ทำยังไงล่ะทีนี้ คำที่ห้ามใช้ในการโฆษณาอาหาร แถม! ไอเดียคำโฆษณา

คนทำธุรกิจเกี่ยวกับอาหารเสริม ความงามหรืออะไรเทือกๆ เดียวกันนี้จะรู้กันเป็นอย่างดีแล้วว่าทาง อย. (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา) มีความเข้มงวดในเรื่องของการใช้คำศัพท์สำหรับการทำโฆษณาอย่างมากมาโดยตลอด ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมาก็ได้มีการประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเป็นที่เรียบร้อยแล้วถึงคำโฆษณาที่ห้ามใช้ต่างๆ สำหรับการทำโฆษณาอาหารและความงามโดยให้เหตุผลว่าเพื่อความทันสมัยและเป็นการสอดคล้องกับสถานการณ์ในโลกปัจจุบัน

โดยกฎหมายที่ออกมาใหม่นี้ ครอบคลุมการทำโฆษณาทุกประเภท เป็นคำที่ห้ามใช้โฆษณาออนไลน์และในรูปแบบอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ ภายภาพ ภาพยนต์ หนังสือพิมพ์ สื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ หรือวิธีการอื่นใดก็ตามที่ทำเพื่อประโยชน์ทางการค้า หรือถ้าต้องการจะใช้คำหนึ่งคำใดที่ได้กำหนดไว้จริงๆ อาจจะต้องส่งภาพ เสียง ภาพยนต์นั้นๆ เข้าสู่กระบวนการการตรวจสอบเสียก่อน แล้วถ้าได้รับอุนญาตจึงจะสามารถทำการเผยแพร่ได้

มาดูกันว่ามีคำโฆษณาที่ห้ามใช้ใดบ้าง ที่คุณจะต้องระวังก่อนจะทำการโปรโมทสินค้า

คำโฆษณาที่ห้ามใช้, อาหารเสริม

Table of Contents

1. คำที่ห้ามใช้ในการโฆษณา ด้านคุณประโยชน์ สรรพคุณของอาหาร

– ศักดิ์สิทธิ์ มหัศจรรย์ ปาฏิหาริย์ วิเศษ

– เลิศที่สุด ดีเลิศ ชนะเลิศ ชั้นเลิศ เลิศเลอ ลํ้าเลิศ เลิศลํ้า

– ยอด ยอดเยี่ยม ยอดไปเลย เยี่ยมยอด เยี่ยมไปเลย สุดยอด

– ที่หนึ่ง หนึ่งเดียว ที่หนึ่งเลย

– ที่สุด ดีที่สุด ดีเด็ด สูงสุด

– เด็ดขาด หายห่วง หายขาด หมดกังวล

– สุดเหวี่ยง

– ไม่มีผลข้างเคียง ไร้ผลข้างเคียง

– อย. รับรอง ปลอดภัย

– เห็นผลเร็ว

 

2. ข้อความที่ห้ามใช้ในการโฆษณาอาหาร รวมถึงการใช้ภาพที่สื่อให้เข้าใจได้ในความหมายเดียวกัน

2.1 ข้อความที่แสดงสรรพคุณอันทำให้เข้าใจว่าสามารถบำบัด บรรเทา รักษา ป้องกัน โรคหรืออาการของโรคหรือความเจ็บป่วย

– ลดโคเลสเตอรอล ลดความดันโลหิต ลดไขมันในเส้นเลือด ลดระดับน้ำตาลในเลือด

– ป้องกันโรคหัวใจ โรคมะเร็ง เนื้องอก โรคเบาหวาน หลอดเลือดแข็งตัว ภูมิแพ้ หอบหืด

– บรรเทาอาการปวดหัว ไมเกรน อาการชา บวมและเส้นเลือดขอด

– แก้ปัญหาปวดประจำเดือน ประจำเดือนมาไม่ปกติ อาการตกขาว

– ยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย

– ป้องกันหรือต่อต้านเชื้อโรค เช่น เชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ไข้หวัด แบคทีเรีย เป็นต้น

– รักษาโรคติดเชื้อ

– เพิ่มความจำ แก้อาการหลงลืม ความจำเสื่อม รักษาโรคอัลไซเมอร์

– รักษาอาการซึมเศร้า นอนไม่หลับ

– รักษาโรคไวรัสตับอักเสบ ไขมันพอกตับ

– รักษาโรคไตเสื่อม นิ่วในไต

– รักษาโรคเกาต์ รูมาตอยด์ เอสแอลอี

– บรรเทาอาการข้ออักเสบ ข้อเข่าเสื่อม ปวดเข่า ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้ออักเสบ

