Social Commerce ต่างกับ e-Commerce อย่างไร ต้องทำทุกอย่างมั้ย

เราต่างคุ้นเคยกับคำว่า e-Commerce กันเป็นอย่างดีเพราะมีมาสักระยะแล้ว แต่ปัจจุบันมีคำว่า Social Commerce เกิดขึ้นมาทำธุรกิจหน้าใหม่ต่างตั้งคำถามกันว่า Social Commerce ต่างกับ e-Commerce อย่างไรแล้วในฐานะเจ้าของธุรกิจ จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับทั้งสองอย่างนี้หรือไม่ บทความนี้เรามีคำตอบ

e-Commerce คืออะไร

e-Commerce หรือ Electronic Commerce ภาษาทางการบัญญัติเอาไว้ว่า “การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์” หรือถ้าพูดกันด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย ๆ ก็คือการทำธุรกิจทางออนไลน์โดยใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ต โดยทั่วไปแล้ว e-Commerce จะมีรูปแบบการทำธุรกิจหลัก ๆ อยู่ 3 แบบคือ

  1. ขายสินค้าบนระบบ e-Commerce ของตัวเอง

รูปแบบนี้เจ้าของธุรกิจอาจจะมีเว็บไซต์อยู่แล้ว และเพิ่มระบบ e-Comerce เข้าไป หรือบางเจ้าก็เริ่มธุรกิจด้วยการสร้างเว็บไซต์พร้อมระบบ e-Commerce เพื่อไว้สำหรับจำหน่ายสินค้าและบริการ ของตัวเอง ซึ่งก็ไม่ได้มีข้อจำกัดว่าจะต้องเป็นธุรกิจขนาดใดจึงจะสามารถทำได้ เพราะในปัจจุบันต้องยอมรับว่าต้นทุนการสร้างเว็บไซต์ถูกลงกว่าสมัยก่อนมาก หากคุณสามารถหาฟรีแลนซ์ฝีมือดีก็อาจจะได้เว็บไซต์พร้อมระบบ e-Commerce ที่สามารถใช้งานได้จริงในงบประมาณที่คุณมีอยู่ได้

ดังนั้นธุรกิจที่สามารถขายสินค้าและมีระบบ e-Commerce เป็นของตัวเองจึงเป็นใครก็ได้ ตั้งแต่สายการบิน โรงภาพยนตร์ โรงละคร ฯลฯ ซึ่งถือเป็นธุรกิจใหญ่และมีเครือข่ายครอบคลุมทั้งประเทศ ไปจนถึงแบรนด์ SME ท้องถิ่นหรืออาจจะเป็นบุคคลธรรมดาที่ต้องการขายสินค้า ก็สามารถทำเว็บไซต์เป็นของตัวเองได้เช่นกันตราบเท่าที่คุณมีงบประมาณหรือมีทักษะทางด้านนี้

  1. ใช้แพลตฟอร์ม e-Commerce ในการขาย

ตรงส่วนนี้สามารถแตกย่อยออกมาได้อีก 2 ลักษณะ คือ

2.1 แพลตฟอร์ม e-Commerce พร้อมขาย

อันนี้ไม่ต้องอธิบายอะไรให้ยืดยาว ตัวอย่างง่าย ๆ ที่เชื่อว่าทุก ๆ เดือนแทบจะทุกคนต้องเคยตกเป็นลูกค้าของแพลตฟอร์มชื่อดังอย่าง Shopee, Lazada, JD Central หรือถ้ามีชื่อเสียงระดับโลกก็จะเป็น Amazon, Alibaba เป็นต้น ระบบเหล่านี้คุณไม่จำเป็นต้องจ้างคนทำเว็บไซต์ให้วุ่นวาย เพียงแค่มีสินค้าที่ไม่ผิดกฎหมายและเข้าเงื่อนไขของแพลตฟอร์ม ก็สามารถลงทะเบียนสมัครสามาชิกเปิดร้านค้าออนไลน์เป็นของตัวเองแล้วก็ขายสินค้าได้ทันที

แต่รูปแบบนี้มักจะมีการหักค่าบริการระบบหรือ GP (Gross Profit) ตามแต่ละแพลตฟอร์มจะกำหนด ดังนั้นหากคุณเป็นธุรกิจที่มีสินค้า หรือหลาย ๆ แห่งมีหน้าร้านขายออฟไลน์อยู่แล้ว การจะนำสินค้ามาขายบนแพลตฟอร์มเหล่านี้อาจจะต้องคำนวณราคาส่วนของ GP เข้าไปด้วย

