้อนกว่า Standard Event เพื่อทำการแยกแยะข้อมูลเป็นหมวดหมู่ชัดเจน หรือเข้าใจง่ายๆ เป็นการกำหนดความละเอียดการติดตามข้อมูล “เพิ่มเติม” จาก Standard Event ให้มีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น เหมาะกับการนำไปทำโฆษราแบบ Objective Conversion เพื่อให้ได้กลุ่มเป้าหมายที่แม่นยำมากขึ้น

Facebook Business Manager

Business Manager

ตัวจัดการธุรกิจซึ่งเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพสูงที่รวบรวมเครื่องมือทุกอย่างไว้ในที่เดียว เปรียบเสมือนระบบที่คอยจัดการสิ่งต่างๆ ภายในองค์กรทั้งการจัดการคน สิทธิ์ในการเข้าถึงส่วนต่างๆ การจัดการเพจ บัญชีโฆษณา วิธีการจ่ายเงิน โดยความพิเศษคือสามารถทำสิ่งต่างๆ พร้อมกันได้หลายๆ บัญชี ไม่ว่าจะเป็นเพจหรือแม้แต่บัญชีโฆษณาก็ตาม

ที่สำคัญคือสามารถเพิ่มพาร์ทเนอร์ที่ต้องทำงานร่วมกันได้ จึงเป็นเครื่องมือที่เหมาะกับธุรกิจที่ต้องมีทีมงานคอยจัดการเพจหรือโฆษณาหลายคน เอเจนซี่ที่ต้องทำงานกับลูกค้าหลายเจ้า หรือแม้แต่ธุรกิจส่วนตัวก็สามารถใช้ได้เพราะจะทำให้การทำงานเชิงลึกสะดวกกว่ามาก แต่จุดด้อยคืออาจจะไม่เหมาะกับมือใหม่ เพราะต้องอาศัยความเชี่ยวชาญในการใช้งานเนื่องจากมีเครื่องมือที่ละเอียด หลากหลาย

Facebook Ads Attribution Setting

Attribution Setting

การระบุที่มา โดยมีวัตถุประสงค์ในการระบุว่า Conversion ใดที่เราได้รับจากโฆษณาที่ทำและ Conversion ใดที่ถูกใช้เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับแคมเปญโฆษณา โดยระบบจะเลือกเรียนรู้จาก Conversion ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่คุณกำหนดและปรับปรุงประสิทธิภาพด้วยการนำเสนอโฆษณาที่ตรงตามความต้องการของผู้ชมมากที่สุด

คุณสามารถเลือกระยะเวลาระบุที่มาได้ดังต่อไปนี้

การคลิกในช่วง 1 วัน

การคลิกในช่วง 7 วัน (ค่าเริ่มต้น)

การคลิกในช่วง 1 วันหรือการดูในช่วง 1 วัน

การคลิกในช่วง 7 วันหรือการดูในช่วง 1 วัน

Landing Page

หน้าเว็บเพจเป้าหมายที่เรากำหนดไว้จุดประสงค์เพื่อนำส่งคนจากโฆษณาเข้าสู่หน้านั้นตามแต่วัตถุประสงค์ที่กำหนด ความจริงแล้ว Landing Page ก็คือลิงก์เว็บไซต์อะไรก็ได้ที่คุณต้องการให้คนที่เห็นโฆษณาคลิกเข้าไป แต่โดยส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นหน้าข้อมูลสินค้า บริการหรือธุรกิจนั้น หน้าแบบฟอร์มสำหรับกรอกข้อมูล ฯลฯ โดยปกติแล้วโฆษณาที่มีการกำหนด Landing Page มักจะมีการติดตามข้อมูล (Tracking) เพื่อนำข้อมูลเหล่านั้นไปต่อยอดทำโฆษณาหรือการตลาดในอนาคต

Result Rate – คะแนนผลลัพธ์

ส่วนของการแสดงคะแนนผลลัพธ์ใน Ad Manager ที่จะบ่องบอกได้ว่าโฆษณานั้นของคุณคนเข้ามามีส่วนร่วมทั้งหมดเป็นเท่าไร ซึ่งตรงส่วนนี้จะขึ้นอยู่กับแคมเปญของโฆษณาที่คุณเลือกด้วยเช่น Website Leads, Landing Page Views, Estimated Ad Recall Lift (People) เป็นต้น

หากคุณคือหนึ่งคนที่อาจจะเคยสงสัยว่า Metrics Facebook Ads มีอะไรบ้างหรือกำลังมองหาคำศัพท์เทคนิค Facebook ต่างๆ หวังว่า 30 คำศัพท์ที่เราให้ไปน่าจะพอให้คุณสามารถทำโฆษณา Facebook ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือถ้าคุณเป็นองค์กร ธุรกิจที่ต้องใช้บริการ Digital Marketing Agency ก็จะได้มีความรู้ในการพูดคุยประสานงานเพื่อให้โฆษณาของคุณมีประสิทธิภาพสูงสุดได้