เผยเหตุผลที่ Influencer Marketing ยังคงใช้ได้ผลสำหรับยุคใหม่
จากยุคที่การโฆษณาเป็นการสื่อสารทางเดียวผ่านสื่อกระแสหลัก มาสู่ยุคที่ผู้บริโภคต้องการความจริงใจ ความเป็นกันเอง และการมีส่วนร่วมในการสนทนา นี่คือจุดกำเนิดของกลยุทธ์ “Influencer Marketing” ที่กำลังเปลี่ยนโฉมวงการการตลาดทั่วโลก
Influencer (อินฟลูเอนเซอร์) ไม่ใช่ศัพท์ใหม่ และแม้จะมีมานานแล้ว แต่ก็ยังใช้ได้ผลดีในปัจจุบัน ลองนึกภาพว่าคุณกำลังเลือกซื้อผลิตภัณฑ์สักชิ้น ระหว่างโฆษณาที่มีการผลิตขึ้นอย่างสวยหรูแต่ดูไกลตัว กับคำแนะนำจากคนที่คุณติดตามในโซเชียลมีเดีย ผู้ที่แชร์ประสบการณ์จริง พูดคุยโต้ตอบกับผู้ติดตาม และสร้างความไว้วางใจมาอย่างยาวนาน คุณจะเชื่อถือใครมากกว่ากัน ?
Influencer คือบุคคลที่ช่วยสร้างการรับรู้แบรนด์ (Brand Awareness) ได้ในวงกว้าง
Table of Contents
ทำไมแบรนด์ต้องใช้อินฟลูเอนเซอร์ ? เผยประโยชน์ของการใช้อินฟลูฯ ที่ไม่ควรมองข้าม
การเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างแม่นยำ
Influencer คือผู้มีอิทธิพลบนโลกอินเทอร์เน็ตที่มีฐานผู้ติดตามซึ่งมีความสนใจเฉพาะด้าน ทำให้แบรนด์สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างเฉพาะเจาะจง เนื่องจากสามารถนำเสนอเนื้อหาไปยังผู้ที่มีโอกาสสนใจสินค้าหรือบริการจริง ๆ หากถามว่าปีนี้ 2025 แล้ว ยังจะเป็นเช่นนั้นอยู่หรือไม่ ก็ตอบได้เลยว่าแน่นอน เพราะปัจจุบันอัลกอริทึมของโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มต่าง ๆ ได้พัฒนาไปอย่างมาก ทำให้แต่ละแบรนด์มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือดเพื่อดึงดูดความสนใจของผู้บริโภค และการใช้ Influencer คือหนึ่งในกลยุทธ์ที่สร้าง Engagement จากเหล่าผู้ใช้งานได้ดีที่สุด เพียงแต่ต้องเน้นความเป็นธรรมชาติมากกว่าการขายตรง
การสร้างการรับรู้แบรนด์ (Brand Awareness) ในวงกว้าง
การสร้าง Brand Awareness ผ่านอินฟลูเอนเซอร์มีประสิทธิภาพกว่าการโฆษณาแบบดั้งเดิม เนื่องจากอินฟลูฯ มักมีฐานผู้ติดตามจำนวนมาก ซึ่งสามารถช่วยเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างได้ และผู้บริโภคก็จะรู้สึกว่าข้อมูลที่มาจากบุคคลที่พวกเขาติดตามนั้น น่าเชื่อถือกว่าการรับชมโฆษณาขายตรงจากแบรนด์ โดยการศึกษาจาก Business Wire พบว่า 61% ของผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะเชื่อคำแนะนำจากอินฟลูเอนเซอร์ และมีเพียง 38% ที่เชื่อโฆษณาจากแบรนด์โดยตรง
การเพิ่มความน่าเชื่อถือให้แก่สินค้าและบริการ
เพราะ Influencer คือผู้ที่ได้รับความไว้วางใจจากผู้ติดตาม ดังนั้น เมื่อพวกเขาแนะนำหรือรีวิวสินค้า ผู้ติดตามก็มักจะเปิดใจรับฟังเสมอ ยิ่งถ้าหากอินฟลูเอนเซอร์คนดังกล่าวมีภาพลักษณ์ที่สอดคล้องกับแบรนด์ เช่น Beauty Blogger รีวิวเครื่องสำอาง ก็จะยิ่งช่วยสร้างความน่าเชื่อถือได้มากขึ้น
การกระตุ้นยอดขายอย่างมีประสิทธิภาพ