2.2 แพลตฟอร์ม e-Commerce ส่วนเสริม สำหรับใช้บนเว็บไซต์ของธุรกิจ

ส่วนนี้สามารถทำงานร่วมกันกับข้อที่ 1 ต้องบอกก่อนว่าการทำเว็บไซต์ขึ้นมาใหม่นั้นอาจใช้ต้นทุนไม่สูงมากตามที่เราได้บอกไป แต่ระบบ e-Commerce นี่ล่ะที่มีขั้นตอนซับซ้อนเพราะมีเรื่องของการเงิน ข้อมูลลูกค้าและอีกหลาย ๆ ปัจจัยมาข้องเกี่ยว ดังนั้นมักจะมีแค่ธุรกิจขนาดใหญ่เท่านั้นที่สร้างระบบ e-Commerce เป็นของตัวเอง ส่วนธุรกิจที่ไม่ได้ต้องการใช้ต้นทุนเกินจำเป็นก็มักเลือกใช้แพลตฟอร์ม e-Commerce ส่วนเสริมหรือ Third Party เข้าไปใส่ไว้ในเว็บไซต์ของตัวเองแทน

ตัวอย่างแพลตฟอร์มประเภทนี้ก็จะมีอย่างเช่น Shopify, WooCommerce, Magento ฯลฯ ระบบเหล่านี้จะมีการคิดค่าใช้จ่ายเป็น Subscription หรือสมาชิกรายเดือน รายปี โดยมีหลายแพ็กเกจราคาให้คุณเลือกใช้ตามขนาดของธุรกิจและความเหมาะสม ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่สะดวกสำหรับคนที่ต้องการมีระบบ e-Commerce เป็นของตัวเอง

  1. มีระบบ e-Commerce ของตัวเองแล้วก็ใช้บริการแพลตฟอร์ม e-Commerce ควบคู่กันไปด้วย

มีธุรกิจไม่น้อยโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “แบรนด์” ต่าง ๆ ที่มักจะมีระบบ e-Commerce ของตัวเองแต่ก็ยังพาร์ทเนอร์ขายสินค้าบนแพลตฟอร์มพร้อมขายอื่น ๆ ควบคู่กันไปด้วย

หากคุณเพิ่งเริ่มทำธุรกิจและสนใจ e-Commerce แต่ก็ไม่รู้จะเลือกวิธีไหน สิ่งที่เราสามารถบอกได้คือแต่ละวิธีจะมีจุดแข็งและจุดอ่อนต่างกัน แบบแรกข้อดีคือทุก ๆ อย่างเป็นของคุณเองคุณสามารถออกแบบ และสร้างระบบเก็บข้อมูลของตัวเองได้ตามต้องการ แต่จุดอ่อนเลยคือจ่ายใช้จ่ายสูงยิ่งถ้าเป็นระบบที่สร้างขึ้นเองทั้งหมดหากเป็นธุรกิจเล็ก ๆ เงินทุนไม่เยอะและไม่ได้มีความรู้ทางด้าน e-Commerce หรือออนไลน์มากพอเราก็ไม่ขอแนะนำ เพราะระบบพวกนี้จะต้องอาศัยทีมงานผู้เชี่ยวชาญและมีสิ่งที่ต้องแก้ไขหรืออัปเดตเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา

แบบที่สองเป็นวิธีที่สะดวกที่สุดและง่ายที่สุดแต่ก็ต้องแลกมากับการโดนหักค่า GP ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่คนทำธุรกิจที่ต้องนำสินค้าไปฝากขายต้องเจอ รูปแบบนี้จึงต้องการเพียงโครงสร้างราคาที่รัดกุมและถ้าแบรนด์ของคุณใหม่มาก ๆ อาจจะต้องอาศัยการประชาสัมพันธ์บนช่องทางโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ค่อนข้างมากเพราะบนแพลตฟอร์มใหญ่ ๆ แบบนี้มักจะมีสินค้ามากมายทำให้สินค้าใหม่ ๆ ที่ไม่มีชื่อเสียงอาจถูกค้นเจอได้ยาก

แบบสุดท้ายต้องบอกตามตรงว่า หากงบไม่ถึง ทีมงานไม่พร้อมอย่าจับปลาสองมือ ให้เลือกรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งพอ การทำคู่กันไม่ใช่เรื่องผิด แต่คุณจะต้องมีทีมงานที่พร้อมรองรับและการจัดการเรื่องจิปาถะอีกมากมาย ทั้งคนตอบลูกค้า คนดูแลระบบ คนจัดการเรื่องการจัดส่ง ฯลฯ 

Social Commerce คืออะไร

เราอธิบายในส่วนของ e-Commerce ไปอย่างละเอียดแล้ว แน่นอนว่า Social Commerce ก็คือเรื่องราวคล้าย ๆ กัน เพียงแค่เราตัดตัว c แล้วเติมคำว่า Social ลงไป ความหมายของคำคำ นี้จึงเป็นการขายสินค้าและบริการผ่านแพลตฟอร์ม Social Media นั่นเอง! 

