Domain Name คืออะไร? ทำไมถึงต้องตั้งชื่อให้ง่าย จำได้ไว

Domain Name คือชื่อที่ใช้อ้างอิงเว็บไซต์ และช่วยให้คนสามารถจดจำได้อย่างง่ายดาย รวมถึงยังจะทำให้ผู้ดูแลระบบสามารถเข้าไปจัดการหลังบ้านเว็บไซต์ได้อย่างรวดเร็ว 

ในโลกของการทำธุรกิจ เว็บไซต์ถือว่าเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่มีความสำคัญและจำเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเก่าที่กำลังขยายตัว หรือธุรกิจใหม่ที่ต้องการสร้างฐานลูกค้าเป็นของตัวเอง ซึ่งชื่อของเว็บไซต์ หรือ Domain name ถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก เพราะจะสามารถช่วยขับเคลื่อนแบรนด์ให้เกิดความแข็งแกร่งและเป็นที่รู้จัก แต่หากใครยังไม่รู้ว่า Domain name คืออะไร มีความสำคัญอย่างไร และมีอยู่กี่ประเภท ไปหาคำตอบกันได้ในบทความนี้ 

Domain Name คืออะไร

Domain Name คืออะไร

Domain Name คือชื่อที่ใช้เพื่ออ้างอิงถึงเว็บไซต์ต่าง ๆ บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเพื่อให้ง่ายต่อการจดจำ ของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต และผู้ดูแลระบบโดเมนเนมซีสเทม (Domain Name System: DNS) ที่จะสามารถเข้าไปแก้ไขไอพีแอดเดรส (IP Address) ของโดเมนเนมนั้น ๆ ได้ทันทีหากมีปัญหาเกิดขึ้น 

ถ้าจะให้เข้าใจกันแบบง่าย ๆ ก็คือ โดเมนเนม คือชื่อของเว็บไซต์ หรือ URL เพื่อช่วยให้คนจดจำได้ง่าย เบื้องหน้าก็คือเว็บไซต์ ที่มีข้อมูลต่าง ๆ ตามแต่ละวัตถุประสงค์ของเว็บไซต์นั้น ๆ ส่วนในงานเบื้องหลัง ก็จะช่วยให้ผู้ดูแลระบบสามารถรู้ได้ว่า เว็บไซต์ของคุณต้องแก้ไขอะไร มีปัญหาอย่างไร และควรจัดการกับปัญหาเหล่านั้นตรงจุดไหน ทำให้โดเมนเนมเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ที่เริ่มต้นคิดจะมีเว็บไซต์ เพราะจะส่งผลโดยตรงกับธุรกิจของคุณ 

ส่วนประกอบของ Domain Name

จากรูปด้านบน เราจะเห็นได้ว่า ในโดเมนเนมนั้นจะประกอบด้วยชุดอักษรหลายชุดด้วยกัน โดยจะคั่นด้วยจุด (dot) ซึ่งโดเมนในแต่ละประเภทจากตัวอย่างด้านบน จะมีความสำคัญแตกต่างกันออกไป ซึ่งเราจะขออธิบายเริ่มต้นจากด้านขวาสุดไปยังซ้ายสุดตามลำดับ 

  • ลำดับแรกจากขวาสุด จะเรียกว่าเป็นโดเมนระดับบนสุด (Top-Level Domain: TLD) เป็นส่วนประกอบที่สำคัญที่ปรากฎในทุก ๆ ชื่อโดเมน โดยแบ่งแยกย่อยออกไปอีก 2 ประเภท ตามหมวดการบริหารจัดการและดูแลทรัพยากรโดเมนของ ICANN (The Internet Corporation for Assigned Names and Numbers: องค์กรบริหารทรัพยากรโดเมนโลก) นั่นก็คือ
    • Generic Top-Level Domain: gTLD หรือ โดเมนระดับบนสุดหมวดทั่วไป
    • Country-Code Top-Level Domain: ccTLD หรือ โดเมนระดับบนสุดหมวดรหัสประเทศ
  • ลำดับที่สองจากฝั่งขวาสุด เรียกว่า โดเมนลำดับที่สอง (Second-Level Domain: SLD) เป็นโดเมนที่มีการเลือกใช้ทั้งในรูปแบบของ ชื่อเฉพาะเจาะจงของเว็บไซต์ หรือกลุ่มของชื่อโดเมนก่อนที่จะทำการระบุชื่อที่เจาะจงมากขึ้นในลำดับถัด ๆ ไป
  • ลำดับที่สามจากฝั่งขวาสุด เรียกว่า โดเมนลำดับที่สาม หรือ Third-Level Domain มักใช้เป็นส่วนสุดท้าย เพื่อใช้ในการระบุอย่างเฉพาะเจาะจงถึงเว็บไซต์นั้น ๆ 
  • ลำดับอื่น ๆ มักใช้เป็นการแบ่งส่วนชื่อของโดเมนที่แยกย่อยลงไป หรือส่วนที่เป็น sub domain นั่นเอง ในส่วนนี้จะเป็นเว็บย่อยของเว็บไซต์หลัก เหมาะสำหรับธุรกิจที่แบ่งย่อยออกไปเป็นหลายกิจการ หรือหลายประเภท