ประโยชน์ของการใช้อินฟลูเอนเซอร์ไม่ได้มีเพียงการสร้าง Brand Awareness เท่านั้น แต่ยังสามารถกระตุ้นยอดขายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านการนำเสนอสินค้าในบริบทที่น่าสนใจ เช่น การใช้รหัสส่วนลด (Discount Code) หรือลิงก์แอฟฯ (Affiliate Link) หลาย ๆ แบรนด์จึงเลือกที่จะเน้นการสร้างความร่วมมือระยะยาว (Long-term Partnership) มากกว่าการจ้างงานเพียงครั้งเดียว เพื่อสร้างความต่อเนื่องของยอดขาย
แล้ว KOL คืออะไร ? ต่างจาก Influencer อย่างไร
แม้ KOL (Key Opinion Leader) และ Influencer จะมีความคล้ายคลึงกันในแง่ของความมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค แต่ก็มีความแตกต่างที่แบรนด์ควรทำความเข้าใจเพื่อเลือกใช้ให้เหมาะสมกับกลยุทธ์ทางการตลาด
สำหรับผู้ที่สงสัยว่า KOL คืออะไร KOL คือ ผู้เชี่ยวชาญในสาขาหรืออุตสาหกรรมเฉพาะทาง มีความรู้ลึกซึ้ง และได้การยอมรับว่าเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญในวงการนั้น ๆ อย่างแท้จริง โดย KOL มักจะมีประสบการณ์ การศึกษา หรือความเชี่ยวชาญที่ผ่านการรองรับในสาขาของตน เช่น แพทย์ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ นักวิทยาศาสตร์อาหารที่ให้คำแนะนำเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อาหาร หรือนักวิเคราะห์การลงทุนที่ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเงิน ทำให้ความคิดเห็นและคำแนะนำจากกลุ่มคนเหล่านี้มีน้ำหนักและได้รับความน่าเชื่อถือสูง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการข้อมูลเชิงลึกก่อนตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการ
ในทางกลับกัน Influencer คือบุคคลที่มีความสามารถในการสร้างอิทธิพลต่อความคิดและการตัดสินใจของผู้ติดตามผ่านเนื้อหา อาจไม่จำเป็นต้องมีความเชี่ยวชาญในสาขาเฉพาะ แต่ต้องมีทักษะในการสร้างคอนเทนต์ที่ดึงดูดความสนใจและเน้นการสร้าง Engagement กับผู้ติดตาม โดยทั่วไป อินฟลูเอนเซอร์มักมีรูปร่างหน้าตาและบุคลิกที่โดดเด่น มีทักษะในการสื่อสาร และสามารถสร้างความรู้สึกใกล้ชิดกับผู้ติดตามได้
รู้จักประเภทของอินฟลูเอนเซอร์ เพื่อเลือกใช้ให้เหมาะสมกับแบรนด์
Mega Influencer (ผู้ติดตามมากกว่า 1 ล้านคน)
Mega Influencer คือ ผู้ที่มีฐานผู้ติดตามขนาดใหญ่มาก มักเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงระดับประเทศหรือระดับโลก เช่น ดารา ศิลปิน นักกีฬา หรือบุคคลที่มีชื่อเสียงบนโซเชียลมีเดีย จุดเด่นของอินฟลูเอนเซอร์ประเภทนี้ คือ ความสามารถในการสร้าง Brand Awareness ในวงกว้างได้ในระยะเวลาอันสั้น เหมาะสำหรับแบรนด์ระดับประเทศ ระดับโลก หรือแบรนด์ที่มีงบประมาณการตลาดสูง ที่ต้องการสร้างการรับรู้อย่างรวดเร็ว หรือเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่
Macro Influencer (ผู้ติดตาม 100,000 – 1,000,000 คน)
Macro Influencer เป็นกลุ่มที่มีฐานผู้ติดตามขนาดใหญ่ แต่ยังมีความเฉพาะกลุ่มมากกว่า Mega Influencer มักเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านใดด้านหนึ่ง เช่น ความงาม อาหาร การท่องเที่ยว เทคโนโลยี หรือไลฟ์สไตล์ โดยส่วนใหญ่แล้วจะมียอด Engagement ที่ดีกว่า และค่าใช้จ่ายที่สมเหตุสมผลกว่า เมื่อเทียบกับ Mega Influencer เหมาะสำหรับแบรนด์ที่ต้องการความน่าเชื่อถือระดับสูง การสร้าง Awareness ในวงกว้างแต่ยังคงรักษาความเฉพาะเจาะจงของกลุ่มเป้าหมาย และแบรนด์ที่มีงบประมาณระดับกลางถึงสูง
