Core Web Vitals คืออะไร? มาตรฐานที่คนทำเว็บไซต์ต้องรู้!

Core Web Vitals คือ?

มาตรฐานที่คนทำเว็บไซต์ต้องรู้! Core Web Vitals คือ เครื่องมือสำคัญของ Google Search Console ที่ช่วยวัดประสิทธิภาพด้าน User Experience (UX) หรือประสบการณ์การใช้งานของผู้ใช้งานบนเว็บไซต์ของเรา เพื่อนำข้อมูลมาจัดอันดับ SEO บนหน้า Search Engine ดังนั้น Core Web Vitals จึงเป็นหนึ่งในปัจจัยที่คนทำเว็บฯ ห้ามพลาด เพราะนอกจากจะช่วยทำให้เราพัฒนาหรือปรับปรุงเว็บไซต์ของเราให้มีคุณภาพ ตรงตามความต้องการของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตแล้ว ยังช่วยเพิ่มโอกาสให้เว็บไซต์ของเราติดอันดับแรก ๆ ของหน้าการค้นหาอีกด้วย

 

Core Web Vitals มีการวัดผลอย่างไร?

Google จะใช้ 3 ปัจจัยหลักที่ใช้วัดผล UX อันเป็นส่วนหนึ่งของ Page Experience ดังนี้

1. Largest Contentful Paint (LCP)

ในส่วนนี้ จะเป็นการวัดผลด้านความเร็วในการดาวน์โหลดเนื้อหา ซึ่งจะวัดจากองค์ประกอบต่าง ๆ ที่อยู่ในหน้าเว็บฯ นั้นทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นข้อความ รูปภาพ หรือวิดีโอ โดยความเร็วที่เหมาะสมในการดาวน์โหลดเนื้อหาแต่ละส่วนนั้นไม่ควรเกิน 2.5 วินาที และผลลัพธ์ที่ได้จะวัดจากเนื้อหาที่ใช้เวลาดาวน์โหลดนานที่สุด

 

Largest Contentful Paint (LCP) คืออะไร

ต้องทำอย่างไรเว็บไซต์จึงจะโหลดไวขึ้น?

  • สาเหตุที่ทำให้เว็บฯ โหลดช้า ส่วนหนึ่งมาจากการมีไฟล์เนื้อหาขนาดใหญ่ หรือมีความละเอียดสูง เช่น ไฟล์ png หรือวิดีโอต่าง ๆ ดังนั้น หากอยากให้หน้าเว็บฯ โหลดเร็วขึ้น อาจต้องมีการลดจำนวนของไฟล์เหล่านี้ลง และหากเซฟไฟล์ภาพเป็น webp ก็จะช่วยให้เว็บไซต์ของเราโหลดได้เร็วขึ้นด้วย
  • ลบ Script ฟังก์ชันต่าง ๆ จาก Third-party เนื่องจากการโหลดหน้าเว็บไซต์ที่มีฟังก์ชันประเภทนี้อยู่ จะต้องดึงข้อมูลจากนอกเว็บไซต์มาแสดงผลด้วย ทำให้เพิ่มระยะเวลาในการดาวน์โหลดมากขึ้น เช่น ฟังก์ชัน Live Chat หรือ Facebook Like Box เป็นต้น
  • อัปเกรด Web Hosting เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่ Server ของเว็บไซต์ที่เราเช่าไว้ โดยหากเป็นเว็บไซต์ที่มีการเช่า Host ก็จะมีแพ็กเกจที่ให้เราอยู่ใน Server ที่มีความเร็วในการดาวน์โหลดสูง

2. First Input Delay (FID)

First Input Delay คือ ตัววัดความเร็วในการตอบสนองของเว็บไซต์ที่มีต่อผู้ใช้งานว่าดีเลย์หรือไม่ กล่าวคือ เวลาผู้ใช้งานกดปุ่ม Call to action ต่าง ๆ ในเว็บไซต์แล้ว เว็บไซต์จะใช้เวลานานแค่ไหนในการโต้ตอบกลับมา เช่น การคลิกเลือกเมนู เปลี่ยนหน้าเร็วหรือไม่ การกด Submit ใช้เวลาในการดาวน์โหลดหน้าเว็บฯ นานแค่ไหนจึงจะส่งข้อมูลได้ เป็นต้น โดยระยะเวลาในการตอบสนองไม่ควรเกิน 0.1 วินาที

 

First Input Delay (FID) คืออะไร

ต้องทำอย่างไรเว็บไซต์จึงจะตอบสนองได้เร็ว?

สาเหตุของการตอบสนองดีเลย์นั้นมีหลายประการ อาจเป็นได้ทั้งการมี Script เยอะเกินความจำเป็น ส่งผลให้ Browser ใช้เวลาประมวลผลนาน มักเกิดขึ้นกับเว็บไซต์ที่มี Code ที่ไม่ได้ใช้เยอะ เช่น WordPress หรือ Theme แนะนำให้ลบ JavaScript ที่ไม่ได้ใช้ออก รวมถึง Plug-in ต่าง ๆ ที่มีการดึงข้อมูลมาจาก Third-Party เพื่อลดการทำงานในส่วนที่ไม่จำเป็นลง

3. Cumulative Layout Shift (CLS)

ตัววัดตัวสุดท้าย จะเป็นการวัดคะแนนความไม่เสถียรของ Layout ในเว็บไซต์ เช่น ดีไซน์ขยับหรือเบี้ยว ฟอนต์มีขนาดเล็กเกินไป ปุ่มอยู่ติดกันเกินไปจนทำให้กดผิด โฆษณาเด้งขึ้นมาขณะ ไม่ทันตั้งตัว ทำให้เผลอกดออกจากเว็บไซต์ไปยังลิงก์อื่น เป็นต้น

 

Cumulative Layout Shift (CLS) คืออะไร

ต้องทำอย่างไรเว็บไซต์จึงจะเสถียร?

การแก้ไขปัญหาเว็บไซต์ไม่เสถียรนั้นทำได้ง่าย เพียงแค่เราออกแบบหน้าเว็บไซต์ให้มีความเหมาะสม ฟอนต์ไม่เล็กจนเกินไป วางตำแหน่งปุ่มต่าง ๆ ให้ถูกต้อง ไม่ชิดกันจนไม่เหลือช่องว่าง และหากรู้ว่าส่วนไหนจะมีการวาง pop-up หรือ ad ก็ควรเหลือพื้นที่หน้าเว็บฯ ให้พอสำหรับที่ที่แบนเนอร์เหล่านั้นจะเด้งขึ้นมาด้วย เมื่อนั้น Layout ของเราก็จะเสถียรและสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ใช้งาน จนอาจทำให้พวกเขาเหล่านั้นประทับใจจนอยากเข้ามาที่เว็บไซต์เราอีกครั้งด้วย

 

สรุป

โดยสรุปแล้ว Core Web Vitals คือเครื่องมือที่ Google ให้ความสนใจมากเป็นพิเศษในการจัดอันดับ SEO เพราะสิ่งสำคัญประการหนึ่งของการทำเว็บไซต์ คือการที่ผู้ใช้งานต้องได้รับประสบการณ์ที่ดีจากการใช้เว็บไซต์เหล่านั้น ดังนั้น หากเราใช้ข้อมูลจากการวัดผล Core Web Vitals และนำมาปรับปรุงหรือพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้น เว็บไซต์ของเราก็จะสามารถ Ranking บนหน้า Search Engine ได้ไม่ยาก ตลอดจนสามารถเพิ่มยอดขายให้แก่ธุรกิจได้อีกด้วย!