ถ้าเราพูดคำว่า Social Commerce เมื่อสัก 5 – 10 ปีที่แล้ว คนคงเกาหัวแล้วทำท่าทางสงสัยใคร่รู้ เพราะ Social Media ในความเข้าใจสมัยนั้นก็มีเอาไว้ใช้สื่อสารกับเพื่อน ๆ หรือครอบครัว มันจะเอามาทำธุรกิจ ขายสินค้าได้อย่างไร แต่เมื่อแพลตฟอร์มต่าง ๆ มีผู้ใช้งานมากขึ้น ก็ย่อมมีหลายคนที่มองเห็นโอกาสจนเกิดเป็นธุรกิจขึ้นมากมาย จนภายหลังแพลตฟอร์ม Social Media ต่างๆ อย่าง Facebook, Instagram หรือแม้แต่ Google เองก็ออกแพลตฟอร์มสำหรับทำธุรกิจขึ้นมาโดยเฉพาะ เพื่อตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

Facebook ก็มีระบบเพจให้เราใช้กันในเพจก็จะฟีเจอร์ร้านค้าที่สามารถอัปโหลดสินค้า ราคา พร้อมทำการซื้อ – ขายกันเหมือนระบบ e-Commerce เลย หรือ Instagram ก็มี Instagram Shopping ให้คนทำธุรกิจขายสินค้าได้แต่ ณ ปัจจุบันยังคงต้องผูกกับระบบ e-Commerce ของธุรกิจนั้นๆ เพื่อที่จะสามารถทำการซื้อ – ขายได้ ส่วน Google มี Google Shopping ที่เน้นแนะนำสินค้าที่น่าสนใจผ่านการค้นหาด้วยคีย์เวิร์ด หากคำนั้นตรงกับประเภทสินค้าใด สินค้าในหมวดหมู่นั้นก็จะปรากฏ

พฤติกรรมผู้บริโภคต่อ Social Commerce

ที่ว่าพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนเนี่ย “เปลี่ยนอย่างไร” ถ้าตั้งคำถามในลักษณะนี้ ต้องมองกลับไปที่โครงสร้างพื้นฐานของการทำธุรกิจก่อน ส่วนหนึ่งก็คือ “ความน่าเชื่อถือ” เมื่อก่อนแบรนด์พูดอะไรคนก็เชื่อไปตามนั้น ถัดมาเป็นยุคของศิลปิน ดารา นักแสดง ดึงใครที่มีชื่อเสียงมาเป็นพรีเซนเตอร์ สินค้าก็ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า พอตลาดเปลี่ยนเป็นยุคของ Influencer แน่นอนว่าคนเหล่านี้ล้วนเกิดมาจาก Social Media ซะส่วนมาก คนก็เชื่อถือและไปซื้อสินค้าต่างๆ ตามกัน 

แต่ปัจจุบันเราเริ่มเห็นกันแล้วว่าแม้แต่ Influencer เองหลายๆ ครั้งก็ไม่อาจสามารถจูงใจความอยากได้อยากมีของผู้บริโภคได้อีกต่อไปแล้ว แม้ ณ ปัจจุบัน Influencer ยังถือเป็นวิธีทางการตลาดที่ได้ผล แต่ในอนาคตอันใกล้ก็ไม่มีใครคาดเดาได้ นั่นเป็นเพราะผู้คนหันมาเชื่อมั่นต่อผู้ใช้งานจริงมากขึ้น ซึ่งบุคคลนั้นจะเป็นใครก็ได้บนโลก เพียงแค่เขาหรือเธอคนนั้นใช้ผลิตภัณฑ์แล้วนำมารีวิว แชร์ต่อเพื่อน ๆ ใน Social Media คนก็ตามไปซื้อใช้กันเพราะพิสูจน์แล้วว่า คนธรรมดา ๆ ใช้ผลิตภัณฑ์ตัวนั้นแล้วเห็นผลจริง