Micro Influencer (ผู้ติดตาม 10,000 – 100,000 คน)
Micro Influencer คือ อินฟลูฯ ที่มีฐานผู้ติดตามขนาดกลาง แต่มักมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านและมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับผู้ติดตาม รวมถึงสามารถโต้ตอบกันได้อย่างใกล้ชิด ทำให้ Micro Influencer เป็นกลุ่มที่มียอด Engagement สูงที่สุด ถือเป็นตัวเลือกที่คุ้มค่าสำหรับแบรนด์ที่ต้องการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายเฉพาะในงบประมาณที่จำกัด
Nano Influencer (ผู้ติดตามน้อยกว่า 10,000 คน)
Nano Influencer คือผู้ที่มีฐานผู้ติดตามขนาดเล็ก แต่มีอิทธิพลสูงใน Community เฉพาะกลุ่ม โดยมักจะเป็นบุคคลธรรมดาที่มีความน่าเชื่อถือสูงในกลุ่มเพื่อนและคนรู้จัก และมี Engagement Rate ที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับกลุ่มคนทั่วไปด้วยกัน เนื่องจากผู้ติดตามจะมองว่าคนกลุ่มนี้เป็นคนธรรมดาที่มีความจริงใจในการแบ่งปันประสบการณ์ เหมาะสำหรับ Local Brand หรือแบรนด์ที่ต้องการเจาะกลุ่มเป้าหมายเล็ก ๆ เฉพาะกลุ่ม
เทคนิคการเลือกอินฟลูเอนเซอร์ให้ตอบโจทย์เป้าหมายทางธุรกิจ
เทคนิคการเลือกอินฟลูเอนเซอร์ให้เหมาะสมกับธุรกิจ ไม่ใช่แค่การดูยอดผู้ติดตามเท่านั้น แต่ยังต้องพิจารณาหลายปัจจัยเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดด้วย ไม่ว่าจะเป็น
ความสอดคล้องระหว่างภาพลักษณ์ของอินฟลูเอนเซอร์กับแบรนด์
ควรพิจารณาว่าภาพลักษณ์และสไตล์ของ Influencer สอดคล้องกับแบรนด์หรือไม่ เช่น หากเป็นแบรนด์ที่เกี่ยวกับสุขภาพ ควรเลือกอินฟลูเอนเซอร์ที่ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพและไลฟ์สไตล์ที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์ หากเลือกผิด อาจทำให้ข้อความที่แบรนด์ต้องการสื่อสารไม่ตรงกับตัวตนของแบรนด์ ซึ่งจะส่งผลให้ความน่าเชื่อถือลดลงได้
คุณภาพของเนื้อหาที่นำเสนอ
อินฟลูเอนเซอร์ที่เป็นมืออาชีพควรผลิตคอนเทนต์ที่มีคุณภาพ ทั้งรูปภาพ วิดีโอ หรือบทความต้องมีความสร้างสรรค์ น่าสนใจ และตรงกับกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์ นอกจากนี้ ควรตรวจสอบว่าอินฟลูเอนเซอร์มีแนวทางการสร้างเนื้อหาที่เป็นเอกลักษณ์และเหมาะสมกับสินค้าหรือบริการของแบรนด์หรือไม่
อัตราการมีส่วนร่วม (Engagement Rate)
จำนวนผู้ติดตามอาจไม่ใช่ตัวชี้วัดความสำเร็จที่แท้จริง เพราะสิ่งที่สำคัญกว่าคือ Engagement Rate เช่น จำนวนไลก์ คอมเมนต์ หรือแชร์ หาก Influencer มีผู้ติดตามจำนวนมากแต่มี Engagement Rate น้อย อาจหมายความว่าผู้ติดตามไม่ได้ให้ความสนใจกับเนื้อหาที่อินฟลูฯ โพสต์เท่าไรนัก ดังนั้น แนะนำให้เลือกคนที่มี Engagement Rate สูง ๆ เพื่อช่วยให้แคมเปญมีโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้น
ความถี่และความสม่ำเสมอในการโพสต์