– รักษาโรคต้อ วุ้นในตาเสื่อม กระจกตาเสื่อม จอประสาทตาเสื่อม ตาแห้ง เคืองตา แสบตา

– บรรเทาอาการหูอื้อ ฟื้นฟูการได้ยิน

– รักษาโรคริดสีดวงทวาร กรดไหลย้อน

– รักษาโรคปอดอักเสบ วัณโรค หลอดลมอักเสบ ไอเรื้อรัง

– รักษาโรคผิวหนังอักเสบ สะเก็ดเงิน

 

2.2 ข้อความที่ห้ามใช้ในการโฆษณา ที่สื่อแสดงให้เข้าใจว่ามีผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของร่างกาย หน้าที่อวัยวะ หรือระบบการทำงานของร่างกาย เช่น

– ปรับสมดุลให้ร่างกาย ฟื้นฟูร่างกายหรืออวัยวะ

– เพิ่มน้ำนม กระตุ้นน้ำนม

– เพิ่มการไหลเวียนของเลือด

– บำรุงสมอง บำรุงประสาท บำรุงตับ บำรุงไต บำรุงสายตา หรือบำรุงอวัยวะของร่างกาย

– เสริมสร้างหรือกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย เพิ่มภูมิคุ้มกัน เพิ่มภูมิต้านทาน

– Detox/ ล้างสารพิษ ล้างลำไส้

– ปรับสายตาสั้น-ยาว ให้เป็นปกติ

– ขับน้ำคาวปลา ช่วยให้มดลูกเข้าอู่ ลดอาการวัยทอง ร้อนวูบวาบ

– กรอบหน้าชัด เหนียงหาย หน้ายก หน้าเรียว หนังตาตกเป็นตาสองชั้น รอยขมวดคิ้วหาย ร่องแก้มตื้น

จมูกเข้ารูป

คำโฆษณาที่ห้ามใช้, สมรรถภาพทางเพศ

2.3 ข้อความที่สื่อแสดงให้เข้าใจว่ามีสรรพคุณบำรุงกาม บำรุงเพศ หรือเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์ เช่น

– ช่วยบำรุงและเสริมสร้างสมรรถภาพทางเพศ เสริมสร้างศักยภาพทางเพศ

– เพิ่มสมรรถภาพท่านชาย/ หญิง เพิ่มความต้องการทางเพศชาย/ หญิง

– อาหารเสริมสำหรับชาย/ หญิง

– เพิ่มฮอร์โมนเพศ

– เพิ่มประสิทธิภาพน้ำอสุจิให้แข็งแรง

– เพิ่มขนาดอวัยวะเพศ ช่วยให้อวัยวะเพศแข็งตัวได้นาน

– ลดอาการหลั่งเร็ว

– เพิ่มขนาดหน้าอก อัพไซส์

– กระชับช่องคลอด

– ปลุกความเป็นชาย ปลุกเซ็กส์ อึด ถึก ทน ปลุกไวฟื้นง่าย

– กระตุ้นความเป็นหญิง

– คืนความเป็นหนุ่ม คืนความสาว

 

2.4 ข้อความที่ห้ามใช้ในการโฆษณา ที่สื่อแสดงให้เข้าใจว่ามีสรรพคุณเพื่อบำรุงผิวพรรณและความสวยงาม เช่น

– ลดริ้วรอยเหี่ยวย่น ลดสิว ฝ้า กระ จุดด่างดำ

– ผิวขาว กระจ่าง ใส นุ่ม เด้ง เปล่งปลั่ง ออร่า

– กระชับรูขุมขน/ ฟื้นฟูผิว

– ลดริ้วรอย/ ลดความมันบนใบหน้า

– ยกกระชับผิวหน้า

– ชะลอความแก่ ดูอ่อนกว่าวัย

– แก้ผมร่วง ผมหงอก

– ช่วยให้ผมและเล็บแข็งแรง

– กันแดด ท้าแดด

– ช่วยดับกลิ่นตัว กลิ่นปาก

คำโฆษณาที่ห้ามใช้, ลดน้ำหนัก

2.5 ข้อความที่สื่อแสดงให้เข้าใจว่ามีสรรพคุณในการลดน้ำหนัก ลดความอ้วนหรือข้อความอื่นใดในทำนองเดียวกัน เช่น

– ลดความอ้วน

– ช่วยให้ระบายท้อง

– สลายไขมันที่สะสมในร่างกาย ดักจับไขมัน ลดไขมันส่วนเกิน

– ลดน้ำหนัก

– Block/ Burn/ Build /Break/ Firm

– การใช้ภาพสายวัด/ เครื่องชั่งน้ำหนัก/ กางเกง Over Size

– ภาพ Before/ After

– Weight Loss

– เพรียว สลิม Slim Slen

– ไม่โยโย่

– กระชับสัดส่วน ลดต้นแขน ลดต้นขา ลดหน้าท้อง พุงหาย ช่วยให้แขนขาเรียว

– หุ่นดี หุ่นสวย หุ่นเป๊ะ

– ผอม ผอมเร่งด่วน ลดน้ำหนักถาวร

– ลดยาก/ ดื้อยา/ ลดความอยากอาหาร

 