ส่วนประกอบของ Domain Name

ประเภทของ Domain Name

พอได้รู้กันไปบ้างแล้วว่า Domain name มีกี่ประเภท และทำหน้าที่อะไร ส่วนในเรื่องของการจดทะเบียนโดเมนนั้นสามารถแบ่งออกได้สองประเภทด้วยกัน นั่นคือการจดทะเบียนโดเมนในประเทศและการจดทะเบียนโดเมนต่างประเทศ

การจดทะเบียนโดเมนต่างประเทศ

  • .com ย่อมาจาก Commercial ที่หมายถึงการค้า บริษัท องค์กร ธุรกิจที่แสวงหากำไร และมักถูกนำไปใช้ในเว็บไซต์ส่วนตัวหรือเว็บไซต์ประเภทอื่น ๆ ด้วย
  • .net ย่อมาจาก Network มักใช้กับธุรกิจที่เกี่ยวกับเครือข่าย ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต รวมไปถึงเว็บไซต์ประเภทอื่น ๆ
  • .org ย่อมาจาก organization จะหมายถึงองค์กรหรือกลุ่มบุคคลที่ไม่แสวงหากำไร และเว็บไซต์ของส่วนราชการบางประเภท
  • .gov ย่อมาจาก government สำหรับองค์กรของรัฐบาล
  • .edu ย่อมาจาก education สำหรับองค์กรที่เป็นสถาบันการศึกษา
  • .info ย่อมาจาก information มักใช้กับเว็บไซต์ที่ให้รายละเอียดข้อมูลต่าง ๆ

การจดทะเบียนโดเมนในประเทศ

สำหรับตัวย่อของโดเมนในประเทศ จะสามารถสังเกตเห็นได้จากส่วน ccTLD ซึ่งจะมีความเฉพาะเจาะจงสำหรับพื้นที่หรือประเทศใดประเทศหนึ่งไปเลย เช่น .th สำหรับพื้นที่ประเทศไทย, .my สำหรับประเทศมาเลเซีย, .vn สำหรับประเทศเวียดนาม, .jp สำหรับประเทศญี่ปุ่น, .cn สำหรับประเทศจีน, .ca สำหรับประเทศแคนาดา, .br สำหรับประเทศบราซิล, .hu สำหรับประเทศฮังการี, .de สำหรับประเทศเยอรมนี, .uk สำหรับประเทศอังกฤษ, .au สำหรับประเทศออสเตรเลีย, .nz สำหรับประเทศนิวซีแลนด์ เป็นต้น

สำหรับในปัจจุบัน มีการตั้ง TLD ขึ้นใหม่มากมาย ทำให้การเลือก TLD ต่อท้าย จำเป็นที่จะต้องเลือกให้เหมาะสมกับรูปแบบธุรกิจของคุณด้วยเช่นกัน  

เทคนิคการตั้งชื่อ Domain name

  • ความสั้นของชื่อโดเมน เพื่อช่วยให้สามารถจดจำชื่อเว็บไซต์ได้อย่างง่ายดาย ไม่สับสน อีกทั้งยังช่วยให้การเสิร์ชบน search engine ได้อย่างง่ายดาย 
  • ไม่ควรใช้ชื่อโดเมนเป็นชื่อย่อ เพราะนอกจากจะดูไม่เป็นมืออาชีพแล้ว ยังยากต่อการจดจำอีกด้วย
  • หลีกเลี่ยงการใช้ขีดกลาง (- หรือ hyphen) เนื่องจากเป็นชื่อโดเมนที่ไม่ได้เป็นที่นิยม และอาจจะทำให้สะกดได้ยาก
  • หากชื่อแบรนด์เป็นชื่อที่มีผู้รู้จักอยู่แล้ว การเลือกใช้ชื่อนั้นเป็นชื่อเว็บไซต์ จะช่วยให้เว็บไซต์มีความน่าเชื่อถือเพิ่มมากขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการตั้งชื่อโดเมนที่มีความแปลกหรือกำกวม
  • ตั้งชื่อโดเมนให้สื่อถึงแบรนด์และสิ่งที่ต้องการนำเสนอ

สรุปแล้ว สิ่งที่เหมาะสมที่สุด สำหรับการตั้งชื่อ Domain name ควรจะต้องเป็นชื่อที่จดจำได้ง่าย กระชับ และสะดวกต่อการเสิร์ชค้นหา แต่สำหรับผู้ประกอบธุรกิจท่านใด ที่ต้องการโปรโมตเว็บไซต์ หรือต้องการทำ SEO เพื่อให้แบรนด์ของคุณเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น สามารถปรึกษาทีมงานผู้เชี่ยวชาญของเรา เราพร้อมเป็นผู้ช่วยเพื่อให้ธุรกิจของคุณไปถึงจุดหมายที่ตั้งใจเอาไว้