อินฟลูเอนเซอร์ที่มีความสม่ำเสมอในการสร้างเนื้อหาและโพสต์อย่างต่อเนื่องมีแนวโน้มที่จะรักษาความสัมพันธ์กับผู้ติดตามได้ดี ซึ่งส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของตัวอินฟลูฯ เอง ในขณะที่ถ้าหากอินฟลูเอนเซอร์ไม่ได้โพสต์เนื้อหาบ่อยพอ หรือไม่มีแพลนคอนเทนต์ที่ชัดเจน ก็อาจทำให้การทำแคมเปญของแบรนด์ไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้
ประวัติการร่วมงานกับแบรนด์อื่น ๆ
ควรตรวจสอบว่า Influencer เคยร่วมงานกับแบรนด์ใดมาก่อน และการทำงานที่ผ่านมามีผลตอบรับเป็นอย่างไร หากเคยร่วมงานกับแบรนด์ที่เป็นคู่แข่ง อาจต้องพิจารณาว่าจะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของแบรนด์หรือไม่ นอกจากนี้ แนะนำให้หารีวิวหรือ Feedback จากแบรนด์อื่น ๆ เพื่อให้มั่นใจว่าการร่วมงานครั้งนี้จะเป็นไปอย่างราบรื่น
แนะนำ 4 เครื่องมือใช้หา Influencer คุณภาพในไทย
A stream
แพลตฟอร์มที่ช่วยให้แบรนด์สามารถค้นหาอินฟลูเอนเซอร์ที่เหมาะสมผ่านระบบ AI มีฟีเจอร์วิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก เช่น Engagement Rate กลุ่มเป้าหมาย ประวัติการทำงาน โดยสามารถเชื่อมต่อและจัดการแคมเปญได้ในที่เดียว
ทดลองใช้ A stream : https://www.astream.in.th/
SHOUT!
เป็นแพลตฟอร์มที่เน้นการเชื่อมต่อระหว่างแบรนด์และอินฟลูเอนเซอร์โดยตรง มีฐานข้อมูลอินฟลูเอนเซอร์ที่ครอบคลุมหลายอุตสาหกรรม พร้อมระบบวิเคราะห์ผลลัพธ์ของแคมเปญแบบเรียลไทม์
ทดลองใช้ SHOUT! : https://shoutsolution.com/
KOLLAB
เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้แบรนด์สามารถค้นหา คัดเลือก และบริหารจัดการ Influencer ได้อย่างง่ายดาย มีฟีเจอร์ที่ช่วยให้สามารถเปรียบเทียบอินฟลูเอนเซอร์ตามเกณฑ์ต่าง ๆ เช่น ความสอดคล้องกับแบรนด์ ประเภทของเนื้อหา อัตราการมีส่วนร่วม
ทดลองใช้ KOLLAB : https://kollabasia.com/
Buddy Review
แพลตฟอร์มที่เน้นการรีวิวสินค้าและบริการจาก Influencer มีฟีเจอร์ที่ช่วยให้แบรนด์สามารถดูประวัติและผลงานของอินฟลูเอนเซอร์ได้อย่างละเอียด พร้อมทั้งระบบให้คะแนนจากผู้ใช้งานจริง ช่วยให้แบรนด์สามารถเลือกอินฟลูฯ ที่เหมาะสมได้อย่างมั่นใจ
ทดลองใช้ Buddy Review : https://www.buddyreview.co/
เลือกอินฟลูเอนเซอร์ที่ใช่ เพื่อต่อยอดความสำเร็จของแบรนด์
อย่างไรก็ดี ก่อนจะเลือก Influencer ให้เหมาะกับแคมเปญ แบรนด์จำเป็นต้องเข้าใจความแตกต่างระหว่าง Mega vs Nano Influencer โดย Mega จะมีผู้ติดตามมากกว่า 1 ล้านคน เหมาะสำหรับการสร้างการรับรู้ในวงกว้าง ในขณะที่ Nano จะมีผู้ติดตามน้อยกว่า 10,000 คน แต่มีอิทธิพลสูงในชุมชนเฉพาะกลุ่ม หากสามารถเลือกใช้ Influencer ได้อย่างเหมาะสมก็จะสามารถช่วยให้แบรนด์บรรลุเป้าหมายทางธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ต้องการยกระดับแคมเปญการตลาดของคุณด้วย Influencer Marketing ที่ตรงเป้า Primal ในฐานะ Influencer Marketing Agency ชั้นนำของไทย พร้อมช่วยคุณวางกลยุทธ์และเลือก Influencer ที่ใช่ที่สุดสำหรับแบรนด์ของคุณ กรอกฟอร์มเพื่อติดต่อเราได้เลยวันนี้
Join the discussion - 0 Comment