ทั้งหมดนี้ก็คือคำโฆษณาที่ห้ามใช้ฉบับอัปเดตปี 2564 ถ้าพูดกันตามตรงกฎต่างๆ ที่ออกมานี้ถือเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้บริโภค แต่ในฐานะเจ้าของธุรกิจ ผู้ผลิตหรือแบรนด์ต่างๆ อาจจะต้องกลับมาระวังการใช้คำโฆษณาต่างๆ กันมากขึ้น หนึ่งเลยเพื่อความถูกต้องและเป็นไปตามประกาศจาก อย. นอกจากนั้นคือการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับธุรกิจของคุณเองเพราะสื่อสัตย์และทำโฆษณาอย่างตรงไปตรงมา ไม่มีการโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง

 

แล้วถ้าไม่สามารถใช้คำที่ห้ามใช้ในการโฆษณาเหล่านี้ จะใช้คำอะไรได้บ้าง

ถ้าเราพูดกันในหลักภาษาศาสตร์ ประโยคที่เรามักได้ยินมาเสมอนั่นก็คือ “ภาษามันดิ้นได้” บทความนี้เราจึงขอหยิบเอาไอเดียการเลือกใช้คำหรือประโยชน์สำหรับการโฆษณาเพื่อที่พอจะได้เป็นแนวทางให้ผู้อ่านสามารถนำไปปรับใช้ต่อไปได้

คำโฆษณาที่ห้ามใช้, โฆษณาเกินจริง

ไอเดียคำทางเลือกแทน คำที่ห้ามใช้ในการโฆษณา

1. ไม่มีผลข้างเคียง

ห้าม: หลังจากใช้ครีมทาผิวของเราอย่างต่อเนื่อง หมดกังวลได้เลย เพราะพิสูจน์แล้วว่าไม่มีผลข้างเคียงตามมา
ทางเลือก: หลังจากใช้ครีมทาผิวของเราอย่างต่อเนื่องอาจพบหรือไม่พบผลข้างเคียงขึ้นอยู่กับแต่ละสภาพผิวของแต่ละคน

2. ชนะเลิศ

ห้าม: มั่นใจได้เลย! เพราะสมุนไพรของเรากวาดรางวัลชนะเลิศมาแล้วทุกเวที
ทางเลือก: มั่นใจได้เลย! เพราะสมุนไพรของเราได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง

3. ดีที่สุด

ห้าม: หาซื้อง่าย มั่นใจได้ เพราะครีมของเรามีสรรพคุณที่ดีที่สุดในท้องตลาด
ทางเลือก: หาซื้อง่าย มั่นใจได้ เพราะครีมของเรามีสรรพคุณที่ดีไม่แพ้ใคร

 

ไอเดียประโยคทางเลือกแทน ข้อความที่ห้ามใช้ในการโฆษณา

1. กันแดด

ห้าม: จะกิจกรรมไหนก็ไม่หวั่น เพราะครีมกันแดดของเรา จะปกป้องผิวของคุณจากรังสียูวี
ทางเลือก: จะกิจกรรมไหนก็ไม่หวั่น สร้างเกราะสะท้อนแสงอันตราย ด้วยครีมของเรา

2. ดูอ่อนกว่าวัย

ห้าม: จะเลขหลักไหนก็ไร้กังวล เพราะครีมบำรุงของเราจะช่วยให้ผิวของคุณดูอ่อนกว่าวัย
ทางเลือก: ไม่มีใครรู้แน่ๆ ว่าคุณอายุเท่าไร เมื่อใช้ครีมของเราเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง

3. กลิ่นปาก

ห้าม: อย่าให้กลิ่นปาก มาทำให้เสน่ห์ของคุณหายไป ใช้ยาสีฟันของเรา
ทางเลือก: อย่าให้ลมหายใจไม่พึงประสงค์ มาทำลายเสน่ห์ของคุณ ใช้ยาสีฟันของเรา

นี่ก็เป็นไอเดียเล็กๆ น้อยๆ ที่น่าจะพอทำให้คุณได้เห็นถึงวิธีในการเลี่ยงใช้คําที่ห้ามใช้ในการโฆษณาเหล่านี้โดยความหมายยังคงเหมือนเดิม ซึ่งเราจะต้องใช้ทักษะการสื่อสารที่ต้องพลิกแพลงคำต่างๆ มากขึ้น อย่างไรก็ตามไม่ว่าเราจะถูกห้ามใช้คำต่างๆ มากแค่ไหนแต่ถ้าสินค้าของคุณมีคุณภาพมัดใจลูกค้าได้พร้อมกับแผนการตลาดที่ดี ลูกค้าย่อมเชื่อมั่นและกลับมาซื้อสินค้าของคุณซ้ำๆ อย่างแน่นอน